เทียบตำนาน “หลวงปู่เณรคำ” จากกบฏอีสานในอดีต สู่ผีบุญยุคทุนนิยมในปัจจุบัน

เรื่องราวอันพิสดารและอลังการของ “หลวงปู่เณรคำ” หรือ พระวิรพล ฉตฺติโก ผู้เป็นประธานสำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้โด่งดังเป็นอย่างมากในทางเสื่อมเสียทั้งต่อตนเองและต่อวงการคณะสงฆ์ติดต่อกันมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา [เมื่อ พ.ศ. 2556 – กองบก.ออนไลน์] กลบเนื้อหาคุณงามความดีในบางอย่างที่ตนเองเคยกระทำไว้ รวมทั้งกลบข่าวการทุจริตจำนำข้าวและปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนทำให้ประชาชนมากมายลืมเรื่องจำนำข้าวและจำแทบไม่ได้ว่ามีใครบ้างที่ถูกปรับออก ปรับเปลี่ยน และเข้ามาเป็นรัฐมนตรีใหม่ ข่าวของหลวงปู่เณรคำในช่วงนี้ ใครไม่ได้ยินข่าวหรือไม่รู้จักอาจจะต้องถูกเรียกว่า “ตกข่าว” หรือ “ตกยุค” จากเพื่อนฝูงได้เลยทีเดียว

เมื่อมีข่าวออกมา ก็มีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของหลวงปู่เณรคำมากมาย ดังที่ ปรากฏในสื่อต่าง ๆ ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต จนไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับเป็นคดีพิเศษ และที่น่าสนใจคือ มีการพบหลวงปู่เณรคำเพิ่มอีก 9 รูป ที่ไม่ใช่ พระวิรพล ฉตฺติโก

กรณีมีข้อสงสัยว่าทำไมถึงมีหลวงปู่เณรคำหลายรูปนั้น พระราชรัตนมงคล ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช [เมื่อ พ.ศ. 2556 – กองบก.ออนไลน์] ในฐานะอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้กล่าวว่า ปัจจุบันมีพระสงฆ์หลายรูปได้นำคำว่า “เณรคำ” มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นหลวงปู่เณรคำที่มีกรณีเกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งอยากจะชี้ให้พุทธศาสนิกชนเห็นว่า คำว่า “เณรคำ” เป็นชื่อบุคคลในตำนานว่าเป็นเณรที่มีอิทธิฤทธิ์ เป็นความเชื่อของคนโบราณทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบันไม่มีอยู่จริง มีพระหลายรูปมักนำมาอ้างในลักษณะร่างทรงของคนในตำนานว่าเป็น “เณรคำ” อย่างเช่นในจังหวัดสกลนครก็มีการอ้างว่าเป็นหลวงปู่เณรคำอยู่หลายรูป เป็นต้น

ถ้อยความที่ท่านเจ้าคุณพระราชรัตนมงคลได้กล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้เขียนมีความคิดเห็นสอดคล้องกับท่านเจ้าคุณด้วย เพราะในพื้นที่ภาคอีสานภูมิลำเนาบ้านเกิดของผู้เขียน ได้ปรากฏข้อมูลหรือเรื่องเล่าที่เป็นตำนานอ้างถึงพระสงฆ์ผู้มีคุณวิเศษ มากด้วยอิทธิปาฏิหาริย์หลายรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับ “เณรคำ” ซึ่งผู้เขียนจำได้ว่า คุณย่าอ่อน แสนคำ (คุณย่าของผู้เขียน) และคุณตาคำผล ทองเหลือง (คุณตาของผู้เขียน) เคยเล่าให้ผู้เขียนฟัง เณรคำที่คุณย่าและคุณตาเคยเล่าให้ฟัง เป็นเณรที่บรรพชาตั้งแต่เด็ก บวชนาน แม้จะอายุมากแล้วก็ไม่อุปสมบทเป็นพระภิกษุ จึงเรียกกันว่าหลวงปู่เณรคำ

หลวงปู่เณรคำในตำนานจะมีลักษณะเดี๋ยวก็หนุ่มเดี๋ยวก็แก่ ล่องหนหายตัวได้ เดินธุดงค์ไปมาในเขตภาคอีสาน ริมฝั่งแม่น้ำโขง และในเขตประเทศลาว ไม่ปรากฏข้อมูลการมรณภาพ แต่จะมีลักษณะเล่าถึงความเป็นอมตะมากกว่า มีลักษณะคล้ายคลึงกับความเชื่อเรื่องประวัติของหลวงปู่เทพโลกอุดรที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน

ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดก็ตาม การอ้างตัวของ พระวิรพล ฉตฺติโก ที่จังหวัดศรีสะเกษ หรือการอ้างตัวของ พระทองใบ ปญฺญาพโล ที่อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ว่าเป็น “เณรคำ” ในตำนานอย่างที่ปรากฏใน ขาวหรือในสื่อต่าง ๆ ผู้เขียนมีความเห็นว่าล้วนแต่เป็นการดึงเอาบุคคลในตำนานความเชื่อท้องถิ่นมาใช้เพื่อประโยชน์บางอย่างของตนเองหรือกลุ่มพวกพ้อง เพื่อเรียกศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่และค่อนข้างงมงาย เมื่อเห็นการปรากฏตัวขึ้นมาของหลวงปู่เณรคำในภาคอีสานพร้อม ๆ กันหลายรูป และมีวิธีการเรียกศรัทธาบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ผู้เขียนนึกถึงกรณี “กบฎผีบุญ” ที่เคยเกิดขึ้นในภาคอีสานเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งมีการอ้างความเชื่อทางพุทธศาสนาและบุคคลในตำนาน ความเชื่อท้องถิ่นมาใช้เรียกศรัทธาชาวบ้านคล้ายกับกรณีของหลวงปู่เณรคำ…

กรณีกบฏผีบุญส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปฏิรูปการเมืองการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นการปฏิรูปการเมืองการปกครองที่จำกัดสิทธิ์ขาดของบรรดาเจ้าเมืองในหัวเมืองที่เคยมีอยู่แต่เดิม โดยรัฐส่วนกลางที่กรุงเทพมหานครได้พยายามส่งขุนนางจากส่วนกลางออกมาปกครองในสถานะข้าหลวงประจำมณฑลเทศาภิบาล ทำให้การจัดเก็บภาษีอากรต่าง ๆ ค่อนข้างมีความเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น แต่ความเคลื่อนไหวของราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ มีลักษณะต่อต้านอำนาจรัฐส่วนกลางอย่างชัดเจน

แทบทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งบ้านเมืองทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายในพระราชอาณาเขตสยาม ได้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐส่วนกลาง ทั้งโดยขุนนางท้องถิ่นที่สูญเสียอำนาจ และราษฎรที่มีความรู้สึกว่าถูกรัฐส่วนกลางขูดรีดหรือเอาเปรียบ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของราษฎรก่อการกบฏ หรือขัดขืนการทำหน้าที่ของขุนนางจากรัฐส่วนกลาง จนกระทั่งเกิดเป็นสงครามในภูมิภาคย่อม ๆ เลยทีเดียว โดยกลุ่มผู้นำมักอ้างว่าตัวเองคือบุคคลสำคัญในอดีตหรือวีรบุรุษในตำนานท้องถิ่น หรือในความเชื่อทางศาสนาของราษฎรว่ากลับชาติมาเกิด เพื่อปลดแอกช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น ขุนเจือง พระยาธรรมิกราช และพระศรีอาริย์ เป็นต้น ทำให้รัฐส่วนกลางเรียกกลุ่มราษฎรที่เคลื่อนไหวต่อต้านนี้ในหลาย ๆ ชื่อ เช่น “กบฎผีบุญ”, “กบฏผู้มีบุญ” และ “กบฏผู้วิเศษ” เป็นต้น

มีผู้นำของกบฎผีบุญในเขตภาคอีสานและบ้านเมืองสองฝั่งแม่น้ำโขงหลายกลุ่มที่เป็นพระสงฆ์ หรือเคยเป็นพระสงฆ์มาก่อนแล้วลาสิกขามาเป็นผู้นำกลุ่ม และมีการอ้างถึงการมาเกิดของพระศรีอริยเมตไตรย หรือวีรบุรุษในตำนานท้องถิ่น อย่างเช่น กบฏสาเกียดโง้ง เมืองจำปาศักดิ์ พ.ศ. 2368, ผีบุญกลุ่มพระแสง บ้านบาหาด เมืองมหาสารคาม พ.ศ. 2444, ผีบุญกลุ่มพระครูอิน บ้านหนองอีตุ้ม เมืองยโสธร พ.ศ. 2444, กบฏผีบุญบ้านหนองหมากแก้ว เมืองเลย พ.ศ. 2467 เป็นต้น

