“ภิกษุรัก” รับฝากทรัพย์ “อีเพ็ง” ผู้เป็นกบฎ รัชกาลที่ 1 ทรงตัดสินคดีเช่นใด?

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร (ฉากหลังเป็นภาพพระสงฆ์ในกัมพูชา ภาพโดย AFP PHOTO / ROB ELLIOTT)

หลายคนเมื่อได้อ่านข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์แล้วอาจจะเห็นว่ามีเรื่องราวเสื่อมเสียเกี่ยวกับนักบวชในพระพุทธศาสนาอยู่บ่อยๆ จนคิดไปว่าพระศาสนาในปัจจุบันกำลังเสื่อมถอยลงหรือไม่ แต่หากมองย้อนกลับไป ทุกยุคทุกสมัยก็มีนักบวชที่ประพฤติไม่ดีไม่งามปรากฏอยู่เสมอมา ตั้งแต่ตั้งแต่ยุคพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนจะมากหรือน้อยนั้นยากจะบอก เพราะสมัยก่อนคงมิได้มีการเก็บสถิติ และการรายงานข่าวคงมิได้ทั่วถึงเช่นปัจจุบัน

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็เป็นยุคหนึ่งที่ปรากฏเรื่องราวข่าวฉาวเกี่ยวกับวงการสงฆ์อยู่เยอะเห็นได้จากการตรา “กฎพระสงฆ” ขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ที่มักมีเรื่องราวความเป็นมาประกอบเหตุผลของการตรากฎหมายขึ้นในหลายมาตรา

หนึ่งในนั้นคือกรณีของ “สมีรักวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังฯ) ที่ไปรับฝากทรัพย์จาก “อีเพ็ง” ผู้เป็นกบฏ

“อีเพ็ง” จะเป็นใครมาจากไหนไม่มีใครทราบแน่ชัด จากข้อมูลตามบันทึกในกฎหมายตราสามดวงทำให้เรารู้ได้เพียงแต่ว่า นางเป็น “กระบถโทษถึงตาย” อีเพ็งจึงน่าจะไปกระทำความผิดฐานเป็นกบฏประการใดประการหนึ่ง มาก่อนแล้วจึงนำเอาทรัพย์มาฝากไว้กับภิกษุรัก

ลำพังการที่ภิกษุรับฝากทรัพย์ของฆารวาสก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรอยู่แล้ว การรับฝากทรัพย์จากนักโทษร้ายแรงจึงเรื่องที่เสื่อมเสียยิ่งกว่า

และในขณะนั้นตาม “พระไอยการราชอะนาจักร” ก็ถือสืบกันมาว่า ทรัพย์สินของกบฏยอมตกเป็นของหลวง ทั้งความผิดของอีเพ็งก็เป็นที่รู้กัน “ทั่วพระนครแขวงจังหวัด” ทางการได้ออกประกาศอยู่หลายครั้ง แต่ภิกษุรักกลับนิ่งเฉยไม่แจ้งว่าตนครอบครองทรัพย์สินของอีเพ็งเอาไว้

ภายหลังมีพลเมืองดีไปแจ้งความต่อทางการว่า อีเพ็งได้นำเอาทรัพย์ไปฝากไว้กับภิกษุรักเป็นอันมาก ภิกษุรักจึงยอมรับว่าตนรับทรัพย์ของอีเพ็งเอาไว้

เบื้องต้นพระราชาคณะพิพากษาว่า ภิกษุรักต้องแต่อาบัติปาจิตตีย์เท่านั้น แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่า การที่ภิกษุรัก “สบถษาบาล” ให้การต่อพระราชาคณะไปนั้น ก็ด้วยกลัวภัยที่อยู่เบื้องหน้าเท่านั้น หาได้สำนึกต่อความผิดของตนไม่ เมื่อพิจารณาความผิดทั้งทางโลกและทางธรรมแล้วทรงเห็นควรให้สึกภิกษุรัก ภิกษุรักจึงต้องกลายเป็นสมีรักไปในคราวนั้น

ส่วนโทษทางฝ่ายอาณาจักรนั้น รัชกาลที่ 1 “ทรงพระกรรรุณาว่ายังหามีพระราชกำหนดกฎหมายไม่ จึ่งงดโทษสมีรักไว้” ซึ่งเป็นหลักการที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายสากลที่มีมาถึงปัจจุบันว่า “ไม่มีความผิด และไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมาย” (nullum crime, nulla poena sine lege) หลักสำคัญของการปกครองในระบอบนิติรัฐ เพื่อไม่ให้บุคคลใดต้องรับโทษจากการกระทำใดๆ ที่ตัวเองไม่รู้ว่าเป็นความผิด

หลังจับสมีรักสึกออกจากพระศาสนาแล้ว พระองค์ก็ทรงตรากฎหมายขึ้นเพื่ิอห้ามภิกษุสามเณรรับฝากทรัพย์ฆารวาสโดยเด็ดขาด (ไม่เฉพาะแต่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องอาญาอย่างเช่นอีเพ็งเท่านั้น) หากบอกปัดไม่รับแล้ว แต่ฆารวาสดื้อดึงทิ้งทรัพย์ไว้ ภิกษุสามเณรนั้นต้องบอกภิกษุรูปอื่นๆ แสดงความบริสุทธิ์ใจ ก่อนรายงานไปยังพระราชาคณะเจ้าอธิการ หากฝ่าฝืนไม่ทำตามนอกจากจะถูกจับสึกแล้วยังจะถูก “เฆี่ยนจงษาหัด” อีกด้วย ส่วนฝ่ายฆารวาสก็อาจต้องโทษ “ริบราชบาทขับเฆี่ยนจงหนักโดยโทษาณุโทษ” เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ที่ผู้เขียนเอาเรื่องนี้มาบอกเล่ามิได้มีเจตนาส่งเสริมให้รัฐใช้กฎหมายเอาผิดกับพระสงฆ์อย่างรุนแรงเหมือนเช่นในยุคจารีตแต่ประการใด แต่เรื่องของสมีรักยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจชวนให้ขบคิด เช่นภาพสะท้อนปัญหาทางสังคมที่แม้เวลาจะผ่านไปนาน แต่ต้นเหตุของปัญหาก็ยังมีลักษณะไม่ต่างกันเท่าไรนัก หรือเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงยับยั้งการใช้พระราชอำนาจในฐานะ “พระเจ้าแผ่นดิน” ที่คนมักมองว่ามีอำนาจล้นพ้น ก็แสดงให้เห็นว่าในยุคจารีต แม้มีเหตุอันอาจอ้างการใช้อำนาจได้ แต่หากการนั้นขัดต่อคุณธรรมหรือจารีตประเพณีบางประการ พระมหากษัตริย์ก็มิอาจใช้อำนาจเบ็ดเสร็จไปจัดการได้ทุกกรณี

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2560