ร.3 ยกเลิกอภิสิทธิข้าราชการไม่เสียค่านา ทรงมีพระราชปรารภ “..หากินโดยสติกำลังบ่าวไพร่”

(ซ้าย) พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า รัชกาลที่ 3 ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ (ขวา) ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ วัดเสมียนนารี

กลายเป็นธรรมเนียมในหลายประเทศไปแล้วว่าเมื่อผู้นำคนใหม่ขึ้นมารับตำแหน่ง มักมีนโยบายมุ่งทำให้คนหมู่มาก “ถูกใจ” ตั้งแต่อดีตกาลจวบจนปัจจุบันก็มักเห็นนโยบายลักษณะนี้เกิดขึ้น สำหรับในไทย หากย้อนอดีตไปในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีกฎหมายยกเลิกอภิสิทธิ “ไม่เรียกเก็บหางข้าวค่านา” กับข้าราชการ ทำให้ราษฎรมองเห็นความยุติธรรมมากขึ้นในระบบภาษี

ระบบค่าอากรภาษีนาในช่วงสมัยกรุงธนบุรี ถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2310-97) อากรค่านานั้น จะเก็บจากไพร่ที่นำนา ผู้ที่ได้รับยกเว้นคือขุนนาง ข้าราชการชั้นผู้น้อย เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2367) จึงเก็บอากรค่านาจากกลุ่มนี้ดังที่กล่าวข้างต้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชสมบัติวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ขึ้น 7 คํ่า เดือน 9 ปีวอกฉศก หลังจากนั้นได้ราว 2 เดือนเศษ มีประกาศกฎหมายฉบับหนึ่ง เรียกเป็น “พระราชกำหนดให้เรียกค่านารายคด 2 ถัง รายคง 2 ถัง”

ชัย เรืองศิลป์ ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทย สมัย พ.ศ. 2325-2453 ด้านสังคม” เรียงเรียงใจความสำคัญไว้ได้ 5 ข้อ ดังนี้

“(1) นาของข้าราชการแต่เดิมแยกเอาไว้ในบาญชีนารายคด ไม่เรียกเก็บหางข้าวค่านานั้น ให้เสียค่าหางข้าว ค่านาไร่ละ 2 ถัง เหมือนกับนาของราษฎร

(2) แต่เดิม หลวงเคยบังคับซื้อข้าวจากราษฎรไร่ละ 2 ถัง เท่ากับค่านา แต่เกี่ยงให้ราษฎรนำข้าวไปส่งที่ฉางหลวงนั้น ให้ยกเลิก เพราะสืบทราบว่าเงินหลวงค่าซื้อข้าวตกไม่ถึงราษฎร ถูกพวกข้าราชการใช้เล่ห์เหลี่ยมคดโกง เอาเงินหลวงไปแบ่งกันหมด

(3) บังคับให้เจ้าพนักงานใช้ถังหลวงจุ 21 ทะนานตวงหางข้าว เพราะสืบทราบว่า พวกเจ้าพนักงานกรมนาใช้ถังจุ 30 ถึง 40 ทะนานตวงข้าวของราษฎร พอถึงตอนตวงให้แก่หลวง จึงเปลี่ยนเอาถังหลวงจุ 21 ทะนานตวงเป็นเหตุให้ราษฎรผู้ทำนาเสียข้าวไปเปล่าๆ ส่วนหลวงก็เสียเงินไปเปล่าๆ เหมือนกัน

(4) ให้ราษฎรมีสิทธินำข้าวมาส่งฉางหลวงด้วยตนเองหรือจะยอมเสียค่าจ้างขนส่งแก่เจ้าพนักงานก็ได้

(5) นาที่อยู่ไกลฉางหลวงตามหัวเมืองหลวงเคยผ่อนผันผู้ทำนาให้เสียอากรค่านาเป็นเงินนั้น ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่มักจะเรียกเก็บเงินเกินพิกัดอัตราอยู่เสมอ เพื่อจะได้เบียดบังเอาเงินส่วนเกินเป็นประโยชน์ส่วนตัว ต่อนี้ไปให้เรียกเก็บเงิน ‘ไร่ละสลึงเฟื้องพอควรกับราคาข้าว (2 ถัง) จะได้เอาเงินมาจัดซื้อข้าวไว้จ่ายราชการ และให้กำนัน เสนา ข้าหลวง ผู้เรียกเงินค่านาแก่ผู้ทำนารายคดรายคง ให้เรียกเอาแค่โดยสัจโดยธรรมตามพระราชบัญญัติซึ่งโปรดเกล้าฯ ครั้งนี้ อย่าเบียดบังค่านาของหลวง และกระทำคุมเกงเบียดเบียนฉ้อราษฎร ให้ได้ความยากแค้นเดือดร้อนเป็นอันขาดทีเดียว'”

