เผยแพร่ |
---|
ข้อมูลประจำตัวประชาชนอย่างหนึ่งคือ “สัญชาติ” แต่บางคนก็ “ไร้สัญชาติ” และบางคนที่สัญชาติเดียวกับเราก็ดูแตกต่างกับเราสารพัด สัญชาติมีที่มาที่ไปอย่างไร
บทความหนึ่งของสมชาย ปรีชาศิลปกุล ที่ชื่อ “กำเนิดและความเปลี่ยนแปลงของสัญชาติไทย” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2545 อธิบายเรื่องนี้ไว้ดังนี้
(คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความต้นฉบับมาเรียบเรียงใหม่ จัดย่อหน้าใหม่ และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ)
คําว่า “สัญชาติ” ในภาษาไทยเป็นคําที่แปลมาจาก Nationality ซึ่งในภาษาอังกฤษคํานี้สามารถใช้ได้ใน 2 ความหมาย ทั้งในความหมายทางวัฒนธรรมและความหมายในทางกฎหมาย
ในทางวัฒนธรรม คํานี้มีความหมายถึงวัฒนธรรม เชื้อชาติ ภาษาและอุดมการณ์ของบุคคลหรือกลุ่มคน บุคคลอาจถูกจัดว่าเป็นคนจีน เยอรมัน กรีก โดยไม่ต้องพิจารณาถึงสถานะความเป็นพลเมือง ถิ่นที่อยู่หรือสัญชาติในทางกฎหมาย…ด้วยมาตรฐานทางวัฒนธรรมเมื่อเอ่ยถึงความเป็นฝรั่งเศส (French Nationality) จึงไม่ใช่เหมายถึงเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น หากรวมถึงประชาชนจํานวนหนึ่งในเบลเยี่ยม สวิตเซอร์แลนด์…
สถานการณ์ในลักษณะเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาในทางการเมืองขึ้น ดังปรากฏจากการเรียกร้องอํานาจในการปกครองตนเอง การเคลื่อนย้ายประชากร การรวม/แยกประเทศ ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นที่มีความสําคัญอย่างมากนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา…
ในทางกฎหมาย คําว่า Nationality มีความหมายเฉพาะถึงสัญชาติที่เป็นความผูกพันระหว่างบุคคลกับรัฐว่าบุคคลนั้น สังกัดอยู่กับรัฐใด ซึ่งเป็นการใช้ถ้อยคําอันมีความหมายที่สามารถแยกออกจากการใช้อย่างทั่วไปหรือในความหมายทางวัฒนธรรมที่หมายถึงสมาชิกของรัฐซึ่งผูกพัน กันโดยภาษา ชาติพันธุ์ ศาสนา เป็นต้น
การถือสัญชาติของบุคคลในรัฐแห่งใดแห่งหนึ่งมีผลต่อการที่รัฐนั้นจะสามารถใช้อํานาจในทางกฎหมายแก่บุคคลดังกล่าว และในทางกลับกันบุคคลผู้ถือสัญชาติของรัฐก็มีสิทธิในด้านต่างๆ เช่นเดียวกับบุคคลอื่นซึ่งถือสัญชาติของรัฐนั้น และหากมิใช่บุคคลผู้ถือสัญชาติของรัฐนั้นก็จะไม่มีสิทธิ หรือมีสิทธิที่แตกต่างออกไป…
ภายใต้รูปแบบการปกครองของรัฐชาติ ความผูกพันระหว่างบุคคลกับรัฐจึงกลายเป็นสิ่งที่มีความสําคัญขึ้นในการเมืองสมัยใหม่ ด้านหนึ่งสัญชาติในทางกฎหมายเป็นการบ่งบอกถึงสังกัดของบุคคลว่าผูกพันอยู่กับรัฐใด ในขณะเดียวกันกระแสความคิดแบบชาตินิยมที่แพร่หลายในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้ทําให้มีการยอมรับหลักการที่สําคัญประการหนึ่งคือ แต่ละชาติควรจัดตั้งรัฐของตนเองขึ้นและรัฐแต่ละรัฐควรจะรวมคนชาติเดียวกันทั้งหมดไว้ เพราะฉะนั้นด้านภายในของรัฐชาติ การก่อตัวขึ้นของรัฐชาติในระยะเริ่มต้นจึงให้ความสําคัญกับชาติ ในความหมายทางวัฒนธรรม อันหมายถึงความร่วมกันในคุณ สมบัติต่างๆ เช่น ภาษา เชื้อชาติ
ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าเป็นอํานาจภายในของรัฐที่จะวางหลักในทางกฎหมายในการกําหนดสัญชาติของบุคคล หลั ที่สําคัญ 2 ประการคือ หลักดินแดน (jus soli) และหลักสืบสายโลหิต (jus sanguinis)
