ร.ศ.112 ฝรั่งเศสไม่ได้คิดยึดเมืองไทย แต่มุ่งจัดตั้งสหภาพอินโดจีน

รูปล้อเลียน กรณี ร.ศ.112 นักการเมืองอังกฤษสงบนิ่งสบายอารมณ์ ขณะที่แม่ทัพฝรั่งเศสบีบคั้นสยามให้ยอมตามข้อเรียกร้อง, ภาพจากวารสาร PUNCH, 14 October 1893 (ภาพสะสมของไกรฤกษ์ นานา)

กรณี ร.ศ. 112 เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 เรื่องหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเรื่อยมา ไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการอิสระคนหนึ่ง ที่ทำงานยาวนานและต่อเนื่องกับประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 เสนอการตีความใหม่ว่า กรณี ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสไม่ได้คิดยึดเมืองไทยแต่มุ่งหวังการครอบครองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจัดตั้งสหภาพอินโดจีน โดยอธิบายเรื่องนี้ไว้ใน “ประวัติศาสตร์นอกตำรา สยามรัฐตามทรรศนะโลกตะวันตก” (สนพ.มติชน, กุมภาพันธ์ 2560) สรุปความพอสังเขปดังนี้

วิธีการของฝรั่งเศสในการครอบครองฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง คือการหาเหตุวิวาทกับสยาม ในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเหนือดินแดนล้านช้าง ซึ่งไทยและญวนต่างอ้างกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าประเทศราช ทั้งที่ไม่มีหลักฐานกรรมสิทธิ์ ฝรั่งเศสเร่งรีบดำเนินการอย่างรวดเร็ว ด้วยเกรงว่าสยามจะดึงชาติมหาอำนาจอื่นๆ เข้ามาเป็นมือที่ 3 ขัดขวางแผนการรวมชาติของฝรั่งเศส โดยใช้นโยบายขั้นบันไดของฝรั่งเศส ได้แก่

แผนขั้นแรก : เพื่อก่อตั้งสหภาพอินโดจีน

ภายหลังฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ ใน ค.ศ. 1872 รัฐบาลมีนโยบายจักรวรรดินิยมหนักขึ้น เพราะการแพ้สงครามให้กับเยอรมนี (Franco-Prussian War 1870-1871) ทำให้ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล, เสียเกียรติภูมิการเป็นผู้นำยุโรป และต้องยกแคว้นอัลซาซและลอร์เรน (Alsace & Lorraine) ให้เยอรมนี

การที่จะเรียกชื่อเสียงและฐานะกลับคืนมาไม่อาจสร้างขึ้นใหม่ทันทีในทวีปยุโรปที่เพิ่งแพ้สงคราม แต่ทำได้ง่ายกว่าโดยแสวงหาอาณานิคมนอกยุโรปที่อ่อนแอกว่า เอาชนะได้ง่ายกว่า ตั้งแต่ ค.ศ. 1881 เป็นต้นมา ฝรั่งเศสก็เริ่มแสวงหาเมืองขึ้นในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ สามารถครอบครองประเทศต่างๆ มาเป็นเมืองขึ้นของตนรวมถึง แอลจีเรีย ตูนิเซีย มอริเตเนีย เซเนกัล กินี มาลี ไอวอรี่โคสต์ เบนิน ไนเจอร์ ชาด สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ฯลฯ รวมทั้งหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก รวมถึงควิเบก (ในแคนาดา)

ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวตะวันตกว่าเป็นแหล่งทรัพยากรขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่การเกษตรขนาดมหึมา หากพัฒนาให้เป็นเขตอุตสาหกรรมได้ก็จะตอบสนองการเป็นอาณานิคมขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพไม่น้อยอินเดีย พม่า หรือแม้กระทั่งคาบสมุทรอินโดจีน

