ประวัติการชักนำชาติตะวันตกอย่างอังกฤษ-ฝรั่งเศส เข้าประเทศของพม่า

กองทัพอังกฤษโจมตีนครย่างกุ้งในปี 1824 (ภาพเขียนในสมัยศตวรรษที่ 19 โดย J. Moore [Public domain], via Wikimedia Commons)

ภาระในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ และการค้าเสรีเป็นตัวกระตุ้นที่ทําให้ทัศนคติของชาวยุโรปเปลี่ยนแปลงไป เพราะเมื่อโลกเจริญขึ้นทําให้เกิดปรัชญาทางความคิดใหม่ๆ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และวิถีทางดําเนินชีวิตเพื่อความอยู่ดีมีสุข ฯลฯ สิ่งเหล่านี้กดดันให้เกิดการแข่งขันในหมู่ชาวตะวันตกด้วยกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสและผลกําไรที่ดีกว่า

โดยอังกฤษ และฝรั่งเศส คือ 2 มหาอํานาจที่แข่งขันกันในการเปิดตลาดการค้าแห่งใหม่เพื่อระบายสินค้าที่ตนผลิตได้ในยุโรปและเพื่อการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบไปพร้อมๆ กัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือจีน มิได้สนใจภูมิภาคเอเชียอื่นๆ เลย แต่เป็นพม่าที่ลุกขึ้นมาชักนําให้มหาอํานาจจากภายนอกประเทศเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของตน

รายละเอียดของเรื่องนี้ ไกรฤกษ์ นานา อธิบายไว้ในหนังสือ “ไขปริศนาประเด็นอำพราง ในประวัติศาสตร์ไทย” (สนพ.มติชน, 2558) เนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือมีดังนี้  (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำ-กองบก.ออนไลน์)


…ในส่วนของพม่าผู้ถือตนว่าเป็นชาติใหญ่ของเอเชียที่มีอิทธิพลมาก่อน เมื่อเห็นอังกฤษแผ่อํานาจเข้ามายึดครองอินเดียซึ่งมีชายแดนประชิดกับตน จึงต้องการแสดงจุดยืนและบทบาทของตนให้อังกฤษเห็น พม่าเปิดฉากก่อนด้วยการ “ลองของ” กับอังกฤษ โดยขยายอํานาจเข้าไปในเบงกอลอันเป็นที่ตั้งของรัฐอิสระ อย่างมณีปุระและแคว้นอัสสัมซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลอังกฤษ โดยพม่าเข้ายึดแคว้น ทั้งสองไว้โดยพลการ ในปี ค.ศ. 1822 เจ้าเมืองจากแคว้นทั้งสองได้หนีเข้าไปลี้ภัยในเขตของอังกฤษ

เมื่ออังกฤษเห็นว่ากองทัพพม่าคุกคามเข้ามายังเขตแคว้นอิสระแถบชายแดนอินเดียซึ่งมีความสําคัญต่อความมั่นคงของอังกฤษในเบงกอล อังกฤษจึงประกาศผนวกแคว้นกาซาร์และแคว้นจันเตียในปี ค.ศ. 1824 ฝ่ายพม่าก็กรีธาทัพเข้าโจมตี เพื่อเอาคืน ทําให้เกิดการสู้รบกับกองทัพอังกฤษ ข้าหลวงใหญ่อังกฤษในอินเดีย จึงประกาศสงครามกับพม่าเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1824 เรียกว่าสงคราม อังกฤษ-พม่า ครั้งที่ 1

สงครามครั้งที่ ๑ จบลงด้วยสนธิสัญญายันดาโบ (Treaty of Yandabo) ตามสัญญานี้พม่าต้องยกแคว้นยะไข่ ตะนาวศรี อัสสัม และมณีปุระ ให้อังกฤษ และยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงิน ๑ ล้านปอนด์ให้อังกฤษ ซึ่งนับเป็น การปราชัยครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกของราชวงศ์คองบองต่อชาวตะวันตก

การที่พม่าใช้ไม้แข็งทักทายอังกฤษก่อน ปลุกเร้าให้อังกฤษใช้นโยบายแข็งกร้าวตอบโต้ทันทีทั้งที่ก่อนหน้านี้ต่างฝ่ายต่างไม่เคยมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจกันมาก่อน การชักศึกเข้าบ้านของพม่าในสงครามครั้งแรกกับอังกฤษผลักดันให้ผู้แทนของอังกฤษในอินเดียสนใจที่จะผนวกดินแดนของพม่ายิ่งขึ้น อันเป็นการต่อยอดเมืองขึ้นของอังกฤษในอินเดีย