นอกจากในเขตภาคอีสานแล้ว ยังพบข้อมูลว่ามีขรัววัดพระปรางค์ เมืองสวรรคโลก ได้อ้างตนว่าเป็นพระร่วงซึ่งเป็นวีรบุรุษในตำนานท้องถิ่นกลับชาติมาเกิด แล้วตั้งเป็นกลุ่มขัดขืนอำนาจรัฐส่วนกลางขึ้นในปี พ.ศ. 2444 เช่นกัน แต่กลุ่มกบฏผีบุญทั้งหมดก็ถูกปราบปรามลงได้ด้วยเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นและกองกำลังจากรัฐส่วนกลาง

พวกกบฏ “ผีบุญ” เมื่อ พ.ศ. 2444 ซึ่งทหารควบคุมตัวไว้ ณ ทุ่งศรีเมือง เมืองอุบลราชธานี (ภาพจาก “ประวัติศาสตร์อีสาน” โดย เติม วิภาคย์พจนกิจ)

เมื่อพิจารณาสภาพสังคมภาคอีสานในปัจจุบัน ก็ยังพบว่าความเชื่อเกี่ยวกับบุคคลในตำนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เณรคำ” ยังมีปรากฏอยู่ และยังมีอิทธิพลอย่างมากในสังคมชนบท โดยเฉพาะแถบจังหวัดบ้านเกิดของผู้เขียนเอง และยังเคยมีบุคคลธรรมดาไม่ใช่พระสงฆ์ที่อ้างตนเองว่าคือเณรคำในคำบอกเล่าของชาวอีสาน และเคยธุดงค์ติดสอยห้อยตามพ่อแม่ครูอาจารย์สายกรรมฐานรูปสำคัญมาก่อน แล้วลาสิกขาออกมาแต่ไม่อยากให้คนรู้มาอยู่เงียบ ๆ เพื่อทำยาสมุนไพรและช่วยเหลือวัดต่าง ๆ ในการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานในวัด

ผู้เขียนมีประสบการณ์พบเจอกับผู้อ้างตัวว่าเป็นเณรคำด้วยตนเอง โดยบังเอิญในระหว่างที่ลงพื้นที่ภาคสนามเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่วัดพระธาตุเมืองพิณ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2552 บุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเณรคำในตำนานบอกชื่อตัวเองให้ผู้เขียนเรียกว่า “ลุงน้อย” เป็นชายอายุประมาณ 60 ปี อ้างว่ามาจากจังหวัดสุรินทร์ บอกว่าเทวดาที่รักษาพระธาตุเมืองพิณไปตามให้มาช่วยบูรณะ และยังอ้างตัวว่าทำงานด้านสมุนไพรถวายเจ้านายพระองค์หนึ่งด้วย นอกจากนี้ ยังบอกว่าตนเองคือเณรคำในตำนานเรื่องเล่าของชาวอีสาน และเป็นคนที่ธุดงค์ไปพบตำนานอินตก (พุทธทำนาย) ที่ถ้ำในแขวงอัตตะปือ ประเทศลาว แล้วนำมาเผยแพร่เตือนสติประชาชนอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันตำนานอินตก (พุทธทำนาย) ได้กลายเป็นเหมือนจดหมายลูกโซ่ที่ปรากฏอยู่ตามวัดไปแล้ว

ท่ามกลางสภาพสังคมที่มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคทุนนิยมที่เงินตราเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพหารายได้เงินตราเป็นไปด้วยความยากลำบาก เมื่อไม่สามารถมีรายได้จำนวนมากโดยอาชีพหลัก ประชาชนต่างก็หวังพึ่งศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งที่เหนือธรรมาชาติเพื่ออ้อนวอนขอพรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นสำหรับมาจุนเจือครอบครัวและตอบสนองความต้องการยามกระแสทุนนิยม หากมีข่าวว่าบุคคลหรือพระสงฆ์รูปใดมีอิทธิปาฏิหาริย์เหนือกว่าบุคคลปกติก็จะแสวงหาเพื่อกราบไหว้ขอพร หวังให้บุคคลนั้นช่วยเหลือให้ความหวังในสิ่งที่ตั้งใจ ยินดีที่จะทำบุญหรือถวายสิ่งต่าง ๆ ตอบแทนจำนวนหนึ่งเพื่อจะให้สิ่งนั้นจำนวนมากขึ้น ทั้งเพื่อในชาตินี้และชาติหน้า จึงทำให้มีข้อมูลหรือคำบอกเล่าถึงผู้มีบุญหรือผู้วิเศษปรากฏขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะการปรากฏตัวขึ้นของผู้วิเศษในตำนานความเชื่อท้องถิ่น ทั้งในลักษณะร่างทรง ร่างจริง และการกลับชาติมาเกิด