ฝรั่งเศสเองเห็นช่องทางที่เข้าสู่มณฑลยูนนานโดยใช้ลำน้ำโขงเป็นเส้นทางลัดเข้าสู่จีนตอนใต้ ด้วยการผนวกคาบสมุทรอินโดจีนเป็นฐานปฏิบัติการเสียก่อน นั่นคือเหตุผลหลักที่ฝรั่งเศสหาทางเข้ายึดครองญวนมาเป็นฐานที่มั่นทางการทหารและชุมทางเศรษฐกิจ มีเมืองท่าขนาดใหญ่ตามชายฝั่งอันยาวเหยียดติดกับทะเล สามารถเข้าถึงจีนได้ทั้งทางบกและทางทะเล แต่ปัญหาคือญวนเป็นรัฐบรรณาการของจีนมาก่อน จะทำให้ฝรั่งเศสต้องเผชิญหน้าจีนหากจะสร้างจักรวรรดิใหม่บนคาบสมุทรอินโดจีน

แรกเริ่มรัฐบาลฝรั่งเศสคาดว่าน่าจะใช้เส้นทางแม่น้ำโขงลัดเข้าจีนทางเมืองลาวล้านช้างได้ จึงส่งนายทหารนักสำรวจ ล่องเรือย้อนศรจากไซ่ง่อน ผ่านเขมร เข้าสู่ลาว จนถึงมณฑลยูนนานในจีน ในปี ค.ศ. 1766 ใช้เวลาสำรวจทั้งสิ้น 2 ปี ผลการสำรวจสรุปว่า แม่น้ำโขงไม่เหมาะเป็นเส้นทางหลัก เพราะมีเกาะแก่งมากมาย เรือขนาดใหญ่สัญจรไม่สะดวก หน้าแล้งก็จะแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามได้

ฝรั่งเศสต้องคิดหาหนทางใหม่เข้าจีนผ่านแม่น้ำแดงทางภาคเหนือของญวน ที่สร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลจีน ราชวงศ์ชิงถือว่าญวนเป็นรัฐบรรณาการของจีนโดยชอบธรรม จึงส่งกองทัพไปที่ชายแดนเพื่อหยุดยั้งความพยายามของพวกฝรั่งเศส ก่อให้เกิดสงครามตังเกี๋ย (Sino-French War) ขึ้น ระหว่างปี ค.ศ. 1884-1885 สงครามจบลงที่ทั้ง 2 ฝ่ายเลิกรากันไปเอง มีการลงนามสงบศึก (9 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1885) ข้อตกลงที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลจีนยอมรับอำนาจของฝรั่งเศสเหนือญวน ซึ่งดูเหมือนฝ่ายฝรั่งเศสจะชนะในสงครามนี้

แต่ที่เป็นความพ่ายแพ้อย่างชัดเจนของฝรั่งเศสก็คือ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส นายจูลส์ แฟร์รี่ (Jules Ferry) ผู้เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนนโยบายขยายอาณานิคมต้องหลุดออกจากตำแหน่ง เพราะการโหวตในรัฐสภาไม่เห็นชอบให้เขาทำสงครามกับจีนต่อไปภายหลังความสูญเสียอย่างมากมาย

“สนธิสัญญาเทียนสิน” ระหว่างจีนกับฝรั่งเศสจากสัญญาสงบศึกสงครามตังเกี๋ยนั้นระบุว่า จีนยอมรับอำนาจของฝรั่งเศสเหนือญวน ยอมรับความพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส และยอมสวามิภักดิ์เป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส รวมถึงดินแดนตังเกี๋ย, เว้นตอนกลาง และไซ่ง่อนตอนใต้

