เผยแพร่ |
---|
Eternals ภาพยนตร์จาก Marvel Studios เรื่องราวของกลุ่ม “ฮีโร่พลังเทพเจ้า” พวกเขามีอายุยืนยาวหลายร้อยหลายพันปี พานพบมนุษย์ในหลากหลายอารยธรรม หนึ่งในนั้นคือ อาณาจักรบาบิโลน ดังที่เห็นประตูเมืองชื่อ Ishtar Gate ปรากฏในตัวอย่างแรกของภาพยนตร์ด้วย
ในภาพยนตร์แสดงให้เห็นภาพของกรุงบาบิโลน เมืองอันยิ่งใหญ่และสวยงามแห่งลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรทีส และฮีโร่ที่ยืนตระหง่านอยู่หน้าประตูเมืองที่มีชื่อว่า “Ishtar Gate” โดยเป็นหนึ่งใน 8 ประตูเมืองของกรุงบาบิโลน และนับว่าเป็นสถานที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง ความยิ่งใหญ่สวยงามก็อลังการไม่แพ้ “สวนลอยแห่งบาบิโลน” (Hanging Gardens of Babylon) หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ
“Ishtar Gate” เป็นประตูทางเข้าหลักของกรุงบาบิโลน ดังนั้น มันจึงถูกออกแบบมาเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่และสวยงามเป็นหน้าตาของเมือง ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความน่าหวั่นเกรงหวาดกลัวแก่ศัตรูหากพวกเขาบุกประชิดถึงกำแพงเมือง
กษัตริย์ Nebuchadrezzar II (เนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 อยู่ในช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นผู้ก่อสร้างต่อเติมประตูเมืองส่วนนี้ โดยได้ประดับอิฐเคลือบเป็นรูปวัวป่า สิงโต และมังกร ฯลฯ ซึ่งแสดงถึงความดุร้ายไว้บริเวณประตูเมือง ขณะเดียวกันก็ตกแต่งประดับประดาด้วยสีสันที่สดใสอย่างหรูหรา โดยเน้นที่สีน้ำเงินเข้ม ซึ่งเป็นสีเดียวกับหินสีมีค่าในยุคโบราณที่มีชื่อว่า “Lapis Lazuli”
ประตูเมืองในยุคโบราณไม่ได้มีหน้าที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบป้องกันเมืองเท่านั้น แต่มันมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ โดยจะประตูใช้เป็นสถานที่สำหรับการปรากฏตัวต่อสาธารณะของกษัตริย์ ในงานพาเหรดหรืองานเฉลิมฉลองบูชาต่าง ๆ หรือใช้ทำการสวนสนามทางทหารเพื่อแสดงพลังอำนาจและความแข็งแกร่งของอาณาจักร
สำหรับชื่อ “Ishtar Gate” นี้ มีที่มาจาก “Ishtar” เทพีของชาวบาบิโลน เป็นเทพีแห่งความรัก ความอุดมสมบูรณ์ และสงคราม
“Ishtar Gate” ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1899 โดย Robert Koldewey และ Walter Andrae สองนักโบราณคดีชาวเยอรมัน ในเขตโบราณสถานอาณาจักรบาบิโลน (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิรัก) แต่เดิมพวกเขามุ่งเป้าที่จะขุดค้นสวนลอยแห่งบาบิโลน ที่สร้างขึ้นในสมัยกษัตริย์ Nebuchadrezzar II
อย่างไรก็ตาม นักโบราณคดีชาวเยอรมันไม่ได้ขุดค้นพบสวนลอยดังกล่าว แต่บริเวณที่พวกเขาสำรวจนั้นกลับพบสิ่งประดับประดาอาคารที่งดงาม หนึ่งในบรรดาสิ่งที่พบคือ ชิ้นส่วนของ “Ishtar Gate” ซึ่งสร้างด้วยอิฐเคลือบสีสันสดใสและประดับด้วยรูปสัตว์นานาชนิด
Robert Koldewey เล่าเบื้องหลังการขุดค้นพบครั้งนี้ว่า นับแต่ปี ค.ศ. 1887 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขามายังกรุงบาบิโลน และครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1897 เขาพบเศษชิ้นส่วนอิฐเคลือบหลายชิ้น จนต่อมานักโบราณคดีได้ทำการศึกษาจนพบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของประตูเมืองที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรบาบิโลน เป็นหลักฐานสำคัญของ “Ishtar Gate” จนนำให้นักโบราณคดีสามารถขุดค้นพบพื้นที่ของประตูเมืองในภายหลัง ซึ่งขุดค้นพบราวปี ค.ศ. 1902-1904
