ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
คนส่วนใหญ่เข้าใจกันตลอดมาว่า ทางรถไฟญี่ปุ่นในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือทางรถไฟสายมรณะ ใช้สำหรับการเดินทัพเข้าไปทำลายรังทหารอังกฤษในพม่าและอินเดียเท่านั้นตามข้อมูลกระแสหลัก แต่ข้อมูลต่อไปนี้ที่ ไกรฤกษ์ นานา ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “อึ้ง! แผนแม่บทรถไฟญี่ปุ่นสายเอเชีย จีน – ไทย – มลายู สมัยสงครามโลกที่สาบสูญ” (ศิลปวัฒนธรรม, พฤศจิกายน 2563) จะทำให้ต้องตะลึงกับความคิดของญี่ปุ่น
ทางรถไฟญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่สำคัญกว่าคือ การแหวกวงล้อมของฝ่ายสัมพันธมิตรรอบเกาะญี่ปุ่นออกมาจากการปิดล้อมของศัตรูต่างหาก การได้ขยายฐานอำนาจของญี่ปุ่นออกสู่โลกภายนอกช่วยให้อิทธิพลของญี่ปุ่นแผ่ขยายออกไปยังชาวเอเชียตามแผนแม่บท “เอเชียสำหรับชาวเอเชีย” และการกำหนดขอบเขตของวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
หนทางที่จะแหวกวงล้อมพวกสัมพันธมิตรออกมาอย่างแนบเนียนและปลอดภัยที่สุดคือการเคลื่อนตัวของกองทัพขนาดมหึมาออกมาทางภาคพื้นดินผ่านจีนแผ่นดินใหญ่เข้าสู่อินโดจีน (เวียดนาม – เขมร) เพื่อหลีกหนีการถูกซุ่มโจมตีทางอากาศ หรือทางทะเลของฝ่ายศัตรู ซึ่งล่อแหลมและเสี่ยงภัยอันตรายมากกว่าทางภาคพื้นทวีป
ยานพาหนะที่ตอบโจทย์ที่สุดในเวลานั้นก็คือ “รถไฟ”
เอกสารร่วมสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาพิมพ์ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2486) ชี้แจงให้คนไทยเข้าใจว่า การขยายอิทธิพลและขอบเขตอิทธิพลของญี่ปุ่นมิได้เกิดจากความกระหายสงคราม แต่เกิดจากความกดดันจากสหรัฐฯ ที่กีดกันและยับยั้งการขายน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงให้ญี่ปุ่น ทำให้ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงอยู่แบบประเทศอุตสาหกรรมที่พึ่งพาวัตถุดิบเพราะการมีชัยภูมิเป็นเกาะ ญี่ปุ่นจึงดิ้นรนที่จะไขว่คว้าหาทรัพยากรด้วยตนเอง จากภายนอกประเทศมาป้อนโรงงานของตน
ความกดดันนี้พอกพูนขึ้นจนระเบิดเป็นความทะเยอทะยานในอันที่จะขยายขอบเขตทางเศรษฐกิจและการเมืองของญี่ปุ่นออกสู่โลกภายนอก กลายเป็นความก้าวร้าวเชิงนโยบายเหนือพื้นที่ทับซ้อนที่จักรวรรดินิยมตะวันตกเคยมีอำนาจมาก่อน วารสารวิทยาจารย์ เล่มที่ 41 มีนาคม 2484 อธิบายว่า…..
