ทำไมชาวโซ่ง เรียกคนไทยว่า ผู้โกย สอนลูกหลานไม่ให้คบ “บะโกย” สบถ “บะโกยหำแหล่”

รูป บะโกย ในมโนทัศน์ของ อาจารย์เทวิน เอี้ยมมี ศิลปินโซ่ง บ้านวังตะโก ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2551

“ผู้โกย” เป็นคำที่โซ่งเรียกขานคนไทยทั่วไปทั้งเพศหญิงเพศชาย เมื่อได้ลงภาคสนามในหมู่บ้านโซ่ง (พ.ศ.2549) คนโซ่งมักตั้งคำถามกับผู้เขียนเสมอว่า “เป็นผู้โกยซิ” แรกๆ ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก เพราะไม่รู้สำเนียงภาษาโซ่ง บ่อยๆ เข้าชักเริ่มสงสัย ทำไม? ถูกเรียก “ผู้โกย” ได้รับคำตอบในภายหลังว่า “ผู้โกย” หมายถึงคนไทย (ไม่มีเชื้อสายไทดำ)

อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ท่านเป็นนักปราชญ์ทางภาษา จึงรู้สึกสะดุดกับคำนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตพร้อมให้การบ้านกับผู้เขียนไปสืบค้น คำ ผู้โกย ว่าทำไมโซ่งจึงเรียกคนไทยอย่างนั้น และมีที่มาที่ไปของรากศัพท์เป็นอย่างไร

ชาติพันธุ์โซ่ง

หนังสือขุนนางโซ่ง (ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ 2549) อธิบายถึงชาติพันธุ์โซ่ง ในประเทศไทยมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองแถง เมืองลอ ประเทศเวียดนาม เพราะผลพวงจากสงครามถูกกวาดครัวเข้ามาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงธนบุรีเป็นคำรบแรก ในเวลาต่อมาครัวโซ่งก็ถูกกวาดครัวเข้ามาอีกหลายระลอกในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ครัวโซ่งทั้งมวลโปรดเกล้าฯ ให้มาอยู่ ณ เมืองเพชรบุรี

ในปี พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศเลิกทาส ครัวโซ่งเพชรบุรีจำนวนหลายตระกูล หลายครอบครัวหอบลูกกระเตงหลานอพยพครัวออกไปจากเมืองเพชรบุรี หาถิ่นทำเลแหล่งใหม่สู่จังหวัดอื่น ครัวโซ่งบางตระกูลก็เพียงแต่ขยับขยายไปสู่ตำบลอำเภออื่นภายในจังหวัดเพชรบุรี

ทั้งนี้ก่อนทรงประกาศเลิกทาส (พ.ศ. 2417) ครัวโซ่งยังอยู่ในฐานะเชลยและผู้ลี้ภัย จึงถูกจำกัดถิ่นฐานที่อยู่ เฉพาะที่เดิม คือ ตำบลหนองปรง ตำบลทับคาง ตำบลดอนทราย เขตอำเภอเขาย้อย และอำเภอเมือง ได้แก่ บ้านสะพานยี่หน บ้านวังตะโก บ้านเวียงคอย และบริเวณรอบๆ เชิงเขาหลวงเท่านั้น

ข้อจำกัดครัวโซ่งก่อนประกาศเลิกทาส พ.ศ. 2417 ให้อยู่เฉพาะถิ่นเฉพาะที่มิให้เดินทางอพยพตามอำเภอใจได้ง่ายนั้น เป็นเหตุผลทางยุทธศาสตร์การทหารและการปกครอง

กระนั้นหลังประกาศเลิกทาสปลดปล่อยให้ไพร่ทาสเชลย ผู้อพยพคนต่างด้าวมีเสรีเลือกถิ่นฐานทำกินแล้วก็ตาม ทว่าสิทธิเสรีของโซ่ง หรือคนไทย (สยาม) ก็ตาม ยังคงถูกจำกัดมีเงื่อนไข การเดินทางอยู่ ต้องใช้ใบเสร็จเงินค่าราชการใช้แทนหนังสือเดินทาง