ทฤษฎีได้คืบเอาศอกของอังกฤษดําเนินต่อมาใน ค.ศ. 1852 อังกฤษมองเห็นช่องทางการเดินเรือและขนส่งสินค้าพาดผ่านพม่าตอนเหนือลงมายังตอนใต้ โดยใช้แม่น้ำอิรวดีเป็นเส้นทางในอนาคต จึงหันมาใช้อุปสรรคของพ่อค้าอังกฤษ เป็นข้ออ้างจากการที่พวกพ่อค้าอังกฤษในแคว้นตะนาวศรี (ซึ่งตกเป็นของอังกฤษแล้ว) มีปัญหาขัดแย้งกับเมียวหวุ่นผู้เป็นเสนาบดีพม่าประจํามณฑลพะโค ทําให้ธุรกิจการค้าของอังกฤษติดขัดและได้รับความเสียหาย

พ่อค้าอังกฤษจึงเข้าชื่อกัน เรียกร้องให้บริษัทอินเดียตะวันออก ซึ่งเป็นผู้แทนรัฐบาลอังกฤษจัดการผนวกมณฑลพะโคเสียด้วย ทั้งนี้เพราะมณฑลพะโคซึ่งคั่นอยู่ระหว่างแคว้นยะไข่กับแคว้นตะนาวศรีมีกรุงย่างกุ้งเป็นเมืองท่าออกทะเลที่สําคัญ การผนวกมณฑลพะโคจึงหมายถึงการมีอํานาจควบคุมเมืองท่าต่างๆ ริมทะเลทางตอนใต้ของพม่าอย่าง เบ็ดเสร็จเด็ดขาด บีบให้พม่าต้องถอยร่นขึ้นไปทางตอนกลางและเหนือของประเทศ และหมดทางออกสู่ทะเลโดยสิ้นเชิง

และที่สําคัญก็คือ ทําให้อังกฤษดําเนินนโยบายเปิดประตูสู่จีนตอนใต้ผ่านพม่า ได้สะดวกขึ้นอย่างมากโดยใช้เส้นทางเดินเรือไปตามแม่น้ำอิรวดี ซึ่งไหลออกทะเล ที่ใต้เมืองย่างกุ้ง เมื่อรัฐบาลพม่าขัดขวางไม่ให้ความสะดวกทางการค้านี้แก่อังกฤษ อังกฤษจึงทําสงครามกับพม่าอีกครั้ง หากมองดูภาพรวมของเหตุการณ์ทั้งหมด ในการที่อังกฤษเข้ายึดครองพม่าแล้ว สงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 2 นี้ก็คือ ขั้นตอนต่อไปที่อังกฤษต้องกระทําเพื่อยึดครองพม่าอย่างเป็นระบบโดยที่พม่าไม่ทันระวังตัว

อังกฤษเปิดสงครามครั้งที่ 2 กับพม่าในเดือนเมษายน ค.ศ. 1852 และสามารถยึดเมืองเมาะตะมะ เมืองย่างกุ้ง เมืองพะสิม เมืองแปร และเมืองพะโค (หรือหงสาวดี) ในที่สุดมณฑลตอนล่างที่สําคัญของพม่าทั้งสาม คือ มณฑล พะโค มณฑลยะไข่ และมณฑลตะนาวศรี ก็ถูกรวมเข้าเป็นมณฑลเดียวกัน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอินเดียของอังกฤษ

จะเห็นได้ว่ามูลเหตุของสงครามและการเสียดินแดนของพม่าให้อังกฤษ ตั้งแต่สงครามครั้งแรกเรื่อยมาล้วนมีสาเหตุมาจากปัญหาชายแดนที่ตั้งของรัฐอิสระ ที่อ่อนแอและง่ายต่อการยึดครอง รัฐอิสระทางตอนเหนือของพม่าล่อใจชาวอังกฤษ เพราะเป็นแหล่งทรัพยากรป่าไม้และเหมืองอัญมณีอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศ บวกกับการได้ควบคุมเมืองท่าและเมืองเศรษฐกิจของพม่าตอนล่าง แต่ที่สําคัญ และเป็นเป้าหมายสูงสุดคือการหาช่องทางเข้าสู่เมืองจีนซึ่งต้องข้ามผ่านพม่าเข้าไป