“ในฐานะเช่นนี้ ญี่ปุ่นพึงมีหนทางเลือกอยู่สองทางคือ อพยพไปอยู่ต่างประเทศหรือมิฉะนั้นก็ต้องขยายวงอุตสาหกรรมออกไปให้เพียงพอแก่การที่จะรับเอาคนงานที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ในเมืองและที่เดินทางหนีความยากจนมาจากชนบท ทางแก้ทั้งสองประการนี้ผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นอยู่กับปัญหาอาณานิคม กล่าวคือที่ว่าสำหรับพลเมืองที่จะอพยพไปอยู่หรือมิฉะนั้นก็เป็นแหล่งสำหรับรับสินค้าจากเมืองมารดา อย่างไรก็ตาม ยังมีทางแก้ประการที่สองอีกประการหนึ่งคือ การทำสงครามและยึดเอาดินแดนอื่นๆ เข้ามาเป็นของตน
ในการที่จะยึดและใฝ่หาอาณานิคมนั้น ญี่ปุ่นอ้างว่าเพื่อที่จะระบายพลเมืองที่ทวีขึ้นทุกปี ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อเหลียวแลไปทางไหนก็พบแต่นโยบายกีดกันการอพยพชาวญี่ปุ่นของชาวตะวันตกทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่นเมื่อ ปี ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) ในกฤษฎีกาที่ก่อตั้งจักรภพออสเตรเลียขึ้นนั้น สภาได้ผ่านรัฐบัญญัติฉบับหนึ่ง ห้ามการอพยพของชาวญี่ปุ่น ในปี 1908 คานาดาได้จำกัดจำนวนชาวญี่ปุ่นที่อพยพเข้าประเทศเหลือเพียงปีละ 400 คน
ในปี 1913 สหภาพอาฟริกาใต้ได้ออกรัฐบัญญัติห้ามมิให้ชาวญี่ปุ่นเข้าไปตั้งหลักแหล่งประจำแม้แต่คนเดียว ทาง ส.ป.ร. อเมริกานั้น เมื่อปี 1908 ก็ได้ดำเนินการกักกันการอพยพของชาวญี่ปุ่น โดยได้จำกัดจำนวนชาวญี่ปุ่นเข้าประเทศเป็นคั่นแรก และในปี 1924 ก็ได้ห้ามผู้ที่มีเชื้อชาติเป็นชาวญี่ปุ่นเข้าประเทศโดยเด็ดขาด…
การกีดกันที่ชาวญี่ปุ่นแค้นเคืองที่สุด ก็คือการกีดกันของออสเตรเลีย ญี่ปุ่นได้ชี้ให้เห็นว่า ทวีปนี้มีเนื้อที่ถึง 3 ล้านไมล์ตารางเหลี่ยม แต่มีพลเมืองเพียง 6.5 ล้านเท่านั้นเอง ยังเหลือพื้นที่เป็นอันมาก ซึ่งรอคอยชาวอาณานิคมของญี่ปุ่น จะไปทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นและถึงแม้จะไม่ได้ผลดีแท้เหมือนในบางประเทศ ก็ยังเป็นที่สามารถระบายพลเมืองที่อยู่แออัดภายในประเทศให้มีที่อยู่ที่กินได้อีกหลายพันคน…
ความไม่สมหมายของญี่ปุ่นในการขยายพลเมือง ทำให้ญี่ปุ่นต้องแก้ไขด้วยวิธีอื่นต่อไป คือ ทำให้ประเทศเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ หรือมิฉนั้นก็ทำสงครามขยายดินแดนของตนเองออกไป
การที่จะเลี้ยงดูพลเมืองทั้งประเทศด้วยการทำให้ประเทศกลายเป็นอุตสาหกรรมนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ ดังเช่นเกรตบริเตนได้ทำมาแล้วในศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่น ซึ่งมีพลเมืองเป็นกสิกรเสียราวร้อยละ 50 ควรจะไปได้ไกลมากในเรื่องนี้
แต่ทว่าญี่ปุ่นมีข้อเสียเปรียบประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ กล่าวคือไม่มีแหล่งกำเนิดสินค้าดิบของตนเอง ญี่ปุ่นมีไหมและกำมะถันเหลือเฟือ ทองแดงและถ่านหินมีพอใช้ แม้จะมีคุณภาพหย่อนสักหน่อย แต่ญี่ปุ่นขาดฝ้าย ขนแกะ น้ำมันและแร่เหล็ก ซึ่งจำเป็นยิ่งในวงการอุตสาหกรรมปัจจุบันนี้
แต่พอถึงสมัยเศรษฐกิจตกต่ำใน ส.ป.ร. อเมริกาเมื่อ 1929 และอเมริกาห้ามการส่งของฟุ่มเฟือยเข้าประเทศการอุตสาหกรรมแผนนี้ของญี่ปุ่นก็พลอย ซุดโซมตามไปด้วย