เมื่อมีผู้คนจำนวนหนึ่งมาสักการะ อาจจะได้ความสำเร็จหรือไม่นั้นไม่อาจทราบได้ แต่การกระจายข่าวผ่านคนที่เคยมากราบไหว้ในลักษณะปากต่อปาก เป็นการกระจายข้อมูลที่รวดเร็วมากในสังคมชนบท เมื่อมีความเชื่อความศรัทธาเกิดขึ้น ก็มักจะเกิดเรื่องเล่า การโฆษณาหรือโปรโมตให้ดูยิ่งใหญ่ มีความเป็นมาที่พิสดารโชกโชนในการขจัดภัยพาลต่าง ๆ และอ้างถึงเรื่องราวที่ไม่อาจพิสูจน์ได้แล้วในปัจจุบัน เช่น เป็นศิษย์ครูบาอาจารย์คนนั้นรูปนั้นที่มีชื่อเสียงโด่งดังแต่ถึงแก่กรรมหรือมรณภาพไปแล้ว ดังปรากฏว่าช่วงหลังมีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่อ้างว่าตนเองเป็นศิษย์สายหลวงปู่เทพโลกอุดร หรือ “สำเร็จลุน” และ “สำเร็จรุ่ง” อดีตพระเกจิอาจารย์ในลุ่มแม่น้ำโขงที่มีประวัติไม่ชัดเจนในลักษณะกึ่ง ๆ ตำนวนในเขตประเทศลาว โดยเฉพาะการธุดงค์ไปพบและบำเพ็ญภาวนาที่ภูเขาควายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นที่อาถรรพ์ แต่ประวัติดังกล่าวก็ยากที่จะพิสูจน์ได้ว่าการเป็นศิษย์หรือการธุดงค์บำเพ็ญภาวนาเกิดขึ้นจริงหรือเปล่าก็ไม่มีใครรู้ หรืออาจจะเป็นแค่การสร้างข่าวขึ้นมาเพื่อเรียกศรัทธาเท่านั้น

แต่จะถามว่าเป็นความผิดของบุคคลหรือพระสงฆ์คนนั้นรูปนั้นหรือไม่ เมื่อพิจารณาแล้วผู้เขียนอาจจะต้องตอบว่า เป็นความผิดของผู้นั้นด้วยส่วนหนึ่ง และเป็นความผิดพลาดของผู้ศรัทธาที่อยู่บนฐานความงมงายไม่อยู่บนฐานของสติปัญญาด้วยส่วนหนึ่ง ที่สำคัญคือกลุ่มลูกศิษย์ใกล้ชิดที่มีผลประโยชน์แอบแฝงกับการได้มาซึ่งลาภสักการะของประชาชน ซึ่งมีตั้งแต่ญาติพี่น้อง พระสงฆ์ใกล้ชิด นักธุรกิจ กลุ่มนักการเมือง และข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีอำนาจและบทบาทในสังคมที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้บุคคลหรือพระสงฆ์รูปนั้น ๆ มีสถานะเป็นเหมือน “ผู้วิเศษ” จริง ๆ ขึ้นมา เพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้รักษากฎหมาย เป็นผู้นำทั้งทางการปกครอง สังคม และเศรษฐกิิจในประเทศ จากรูปแบบการปฏิบัติลักษณะพิธีกรรม และการโฆษณาในแบบต่าง ๆ ที่โดดเด่น ยิ่งใหญ่ อลังการและแปลก ทำให้ “ผู้วิเศษจอมปลอม” กลายเป็น “ผู้วิเศษจริง” ในสายตาและความเชื่อของประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ตริตรองหรือพิจารณาเหตุผลปัจจัยต่าง ๆ ตั้งแต่แรก

เมื่อมีชื่อเสียงโด่งดัง กลุ่มลูกศิษย์ใกล้ชิดก็ได้ใช้ชื่อเสียงนั้นในการทำมาหากินในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สร้างวัตถุมงคลบ้าง สร้างกองทุน หรือถาวรวัตถุสถานขึ้นเพื่อเรียกศรัทธา อันจะนำมาซึ่งเงินบริจาคจำนวนมากมายมหาศาลบ้าง หรือแอบแฝงกระทำการอันผิดกฎหมายขึ้นโดยใช้ชื่อเสียงของผู้วิเศษจอมปลอมบังหน้า โดยที่ผู้วิเศษจอมปลอมนั้นอาจรับรู้ร่วมมือด้วย ได้ค่าตอบแทนหรือไม่รับรู้เรื่องด้วยเลยก็ตาม มีการทำพิธีกรรมและสร้างความยิ่งใหญ่อลังการของบุญญาบารมีผู้วิเศษจอมปลอมขึ้นมา จนอยู่เหนือพระธรรมวินัย อยู่เหนือศีลธรรม อยู่เหนือกฎหมาย อยู่เหนือสังคม และอยู่เหนือโลกวิสัย ไร้การตรวจสอบ เพราะกลัวอำนาจเหนือกฎหมายของบรรดาลูกศิษย์ใกล้ชิด จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ผีบุญในยุคทุนนิยม” ก็ว่าได้

