เบื้องหลัง พระราชดำรัส ร.4 เรื่องเสียเมืองเขมร “เราขอบอกท่านด้วยความเจ็บปวดยิ่ง”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

เช้าตรู่อันสดใสในฤดูหนาวของวันที่ 19 มกราคม 2410 พระจอมเกล้าฯ ทรงร่างพระราชหัตถเลขาอันสะเทือนใจขึ้นฉบับหนึ่งส่งไปยังปารีส เรียงร้อยถ้อยคำความโทมนัสคับแค้นพระทัยตามลำพังพระองค์ โดยปราศจากการรู้เห็นของผู้ใดแม้คนที่ใกล้ชิดที่สุด เพราะเป็นในทางลับ ด้วยพระพจนารถอันห้วนสั้นแต่กินใจ เจาะจงถึงตัวผู้รับอย่างไม่อ้อมค้อมว่า…

เราขอบอกท่านด้วยความเจ็บปวดยิ่ง สืบเนื่องจากเหตุการณ์อันไม่สมควรมากมายหลายครั้ง ซึ่งกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยบรรดาผู้แทนของฝรั่งเศส เหตุการณ์ไม่สมควรดังกล่าวไม่ต้องสงสัยเลยว่ารัฐบาลแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิมิได้ล่วงรู้…เราขอให้ท่านได้โปรดให้ความยุติธรรมต่อคำร้องขอของเรา และตัดสินใจในทางเอื้ออำนวยให้เราได้รักษาและครอบครองต่อไปอย่างสงบสุข ซึ่งบรรดาหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ในอำนาจของเรามาช้านาน นับได้ว่ากว่าสี่รัชสมัยต่อกันมาแล้วเป็นระยะเวลา 84 ปี ทั้งเรายังขอให้เลิกการกระทำอันมิชอบบางประการอันมีแนวโน้มที่จะรบกวนความสงบสุขแห่งรัฐของเรา”[1]

ร.๔ ทรงฉลองพระองค์ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “เลจอง ดอนเนอร์” ที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ พระราชทานมาถวายในปี พ.ศ. ๒๔๐๖

ศุภอักษรดังกล่าวถึงที่หมายปลายทางตามพระราชประสงค์ ทว่ามิได้ทำให้พระราโชบายของพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เปลี่ยนไปแม้แต่น้อย หนำซ้ำยังเร่งเร้าให้แผนการผนวกเขมรไว้ในจักรวรรดิรุดหน้าไปเร็วขึ้นอีก

ปี พ.ศ. 2540 หรือ 130 ปี ภายหลังพระราชหัตถเลขาสำคัญฉบับนั้น ผู้เขียนจึงได้ไปเห็น “อุดงมีชัย” จุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดความภาคภูมิใจหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์สยาม นี่คือเมืองหลวงเฉพาะการที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดให้ถอดแบบกรุงเทพฯ ไปสร้างไว้เป็นพระเกียรติยศ ช่างเป็นการไปที่น่าตื่นเต้นยิ่ง แต่สิ่งที่พบนั้นดูจะเป็นเรื่องที่พระจอมเกล้าฯ ทรงหวั่นพระทัยเป็นที่สุด ต้องมีอะไรบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ในพระศุภอักษรอันขมขื่นนั้น

อุดงมีชัย วันนี้ถูกทิ้งร้างไว้เหลือเพียงซากปรักหักพังที่ยับเยิน มีป้ายเล็กๆ ริมทางเขียนเป็นอักษรโรมันอย่างเสียไม่ได้ว่า “UDONG” ความอลังการภูมิฐานของสถาปัตยกรรมเขมรสายรัตนโกสินทร์ ได้หายไปจนหมดสิ้น ไม่มีศาลองค์บดินทร์ที่เจ้าเขมรเคยยกย่อง แม้ชื่อของวีรบุรุษจากสยามก็ไม่มีใครเคยได้ยิน ทุกอย่างเป็นอดีตที่ไร้ร่องรอย ตำนานอันยิ่งใหญ่กลายเป็นเศษชิ้นส่วนที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดในพงศาวดารไทย แต่ก็พอให้หัวใจของผู้มาเยือนพองโตได้ชั่วขณะ

เขมรเคยตกเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อไทยเสียกรุงแก่พม่านั้น เมืองในอารักขาทั้งหลายถือโอกาสตั้งตนเป็นอิสระ ในปี พ.ศ. 2325 ขณะที่เจ้านายเขมรเกิดแย่งชิงอำนาจกันภายใน พระยายมราช (แบน) ขุนนางสยามได้ลอบพานักองค์เอง รัชทายาทเขมรที่เหลืออยู่เพียงพระองค์เดียวหลบหนีเข้ามายังกรุงเทพฯ พระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระกรุณารับอุปการะเจ้าชายองค์น้อย ชนมายุเพียง 10 ชันษาเป็นพระราชบุตรบุญธรรม ส่วนสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าก็กราบทูลขอพระประยูรญาติฝ่ายหญิงที่ติดตามมาด้วย คือนักองค์อี และนักองค์ภา เป็นบาทบริจาริกาในพระราชวังบวร[2] ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระราชวงศ์ไทยกับเขมรได้เกิดขึ้นนับแต่นั้น

พระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดให้สร้างวังขึ้นริมคลองคูพระนครเยื้องปากคลองหลอด เรียกวังเจ้าเขมรให้พำนักอยู่จนนักองค์เองชนมายุ 22 ชันษา จึงโปรดให้กลับไปครองเขมร ทรงพระนามว่าพระนารายณ์รามาธิบดี และทรงปูนบำเหน็จให้ท่านแบนเป็นพระยาอภัยภูเบศร์ (ต้นตระกูลอภัยวงศ์) ครองเมืองพระตะบอง เสียมราฐ ซึ่งพระนารายณ์รามาธิบดี ทูลเกล้าฯ ถวายให้แยกออกจากเขมรส่วนนอกเป็นสิทธิ์ขาดแก่ไทย โอรสพระเจ้าแผ่นดินเขมรทุกพระองค์ต้องเข้ามารับการอบรมศึกษาในราชสำนักไทยที่กรุงเทพฯ เจ้าฟ้าเขมรรุ่นต่อมาได้รับการอุปการะอย่างพระราชบุตรบุญธรรมในพระเจ้าแผ่นดินไทยทุกพระองค์ ความผูกพันอันสนิทสนมได้หล่อหลอมเป็นความจงรักภักดี

เมื่อขึ้นรัชกาลที่ 4 คำปฏิญาณครั้งบรรพชนกำลังถูกลบล้างลงอย่างน่าอัปยศ ฝรั่งเศสส่งชาร์ล เดอ มงตีญี เป็นทูตเข้ามาเฝ้ายังกรุงเทพฯ และได้ขออนุญาตอย่างนอบน้อมเพื่อไปเยี่ยมเยียนราชสำนักเขมร ณ อุดงมีชัย ในปี พ.ศ. 2403 พระจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนานักองค์ราชาวดี (พระนโรดม) ไปครองกรุงกัมพูชา กรุงปารีสเห็นเป็นจังหวะดีจึงส่ง ม.กรองดิแยร์ เข้ามาขอเฝ้ากษัตริย์เขมรองค์ใหม่ แล้วเลยถือโอกาสแย้มให้เห็นผลประโยชน์ที่เขมรจะได้รับ ถ้าทำสัญญากับฝรั่งเศส

ฝ่ายเขมรมิได้เฉลียวใจว่า ฝรั่งเศสต้องการใช้ชัยภูมิของตนเป็นฐานในการขยายอิทธิพลสู่จีน และเพื่อกำจัดบทบาทของสยามมิให้มีอีกต่อไป

รัฐบาลไทยคัดค้านการกระทำอันอุกอาจนี้ ร.4 ทรงมีพระราชหัตถเลขาแสดงความขัดเคืองพระทัยอย่างที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อนถึงมงตีญี (ดูพระศุภอักษรตอนต้นเรื่อง-ผู้เขียน) ที่กรุงปารีส

สถานการณ์อันเลวร้ายนี้ นับเป็นวิกฤตการณ์ที่พระจอมเกล้าฯ ทรงโทมนัสคับแค้นพระราชหฤทัยมากที่สุดในรัชสมัยของพระองค์ เนื่องจากไม่เคยมีมหาอำนาจชาติใดบังอาจหมิ่นพระราชอำนาจถึงขนาดนี้ ทรงถือว่าการลิดรอนสิทธิ์ความเป็นเจ้าอธิราชอันเคร่งครัดของพระองค์นั้น เป็นความเสื่อมเสียถึงพระบรมเดชานุภาพของบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งปฐมวงศ์จักรี และลบหลู่กฤดาภินิหารของพระบรมราชบรรพบุรุษทุกรัชกาล ในบั้นปลายของการทัดทานพระราชวินิจฉัยของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ที่ดูไร้ผลนี้ ทรงเล็งเห็นการสูญเสียพระราชอาณาเขตอันเป็นที่รักยิ่งไปอย่างไม่มีวันคืน