หลักดินแดนถือว่าบุคคลที่ถือกําเนิดขึ้นภายใต้ดินแดนของรัฐย่อมจะได้สัญชาติโดยการเกิด ส่วนหลักสืบสายโลหิต ถือว่าบุคคลจะได้สัญชาติสืบต่อจากบิดาและมารดา หรือทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รัฐส่วนใหญ่ในปัจจุบันยึดถือการกําหนดสัญชาติโดยอาศัยทั้งหลักดินแดนและหลักสืบสายโลหิตประกอบกัน โดยอาจให้น้ำหนักแก่หลักใดหลักหนึ่งมากกว่าก็เป็นได้
ในทางนิตินัย พื้นที่ต่างๆ บนโลกนี้ต้องตกอยู่ภายใต้อํานาจของรัฐแห่งใดแห่งหนึ่งโดยไม่อาจมีพื้นที่ซึ่งปลอดอํานาจรัฐ ดังนั้นประชาชนในทุกแห่งก็ต้องมีรัฐที่ตนขึ้นต่อหรือมีสัญชาติในทางกฎหมาย การยอมรับว่าประชาชนแต่ละคนต้องมีสัญชาติได้รับการยอมรับไว้ ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 1948 โดยบัญญัติไว้ว่า “ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติ” (everyone has the rights to a nationality) และ “บุคคลจะไม่ถูกเพิกถอนสัญชาติตามอําเภอใจ” (no one shall be arbitrarily deprived of his nationality)
เพราะฉะนั้นในโลกปัจจุบัน การมีสัญชาติของบุคคลในลักษณะที่มีความมั่นคง ซึ่งจะไม่ถูกปฏิเสธหรือเพิกถอนจากรัฐจึงเป็นสิทธิที่บุคคลต่างๆ ควรจะได้รับไม่ว่าอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งใด
แต่ในความเป็นจริง มีบุคคลเป็นจํานวนมากที่ประสบปัญหาในเรื่องการถือสัญชาติของรัฐแห่งใดแห่งหนึ่ง และมีผลให้ตกอยู่ในสถานะของคนไร้สัญชาติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลายประการ เช่น การอพยพโยกย้ายเนื่องจากสงคราม การไม่ยอมรับชนกลุ่มน้อย/ชนพื้นเมืองในดินแดนของรัฐ เป็นต้น…
แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐในปัจจุบันที่ถูกเรียกว่าสัญชาติ จะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยและเป็นสิ่งที่ธรรมดาๆ ในความรู้สึกของประชาชนทั่วไปในแต่ละรัฐ สําหรับในสังคมไทยเองก็อาจมีลักษณะเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามหากสืบสาวไปในประวัติศาสตร์แล้ว ก่อนหน้าการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อ พ.ศ. 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ่งที่เรียกว่า “สัญชาติ” ในความหมายที่รับรู้กันในปัจจุบันก็ยังไม่เป็นสิ่งซึ่งรู้จักกันอย่างแพร่หลาย
อํานาจการปกครองของรัฐไทยก่อนหน้ารัชกาลที่ 5 เป็นอํานาจการปกครองในลักษณะที่เรียกว่าเป็นรัฐราชาธิราช ในรูปแบบของรัฐเช่นนี้อํานาจการปกครองเป็นของกษัตริย์ ซึ่งอาณาบริเวณที่อยู่ภายในขอบขัณฑสีมาของรัฐมีทั้งที่เป็นหัวเมืองและประเทศราช การใช้อํานาจของกษัตริย์ที่มีต่อหัวเมืองและประเทศราชเป็นไปอย่างหลวมๆ ภายใต้การปกครองรูปแบบรัฐราชาธิราชสํานึกเรื่องการมีอํานาจการปกครองเหนือดินแดนที่สามารถบ่งบอกอาณาเขตของรัฐอย่างชัดเจนยังไม่เกิดขึ้น
การดูถึงความยิ่งใหญ่ของรัฐแต่ละรัฐขึ้นอยู่กับอํานาจของกษัตริย์ว่ามีความเข้มแข็งมากหรือน้อย หากกษัตริย์มีความเข้มแข็งก็สามารถตีเอาหัวเมืองต่างๆ มาอยู่ภายใต้อํานาจได้มาก การมีหัวเมืองอยู่ภายใต้อํานาจของกษัตริย์มากเท่าใดก็ยิ่งแสดง…
แนวความคิดแบบรัฐราชาธิราชในดินแดนของพื้นที่ที่ เรียกว่าประเทศไทยในปัจจุบัน ดํารงอยู่มาตั้งแต่ช่วงเวลาจาก รัฐอยุธยามาจนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังปรากฏให้เห็น ดังเมื่อพระองค์มีพระราช สาส์นไปถึงสมเด็จพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2408 เนื้อหาของพระราชสาส์นก็สะท้อนถึงรูปแบบของรัฐในยุคสมัยของพระองค์ได้เป็นอย่างดี โดยได้บรรยายไว้ดังนี้
“สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระเจ้ากรุงรัตน โกสินทร์ มหินทรายุทธยาเป็นมหาราชธานีใหญ่ในพระราช อาณาจักรฝ่ายสยาม คือแผ่นดินสยามเหนือใต้ และดิน แดนต่างๆ อยู่เคียงอยู่ใกล้ เป็นที่อยู่อาศัยของชนชาว ประเทศมีเพศภาษาต่าง ๆ คือ ลาวเฉียง ลาวกาว กัมพูชา มลายู และกะเหรี่ยง”
การระบุถึงชนชาวประเทศต่างๆ ที่อยู่ภายใต้อํานาจของพระองค์โดยมิได้กล่าวถึงสัญชาติเอาไว้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ภายใต้รูปแบบการปกครองแบบรัฐราชาธิราช สัญชาติยังมิได้เป็นเงื่อนไขที่ประชาชนภายใต้อํานาจบังคับของกษัตริย์ควรมีร่วมกัน
ดังนั้น หนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอแบรดเลย์ที่ตีพิมพ์เมื่อต้นรัชกาลที่ 5 ค.ศ. 1873 (พ.ศ. 2416) จึงยังไม่ปรากฏคําว่า “สัญชาติ” อยู่ในหนังสือนี้แต่อย่างใด
คําที่ใกล้เคียงกับสัญชาติอย่างเช่นคําว่า “ชาติ” ก็มิได้มีความหมายในลักษณะที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐในทางการเมือง แต่ชาติ “หมายถึงบังเกิด, ว่าเอากําเนิดขึ้น, เหมือนอย่างสัตว์โลกย์ทั้งปวงที่บังเกิดต่อกัน หรือเป็นการใช้เพื่อเปรียบถึงบุคคล บางประเภท เช่น ชาติข้า, ชาติหมา, ชาติหงส์” ซึ่งชาติในความหมายนี้เป็นการใช้ในความหมายที่ระบุความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของบุคคลในแนวดิ่ง มิใช่เป็นการแบ่งคนในแนวระดับตามสภาพภูมิศาสตร์หรือกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นแนวคิดซึ่งเกิดขึ้นในยุคใหม่
ความเปลี่ยนแปลงในแนวความคิดที่มีต่อบุคคลภายใต้อํานาจของรัฐสยาม เริ่มปรากฏนับตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 เมื่อประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสได้แผ่ขยายอํานาจเข้ามาในอินโดจีน กระทบต่อการดํารงอยู่ของรัฐแบบราชาธิราชที่ไม่ได้มีการขีดเส้นพรมแดนที่ชัดเจนและการมีอํานาจอธิปไตยอย่างเด็ดขาดเหนือดินแดนที่บ่งบอกอาณาเขต…
จากรูปแบบการปกครองที่เป็นรัฐแบบราชาธิราช ความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ/วัฒนธรรมในหมู่ผู้คนที่อยู่ภายใต้อํานาจของรัฐไม่เป็นผลกระทบต่อการดํารงอยู่ของรัฐแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ของผู้นําในรัฐนั้นๆ แต่คติความเชื่อดังกล่าวเมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยในช่วงรัชกาลที่ 5 จากแรงกดดันของตะวันตก ทําให้ผู้นําของสยามได้ตระหนักถึงรูปแบบการปกครองที่ “เป็นอันพ้นเวลาพอสมควรแล้ว” ทําให้จําเป็นต้องมีการยกเลิกการปกครองแบบหัวเมืองและประเทศราช ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่หัวเมืองและประเทศราชยังมีความเป็นอิสระในการปกครองตนเองอยู่ค่อนข้างมากมาเป็นรูปแบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาล
ระยะแรกของการจัดตั้งรูปแบบการปกครองแบบใหม่ ดูจะมุ่งเน้นไปในการสร้างอํานาจเหนือท้องถิ่นของรัฐส่วนกลางเป็นสําคัญ มีการปรับรูปแบบที่ทําให้อํานาจส่วนกลางสามารถแทรกเข้าไปในอํานาจท้องถิ่น แต่โดยที่การตั้งชื่อมณฑลต่างๆ ยังคงเป็นไปตามการเรียกขานแบบที่เคยเป็นมา เช่น การปฏิรูปการปกครองในล้านนาเริ่มต้นด้วยการส่งข้าหลวงมาดูแล ตั้งแต่ พ.ศ. 2413 และต่อมา พ.ศ. 2417 ได้จัดตั้งเป็นมณฑลลาวเฉียง นอกจากนั้นก็ยังมีมณฑลอื่นๆ อีก มณฑลลาวพวน มณฑลเขมร หัวเมืองแขกมลายูทั้ง 7 เป็นต้น