จากเนื้อหาข่าวกรณีของหลวงปู่เณรคำ “ผู้วิเศษแห่งวัดป่าขันติธรรม” ซึ่งได้รับการโฆษณาว่าเป็นพระอรหันต์ มีอิทธิปาฏิหาริย์ เดี๋ยวหนุ่มเดี๋ยวแก่เหมือนเณรคำในตำนาน แสดงให้เห็นชัดว่า มีกลุ่มนักธุรกิจ นักการเมืองและข้าราชการจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวข้อง จะมากน้อยหรือจริงเท็จอย่างไร ผู้เขียนเชื่อว่าอีกไม่นานถ้าคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมาและเห็นแก่ความถูกต้อง เราท่านทั้งหลายคงจะได้เห็นว่าข้อเท็จจริงนั้นเป็นอย่างไรแน่นอน

เณรคำ หรืออดีตพระวิรพล ฉตฺติโก

ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับวีรบุรุษหรือบุคคลสำคัญในท้องถิ่นไม่ได้เป็นต้นตอแห่งปัญหาอย่างกรณีเณรคำเสมอไป ที่มีปัญหาเพราะมีผู้นำมาใช้ในทางที่ผิด อันที่จริงในสังคมไทยมีตำนานความเชื่อเกี่ยวกับวีรบุรุษ หรือบุคคลสำคัญในท้องถิ่นมากมาย และมีการนำมาใช้เพื่อความสงบสุข ความสามัคคีและมีคุณค่าในด้านต่าง ๆ ของสังคมท้องถิ่น อย่างกรณีของนางเลือดขาวของผู้คนในคาบสมุทรทางภาคใต้, เจ้าหลวงเมืองล้าของชาวอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน และเจ้าพ่อศรีนครเตาของชาวทุ่งกุลาแห่งกาคอีสาน เป็นต้น

จากเนื้อหาที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้น เป็นความคิดเห็นและข้อสังเกตบางประการโดยส่วนตัวของผู้เขียนที่อยากให้ข้อมูลที่อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจปัญหาหรือมูลเหตุที่ทำให้เกิดกรณีหลวงปู่เณรคำขึ้นมาในภาคอีสานหลายรูป พร้อมกับข้อสังเกตทางประวัติศาสตร์ผ่านวิถีปฏิบัติของ พระวิรพล ฉตฺติโก และบรรดาศิษย์ในปัจจุบัน กับกรณีกบฏผีบุญภาคอีสานเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา

ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าเราเข้าใจประวัติศาสตร์ สภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศาสนาและความเชื่อของท้องถิ่น อาจจะทำให้เราเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นหรือภูมิภาคต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้ได้ดียิ่งกว่าที่เป็นอยู่ เพราะแต่ละท้องถิ่นล้วนแต่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ก็ไม่ได้เหมือนกันอย่างที่เราท่านเคยเข้าใจแต่อย่างใด

 


บรรณานุกรม :

กำพล จำปาพันธ์. ข่าเจือง : กบฏไพร ขบวนการผู้มีบุญหลังสถาปนาพระราชอาณาเขตสยาม-ล้านช้าง. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ ประนุช ทรัพยสาร. “เจ้าผู้มีบุญหนองหมากแก้ว,” ใน วุฒิชัย มูลศิลป์ และ ธรรมนิตย์ วราภรณ์ (บรรณาธิการ), กบฏชาวนา. กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2525.

ธิดา สาระยา. “พระร่วง : ตัวอย่างศึกษาเรื่องการรับรู้เชิงประวัติศาสตร์ของ สังคมท้องถิ่น,” ใน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : ประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับสังคมมนุษย์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2539.

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา. จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการฉลองวันประสูติครบ 100 ปี วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2506.

พรเพ็ญ ฮันตระกูล และ อัจฉราพร กมุทพิสมัย (บรรณาธิการ), “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ” ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์, 2527.

“มึน! พบ ‘หลวงปู่เณรคำ 2’ สร้างวัดที่นครพนม ชาวบ้านเผยมีพฤติกรรมลวงโลกก่อนล่องหน,” ใน มติชนออนไลน์, วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556. สืบค้นวันที่ 10 กรกฎาคม 2556

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, ผู้นำทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, 2556


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2564