รื้อฟื้นเมืองประวัติศาสตร์ เวียงกุมกาม ที่เชียงใหม่

เมืองเวียงกุมกาม-มรดกล้านนา

เวียงกุมกามได้รับการรื้อฟื้นให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๔๕ ภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาที่ยั่งยืน : เวียงกุมกาม-มรดกล้านนา โดยรัฐบาลใช้งบ ๓๙.๕ ล้านบาท เพื่อบูรณะโบราณสถานในเวียงกุมกาม เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

ตามโครงการพยายามให้ชุมชนในท้องถิ่นเข้าใจและเห็นคุณค่าประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าความสำเร็จของโครงการนี้ขึ้นอยู่กับประชาชนมากที่สุด ในฐานะที่ผู้เขียนเคยทำวิจัยประวัติศาสตร์เวียงกุมกามเมื่อ ๑๖ ปีที่ผ่านมา มีโอกาสเห็นสภาพอันบริสุทธิ์ของเวียงกุมกาม ในโอกาสการรื้อฟื้นเมืองประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ผู้เขียนจึงขอย้อนรอยอดีตเวียงกุมกาม โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชนทั่วไป

เวียงกุมกามตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ในอดีตน้ำปิงไหลผ่านเวียงกุมกาม และน้ำปิงได้เปลี่ยนทางเดินทาไหลในแนวปัจจุบัน อุทกภัยได้ทำลายเวียงกุมกามให้จมลงอยู่ใต้ดิน และหายหน้าไปจากประวัติศาสตร์ล้านนาเป็นเวลานับร้อยๆ ปี ชื่อของเวียงกุมกามเพิ่งรู้จักกันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ เมื่อรื้อฟื้นแหล่งโบราณสถานใต้ดินในวัดช้างค้ำ หรือกานโถม

จากการวิจัยพบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี แสดงว่าบริเวณเวียงกุมกามีชุมชนอยู่ก่อนแล้ว มีอายุประมาณ ๙๐๐ ปี มีฐานะเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งขึ้นกับเมืองลำพูน ที่วัดกานโถมศูนย์กลางของเวียงกุมกามได้พบศิลาจารึกอักษรมอญพระพิมพ์ดินเผา และเครื่องปั้นดินเผาศิลปะหริภุญไชย หมู่บ้านแห่งนี้คงมีสืบมาจนกระทั่งพญามังรายยึดเมืองลำพูนได้ใน พ.ศ. ๑๘๓๕ (บริเวณเวียงกุมกามมีอายุ ๗๐๘ ปี) เวียงกุมกามมีผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวตามลำน้ำปิง มีคันดินหรือกำแพงดินสองชั้น ตรงกลางระหว่างกำแพงดินคั่นด้วยคูน้ำขนาด ๒๐ เมตร

ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๓๗-๑๘๓๙ เวียงกุมกามมีฐานะเป็นเมืองราชธานีแห่งราชอาณาจักรล้านนา ซึ่งเป็นช่วงที่รับอิทธิพลจากหริภุญไชยอย่างมาก ก่อนจะสร้างแบบเฉพาะของล้านนา เช่น ผังเมือง, พุทธศาสนานิกายพื้นเมือง, ศิลปะ, สถาปัตยกรรม, อักษรศาสตร์ ดังนั้นเวียงกุมกามจึงเป็นความสืบเนื่องจากหริภุญไชยถึงล้านนาระหว่างที่พญามังรายประทับในเวียงกุมกาม ในฐานะศูนย์กลางทางการเมือง พบเวียงกุมกามเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญด้วย เพราะตำนานกล่าวถึงเรือค้าขายในลำน้ำปิงหน้าเวียงกุมกามคึกคักมาก มีเรือชนกันล่มวันละ ๒-๓ ลำ ซึ่งสภาพเป็นเมืองค้าขาย คงอยู่ตลอดมาจนกระทั่งน้ำปิงเปลี่ยนทางเดิน

