ถามทำไม “คนไทยหรือเปล่า?” ไฉนคำถามนี้จึงจำเป็นในสมัยรัชกาลที่ 4 ?

ภาพประกอบเนื้อหา - แฟนฟุตบอลแสดงธงชาติไทยผืนใหญ่ระหว่างการแข่งฟุตบอลเอเชียนคัพ 2007 ที่สนามราชมังคลา เมื่อ 7 ก.ค. 2007 ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

“คนไทยหรือเปล่า” คำถามจำเป็นสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะเป็นเรื่องผูกพันกับสนธิสัญญา

หลังจากที่รัฐบาลสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ตกลงทำ “สนธิสัญญาเบาริ่ง” ทำให้คนต่างชาติต่างภาษาต่างเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันมากขึ้น ชาวต่างชาติเหล่านี้อยู่ภายใต้การคุ้มครองอันเป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งรวมไปถึงคนในบังคับของประเทศต่างๆ เหล่านั้น โดยไม่เลือกเชื้อชาติ หรือที่เรียกว่า “สัปเยก” คนต่างประเทศและคนในบังคับนี้มีสิทธิพิเศษ คืออยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศต้นสังกัด ไม่ต้องขึ้นศาลไทย และมีสิทธิพิเศษอีกหลายๆ อย่าง เช่น ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา (คริสต์) เป็นต้น

เนื่องจากสนธิสัญญาเบาริ่งไม่ได้กำหนดอายุไว้ ความในสนธิสัญญาฉบับนี้จึงยังมีผลบังคับใช้เรื่อยมา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 อันเป็นยุคที่โลกกำลังตื่นในลัทธิชาตินิยม รัชกาลที่ 6 เอง ก็ทรงมีบทพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง ที่สะท้อนนโยบายการกีดกันเชื้อชาติ เช่นในบทพระราชนิพนธ์เรื่องยิวแห่งบูรพาทิศ หรือเมืองไทยจงตื่นเถิด เป็นต้น อันเป็นเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 พอดี

จากสนธิสัญญาเบาริ่งถึงกระแสชาตินิยมก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 บทบาทและจำนวนของคนต่างชาติ และคนในบังคับต่างชาติมีสูงขึ้นทุกวัน ทำให้รัฐบาลสยามออกพระราชบัญญัติสัญชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2456 เพื่อจำแนกแยกแยะความเป็น “คนไทย” และ “คนในบังคับต่างประเทศ” ให้ชัดเจนในทางกฎหมาย ซึ่งโดยหลักเกณฑ์นั้นอาศัยชาติกำเนิด และถิ่นกำเนิดเป็นหลักในการพิจารณา

หลักเกณฑ์นี้นำมาตีพิมพ์อธิบายความอยู่ในหนังสือ “ลักษณะการเกี่ยวข้องแก่คนบังคับต่างประเทศ ตามสัญญาทางพระราชไมตรี” ผู้รวบรวมคือ มหาอำมาตย์ตรี พระยาสุนทรพิพิธ (ชิต สุนทรวร) เป็นการรวบรวมข้อกฎหมาย สนธิสัญญาต่างๆ เพื่อบรรยายให้กับคณะนายตำรวจนครบาล และตำรวจภูธร หนังสือเล่มนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นใหม่ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมหลวงพีระพงศ์ เกษมศรี อดีตราชเลขาธิการ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2543 โดยพิมพ์ตามต้นฉบับเดิม ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2462 ขนาด 8 หน้ายก ปกสีน้ำตาล พิมพ์ทอง

เนื้อหาภายในเล่มว่าด้วยเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าใครคือคนต่างชาติ เรื่องการเปลี่ยนโอนสัญชาติ ซึ่งเล่มนี้เรียกว่าการเปลี่ยนชาติ เรื่องข้อกำหนดการขึ้นศาลของคนต่างชาติ ตามสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี หรือเป็นการสรุปเนื้อหาว่าด้วยเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั่นเอง

เหตุที่ต้องแยกแยะคนไทยและคนต่างชาติให้ชัดเจน ก็เพื่อที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสยามจะได้ปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้นได้ถูกต้องตามกฎหมาย และสนธิสัญญาที่ทำกันไว้ระหว่างรัฐต่อรัฐ นี่คือเหตุผลที่ต้องรู้ให้ชัดเจนว่า ใครคือคนไทย และใครคือคนต่างชาติ

ในภาคที่ 1 ของหนังสือเล่มนี้ เรื่องคนต่างชาติ ได้ระบุไว้ว่าคนต่างชาติคือคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทยทั้งหมดเป็นคนต่างชาติ โดยอ้างการกำหนดสัญชาติไทยจากพระราชบัญญัติสัญชาติ พุทธศักราช 2456 มาตรา 3 เนื้อหามีว่า

“บุทคนเหล่านี้ได้บัญญัติว่าเปนคนไทย คือ

1. บุทคนผู้ได้กำเนิดแต่บิดาเปนคนไทย แม้เกิดในพระราชอาณาจักร์สยามก็ดี เกิดนอกพระราชอาณาจักร์ก็ดี

2. บุทคนผู้ได้กำเนิดแต่มารดาเปนคนไทย แต่ฝ่ายบิดาไม่ปรากฏ

3. บุทคนผู้ได้กำเนิดในพระราชอาณาจักร์สยาม

4. หญิงต่างชาติผู้ได้ทำงานสมรสกับคนไทยตามกฎหมายประเวณี

5. คนต่างประเทศผู้ได้แปลงชาติมาถือเอาสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติ”

ยังมีคนอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่คนไทย หรือคนต่างชาติ คือ “คนต่างประเทศ” โดยถือเอาคนที่อยู่ในการปกครองของประเทศที่มีสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับสยาม ซึ่งขณะนั้นมีอยู่ 12 ประเทศ คือ 1. อเมริกา 2. โปรตุเกส 3. ฮอลันดา 4. สวีเดน 5. เบลเยียม 6. อิตาลี 7. สเปน 8. รัสเซีย 9. ญี่ปุ่น 10. ฝรั่งเศส 11. อังกฤษ 12. เดนมาร์ก บุคคลของประเทศเหล่านี้มีสนธิสัญญาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับสยาม ถือเป็น “คนต่างประเทศ”

นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายในหนังสือเล่มนี้ถึงข้อปลีกย่อยที่กำหนดให้บุคคลนั้นเป็น “คนไทย” แตกต่างกันตามสนธิสัญญาที่ทำไว้ตามแต่ละประเทศ เช่น หญิงไทยแต่งงานกับ “ฝรั่ง” หรือคนในบังคับฝรั่ง ให้ถือสัญชาติตามสามี แต่ในรุ่นลูกรุ่นหลานนั้นยังต้องดูรายละเอียดต่อไปอีก เช่น ชาวอังกฤษแต่งงานถูกต้องตามกฎหมายกับหญิงไทย มีบุตรเกิดมาจดทะเบียนเป็นคนบังคับอังกฤษได้ หากบุตรผู้นี้เติบโตขึ้นแต่งงาน มีบุตรต่อมาอีกเป็นชั้นหลานก็ยังจดทะเบียนเป็นคนบังคับอังกฤษได้อยู่ แต่หลังจากชั้นนี้คือชั้นเหลนให้ถือเป็นคนไทย นี่คือหลักเกณฑ์ที่ฝรั่งแต่งงานกับคนไทย

แต่หากคนบังคับอังกฤษ เช่น พม่า หรือชาวเอเชียอื่นๆ แต่งงานกับสาวไทย ลูกที่เกิดมาในสยามจดทะเบียนเป็นคนบังคับอังกฤษได้ แต่หลานที่เกิดในสยามต้องเป็นคนไทย

ส่วนเรื่องการที่ฝรั่งจะ “แปลงชาติ” เป็นคนไทยนั้นต้องผ่านคุณสมบัติหลายข้อ เช่น ต้องอยู่ในกรุงสยามไม่น้อยกว่า 5 ปี มีความประพฤติดี และที่สำคัญต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเท่านั้น คือจะต้องมีการถือน้ำสาบานตัว ส่วนในชั้นลูกหรือหลานนั้น มีตัวอย่างในหน้า 46 ดังนี้

“นาย ก. เปนชาวอังกฤษ ได้แปลงชาติเปนคนไทย ภรรยานาย ก. กับบุตร์ซึ่งมีอายุได้ 2 ปี ต้องเปนคนไทยด้วย แต่ต่อไปเมื่อบุตร์นั้นมีอายุถึง 21 ปี เปนผู้ใหญ่บริบูรณ์ตามกฎหมาย มีความประสงค์จะคงถือสัญชาติเปนคนอังกฤษตามเดิมก็ได้ แต่ต้องร้องต่อเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศภายใน 1 ปี ตั้งแต่เวลาที่บุตร์นั้นมีอายุครบ ๒๑ ปี เปนต้นไป คือต้องร้องภายในอายุ 22 ปี ถ้าเกิน 1 ปี จนถึงอายุ 23 ปีแล้ว จะร้องขอกลับเปนคนอังกฤษไม่ได้ ต้องเปนคนไทย”

การเป็นคนต่างประเทศ ไม่ว่าโดยชาติกำเนิด หรือโดยการแปลงชาตินั้น สิทธิต่างๆ ก็จะขึ้นอยู่กับข้อความในสนธิสัญญาที่ทำกันไว้ เช่น สิทธิในการถือครองที่ดิน ซึ่งกำหนดไว้ตรงตามสนธิสัญญาเบาริ่ง คือตั้งแต่กำแพงพระนครออกไป 200 เส้น ห้ามขายให้คนในบังคับต่างประเทศ แต่เช่าได้ นอกเขต 200 เส้น ในระยะแจวเรือ 24 ชั่วโมง ให้ซื้อขายได้ พ้นจากระยะแจวเรือ 24 ชั่วโมงนี้ห้ามซื้อขาย และห้ามอยู่อาศัย หรือในเรื่องการขึ้นศาลซึ่งถือหลักว่า ถ้าโจทก์เป็นฝรั่ง จำเลยเป็นคนไทยก็ขึ้นศาลไทย ถ้าโจทก์เป็นไทย จำเลยเป็นฝรั่งก็ให้สถานกงสุลจัดการ

นี่คือความจำเป็นในขณะนั้นที่ต้องถามว่า “คนไทยหรือเปล่า” เพราะเป็นเรื่องที่ผูกพันอยู่กับสนธิสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก หลายครั้งที่ชาติมหาอำนาจใช้การผิดสัญญาเล็กๆ น้อยๆ นี้เป็นข้ออ้างในการยึดครองประเทศ โดยมักอ้างว่าเพื่อปกป้องคนในบังคับ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560