ญี่ปุ่นจึงเหลือทางที่จะเลือกสองทาง คือ ทำสงครามเอาดินแดน เพื่อจะได้สัมภาระดิบเสียโดยตรงอย่างหนึ่ง หรือทวีจำนวนสินค้าให้มากขึ้น เพื่อนำรายได้มาซื้อสัมภาระดิบอีกอย่างหนึ่ง และญี่ปุ่นได้พยายามทั้งสองประการ”
รถไฟที่ญี่ปุ่นก็พัฒนาไปไกล จึงนำมาตั้งเป็นโครงการใหม่เชื่อมโยงตนเองกับแผ่นดินภาคพื้นทวีป แผนแม่บทของทางรถไฟสายทรานส์เอเชียแบบเบ็ดเสร็จจึงเกิดขึ้นทันที ดังข่าวใหญ่ที่ตีแผ่ออกไปทั่วเอเชีย และในประเทศไทย ความว่า
“รถไฟไนข่าวโลก
ลงมือส้างทางรถไฟจากยี่ปุ่นผ่านไทยแล้ว ผู้เชี่ยวชาญสำหรวดรายงานไปญี่ปุ่น
การดำเนินการสำหรวดเส้นทางและทำการสอบสอน เพื่อเตรียมการวางชทางรถไฟสายอาเซีย ซึ่งจะได้เดินติอต่อระหว่างกรุงโตเกียวถึงโชนัน [สิงคโปร์] ผ่านทางชเกาหลีเหนือ จีน อินโดจีน และประเทศไทย บัดนี้ได้ดำเนินหยู่หย่างเร่งรีบโดยผู้เชี่ยวชาญไนการส้างรถไฟของยี่ปุ่น และตามข่าวที่เปิดเผยว่า ทางบางตอนนั้นได้ลงมือส้างกันบ้างแล้ว
ไนส่วนที่จะดำเนินการส้างทางรถไฟยาว 2,700 กม. ข้ามอินโดจีน เพื่อมาต่อกับสายรถไฟไนประเทสไทยนั้น ผู้ที่ออกทำการสำหรวดได้ทำรายงานเสนอไปยังโตเกียว วงการที่ซาบเรื่องดีได้ให้ความเห็นว่า ทางรถไฟสายนี้จะเปนสายที่สำคันที่สุดไนภูมิภาคส่วนนี้
เพราะว่า รถไฟสายนี้จะเข้าแทนที่การลำเลียงขนส่งสินค้าจากประเทสไทย อินโดจีน พม่า ตลอดจนมาไล [รัฐมลายู ] แทนการไช้เรือแต่เดิมมา ไนปัจจุบันนี้ทางรถไฟของ อินโดจีน ซึ่งมีปลายทางหยู่ที่ไซ่ง่อนนั้นก็มีถนนติดต่อ ซึ่งไช้รถยนต์ลำเลียงได้เปนอย่างดีไปยังพนมเปญและแคว้นพนม” (วารสารรถไฟ, กรมรถไฟ, ปีที่ 1 เล่มที่ 11 พฤศจิกายน 2486)
ทว่าหากเมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วทางรถไฟสายทรานส์เอเชียมีมูลเหตุมากกว่าการหลีกเลี่ยงทางออกสู่ทะเลของกองทัพญี่ปุ่นอย่างเดียว แต่เป้าหมายที่แท้จริงมีมากนั้น คือ
(1) แหวกวงล้อมฝ่ายสัมพันธมิตรออกมาจากฐานที่มั่นเดิมคือ เกาะญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว
(2) เป็นเส้นทางลำเลียงทรัพยากร (น้ำมันเชื้อเพลิง, อาหาร, วัตถุดิบ) จากดินแดนมหาเอเชียบูรพากลับมาเลี้ยงชาวญี่ปุ่นและป้อนภาคอุตสาหกรรรม
(3) หนทางเชื่อมโยงหาพรรคพวกสร้างความเป็นปึกแผ่นของวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา โดยมีญี่ปุ่นเป็นแกนนำหลัก
(4) เปิดแนวรบภาคพื้นดินซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรเสียเปรียบมากกว่าและหลีกหนีการใช้เส้นทางทะเล ซึ่งสุ่มเสี่ยงและไม่ปลอดภัย
และจากพิมพ์เขียว (BLUEPRINT) ของเส้นทางรถไฟสายนี้ผลักดันให้ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยโดยเด่นขึ้นทันที เพราะไทยจะกลายเป็นชุมทางและศูนย์กลางของภูมิภาคเชื่อมโยงเขตสามเหลี่ยมยุทธศาสตร์ด้านการทหารอยู่กึ่งกลางพรมแดน –อินโดจีน – พม่า – มลายู ที่ญี่ปุ่นต้องการครอบครอง
ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงเอาใจคนไทยทุกวิถีทางและสามารถซื้อใจคนไทยในยุคนั้นด้วยการมอบดินแดนที่ไทยเคยเสียไปให้อังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 5 กับ 4 รัฐบนคาบสมุทรมลายู ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “รัฐมาไล” คืนให้ไทยเพิ่มเติม
