“ไข้เหงื่อออก” โรคระบาดปริศนายุคราชวงศ์ทิวดอร์ คร่าชีวิตคนนับหมื่น แม้แต่กษัตริย์ยังกักตัว

พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ช่วง ค.ศ. 1491-1547 ภาพโดย Hans Holbein คาดว่าวาดเมื่อ 1540 ไฟล์จาก Wikimedia Commons (ไฟล์ Public Domain)

ไข้เหงื่อออก โรคระบาดปริศนา ยุค “ราชวงศ์ทิวดอร์” คร่าชีวิตชาวอังกฤษกว่า 17,000 คน แม้แต่ พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ยังต้องกักตัว!

ในอดีตปรากฏโรคระบาดหลายชนิดที่สร้างความเสียหายหนักหนาสาหัสให้ผู้คนยุคนั้น บางยุคสามารถหาสาเหตุได้ แต่บางครั้งไม่สามารถหาคำอธิบายสาเหตุของโรคได้ และเมื่อเวลาล่วงเลยมาหลายร้อยปี ถึงในปัจจุบันก็ยังต้องศึกษาข้อมูลและพิสูจน์หลักฐานกันอยู่

ไข้เหงื่อออก ยุคราชวงศ์ทิวดอร์ 

ปรากฏการณ์ปริศนาเช่นนี้ มีตัวอย่างจากกรณีโรคระบาดในอังกฤษระหว่างปลายศตวรรษที่ 15 จนถึงต้นศตวรรษที่ 16 ซึ่งภายหลังเรียกกันว่า ไข้เหงื่อออก (Sweating sickness หรือ The Sweat)

โรคนี้มีบันทึกหลักฐานไว้ว่า ปรากฏขึ้นในระดับที่ส่งผลกระทบในวงกว้างอยู่ 5 ครั้ง ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 จนถึงต้นศตวรรษที่ 16 ครั้งแรกปรากฏขึ้นใน ค.ศ. 1485 เมื่อกองทัพ พระเจ้าเฮนรีที่ 7 เคลื่อนทัพมาถึงลอนดอนภายหลังได้ชัยจากการรบที่ Bosworth ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันก็ปรากฏโรคปริศนาเกิดขึ้นตามที่เรียกกันว่า “Sweating sickness”

ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อคนทั่วไป โรคปริศนานี้มีแนวโน้มทำให้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกต้องเลื่อนออกไปจนถึงช่วงปลายเดือนตุลาคม

 

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคเกิดขึ้นไม่นานนักก็จางหายไป และวนกลับมาใหม่เป็นครั้งคราว รวมแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง คือใน ค.ศ. 1485, 1508, 1517, 1528 และ 1551 (แหล่งข้อมูลบางแห่งก็นับว่า 4 ครั้ง คือ 1485, 1517, 1528 และ 1555)

ภาพสะท้อนในแง่ความรุนแรงและความเสียหายของวิกฤตครั้งนั้น มีตัวอย่างเป็นตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการระบาดเมื่อ ค.ศ. 1517 แจสเปอร์ ริดลีย์ (Jasper Ridley) นักเขียนผู้ศึกษาช่วงเวลา “ราชวงศ์ทิวดอร์” (Tudor) บรรยายไว้ว่า เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1517 ภายในสัปดาห์เดียวมีผู้เสียชีวิตในอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford) มากถึง 400 คน

ริดลีย์ระบุอีกว่า บางเมืองประชากรถึง 1 ใน 3 เสียชีวิตลง หรือบางแห่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรท้องถิ่น เมื่อถึง ค.ศ. 1528 ผู้เสียชีวิตในลอนดอนมีมากถึง 2,000 คน

Jean du Bellay ทูตฝรั่งเศสบันทึกไว้ในจดหมายที่เขียนจากลอนดอนเมื่อปี ค.ศ. 1528 ว่า “โรคชนิดนี้…เป็นวิธีอันง่ายที่สุดในโลกที่จะได้ตายลง”

ในจดหมายยังบรรยายอาการเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า

“จะมีอาการปวดศีรษะและหน้าอก (หัวใจ) เล็กน้อย เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเริ่มเหงื่อออก ไม่มีความจำเป็นสำหรับแพทย์…คุณจะจากไปโดยไม่ได้รู้สึกถึงความอ่อนแรงเลย”

ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ยังปรากฏในบันทึกจากแพทย์ฝรั่งเศสอีกรายชื่อ Thomas Le Forestier ซึ่งพำนักในอังกฤษ เมื่อเดินทางกลับมาที่ฝรั่งเศสก็บันทึกเกี่ยวกับโรคนี้ไว้

“รื่นเริงตอนมื้อเย็น เมื่อถึงมื้อค่ำกลับเสียชีวิต”

ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคชนิดนี้ ส่วนใหญ่แล้วปรากฏอยู่ในบันทึก A Boke or Counseill Against the Disease Commonly Called the Sweate, or Sweatyng Sicknesse (1552) ของ จอห์น ไคอัส (John Caius) แพทย์ในชรูว์สเบรี (Shrewsbury) ช่วง ค.ศ. 1551