เอกสารโบราณเรียกว่า ส.พ.ก. แบบที่ 74 ใบเสร็จรับเงินค่าราชการใช้แทนหนังสือเดินทางออกให้ ณ ที่ว่าการอำเภอเขาย้อย ปี พ.ศ. 2458 (ดังเอกสารประกอบ) ข้อความภายในระบุชื่อ สัญชาติ ตำหนิ รูปพรรณ สัณฐาน ที่อยู่ชัดเจน

เอกสารโบราณใบเสร็จเงินค่าราชการใช้แทนหนังสือเดินทาง ออกให้คนโซ่งเมื่อปี พ.ศ. 2458 ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2551

หลักฐานเอกสารโบราณดังกล่าว ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แต่ก็ยังคงข้อจำกัดอิสรภาพการเดินทางหรือการอพยพตามสมควร ทั้งนี้เอกสารโบราณดังกล่าวเป็นหลักฐานสนับสนุนเป็นอย่างดีว่าก่อนปี พ.ศ. 2417 ครัวโซ่งยังมิอาจอพยพไปจากเมืองเพชร เพราะเงื่อนไขทางยุทธศาสตร์การทหารและการปกครองโดยแท้ แม้ล่วงเลยการประกาศเลิกทาสมา 41 ปีแล้วก็ตาม ข้อจำกัดการเดินทางของโซ่งก็ยังต้องใช้หนังสือเดินทาง

ดังนั้นโซ่งในประเทศไทยในจังหวัดต่างๆ อาทิ สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี พิจิตร พิษณุโลก ชุมพร สุราษฎร์ธานี ฯลฯ อพยพไปจากเมืองเพชรบุรี หลัง พ.ศ. 2417 ทั้งสิ้น โซ่งจังหวัดต่างๆ ดังกล่าวมีวงศาคณาญาตินับเนื่องเป็นดองข้องเกี่ยวกับโซ่งเมืองเพชรบุรีสืบมา

ประวัติโซ่งบ้านเกาะแรต ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุด เมื่อมีพระราชบัญญัติตั้งนามสกุลในรัชกาลที่ 6 ครัวโซ่งในตำบลดังกล่าว ส่วนใหญ่ใช้สกุลว่า “เพชร” นำหน้า อาทิ สกุลเพชรรุณ เพชรแต่ง เพชรยวน เพชรเยียน เพชรศาสตร์ เป็นต้น เพื่อเป็นการระลึกว่าบรรพบุรุษได้อพยพมาจากเมืองเพชรบุรีนั่นเอง

สำหรับเหตุผลที่ครัวโซ่งอพยพโยกย้ายออกไปจากเมืองเพชรบุรีสู่จังหวัดอื่น เนื่องจากครอบครัวโซ่งเป็นครอบครัวใหญ่ มีบุตรหลานจำนวนมาก แต่ละครอบครัวมีบุตรไม่น้อยกว่า 7-8 คน ขณะที่ถิ่นที่ทำกินมีจำนวนเท่าเดิม การอพยพโยกย้าย เหตุผลหนึ่งก็เพราะแสวงหาถิ่นที่ทำกินใหม่ให้พอเพียงกับความต้องการของครอบครัว

บันทึกของ จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี กล่าวไว้ตอนหนึ่งเมื่อคราวเป็นแม่ทัพไปปราบจีนฮ่อ ในรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2430) สะท้อนการย้ายถิ่นเพราะครอบครัวโซ่งมีบุตรหลานจำนวนมาก

“…พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมฯ ยกกองทัพขึ้นมาถึงเมืองแถง จัดราชการเรียบร้อยแล้ว ได้เอาครัวเมืองแถง และสิบสองจุไทย ซึ่งเป็นไทดำลงกรุงเทพฯ เป็นอันมาก เพราะขึ้นไว้ก็เกรงจะเกิดการยุ่งยากแก่ทางราชการขึ้นอีก