วารสารรถไฟ ฉบับปี พ.ศ. 2486 เขียนอธิบายความตื่นเต้นของ “กรมรถไฟไทย” ที่เพิ่มได้รับการโอนกรรมสิทธิ์ดินแดนใหม่เข้ามาในระบบตอนหนึ่งว่า
“เปนที่ซาบกันแล้วว่า เมื่อเดือนที่แล้ว (ตุลาคม 2886) ประเทสไทยได้รับดินแดนใหม่เข้ามารวมไนราชอานาจักรทางด้านเหนือ (ไนรัถซาน) 2 รัถคือ รัถเมืองพานกับรัถเชียงตุง และทางด้านไต้ (ไนสหรัถมาไล) 4 รัถ คือ รัถปะลิส รัถไซบุรี รัถกลันตันและรัถตรังกะนู การรวมดินแดนดังกล่าวเข้าหยู่ไนราชอานาจักรได้ดำเนินปติบัติระหว่างทางราชการไทยกับยี่ปุ่น เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2486 เมื่อรักสาไว้ซึ่งประวัติการรถไฟ จึ่งรวบรวมการปติบัติเท่าที่สมควนมาเสนอไว้
สำหรับกิจการรถไฟ ความตกลงมีว่า ฝ่ายไทยจะได้รับโอนกิจการมาดำเนินฉะเพาะทางสายฝั่งตวันออกของมาไลคือส่วนที่หยู่ไนรัถกลันตัน โดยเดินต่อจาก สุไหงโกลกผ่านปาร์เซมันถึงตุมบัด สวนไต้ปาร์เซมัสถึงกัวลาไกรนั้น ฝ่ายยี่ปุ่นยังจะเดินรสพิเสสบนรางหยู่ และทางสายฝั่งตะวันตกของมาไลอันได้แก่ส่วนที่หยู่ไนรัถปะลิสและไซบุรีนั้น ฝ่ายยี่ปุ่นยังจะคงจัดการเดินรถหยู่ก่อน เนื่องจากความจำเปนไนการยุธ ฉะนั้นกรมรถไฟจึงจัดส่งคนะผู้แทนกรมรถไฟไปรับโอนนะ 18 ตุลาคม 86 เมื่อได้รับโอนมาแล้ว จะได้ทำการเดินรถไนวันรุ่งขึ้น (19 ตุลาคม2486) ทีเดียว”
ภายหลังวารสารรถไฟเผยแพร่ข่าวดังกล่าวเรื่องของรถไฟทรานส์เอเชียก็เงียบหายไปเฉยๆ
ทว่าตามข้อเท็จจริงแล้วมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่ากรมรถไฟญี่ปุ่นได้เข้ามาควบรวมกิจการรถไฟภายในประเทศไทยในการขนส่งด้านการทหารทั้งสายเหนือ สายตะวันออก และสายใต้เพื่อเชื่อมโยงกับรถไฟสายทรานส์เอเชีย ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2484 ก่อนการเจรจาขออนุมัติจากรัฐบาลจอมพล ป. เสียอีก แต่มิได้เป็นข่าวเท่านั้น
ในขณะที่ส่วนต่อขยายจากทางรถไฟสายทรานส์เอเชียกลับได้รับการตีแผ่อย่างครึกโครม เมื่อกรมรถไฟญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการสร้างทางรถไฟสายมรณะไทย – พม่า ซึ่งมีระยะทางยาวถึง 415 กม. เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี 3 เดือน โดยมีทหารญี่ปุ่นหลายพันนายควบคุมเชลยศึกนับแสนคนสร้างทางนี้และได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2486
นายพลนากามูระ แม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้เคยให้ข้อมูลว่า “ประเทศไทยถูกวางหมากให้เป็นที่จัดตั้งฐานทัพภาคที่ 18 ของกองทัพญี่ปุ่นและชุมทางรถไฟถึง 3 ด้านเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีทหารประจำการอยู่มากถึง 150,000 นายในประเทศไทยในปี 2487”
กำลังทหารดังกล่าวเข้ามายังประเทศไทยและอีกเป็นแสนนายผ่านไปยังสมรภูมิอื่นๆ รอบด้านได้อย่างไรหากไม่มีระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่อย่าง “รถไฟ” เป็นตัวแปร แต่ผลสำเร็จของทางรถไฟสายนี้ก็จำเป็นต้องเก็บงำไว้เป็นความลับทางทหารตลอดไป และอาจนำไปสู่ชัยชนะหากไม่ถูกตัดตอนด้วย “ระเบิดปรมาณู”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2564