แต่ภายในระยะเวลาไม่นาน การปฏิรูปการปกครองไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแบบหัวเมือง และประเทศราช ที่สําคัญยังมีการทําให้กลุ่มผู้คนที่เคยอยู่ภายในขอบวงของอํานาจมีคุณสมบัติบางประการที่เหมือนกันขึ้นมา
ได้มีการเปลี่ยนแปลงการเรียกชื่อที่เดิมเคยตั้งอยู่บนฐานของความคิดแบบเก่า มณฑลต่างๆ ที่มีชื่อเรียกตามกลุ่มเชื้อชาติ วัฒนธรรม ได้ถูกแก้ไขชื่อเรียกเสียใหม่ เช่น มณฑลลาวเฉียง (ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลําปาง ลําพูน น่าน แพร่ เถิน) เปลี่ยนเป็นมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2437 และเป็นมณฑลพายัพใน พ.ศ. 2443 มณฑลลาวพวน (อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม สกลนคร เลย หนองคาย) เป็นมณฑลฝ่ายเหนือ…
การเปลี่ยนแปลงชื่ออันเป็นที่หมายในการปกครองนี้ มิใช่เป็นการเปลี่ยนเพียงชื่อเรียกตามสมัยนิยมเท่านั้น หากยังสะท้อนถึงความรู้ ความเข้าใจของกลุ่มชนชั้นนําในสังคมไทยที่กําลังพยายามสร้างรูปแบบของรัฐที่แตกต่างไปจากเดิมให้บังเกิดขึ้น…
สาเหตุที่ความแตกต่างทางชาติพันธุ์กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ต้องได้รับการ “จัดการ” ทั้งที่ก่อนต้นพุทธศตวรรษ 25 ประเด็นความแตกต่างทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ยังไม่มีนัยสําคัญในทางการเมืองการปกครองก็เนื่องมาจากผลกระทบของ territorial imperatives ซึ่งมาจากตะวันตกที่เกี่ยวข้องกับการที่รัฐชาติสมัยใหม่ถูกสร้างขึ้นบนดินแดนที่แน่นอน และการใช้อํานาจเหนือดินแดนและคนที่อยู่ในดินแดนนั้น แนวความคิดดังกล่าวใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการผนึกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของดินแดนและบุคคลขึ้น
การเปลี่ยนแปลงมาสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากสร้างบูรณภาพทางด้านดินแดนแล้ว ที่สําคัญคือการสร้างความเป็นเอกภาพของประชากรภายในรัฐ ด้วยการสร้างสํานึกของความเป็นไทยร่วมกันขึ้นมา การเปลี่ยนชื่อมณฑลต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้
ดังนั้นในส่วนของประชากร ผู้นําในยุคนี้ก็มองด้วยสายตาที่เปลี่ยนแปลงไปโดยจําเป็นต้องลดทอนความหมายหรือความสําคัญของอัตลักษณ์ในทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม แต่ให้ความสําคัญกับความเป็นชาติของรัฐสมัยใหม่
ดังนั้นเมื่อทางราชการต้องการสํารวจสํามะโนครัวสําหรับประชากรที่อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือหากราษฎณมาติดต่อกับทางราชการก็ให้ “ลงในช่องสัญชาตินั้นว่าชาติไทยบังคับสยามทั้งหมด ห้ามมิให้ลงหรือเขียนในช่องสัญชาติว่า ชาติลาว ชาติเขมร ส่วย ผู้ไทย ฯลฯ ดังที่ได้ปฏิบัติมาแต่ก่อนเป็นอันขาด”
การกล่าวถึงสัญชาติในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ จึงเป็นความหมายของสัญชาติในทางการเมืองที่เป็นความผูกพันระหว่าง บุคคลกับรัฐ ไม่ใช่ความหมายในแง่ของเชื้อชาติหรือกลุ่มวัฒนธรรมหรือเชื้อชาติ…แต่ละคนอยู่ภายใต้บังคับของรัฐใด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจําแนกบุคคลออกไปตามกฎหมายระหว่างประเทศในยุคใหม่
เพราะฉะนั้น ก่อนหน้าการปรากฏตัวของรัฐชาติ ความสัมพันธ์ของประชาชนกับรัฐในลักษณะของสัญชาติจึงยังไม่ได้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีคนไทยในดินแดนแถบนี้ ความเป็นคนไทยดํารงอยู่เป็นความหมายในเชิงกลุ่มวัฒนธรรมมากกว่าความสัมพันธ์กับรัฐ