ครั้นแล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้พวกไทดำเหล่านั้น ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ เมืองเพชรบุรี จนได้ชื่อว่า ลาวซ่ง เกิดบุตรหลาน เหลนอยู่ในเวลานี้หลายพันคน ทหารที่ได้ยกกองทัพมากับข้าพเจ้า คราวนี้ก็ได้เกณฑ์เอาลาวซ่งที่เป็นชายฉกรรจ์ขึ้นมาด้วยหลายร้อยคน และพวกนี้ได้พบญาติพี่น้อง ซึ่งอยู่ในเมืองแถงเป็นอันมาก…”

โซ่งเมื่ออพยพยกแยกครัวออกไปสู่ถิ่นใหม่ แต่ยังคงเอารากวัฒนธรรมติดตัวไปด้วย วัฒนธรรมด้านภาษาก็เช่นกัน ย่อมติดตัวโซ่งไปสู่ทุกหนแห่งที่ตั้งถิ่นฐาน

ทุกถิ่นฐานที่โซ่งอพยพไปตั้งรกราก ย่อมมีชุมชนคนไทย (คนสยามในอดีต) อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งแต่ก่อนการย้ายถิ่นครัวโซ่งสังกัดภายใต้การปกครอง “เพีย”…ผู้นำโซ่ง ปัญหาใหญ่น้อยย่อมได้รับการปกป้อง

เมื่อปลดแอกแยกครัวอพยพไป บรรดาโซ่งย่อมต้องดูแลพึ่งตนเอง ห้วงเวลานี้นี่เองที่กำเนิดเกิดคำเรียกขานคนไทยคนสยามว่า “ผู้โกย” โซ่งในประเทศไทย เรียกคนไทยหรือคนสยามในอดีตทั่วไปว่า “ผู้โกย” ทว่าโซ่ง (ไทดำ) ที่เมืองแถง เมืองลอ หรือโซ่งเมืองอื่นในประเทศเวียดนาม ไม่เคยได้ยินไม่รู้จักคำว่า “ผู้โกย” จึงไม่ได้เรียกคนไทยหรือคนสยามในอดีตว่า “ผู้โกย” เหมือนโซ่งในประเทศไทย ทว่าโซ่ง (ไทดำ) ในเวียดนามเรียกคนไทยทั่วไปว่า “ไตลาน” หรือ “คนไทลาน”

เอาเข้าจริงๆ คำว่า “โซ่ง” ซึ่งหมายถึงชาติพันธุ์ไทดำ ดังที่เข้าใจกันอยู่ทั่วไปสำหรับในประเทศเวียดนาม คนโซ่ง (ไทดำ) กลับมิได้หมายถึงชาติพันธุ์ไทดำ แต่หมายถึงอาณาเขตการปกครอง…

อาจารย์ทวี สว่างปัญญางกูร ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทดำในประเทศเวียดนาม อธิบายว่า “ที่เมืองแถง เมืองลา หรือเมืองอื่นๆ ในประเทศเวียดนาม อันเป็นถิ่นดั้งเดิมของคนไทดำ ไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินหรือเรียกคนไทยว่า ผู้โกย โดยส่วนตัวก็เพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรกเช่นกัน”

“ผู้โกย”

โซ่งเรียกคนไทยว่า “ผู้โกย” สำหรับคนไทยที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์อื่นผสม เช่น คนจีน คนมอญ คนแขก โซ่งเรียกเสมือนคนไทย เรียกขาน คนจีน ก็เรียกเจ๊ก เรียกจีน คนมอญคนแขก ก็เรียกแขกเรียกมอญตามชาติพันธุ์ เป็นประเด็นทำให้เกิดข้อสงสัย ทำไม? เรียกคนไทยว่า “ผู้โกย” แน่นอนว่ามีนัยยะบางประการ ดังที่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ได้ตั้งข้อสังเกตไว้กับผู้เขียนแต่แรก