ในปี พ.ศ. 2403 นั้นเอง ทรงมีพระราชดำริให้รื้อปราสาทเขมรอันหาค่ามิได้ 2 หลัง เข้ามาไว้ในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการรำลึกถึงตลอดไป ทรงกำหนดให้ขนย้ายมาไว้ที่เขามหาสวรรค์หลังหนึ่ง และที่วัดปทุมวันอีกหลังหนึ่ง ทรงคัดเลือกปราสาทตาพรหมอันงดงามเป็นหลังแรก (เอกลักษณ์ของปราสาทนี้มีต้นสโปงยักษ์ยืนต้นออกรากใหญ่เลื้อยไปตามกำแพง-ผู้เขียน) แต่กลับไม่สำเร็จ ให้มีอาเพศเป็นกองทัพเขมรโบราณฮือออกมาจากป่าฆ่าขุนนางผู้คุมเสียชีวิต จึงโปรดให้ระงับแผนการทั้งหมด แล้วให้จำลองปราสาทนครวัดขนาดเล็กเข้ามาสร้างไว้แทนภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

(ซ้าย) ภาพข่าวเจ้าศรีสวัสดิ์ทรงได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริกที่ปารีส (พ.ศ. ๒๔๔๙), (ขวา) ภาพข่าวเจ้าศรีสวัสดิ์นำคณะนาฏศิลป์เขมรแสดงที่เมืองมาร์เซล์

ปี พ.ศ. 2543 ผู้เขียนมีโอกาสไปเที่ยวงานนิทรรศการสิ่งพิมพ์โบราณที่ปารีส ได้ค้นพบหลักฐานเพิ่มเติม 4-5 ชิ้น เกี่ยวเนื่องด้วยการเสียเขมรส่วนใน สมัย ร.5 และเรื่องเจ้าศรีสวัสดิ์เสด็จประพาสฝรั่งเศส เพื่อเจรจารับคืนดินแดนจากสยาม นับเป็นเหตุการณ์ที่ยืนยันการเสียหัวเมืองเขมรอย่างถาวร[3] จึงได้นำมาลงไว้ด้วยเพื่อความสมบูรณ์ของเรื่อง

(ซ้าย) ภาพข่าวเจ้าศรีสวัสดิ์เสด็จฯ ไปฝรั่งเศสเพื่อเจรจารับดินแดนคืน (พ.ศ. ๒๔๔๙), (ขวา) ภาพข่าวการเมืองเรื่องคืนดินแดนเขมรส่วนใน สมัย ร.๕ (พ.ศ. ๒๔๕๐)

พระจุลจอมเกล้าฯ ทรงสืบทอดเจตนารมณ์ในการปกป้องอธิปไตยเหนือเขตขัณฑสีมาอย่างเหนียวแน่นในรัชกาลต่อมา เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 นั้น จำต้องทรงสละดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้อีก โดยฝรั่งเศสยึดจันทบุรีไว้เป็นประกัน แต่หลังจากที่ถอนออกไปแล้วก็กลับไปยึดเมืองตราดไว้แทน

เมืองตราดนั้น ฝรั่งเศสเข้าใจว่าพลเมืองเป็นชาวเขมร เพิ่งมาพบตอนหลังว่าเป็นไทยทั้งหมด จึงพยายามหาหนทางเปลี่ยนดินแดนผืนใหม่

คงจำกันได้ว่าตั้งแต่รัชกาลที่ 1 กษัตริย์เขมรได้ถวายเมืองพระตะบอง เสียมราฐ ให้เป็นสิทธิ์ขาดขึ้นกับไทย แล้วถือเป็นอภิสิทธิ์อันชอบธรรมบริเวณเดียวในเขมรที่ทุกฝ่ายยอมรับ ในระหว่างนั้นฝรั่งเศสกำลังวางโครงการสร้างทางรถไฟสายไซ่ง่อน-ฮานอย วิธีลดค่าใช้จ่ายที่สุดคือสร้างผ่านพระตะบอง และฝั่งขวาของแม่น้ำโขง จึงหมายตาเขมรส่วนในของสยามอย่างรอบคอบที่สุด