(กฎหมายลงวันอาทิตย์ แรม 3 ค่ำ เดือน 11 จุลศักราช 1186 ปีวอก ฉศก ในหนังสือประชุมกฎหมายประจำศก 4 น.59-62)

ผลสืบเนื่องจากการยกเลิกอภิสิทธิของข้าราชการตามประกาศกฎหมายข้างต้นนั้น เป็นผลให้อย่างน้อยก็เกิดความยุติธรรมในระบบภาษีอากร แน่นอนว่าราษฎรย่อมปลาบปลื้ม อย่างไรก็ตาม จากงานศึกษาของชัย เรืองศิลป์ บรรยายว่า การยกเลิกอภิสิทธินี้ย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการเช่นกัน

ทั้งนี้ ในเอกสารยังมีระบุเหตุที่ยกเลิกอภิสิทธิข้าราชการไว้ ปรากฏในพระราชปรารภว่า (คงการสะกดคำตามเอกสารเดิม จัดย่อหน้าใหม่ – กองบก.ออนไลน์)

“…ไพร่ราษฎรเหล่านี้ก็ไปการรณรงค์สงครามทำราชการแผ่นดินหาได้เปล่าอยู่ไม่ ทำไร่นาหากินด้วยพักแรง แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยซึ่งทำราชการฉลองพระเดชพระคุณนั้นทำไร่นาหากินโดยสติกำลังบ่าวไพร่ ตามควรกับยศถาบรรดาศักดิ์ ไม่สู้ลำบากยากเหนื่อยหาต้องเสียหางข้าวค่านาไม่

แล้วราษฎรรายคงลาคนหลบหนีไม่เสียข้าวค่านา อาศัยแอบอิงผู้มีบรรดาศักดิ์รายคด อ้างเอาว่าเป็นไร่นาของมูลนายให้ทำ เสียข้าวให้ผู้รับสมอ้าง พอให้ได้ตั้งบาญชีเป็นรายคดนารายคดรายคงระคนปนกันฝั่นเฟือนอยู่ เห็นว่าข้าวค่านาซึ่งเรียกว่าทุกวันนี้ ไม่เสมอเป็นยุตยุติธรรม” 

ทั้งนี้ ดังที่เนื้อหาส่วนหนึ่งในประกาศเอ่ยถึงแล้วว่า ราษฎรที่ทำนาไม่เพียงต้องส่งอากรค่านา ยังถือเป็นภาระว่าต้องนำส่งมาที่ฉางหลวงในเมืองที่สังกัด

บางเมืองถูกบังคับซื้อข้าวในราคาถูก ไร่ละ 2 ถัง ถังละ 2 ไพ แต่ราคาปกติถังละ 12.5 สตางค์ กล่าวคือซื้อในราคาเพียงครึ่งหนึ่งของราคาปกติ

เท่านั้นไม่พอ ดังที่ประกาศเอ่ยถึงอีกว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งออกไปรับข้าวและซื้อข้าว ณ ฉางหลวง มีพฤติกรรมโกงข้าว เวลาตวงจะใช้ถังขนาดใหญ่ตวงข้าวจากราษฎร ในประกาศระบุว่าตามที่สืบทราบคือ ใช้ 30-40 ทะนาน ทั้งที่ถังมาตรฐานคือ 21 ทะนาน เมื่อเจ้าหน้าที่จะส่งข้าวให้หลวงก็กลับมาใช้ถังมาตรฐาน ส่วนต่างที่ตวงก็เก็บเป็นของส่วนตัว


อ้างอิง:

“ภาษีนา-สวน-ไร่ สมัยกรุงธนบุรี-ต้นกรุงเทพฯ เก็บกันอย่างไร”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่ 15 กุมภาพันธุ์ 2562. เข้าถึง 18 พฤษภาคม 2564. <https://www.silpa-mag.com/history/article_27794>

ชัย เรืองศิลป์. ประวัติศาสตร์ สมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านสังคม. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2545.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2564