คำว่า “ผู้โกย” เมื่อแยกคำออกมา “ผู้” เป็นสรรพนามนำหน้า หมายถึง นาย, นาง หรือคุณ ส่วน “โกย” หมายถึงเผ่าพันธุ์คนไทย หรือคนสยามในอดีต คำว่า “ผู้โกย” เป็นคำเรียกขานของโซ่งในภาวะอารมณ์ที่ปกติ

การลงภาคสนามอย่างจริงจัง (พ.ศ. 2550) ซักถามกับคนโซ่งจำนวนหลายคน เพื่อหาความหมายคำว่า “ผู้โกย” ผู้เขียนรู้สึกได้ว่าพวกเขาพยายามอธิบายความหมายแบบระมัดระวัง โดยพยายามเลี่ยงมิให้เป็นไปตามทำนอง “ยิ่งเหลายิ่งแหลม” จึงได้รับคำตอบแบบซื่อๆ ประหนึ่งให้เกียรติคนไทยว่า “คนโซ่งเรียกคนไทยผู้โกยมาตั้งแต่บรรพบุรุษปู่ย่าตาทวด”

ทว่า โดยหลักภาษาศัพท์แต่ละคำ รากศัพท์ย่อมมีถิ่นมีที่กำเนิด มิได้เกิดขึ้นได้ลอยๆ แบบไร้รากได้เลย
การลงภาคสนามหลายครั้งนานนับเกือบปี สัมผัสกับคนโซ่งแหล่งข้อมูลเป็นที่คุ้นชินแล้ว จึงได้ค้นพบรากศัพท์ที่แท้จริง

คำเรียกขานคนไทยว่า “ผู้โกย” แท้จริงมีรากศัพท์รากของคำมาจากคำว่า “บะโกย” เป็นที่เรียกขานคนไทย (สยาม) มาแต่เดิมมีความหมายส่อไปในทางลบ ซึ่งเป็นคำขานคนไทยในภาวะอารมณ์โกรธรู้สึกไม่พอใจ คำสอนประการหนึ่งของครัวโซ่งสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อคนไทยคนสยามได้เป็นอย่างดี

โดยครอบครัวโซ่งสอนลูกหลานสืบมาถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2551 – กองบก.ออนไลน์) ไม่ให้คบหาสมาคมกับ “บะโกย” ทว่าในขั้นหลังได้ผ่อนคลายลงไปมาก ย้อนเวลาไป 30 ปี ถึง 100 ปี ในความรู้สึกของโซ่ง “บะโกย” เป็นบุคคลที่น่ากลัวน่าเกรงขาม สำหรับพวกเราในสองลักษณะ

หนึ่ง รูปลักษณ์ภายนอกของ บะโกย ที่ผิวคล้ำดำแดงหน้าตาขึงขัง มีหนวดเครา ต่างกับโซ่งที่หน้ากลมๆ ผิวขาวดูซื่อๆ

สอง พฤติกรรมของ บะโกย เป็นคนดุร้ายชอบข่มเหงรังแก

รูปลักษณ์และพฤติกรรมของ “บะโกย” เป็นภาพประหนึ่งยักษ์มาร อยู่ในมโนสำนึกของโซ่งมาแต่อดีต โดยเฉพาะเด็กๆ ตัวเล็กๆ จะกลัว “บะโกย” ชนิดจับจิตจับใจ เพราะพ่อแม่ใส่ภาพ “บะโกย” ไว้ตั้งแต่ยังเล็ก เด็กๆ ในครอบครัวโซ่ง เมื่อร้องไห้งอแง พ่อแม่เพียงพูดว่าบะโกยมา ประหนึ่งเป็นคำขู่ เด็กๆ ก็จะเงียบหยุดร้องไห้เลิกงอแง

โซ่งหนองปรงว่า “บะโกยจะสับปั๊ดเอาเล้ย” (พวกโกยจะไล่จับตัวเอาไปน่ะ)