ดังนั้นความเข้าใจของนักกฎหมายที่อธิบายว่าก่อนหน้า พ.ศ. 2456 (อันเป็นปีที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ ครั้งแรก) บุคคลสามารถมีสัญชาติไทยได้โดย “บุตรที่เกิดก่อนวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2456 จากบิดาไทยย่อมมี สัญชาติไทยภายใต้มูลนิติธรรมประเพณี” ซึ่งชวนให้เข้าใจไปถึงว่าสัญชาติเป็นสิ่งที่ดํารงอยู่ในสังคมไทยมาก่อนหน้านั้น จึงน่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบของรัฐตามจารีตมาสู่การก่อตัวของรัฐสมัยใหม่ (Modern State) สําหรับสังคมไทยในช่วงระยะกลางพุทธศตวรรษที่ 25 สัญชาติยังคงถูกยึดโยงอยู่กับอุดมการณ์ทางการเมืองในแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองแบบเดิม ดังจะปรากฏจาก พ.ร.บ.แปลงชาติ กฎหมายซึ่งมีเนื้อหากําหนดเกี่ยวกับสัญชาติฉบับแรกที่ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 โดยที่กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่กําหนดขั้นตอนเกี่ยวกับการแปลงชาติของคนต่างประเทศเพื่อมาเป็นคนบังคับในสยาม…
เกิดปรากฏการณ์การเดินทาง การเคลื่อนย้ายของบุคคลต่างถิ่น ไปยังดินแดนต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมาก จึงกลายเป็นปัญหาที่ สําคัญว่าบุคคลดังกล่าวควรอยู่ภายใต้อํานาจของรัฐใด ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาที่สําคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของการแผ่ ขยายอาณานิคมจากตะวันตกไปในดินแดนต่างๆ
สัญชาติในความหมายที่เป็นความผูกพันระหว่างบุคคลที่ มีต่อรัฐใดรัฐหนึ่งหรือการอยู่ภายใต้บังคับของรัฐ จึงเป็น พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ดําเนินมาควบคู่กับการก่อตัวของรัฐชาติ กล่าวเฉพาะสําหรับในสังคมไทย สัญชาติเพิ่งปรากฏขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5…
ในช่วงของระยะการเปลี่ยนผ่านจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่รูปแบบของรัฐชาติ สถาบันกษัตริย์ได้นิยามความหมายของสัญชาติให้ยึดโยงอยู่กับความจงรักภักดีต่อสถาบัน อย่างไรก็ตามบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่สัมพันธ์กับการนิยาม ความเป็นชาติของประชาชนก็ได้เปลี่ยนไปอย่างมากภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ความหมายของสัญชาติได้แปรมาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับรัฐ…
สัญชาติจึงมิใช่สิ่งที่ดํารงอยู่มายาวนานในประวัติศาสตร์ หากเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับรัฐชาติ นอกจากนี้สัญชาติยังเป็นสิ่งที่ถูกกําหนดขึ้นเพื่อการสร้างพลเมืองแห่งรัฐให้เกิดขึ้น
ในระยะแรกสัญชาติเป็นการหลอมรวมผู้คนที่แม้จะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมเข้ามาอยู่ภายใต้อํานาจแห่งรัฐ ด้วยการลดทอนความแตกต่างด้านวัฒนธรรมลงไป แต่เมื่อมาถึงห้วงเวลาปัจจุบันสัญชาติกลับเป็นหนึ่งในเครื่องมือของการ จําแนกว่าบุคคลใดซึ่งมีลักษณะที่ต่างไปจากตนเองบ้าง จึงนับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่แปรผันไปอย่างมากจากจุดกําเนิดของสิ่งที่เรียกว่าสัญชาติในสังคมไทย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564