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1899 การขุดค้นของนักโบราณคดียังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเป็นเวลากว่า 15 ปี จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 การขุดค้นจึงยุติลงในปี ค.ศ. 1914 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง Robert Koldewey และทีมนักโบราณคดีได้ค้นพบสถานที่หรือพื้นที่สำคัญ ๆ ของกรุงบาบิโลน เช่น Processional Way ซึ่งเชื่อมต่อกับ “Ishtar Gate” โดยเป็นถนนยาว 250 เมตรกว้าง 20 เมตรประดับด้วยสิงโต 120 ตัว ขนาบด้วยกำแพงสูง 12 เมตร เป็นเส้นทางใช้สำหรับขบวนเฉลิมฉลอง และการขุดค้นพบพระราชวังของกษัตริย์ Nebuchadrezzar II ฯลฯ
พลันที่การขุดค้นหยุดชะงักลงนั้น ทีมนักโบราณคดีได้เก็บชิ้นส่วนของ “Ishtar Gate” ได้กว่า 900 กล่อง ทั้งหมดถูกนำไปเก็บไว้ที่ University of Porto ในประเทศโปรตุเกส ทว่า Robert Koldewey เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1925 ในปีถัดมา Walter Andrae จึงสานต่องานเหล่านี้ โดยเขาจัดการนำชิ้นส่วนของ “Ishtar Gate” ที่เก็บรักษาในโปรตุเกสมาส่งมอบให้กับพิพิธภัณฑ์ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และเขาตัดสินใจดำเนินโครงการที่จะประกอบสร้าง “Ishtar Gate” ขึ้นใหม่อีกครั้ง
โครงการบูรณะ “Ishtar Gate” เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1928 โดยทีมงานของ Walter Andrae สามารถประกอบเศษชิ้นส่วนต่าง ๆ จนได้สิงโต 30 ตัว, วัว 26 ตัว และมังกร 17 ตัว รวมทั้งยังประกอบบางชิ้นส่วนของอาคารพระราชวังต่าง ๆ โดยใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี กระทั่งในปี ค.ศ. 1930 Pergamon Museum ในประเทศเยอรมนี ได้เปิดแสดง “Ishtar Gate” อย่างเป็นทางการ
แม้จะประสบความสำเร็จในการฟื้นความยิ่งใหญ่ของ “Ishtar Gate” ขึ้นมาอีกครั้ง แต่นั่นก็เป็นเพียงประตูส่วนหน้าเท่านั้น ซึ่งมีทั้งหมดสองส่วน ส่วนหลังจะมีขนาดใหญ่โตกว่า อย่างไรก็ตาม “Ishtar Gate” ส่วนนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความอลังการของอารยธรรมแห่งลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรทีส ให้ผู้เยี่ยมชมสามารถเข้าใกล้ถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรบาบิโลนในสมัยกษัตริย์ Nebuchadrezzar II เมื่อกว่า 2,600 ปีก่อนว่าเป็นอย่างไร
อ้างอิง :
FELIP MASÓ. (2018). Inside the 30-Year Quest for Babylon’s Ishtar Gate. Access 25 May 2021, from www.nationalgeographic.com/history/history-magazine/article/history-babylon-ishtar-gate-quest
Amanda Ruggeri. (2015). The Great Gate of Ishtar: A door to wonder. Access 25 May 2021, from www.bbc.com/culture/article/20150302-ancient-babylons-greatest-wonder
MARC MADRIGAL. (2020). The Isthar gate and processsional way. Access 25 May 2021, from evangelicalfocus.com/archaeological-perspectives/5120/the-isthar-gate-and-processsional-way
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564