สิ่งที่อังกฤษต้องการจากพม่าปรากฏอย่างชัดเจนในสัญญาการค้าที่ทั้ง 2 ประเทศลงนามร่วมกันในปี ค.ศ. 1867 ดังมีรายละเอียด คือ

  1. ผู้ลงนามสัญญาทั้ง 2 ฝ่ายตกลงยอมลดอัตราภาษีและค่าธรรมเนียม ข้ามเขตแดน และจะกําหนดอัตราใหม่เป็นจํานวนร้อยละ 5 ของราคาสินค้าทั้งหมด
  2. ผู้ลงนามสัญญาทั้ง 2 ฝ่ายต้องยอมรับการส่งทองแท่งเงินแท่งเข้าออก
  3. กษัตริย์จะยินยอมช่วยเจ้าหน้าที่อังกฤษเปิดการติดต่อค้าขายกับจีนผ่านดินแดนพม่า
  4. กษัตริย์จะยอมรับให้มีผู้ทําการแทนผู้แทนอังกฤษอาศัยอยู่ที่แคว้นบาโม ใกล้พรมแดนจีน
  5. กษัตริย์จะต้องเลิกการควบคุมสินค้าทั้งหมด ยกเว้นไม้ซุง น้ำมัน และ เพชรพลอย
  6. กษัตริย์อาจแสวงหาอาวุธและกระสุนปืนได้จากอังกฤษหรือผ่านดินแดน อังกฤษ แต่ต้องได้รับคําอนุมัติจากข้าหลวงอังกฤษที่พม่าตอนล่างก่อน

หมายเหตุ : ยังเห็นได้อีกว่าสิ่งที่อังกฤษต้องการให้เกิดขึ้นภายหลังการทําสัญญากับพม่านั้น ล้วนเป็นข้อกําหนดที่เสียเปรียบของพม่าเพื่อผลประโยชน์ของ อังกฤษทั้งสิ้น โดยมีหลักใหญ่ใจความคือการกําหนดอัตราภาษีศุลกากร การส่ง สินค้าออกและยกเลิกการผูกขาดโดยสิ้นเชิง การซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย และการเปิดเส้นทางสู่เมืองจีน

ความกดดันจากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับอังกฤษผลักดันให้พม่าจําต้องเปิดประเทศยิ่งขึ้นเพื่อชักนําชาติมหาอํานาจตะวันตกอื่นๆ เข้ามาคานอํานาจอังกฤษ ซึ่งจะมีทั้งคุณและโทษต่อทางราชสํานักพม่า จากการที่พม่ามิได้เป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ แต่เป็นประเทศกึ่งเอกราชที่เหยียบเรือสองแคมอยู่

พระเจ้ามินดง (ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 1853-1878) ทรงเป็นกษัตริย์ ผู้อาวุโสซึ่งเต็มไปด้วยปฏิภาณไหวพริบ เมื่อพม่าเข้าสู่สงครามครั้งที่ 2 กับอังกฤษ (ค.ศ. 1852-1853) ทรงตระหนักว่าพม่ากําลังถูกโดดเดี่ยวกีดกันจากชาติมหาอํานาจยุโรปอื่นๆ รวมทั้งยังมีทีท่าว่าพม่าต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงําทางการเมือง และเศรษฐกิจของอังกฤษที่กระทําผ่านรัฐบาลอังกฤษในอินเดีย

ทรงพยายามแก้ไขสถานการณ์อันเลวร้ายจากการคุกคามของอังกฤษด้วยการฝ่าวงล้อมออกไปขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคู่แข่งทางจักรวรรดินิยมของอังกฤษ พม่าได้ส่งคณะราชทูตชุดใหญ่นําโดยกินหวุ่นมินจี นักการทูตอาวุโส และพระสหายของพระองค์สู่ราชสํานักของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ณ พระราชวังแซงต์กลูด์ ประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1854 และได้ส่งท่านออกไปอีกถึง 2 ครั้ง ในปี ค.ศ. 1873 และ ค.ศ. 1874 ได้มีการลงนามกันในสัญญาการค้าและพาณิชย์ สนธิสัญญาฉบับใหม่ในปี ค.ศ. 1874 ไม่ใช่แต่เพียงเหตุผลด้านการค้าอย่างเดียว แต่ได้แสดงเจตนารมณ์ของพม่าที่จะรวมเอาประเด็นทางเศรษฐกิจและ การเมืองเข้ามาไว้ด้วยกัน