โซ่งวังตะโกว่า “กว้ำเล้ย…กว้ำเล้ย บะโกยมาฮั้นมาจับเอาไปฆ่าซะหร้อก” (ให้หยุดร้องไห้ ประเดี๋ยวพวกโกยมาจับตัวเอาไปฆ่า)

ประโยคดังกล่าว ครอบครัวโซ่งบางแห่งยังใช้สืบมาถึงปัจจุบัน คำว่า “บะโกย” จึงฝังอยู่ภายใต้จิตสำนึกของคนโซ่ง ซึ่งเป็นไปในระนาบเดียวกันกับเด็กไทยในอดีต ที่ถูกฝังหัวจากพ่อแม่ให้กลัวตำรวจและตุ๊กแก

เอมเมี้ยน ยอดทอง อายุ 81 ปี (2550) โซ่งบ้านท่าโล้ เล่าว่า

“สมัยเป็นเด็กจะกลัวบะโกยมาก เวลาเจอก็จะหนี กลัวจะทำร้ายเอา ปู่ย่าตายายเล่ากันต่อมาว่า ‘บะโกย’ ชอบดูถูกดูแคลน ด่าว่าคนลาว กินกบกินเขียดเขาว่า ลาวขี้ขอ แต่เดี๋ยวนี้คนไทยขี้ขอ ที่เรียกคนไทย ว่าบะโกย เพราะขี้โกงชอบเอาเปรียบโกยได้โกยเอา ชอบเอาของคนลาว แต่ก่อนมีสงครามคนไทยโกยได้โกยเอา รุ่นปู่ย่าตายาย เล่ามาอย่างนั้น”

ผู้ใหญ่แสน หวนระลึก อายุ 56 ปี (2550) บ้านหนองเข้ เล่าว่า

“สมัยยังเป็นเด็ก เอมอ้ายใช้ให้ไปเกี่ยวหญ้าให้วัวควายที่ปลายนา ซึ่งเป็นเขตแดนติดต่อกับปลายไร่ปลายนาของบะโกย ผมเกี่ยวหญ้าอยู่เพลินๆ พอดีเงยหน้าขึ้นมาเห็นบะโกยเดินผ่านมา ผมนี่ตกใจกลัวมาก นึกว่าจะมาจับเอาตัวไป ทิ้งหาบทิ้งเคียว และฟ่อนหญ้าวิ่งหนีกลับบ้านเลย สมัยเด็กๆ ผมกลัวถึงขนาดนั้นทีเดียว

เรื่องเกี่ยวกับบะโกยต้องบอกตรงๆ ว่าแต่ก่อนนี้ คนโซ่งเกลียดคนไทยมาก วัวควายผูกไว้ในไร่ในนา บางครั้งโกยมาแก้เชือกขับวัวควายไปต่อหน้าต่อตาก็มี บางหมู่บ้านก็ถูกบะโกยเข้ามาขโมยวัวควายถึงในบ้าน พวกเราต้องรวมกลุ่มบอกผู้ใหญ่กำนันช่วยตาม บางครั้งก็ตามได้ บางคราวตามไปเจอพวกโกยกำลังแล่เนื้ออยู่ก็มี คนไทยหรือโกยกับคนโซ่งเป็นอย่างนี้ในขณะนั้น”

นายกิจจา ชัชวาลชัยทรัพย์ โซ่งบ้านสระสี่มุม จังหวัดนครปฐม อธิบายว่า

“ถ้าย้อนกลับไป 40-50 ปี คนโซ่งและคนไทยเกลียดกันมาก คนโซ่งถูกข่มเหงรังแกจากคนไทยตลอด ออไปหาปลาขุดหลุมโจนไว้ คนไทยก็มาล้วงเอาไปหมด แอกไถนาที่วางเอาไว้ข้างคันนา คนไทยก็มาขโมย คนโซ่งแต่ก่อนถูกข่มเหงอย่างนี้ตลอด คนโซ่งรู้สึกว่าคนไทย ขี้โกง ขี้ลัก ขี้ขโมย จึงเรียก บะโกย”

