ประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีคนแรก ของสยามประเทศคือใคร?

รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบ สกุลบุนนาค
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ประธานาธิบดี และ รองประธานาธิบดี คนแรก ของ “สยามประเทศ” คือใคร?

ปัจจุบันไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ผู้นำรัฐบาลมีตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ไม่มีผู้นำเป็นประธานาธิบดีเช่นกัน แต่ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงปรมาภิไธยว่า “ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกใหม่”

Advertisement

เรื่องดังกล่าวนี้ เอกลักษณ์ ไชยภูมี เคยค้นคว้าและเรียบเรียงเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “ประธานาธิบดีแห่งกรุงสยาม!” (ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2561) พอสรุปได้ดังนี้


 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว น่าจะพอมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ หรือวชิรญาณภิกขุ พระราชหัตถเลขาของเจ้าฟ้ามงกุฎ ที่ทรงมีไปถึงพระสหายชาวต่างชาติผู้หนึ่ง คือนายพันโท William J. Butterworth ผู้ว่าการเกาะ Prince of Wales ของจักรวรรดิอังกฤษ โดยในจดหมายฉบับวันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2394 (หรือราว 3 สัปดาห์หลังจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต หรือ 24 วันก่อนที่เจ้าฟ้ามงกุฎจะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) ซึ่งระบุข้อความที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า

การขึ้นดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ของพระองค์เป็นการ “elect” หรือ “เลือก” (ตั้ง?)  และยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ยังลงพระปรมาภิไธยในท้ายจดหมายฉบับดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษ ว่า T.Y. [ทูลกระหม่อมใหญ่]Chau Fa Mongkut, newly elect President or Acting King of Siam”  (เน้นข้อความโดยผู้เขียน) ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ท.ญ. [ทูลกระหม่อมใหญ่]เจ้าฟ้ามงกุฎ ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกใหม่ หรือพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองกรุงสยาม

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จดหมายดังกล่าวกำลังระบุว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ ประธานาธิบดี คนแรกของกรุงสยามนั่นเอง!…

พระปรมาภิไธยท้ายจดหมายดังกล่าว มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อย่างน้อย 2 ประการ ประการแรกคือคำอธิบายของพระองค์ว่าทรงมาจากการ “เลือก(ตั้ง?)” ประการที่สองคือคำในภาษาอังกฤษที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงใช้เรียกแทนพระองค์เองว่าเป็น ‘President’ ของกรุงสยาม…

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นซึ่งยังคงไม่ได้รับการกล่าวถึงคือ ข้อความที่แสดงว่าเจ้าฟ้ามงกุฎทรงเข้าใจที่มาของการสืบราชสันตติวงศ์ในครั้งนั้น ว่าทรงมาจากการ ‘Elect’ หรือการถูก “เลือก(ตั้ง?)” ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์  ทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่าใครคือผู้เลือก เพราะเมื่อมี “ผู้ถูกเลือก” ย่อมจะต้องมี “ผู้เลือก” และการค้นหาความหมายของการ “เลือก(ตั้ง?)” ดังกล่าวย่อมเชื่อมโยงกับสาเหตุที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าใจว่า พระองค์คือท่านประธานาธิบดีของกรุงสยาม!…

ข้อความดังกล่าวยังอาจสะท้อนถึงพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการเปรียบเทียบที่มาที่ไปของตำแหน่งพระมหากษัตริย์ของพระองค์ กับที่มาที่ไปของตำแหน่งท่านประธานาธิบดีของ “สหปาลีรัฐอเมริกา” หรือเพื่อทำให้ชาวต่างประเทศเห็นว่า พระองค์ทรงมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการปกครองของตะวันตกด้วยเช่นกัน…

ไม่ว่าความตั้งใจเปรียบเทียบที่มาของพระองค์กับตำแหน่งท่านประธานาธิบดีของสหปาลีรัฐอเมริกา จะแพร่กระจายออกไปมากน้อยเพียงไร คงเป็นปริศนาที่รอให้มีผู้สนใจมาศึกษาต่อไป แต่สิ่งที่พอจะนำมาเทียบเคียงให้เห็นได้ในเวลานี้ คือ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399) หนังสือพิมพ์ New York Daily Times ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “From Siam” โดยมีเนื้อหาเป็นการแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงสยามให้ชาวอเมริกันรู้จัก เนื่องจากเวลานั้น สยามกับสหปาลีรัฐอเมริกาเพิ่งทำสนธิสัญญาทางไมตรีฉบับใหม่ระหว่างกัน

โดยสิ่งที่อยากนำมากล่าวถึงในที่นี้ คือข้อความที่นักข่าวผู้นั้นเขียนบรรยายถึงพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า  The second King is a King only in name, being subservient to the first King in all things, and during the life of the first King he is a mere cipher in state affairs, except in his absence, when he holds the reins of government, being a kind of Vice-President. กล่าวคือ นายฝรั่งคนนั้นเปรียบเทียบตำแหน่งและบทบาทหน้าที่ของพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สองของกรุงสยามในเวลานั้นว่า ไม่แตกต่างอะไรกับ “รองประธานาธิบดี” ของพวกเขา !

ใน พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประกาศพระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด หรือสภาที่ปฦกษาราชการแผ่นดิน โดยในประกาศดังกล่าวระบุถึงการเข้าไปทำหน้าที่ต่าง ๆ ของบรรดาเสนาบดีคนสำคัญของราชสำนักจำนวน 20 คน ซึ่งจะต้องคัดเลือกบุคคลคนหนึ่งให้เข้ามาทำหน้าที่เป็น “ไวซ์เปรสิเดน” ซึ่งถูกเขียนอย่างทับศัพท์ไว้ เพื่อทำหน้าที่บังคับและมีสิทธิใช้สิทธิขาดในที่ประชุม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือไวซ์เปรสิเดนผู้นี้ต้องคอยทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ในยามที่เปรสิเดนไม่เข้าประชุม

มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านก็คงพอเดากันได้แล้วกระมังครับว่า ใครคือ “เปรสิเดน” หรือ ประธานาธิบดี ของสภาที่ปฦกษาราชการแผ่นดิน ใช่แล้วครับ คำตอบคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยในประกาศยังระบุการทำหน้าที่ของพระองค์ไว้อย่างชัดเจนว่า สมเดจพระเจ้าอยู่หัวเปนเปรสิเดนต์ หัวน่าปธานาธิบดี นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ท่านประธานาธิบดีคนที่สองของเรา !

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2564