ปี ค.ศ. 1887 ฝรั่งเศสเข้าครอบครองคาบสมุทรอินโดจีนทั้งหมด และได้จัดตั้ง “สหภาพอินโดจีน” ขึ้นอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย ตังเกี๋ย อันนัม โคชินไชน่า และเขมรส่วนนอก ถึงปี ค.ศ. 1893 (ร.ศ. 112) จึงได้ผนวกลาวเพิ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพอินโดจีน โดยได้ตั้งไซ่ง่อนให้เป็นศูนย์กลางของอาณานิคมแห่งใหม่ และแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแห่งอินโดจีนขึ้น เรียกว่า Governor General of Indochina ต่อมาในปี ค.ศ. 1902  รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองจากไซ่ง่อนมาตั้งที่เมืองฮานอยแทน

จักรวรรดิใหม่ในคาบสมุทรอินโดจีนยังเป็นฐานปฏิบัติการสำหรับเอเชียทั้งทวีป และเพื่อเป็นบันไดเชื่อมต่อไปยังดินแดนรอบข้าง โอกาสที่เจ้าผู้ครองรัฐบริวารโดยรอบจะเข้ามาขอสวามิภักดิ์หรืออ่อนน้อมถ่อมตนก็มีมากขึ้น แล้วยังช่วยให้ภารกิจของรัฐบาลกลางที่ปารีสซึ่งอยู่ห่างไกลลดน้อยลง เมื่อจักรวรรดิใหม่สามารถดูแลตัวเองได้

กรณี ร.ศ. 112 เกิดจากการที่สยามขัดขวางการรวมสหภาพอินโดจีนของฝรั่งเศสมิให้เกิดขึ้น โดยอ้างว่าเขมรและลาวเป็นเมืองขึ้นของสยาม ฝรั่งเศสจะล่วงละเมิดมิได้ แต่สหภาพอินโดจีนในนิยามของฝรั่งเศสต้องมีเขมรและลาวรวมอยู่ด้วยจึงจะสมบูรณ์ การแย่งชิงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปเป็นกรรมสิทธิ์ จึงมีความสำคัญต่อการรวมจักรวรรดิใหม่อย่างยิ่ง

นขั้นที่ 2 : ทำลายฐานอำนาจเดิมคือสยาม

การเข้ามาของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสสู่สยาม สามารถวิเคราะห์ด้วยเหตุแวดล้อมได้ชัดเจนว่ามิได้เป็นการเดิมพันเข้ามาประชิดเมือง เพื่อสู้รบกันจริงจังเช่นการศึกสงครามทั่วไป ด้วยเหตุว่าไม่มีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการคุกคามแบบกองโจร โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันกองกำลังฝ่ายสยามให้ออกจากพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งก็คือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอินโดจีนมาแต่เดิม

“จุดอ่อน” ของสยามในมุมมองทางโบราณคดีกับลัทธิจักรวรรดินิยมคือ ไม่สามารถหาหลักฐานมาชี้แจงได้ว่าเมืองขึ้นเก่าของสยามบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงนั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามจริง มีหลักฐานแต่เพียงว่าได้ครอบครองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นเมืองขึ้นมาประมาณ 130 ปี ก่อนหน้าเหตุการณ์ ร.ศ. 112 เท่านั้นเอง

ด้วยเหตุนี้ฝรั่งเศสจึงตีความว่าฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็เคยเป็นเมืองขึ้นเก่าของญวนเช่นกัน และไม่ใช่ของสยามโดยนิตินัย วิธีหนึ่งที่จะตัดทอนอำนาจของสยามออกไปจากอินโดจีนก็คือ หากทำลายฐานอำนาจเก่าลงได้ การรวมสหภาพอินโดจีนก็จะทำได้สะดวกขึ้น

แต่สำหรับชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วไม่ได้คิดแบบฝรั่งเศส และภาคอีสานก็มิได้แบ่งแยกจากลาวล้านช้างเป็นฝั่งขวาฝั่งซ้าย แต่เป็นแผ่นดินเดียวกัน ชาวลาวบนสองฝั่งโขงในสมัยนั้นเดิมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม หัวเมืองทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐบาลเดียวกันคือ รัฐบาลที่กรุงเทพฯ สยามปกครองลาวแบบประเทศราช คือไม่ไปยุ่งเกี่ยวกิจการภายใน หัวเมืองลาวฝั่งซ้ายจึงดูแลปกครองกันเอง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ให้ฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย แต่การแบ่งเป็นลาวฝั่งซ้าย (ล้านช้าง) และฝั่งขวา (ภาคอีสาน) ก็ยังไม่เกิดขึ้น จนกระทั่ง ร.ศ. 112 ตัวการที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกก็คือฝรั่งเศส

วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 เป็นเพียงชนวนให้เกิดข้อพิพาทขึ้น เพื่อเป็นข้ออ้างในการครอบครองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จุดใหญ่ใจความเพื่อจะได้ทำลายฐานอำนาจเดิมของสยามในพื้นที่ และลดบทบาทของสยามในคาบสมุทรอินโดจีน มิใช่จะเอาชนะในสงครามปกติ เพราะมิได้มีเป้าหมายที่จะยึดครองสยามเป็นเมืองขึ้นโดยตรง

แผนขั้นที่ 3 : เทียบชั้นกับอังกฤษ

เป้าหมายทางอ้อมของฝรั่งเศสคือได้ประกาศศักดาเทียบรัศมีคู่แข่งอย่างอังกฤษ ซึ่งแย่งชิงอาณานิคมกันอยู่ทั่วโลก ทั้งในอเมริกาเหนือ แอฟริกา ตะวันออกกลาง และน่านน้ำในมหาสมุทรต่างๆ ต่อไปก็ถึงเอเชีย ซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันมหาศาล ใครได้ครอบครองเมืองจีนก่อนก็เหมือนได้ยึดครองเอเชียทั้งทวีป

การกระทำของฝรั่งเศสกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของอังกฤษ ไม่เพียงทำให้ความได้เปรียบในบริเวณแม่น้ำแยงซีเกียงตอนบนเกิดการสั่นคลอน ยังเป็นการตัดขาดการติดต่อและคมนาคมทางบกของบริเวณนี้จากอินเดียผ่านพม่าเข้าจีน ซึ่งคุกคามเสถียรภาพของอังกฤษในบุรพทิศ

รัฐบาลอังกฤษจึงเรียกร้องขอเปิดเจรจากับฝรั่งเศส เพื่อต่อรองปัญหาการแย่งชิงดินแดนในตะวันออกไกล และแอฟริกา ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีอิทธิพลครอบงำอยู่ ทั้ง 2 ฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์กันที่กรุงลอนดอน ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1896 (Anglo-Fench Declaration 1896) ในเบื้องต้นอังกฤษยอมถอยให้ฝรั่งเศสหนึ่งก้าวในทวีปแอฟริกา ส่วนมณฑลยูนนานและเสฉวนของจีนก็ตกลงกันว่า ไม่ว่าฝ่ายใดได้อำนาจหรือสิทธิพิเศษจากจีน ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

ในกรณี ร.ศ. 112 อังกฤษได้ปิดตาข้างเดียวกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ในทางกลับกันยังแนะนำสยามให้คล้อยตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส เพราะมีนอกมีในอยู่กับฝรั่งเศส ในปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับอาณานิคมในแอฟริกา และกำลังมองหามาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดมาถ่วงดุลอำนาจระหว่างตน ซึ่งได้ข้อสรุปในที่สุดคือ ข้อตกลงปี ค.ศ. 1896 โดยมีข้อกำหนดข้อหนึ่งที่จะตั้งให้สยามเป็นรัฐกันชนในระหว่างเขตอิทธิพลของพวกตน

วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 เป็นเพียงฉากหนึ่งของมหากาพย์การล่าอาณานิคมระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส มิได้มีเรื่องบาดหมางกันเป็นส่วนตัวกับสยามเลย เป้าหมายสูงสุดของการเอาชนะสยามคือทำให้สหภาพอินโดจีนเป็นเอกภาพเท่านั้น

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2564