บะโกยหำแหล่

เอกสารโบราณฉบับหนึ่ง เป็นหนังสือบันทึกเรื่องราวร้องเรียนของคนโซ่งบ้านดอนทราย (อำเภอเขาย้อย) ยื่นต่อหลวงไชยเสนา นายอำเภอเขาย้อยในขณะนั้น

ความในบันทึกร้องเรียน พอสรุปเค้าความได้ว่า “มีผู้ร้ายจำนวนสองคนอาวุธครบมือ จับเอาวัวของคนโซ่งไปต่อหน้าต่อตา” จึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังนายอำเภอ (ดังหลักฐานประกอบ)

เอกสารโบราณบันทึกเรื่องราวร้องทุกข์ที่คนโซ่งยื่นต่อหลวงไชยเสนา-นายอำเภอเขาย้อย ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2551

หลักฐานเอกสารโบราณดังกล่าว เป็นข้อยืนยัน โซ่งในอดีตถูกคนไทยข่มเหงรังแก เป็นข้อเท็จจริงโดยแท้
อันที่จริงคำว่า “ผู้โกย” เป็นคำที่โซ่งเรียกคนไทย แบบอารมณ์ปกติ ในอารมณ์ที่ไม่ปกติเชิงนินทาลับหลัง โซ่งเรียกคนไทยว่า “บะโกยหลำแหล่” หมายถึง ไอ้ดำ อันธพาล แต่ถ้ารู้สึกโกรธเพราะถูกข่มเหงรังแก หรือทะเลาะวิวาทถึงขั้นเหลืออดเหลือทน โซ่งจะสบถแบบหยาบอนาจารว่า

“บะโกยหำแหล่” (ไอ้อันธพาลกระโปกดำ)

ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของโซ่งบ้านท่าโล้ ซึ่งอพยพย้ายถิ่นมาจากบ้านวังตะโก (บ้านคลอง) นับแต่ พ.ศ. 2417 เป็นต้นมา มีตำนานเล่าขานในทำนองมุขปาฐะว่า เจ้าพระยาสุรพันธพิสุทธ (เทศ บุนนาค) ครั้งเป็นเจ้าเมืองเพชรบุรี (พ.ศ. 2411-37) มาตรวจราชการงานเมืองมาถึงเขตคามบ้านโซ่งท่าโล้ (อำเภอท่ายาง) ได้พบหญิงสาวชาวโซ่งหน้าตาแมดีแมจันคนหนึ่งเป็นลูกสาวกำนันในพื้นที่ ก็เกิดจิตพิศวาส อยากจะได้เอาไปเป็นเมีย จึงเอ่ยปากขอกำนันผู้นำโซ่งผู้เป็นพ่อเอาดื้อๆ ฝ่ายกำนันก็หวงลูกสาวพยายามบ่ายเบี่ยงเลี่ยงหลีกไม่รับปากยกลูกสาวให้ง่ายๆ โดยเสนอเงื่อนไขในทำนองต่อรองกับเจ้าเมือง “เอาวัวคู่งามในคอกไปเถอะ อย่าเอาลูกสาวไปเลย”

ครั้นเจ้าพระยาสุรพันธพิสุทธ (เทศ บุนนาค) กลับไปแล้ว ต่อมาในภายหลังได้ส่งคนในสังกัดจัดแต่งเกวียนมาที่บ้านกำนันเข้าหักหาญจับเอาลูกสาว ใส่เกวียนไปยังจวนจนได้ ครอบครัวกำนันโซ่งท่าโล้รู้สึกเสียใจ ร้องไห้ฟูมฟายอยู่หลายวันหลายคืน

