สุนทรภู่แต่งพระอภัยมณี ให้-พระฤๅษีขี่รุ้งกินน้ำ หรือ-ขี่พญาเหยี่ยวรุ้ง

หุ่นเหมือนสุนทรภู่ ที่พิพิธภัณฑ์วัดต้นเชือก ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ จังหวัดนนทบุรี

หลานชายเรียนอยู่ชั้น ป.๔ เขาเอาหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยมาอ่าน บังเอิญผมก็ไปพบเข้าและเปิดอ่านดู ปรากฏว่ามีเรื่อง “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ กวีเอกของโลก “ตอนสุดสาครตามหาบิดาและเข้าเมืองผีดิบ”

เมื่อครั้งเป็นเด็กจำได้ไม่แม่นนักว่า อยู่ ม.๒ หรือ ม.๓ ได้มีการเรียนเรื่องพระอภัยมณีเช่นกัน แต่เรียนตอนสุดสาครถูกชีเปลือยหลอกเอาไม้เท้า และผลักสุดสาครตกลงไปในเหว พระฤๅษีมาช่วยชีวิตไว้

Advertisement

ในสมัยนั้นมีการท่องบทอาขยานด้วย คุณครูให้ท่องตอนที่พระฤๅษีมาช่วยชีวิตของสุดสาครไว้ ดังคำกลอนที่ติดอยู่ในสมองอย่างไม่รู้ลืมจนกระทั่งบัดนี้ว่า

บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา

เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด

ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน บิดามารดารักมักเป็นผล

ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน เกิดเป็นคนคิดเห็นจึ่งเจรจา

ที่ใดรักรักมั่งชังชังตอบ ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา

รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

จงติดตามไปเอาไม้เท้าเถิด ให้ประเสริฐสมรักเป็นศักดิ์ศรี

พอเสร็จคำสำแดงแจ้งคดี รูปโยคีก็หายวับไปกับตา

ในสมัยนั้นหนังสือมีรูปภาพประกอบเหมือนกัน แต่จำไม่ได้ว่ามีรูปภาพของพระฤๅษีขี่รุ้งกินน้ำมาช่วยสุดสาครหรือไม่ แต่ในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยชั้น ป.๔ ของหลานชาย มีรูปพระฤๅษีขี่รุ้งกินน้ำมาหาสุดสาครด้วย และเคยดูหนังการ์ตูนเรื่องสุดสาครก็เห็นพระฤๅษีขี่รุ้งกินน้ำเช่นกัน

เมื่อครั้งที่ผมเป็นเด็กนั้นไม่เคยมีใครบอกว่ารุ้งนั้นเป็นรุ้งกินน้ำ แต่ผมคิดเองว่าเป็นเหยี่ยวรุ้ง คือพระฤๅษีขี่พญาเหยี่ยวรุ้งมา ไม่ใช่ขี่รุ้งกินน้ำมา และก็เชื่อฝังหัวมาเช่นนั้นเป็นเวลานาน เมื่อมาพบรูปพระฤๅษีขี่รุ้งกินน้ำ และเห็นในหนังการ์ตูน ก็เลยทำให้อยากรู้ว่า จริงๆ แล้วท่านสุนทรภู่ให้พระฤๅษีขี่อะไรกันแน่ รุ้งที่ท่านกล่าวถึงนั้นเป็นรุ้งกินน้ำ หรือพญาเหยี่ยวรุ้ง

คงไปถามท่านสุนทรภู่ไม่ได้แล้ว นอกจากวิเคราะห์และพิจารณาว่า น่าจะเป็นรุ้งกินน้ำหรือพญาเหยี่ยวรุ้งกันแน่

ผมไม่เชื่อว่าเป็นรุ้งกินน้ำ เพราะรุ้งกินน้ำจะปรากฏเมื่อมีฝนตกใหม่ๆ เท่านั้น พระฤๅษีจะจับรุ้งนั้นมาขี่ได้อย่างไร และคำว่า “เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา” ก็ไม่ใช่ลักษณะของรุ้งกินน้ำ ที่เป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมบนท้องฟ้า แต่เป็นลักษณะของพญาเหยี่ยวรุ้งที่พระฤๅษีขี่อยู่บนคอระหว่างปีกสองข้าง และพาหนะของตัวละครในเรื่องก็จะเป็นสัตว์ เช่น ม้านิลมังกร จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่พาหนะของพระฤๅษีจะเป็นรุ้งกินน้ำ

ผมเข้าใจว่า เหตุที่คนทั่วไปคิดว่ารุ้งนั้นเป็นรุ้งกินน้ำ เพราะไม่เคยเห็นเหยี่ยวรุ้ง เหยี่ยวรุ้งนี้คนอีสานจะเรียกว่า “แหลวฮุ้ง” และแหลว (เหยี่ยว) ก็มีอยู่หลายชนิด คือ “แหลวฮุ้ง” และ “แหลวแดงคอก่าน” (ซึ่งปูนซีเมนต์ยี่ห้อหนึ่งนำแหลวแดงคอก่านนี้ไปเป็นตรา เรียกว่านกอินทรี ถ้าเราเคยดูโฆษณาเราจะเห็นว่านกอินทรีที่บินอยู่นั้นเป็นแหลวแดงคอก่าน) แหลวนกเขา (เหยี่ยวนกเขา) แหลวตังบี้ (ผมไม่เคยเห็นแหลวชนิดนี้)

แหลวนี้เป็นสัตว์จำพวกนกอินทรี ในสมัยที่ผมเป็นเด็กมีอยู่มากมายตามท้องนา ทั้งอีแหลวฮุ้ง (เหยี่ยวรุ้ง) และอีแหลวแดงคอก่าน (เหยี่ยวแดงคอขาว หรือนกอินทรีคอขาว) ซึ่งมีชื่อเสียงในการขโมยลูกไก่ไปกิน ตอนเป็นเด็กเมื่อนำไก่ไปเลี้ยงไว้ทุ่งนาในหน้าเกี่ยวข้าว เผลอเมื่อแม่ไก่พาลูกออกไปคุ้ยเขี่ยหาอาหาร เหยี่ยวแดงก็จะโฉบลงมาขโมยลูกไก่ไปกิน จนหมอลำนำไปเขียนกลอนอวดศักดาตนเองว่าเป็นคนเก่งว่า “เขากะลือๆ แล้วบักแหลวแดงคอก่าน หากินไก่น้อยเลาะบ้านเหมิดนั้นแม่นกู”

ปัจจุบันนี้แหลวหรือเหยี่ยว (หรือแม้แต่อีแร้ง) สูญพันธุ์ไปจากท้องทุ่งอีสานแล้ว เพราะยาฆ่าหนู ยาฆ่าแมลง

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า รุ้งที่พระฤๅษีขี่มาเพื่อจะช่วยเหลือสุดสาครนั้นไม่ใช่รุ้งกินน้ำ แต่เป็นพญาเหยี่ยวรุ้ง ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงของพระฤๅษี ที่เลี้ยงไว้ใช้งานเมื่อต้องการจะเดินทางไปไหนมาไหน

ใครไม่เห็นด้วยก็ว่ามา