ริดลีย์ได้บรรยายอาการของผู้ป่วยโรคปริศนานี้ว่า โรคนี้ปรากฏขึ้นอย่างกะทันหัน สำหรับคนที่ร่างกายปกติดีก็เริ่มได้รับผลกระทบขณะที่พวกเขาอยู่บนเตียง, กินอาหารบนโต๊ะ หรือเดินไปตามถนนหนทาง คนที่มีอาการจะเหงื่อออกมากผิดปกติ และเสียชีวิตลงในที่สุด อาจเกิดขึ้นภายในแค่ 10-12 ชั่วโมง หรือบางทีเกิดขึ้นภายใน 4 ชั่วโมงเท่านั้น

เอ็ดเวิร์ด ฮอลล์ (Edward Hall) นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ทิวดอร์ บันทึกสภาพของบางคนไว้ว่า “รื่นเริงตอนมื้อเย็น เมื่อถึงมื้อค่ำกลับเสียชีวิต” 

หากผู้มีอาการมีลมหายใจได้ถึง 24 ชั่วโมงจะรอดชีวิตมาได้ และสภาพร่างกายจะกลับมาฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว ริดลีย์ยังบรรยายว่า ในยุคนั้นมีข้อควรคำนึงสำคัญว่า ผู้ป่วยไม่ควรสัมผัสอุณหภูมิร้อนหรือหนาวจนเกินไป ควรนอนพักอยู่บนเตียง ห่มผ้าไว้โดยนำมือมาไขว้กันบนหน้าอก เพื่อป้องกันอากาศสัมผัสใต้รักแร้ แต่ห้องที่อาศัยอยู่ต้องมีอุณหภูมิอุ่นระดับปานกลางเท่านั้น

ด้วยสภาพของผู้ป่วยที่มีไข้จะทำให้รู้สึกกระหายน้ำอย่างมาก และต้องไม่ให้ดื่มน้ำเย็น สำหรับผู้ที่รับประทานทุกอย่างเข้าไปมักเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลแล้วบ่งชี้ว่า เพศหญิงมีโอกาสป่วยน้อยกว่าเพศชาย ในแต่ละท้องถิ่นการระบาดกินเวลาไม่กี่สัปดาห์

เมื่อมาถึงรัชสมัย พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แม้พระองค์จะเป็นที่รับรู้ในแง่มีความมั่นใจในพระองค์เอง แต่ครั้งนี้พระองค์ทรงวิตกอย่างมากว่าจะติดโรคระบาดไปด้วย พระองค์เสด็จฯ จากพื้นที่ใกล้เคียงในลอนดอนออกไปประทับที่หอคอยใน Hertfordshire โดยมีผู้ติดตามรับใช้เพียงคนเดียว

ริดลีย์เล่าว่า ราชเลขาฯ ในพระองค์คนหนึ่งมีอาการ “ไข้เหงื่อออก” แต่เขาไม่ได้ตื่นตระหนก เพราะเชื่อว่าปัจจัยทางจิตส่งผลสำคัญต่ออาการเจ็บป่วยชนิดนี้

ในช่วงที่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงกักตัว พระองค์ทรงได้รับข่าวว่า แอน โบลีน มีอาการป่วยด้วย แต่โชคดีที่แอน โบลีน หายเป็นปกติ

ต่อมาใน ค.ศ. 1563 หลังจากกองทหารอังกฤษเดินทางกลับมาจาก Le Havre ช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1563 ถึงมิถุนายน ค.ศ. 1564 ปรากฏผู้เสียชีวิตในลอนดอนมากถึง 17,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 6 ของประชากรทั้งหมดในเวลานั้น หากอ้างอิงข้อมูลจากนักวิชาการที่เชื่อว่ามีประชากรทั้งหมดราว 100,000 คน

นักประวัติศาสตร์ยังไม่สามารถบ่งชี้หรืออธิบายโรคปริศนาที่เกิดขึ้นในอังกฤษได้อย่างชัดเจน ไคอัสแสดงความคิดเห็นโดยสันนิษฐานว่า อาจมาจากดินและสิ่งสกปรก

ขณะที่ในยุคปัจจุบันมีนักวิจัยสนใจศึกษาค้นหาเกี่ยวกับโรคระบาดชนิดนี้อยู่หลายกลุ่ม อาทิ การวิจัยข้อสันนิษฐานว่าการป่วยไข้ปริศนาเกี่ยวข้องกับไวรัสฮันตาหรือไม่? (คลิกอ่านงานวิจัยที่นี่)

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง:

Gatherer, Derek. “What was sweating sickness – the mysterious Tudor plague of Wolf Hall?”. The Conversation. Published 6 FEB 2015. Access 31 JUL 2021. <https://theconversation.com/what-was-sweating-sickness-the-mysterious-tudor-plague-of-wolf-hall-37194>

Ridley, Jasper. A Brief History of The Tudor Age. London : Robinson, 2002.

Sweating sickness. Britannica. revised and updated by Kara Rogers. Access 31 JUL 2021. <https://www.britannica.com/science/sweating-sickness>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2564