หลังจากย้ายราชธานีจากกุมกามมาสร้างเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๑๘๓๙ แล้ว เวียงกุมกามยังเป็นเมืองสำคัญ ซึ่งพญามังรายและกษัตริย์พระองค์ต่อๆ มาเสด็จมาประทับอย่างสืบเนื่อง ดังนั้นในเวียงกุมกามจึงมีวัดใหญ่โตงดงาม เพราะเป็นวัดกษัตริย์สร้าง ดังพบศิลปะลายปูนปั้น รูปสัตว์ที่ซุ้มโขงประตูวัดหัวหนอง เป็นผลงานของช่างในคุ้มหลวงอย่างไม่ต้องสงสัย ผลงานชิ้นเอกนี้อยู่ในสมัยยุคทองของล้านนา มีคุณค่าสูงมาก เพราะยังบริสุทธิ์ยิ่ง (ไม่ถูกซ่อมแซมโดยช่างฝีมือไม่ถึง ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมายในเมืองเชียงใหม่) เนื่องจากถูกดินฝังกลบในยุคน้ำท่วม และเวียงกุมกามกลายเป็นเมืองร้างจมอยู่ใต้ดิน

เวียงกุมกามล่มสลายเพราะธรรมชาติทำลาย อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดเกิดในสมัยพม่าปกครองล้านนา (พ.ศ. ๒๑๐๑-๒๓๑๗) ซึ่งยังไม่พบหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่กล่าวถึงเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งนี้เลย คาดว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ปีที่ผ่านมา จุดที่น้ำไหลถล่มทลายอยู่ระหว่างวัดอีค่างและวัดปู่เปี้ย ตะกอนดินสูงจากระดับพื้นดินเดิม ณ จุดสูงสุดอยู่ที่ข้างวิหารวัดอีค่างด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ ๑.๘-๒ เมตร พบก้อนหินและทรายในแม่น้ำ ซึ่งถูกกระแสน้ำพัดมาจมอยู่ข้างวิหาร พิจารณาจากระดับความสูงของตะกอนคาดว่าระดับน้ำท่วมซึ่งพาตะกอนมาต้องสูงประมาณ ๓-๔ เมตร

หลังจากน้ำลดลงน้ำปิงได้เปลี่ยนทางเดิน โดยย้ายไปด้านทิศตะวันตก ผ่านท่าวังตาลและป่าแดด น้ำปิงสายซึ่งผ่านเวียงกุมกามแห้งไป เรียกกันต่อมาว่าปิงห่าง (ร้าง) ส่วนน้ำปิงแนวใหม่ซึ่งไหลอยู่ในปัจจุบันได้ถล่มวัดลงไปจมอยู่ใต้น้ำ (อยู่ใต้ฝายท่าวังตาล)

เมื่อน้ำปิงไหลมาทางท่าวังตาลทำให้ท่าวังตาลเป็นท่าน้ำมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๗ ชุมชนท่าวังตาลซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนามคมค่อยๆ ขยายเข้าสูดินแดนที่ลึกเข้าไปในบริเวณเวียงกุมกาม ทำให้เวียงกุมกามกลับมาเป็นชุมชนอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ภายใต้ชื่อหมู่บ้านช้ำงค้ำ แต่คนทั่วไปก็ยังไม่รู้จักเวียงกุมกาม กระทั่ง พ.ศ. ๒๕๒๗ จึงเริ่มเปิดตัวเวียงกุมกาม

ผู้เขียนได้เสนอให้อนุรักษ์เวียงกุมกามมานานแล้ว จึงยินดีกับโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเวียงกุมกาม (พ.ศ. ๒๕๔๕) และหวังว่าการรื้อฟื้นอดีตเมืองประวัติศาสตร์ในครั้งนี้กระทำอย่าง “ผู้รู้” เพราะหากปราศจากความรู้ ผลของมันคือการทำร้ายเวียงกุมกามอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเสียหายยิ่งกว่าอุทกภัย


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560