ลูกสาวกำนันโซ่งคนที่ว่าชื่อ “หม่อมทรัพย์” ต่อมาได้ให้กำเนิดบุตรชื่อว่า “แส” ภายหลังบุตรีของเจ้าพระยาสุรพันธพิสุทธ (เทศ บุนนาค) ซึ่งเกิดจากหม่อมทรัพย์ลูกสาวกำนันโซ่งท่าโล้ท่านนี้ได้เป็นพระสนมพระองค์หนึ่ง ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งรู้จักกันในนามว่า “เจ้าจอมแส”

เจ้าเมืองเพชรบุรี ซึ่งมารับจับตัวลูกสาวกำนันโซ่งไปเป็นเมีย ครั้งนั้นเป็นที่หวาดผวาของบรรดาโซ่งทั่วไปมากทีเดียว ตั้งแต่นั้นมาบรรดาโซ่งเขาฝังใจ คราใดเห็นคนแปลกหน้าสวมรองเท้าเข้ามาในพื้นที่ก็จะคอยระแวดระวังกลัว “บะโกย” จะมาจับเอาตัวลูกสาวไป ปกติคนโซ่งไม่สวมรองเท้า ถ้ามีคนสวมรองเท้าเข้าหมู่บ้านมา ครอบครัวโซ่งจะเอาลูกสาวไปแอบไปซ่อนให้ปลอดภัยไว้ก่อน

ตำนานมุขปาฐะโซ่งบ้านท่าโล้…ที่เจ้าเมืองส่งคนไปรับจับตัว “หม่อมทรัพย์” ลูกสาวกำนันโซ่งในครั้งนั้น ผู้เขียนไม่อยากคิดเลยว่า โซ่งบ้านท่าโล้เขาเรียกขานท่านเจ้าเมืองลับหลังว่าอย่างไร?

กล่าวโดยสรุป คำว่าบะโกย เป็นรากศัพท์เดิมของ “ผู้โกย” โซ่งเรียกขานเผ่าพันธุ์คนไทยซึ่งมีที่มาจากรูปลักษณ์ภายนอกดูน่ากลัวดุร้าย และมีพฤติกรรมข่มเหงรังแก ประหนึ่งอันธพาลเจ้าถิ่น ผู้เขียนเชื่อว่า คำว่า บะโกย ถูกเรียกขานเป็นครั้งแรกที่เมืองเพชรบุรีนี้เอง เพราะรูปลักษณ์คนเพชรบุรีพื้นถิ่นในอดีตผิวดำ มีหนวดเครา ท่าทางน่าเกรงขาม โดยเฉพาะคนพื้นถิ่นมีอาชีพทำนา ทำตาล มักพกมีดตาลอยู่ตลอดเวลา สำเนียงคำพูดก็เหน่อห้วน ดุดัน

ส่วนคำว่า “ผู้โกย” เป็นคำที่วิวัฒน์ขึ้นใหม่ ทั้งสรรพนามนำหน้าและความหมาย ซึ่งมิได้ใช้ในการเรียกขานอย่างรากศัพท์เดิม คำจำกัดความที่แท้จริงของคำ “บะโกย” พอจะอนุมานได้ก็คือ “ไอ้อันธพาลเจ้าถิ่นโกยได้โกยเอา”

ในอดีตชุมชนโซ่งมักได้รับความเดือดร้อนจากคนไทยที่อยู่ในหมู่บ้านในละแวกใกล้เคียงกัน คำเรียกขานว่า “บะโกย” สะท้อนสัมพันธภาพระหว่างคนโซ่งและคนไทยได้เป็นอย่างดี ว่าคลอนแคลน ง่อนแง่นเพียงใด โซ่งเป็นคนซื่อ รักสงบ และอดทนอดกลั้น จึงไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้กับคนไทยที่ข่มเหงรังแก จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตระหว่างชุมชนเลย ในประวัติศาสตร์เพชรบุรี…

 


หมายเหตุ: คัดเนื้อหาจากบทความ “บะโกยหำแหล่” โดย ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2551

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2564 เน้นคำใหม่และจัดย่อหน้าใหม่ในระบบออนไลน์โดยกองบก.ออนไลน์