ปัญหา “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” เป็นประเด็นการเมืองที่นำมาซึ่งความยุ่งยากในการปกครอง และการตัดสินคดีความตามกฎหมายของไทย โดยสนธิสัญญาฉบับ พ.ศ. 2399 กำหนดว่า คนฝรั่งเศสอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอำนาจอย่างไม่ชอบธรรมแทรกแซงกิจการภายในของสยาม สิทธิ์นี้ยังคุ้มครองไปถึงประชาชนประเภทต่างๆ ซึ่งอ้างตนว่าเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส เอื้อให้เกิดการหลบเลี่ยงมาตรการต่างๆ ของไทย คนเหล่านี้มีตั้งแต่ชาวจีนจากโคชินไชน่า, กบฏชาวเขมร ตลอดจนชาวญวนนับถือคริสต์ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น และ ฯลฯ สร้างข้อพิพาทนานาประการระหว่างรัฐบาลไทยและฝรั่งเศส

ในปี พ.ศ. 2449 หัวหน้าคณะปักปันพรมแดนชาวฝรั่งเศสเห็นโอกาสเหมาะ จึงเสนอให้แลกเปลี่ยนเมืองตราดและด่านซ้ายกับเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ แล้วจะยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้ไทย เพื่อขจัดปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และการที่สยามประสบมานาน และเพื่อมิให้ต้องห่วงหน้าพะวงหลังอีกต่อไป พระจุลจอมเกล้าฯ ทรงตัดพระทัยยกดินแดนเขมรส่วนสุดท้าย ซึ่งเป็นหัวเมืองประเทศราชที่สยามหวงแหนที่สุด ให้ตกเป็นเขมรในอารักขาของฝรั่งเศสสืบไป

ประวัติการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ตลอดกาลของเขมรในยุคจักรวรรดินิยม เป็นการที่ประมุขสำคัญ “องค์ที่ 2” จากตะวันออกไกลเสด็จประพาสฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2449 ก่อนการที่พระจุลจอมเกล้าฯ จะเสด็จประพาสยุโรปใน พ.ศ. 2450 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ทูลเชิญพระเจ้าศรีสวัสดิ์ประมุขเขมรให้เสด็จฯ ไปฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ เพื่อปรึกษาข้อราชการและเตรียมรับมอบเขมรส่วนในคืนจากสยามในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งฝรั่งเศสต้องการให้เป็นไปก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะเสด็จออกจากประเทศสยาม

พระเจ้าศรีสวัสดิ์ทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในฐานะ “พระเจ้าแผ่นดินใหญ่ของพระราชอาณาจักรสำคัญในบุรพาทิศ” ชาวปารีเซียนตื่นเต้นกับการเผยแพร่วัฒนธรรมขอมอันน่าทึ่งเป็น 1 ในสิ่งมหัศจรรย์ทั้ง 7 ของโลกที่มีอยู่ในจักรวรรดิอย่างภูมิใจ

เขมรได้ผ่านวิกฤตการณ์มากมายจากการเข้าครอบงำของมหาอำนาจอื่นอีก เช่นสหรัฐอเมริกา กระทั่งคนเขมรด้วยกันเองในยุคเขมรแดง อธิราชของพระเจ้าแผ่นดินสยามเหนือประเทศราชในภูมิภาคนี้ประดุจ “พ่อปกครองลูก” นับเป็นหลักฐานสำคัญของสถานการณ์เบื้องหลังการเมืองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัย ร.4 และ ร.5 ที่น่ารู้อย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง


เชิงอรรถ

[1] เพ็ญศรี ดุ๊ก. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. กรุงเทพฯ ราชบัณฑิตยสถาน 2542

[2] รวมเรื่องเกี่ยวกับญวนและเขมรในสมัยรัตนโกสินทร์ อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนายโฆสิต เวชชาชีวะ เมษายน 2507

[3] หนังสือ A Travers Le Monde ค.ศ. 1907 เรื่องสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม : จุฬาลงกรณ์และศรีสวัสดิ์ และหนังสือพิมพ์ Le Petit Journal ฉบับ 24 มิถุนายน และ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2449


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2560