กินหวุ่นมินจี ราชทูตพม่าถวายพระราชสาส์นของพระเจ้ามินดงแก่พระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส-ภาพจาก L’ILLUSTRATION, 1854 (เอกสารของไกรฤกษ์ นานา)

การชักนําฝรั่งเศสให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในพม่าเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของพระเจ้ามินดงที่จะลดบทบาทของอังกฤษลงที่ละน้อย ในตอนต้นทศวรรษ 1870 พม่าได้ดําเนินวิเทโศบายก้าวสําคัญเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงจากการ คุกคามของอังกฤษ ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสเป็นมหาอํานาจที่กําลังท้าทายอํานาจของอังกฤษอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่พม่าจะต้องแสวงหาประโยชน์จากการแข่งขันระหว่างอังกฤษและ ฝรั่งเศส และขณะเดียวกันก็ต้องดําเนินนโยบายที่ล่อแหลมนี้อย่างระมัดระวัง

ท่ามกลางความระแวงที่อังกฤษมีต่อผลประโยชน์ของฝรั่งเศสในพม่านี้ คณะทูตพม่าได้หยิบยกสัญญาฉบับที่ลงนามกันไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1873 ขึ้นมาเจรจากับฝรั่งเศสอีกครั้ง และทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงลงนามในสัญญาฉบับเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาเดิมเมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1885 สัญญาเพิ่มเติมฉบับนี้ยังคงเป็นสัญญาทางการค้าทั่วๆ ไป ที่ไม่ปรากฏข้อความที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการทหาร

แต่กระนั้นก็ยังมีข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วว่าฝรั่งเศสได้รับสิทธิ์หรือสัมปทานพิเศษในพม่า เป็นต้นว่า ฝรั่งเศสได้รับสัมปทานก่อสร้างทางรถไฟจากตังเกี๋ยไปมัณฑะเลย์ ตั้งสํานักงานธนาคารในมัณฑะเลย์เพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการพัฒนาต่างๆ ของพม่า ได้สัมปทานสิทธิ์ในการทําเหมืองทับทิม และสัมปทานสิทธิ์จัดตั้งบริษัทเดินเรือกลไฟแข่งขันกับบริษัทกองเรืออิรวดีของอังกฤษ ข่าวลืออื่นๆ ก็มีอย่างเช่น การที่ฝรั่งเศสช่วยขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ พม่าโดยผ่านทางตังเกี๋ย ด้วยเหตุดังนั้น ความวิตกของอังกฤษต่อนโยบายของฝรั่งเศสในบริเวณดังกล่าวจึงมีมากขึ้นตามลําดับ

นายจูลส์ แฟร์รี่ เสนาบดีว่าการต่างประเทศของฝรั่งเศสได้แสดงท่าที่เปิดเผยมากขึ้นกับแผนการของเขาโดยใช้การค้าเป็นใบเบิกทางอันเป็นการกรุยทางให้ฝรั่งเศส เข้าไปมีอิทธิพลทางการเมืองในบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนบน ซึ่งเพียงพอที่จะทําให้ ฝรั่งเศสอยู่ในสถานะที่สามารถเพิ่มข้อต่อรองกับอังกฤษ และการเฉลี่ยอํานาจของชาติตะวันตก ให้เกิดความสมดุลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนบนเชื่อมต่อดินแดนสิบสองปันนา อันเป็นพื้นที่ทับซ้อนของพม่า สยาม และจีน ด้วยรัฐอิสระที่ยังไม่มีฝ่ายใดจับจองอย่างมีระบบ และสุ่มเสี่ยงต่อการรุกรานของอํานาจจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา อังกฤษและฝรั่งเศสต่างไม่ไว้ใจกันและกัน แต่ก็เฝ้ารออย่างอดทนจนกว่า สถานการณ์จะสุกงอมตามทฤษฎีส้มหล่น…


คลิกสั่งซื้อหนังสือ “ไขปริศนาประเด็นอำพราง ในประวัติศาสตร์ไทย” ที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 เมษายน 2564