เผยแพร่ |
---|
อิทธิพลของมหาอํานาจฝรั่งเศสเหนือคาบสมุทรอินโดจีน ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 มีผลต่อการกำหนดเส้นเขตแดนในสมัยต่อมา อิทธิพลนี้ยังครอบคลุมไปถึงการให้ข้อมูลที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นมาเอง โดยเฉพาะ “แผนที่” แผนที่โลก ในยุคล่าอาณานิคมจึงมีความกํากวม ดังที่ ไกรฤกษ์ นานา เขียนถึงใน “ไขปริศนาประด็นอำพราง ในประวัติศาสตร์ไทย” (สนพ. มติชน, 2548) ไว้ดังนี้
“อินโดจีน” เป็นคาบสมุทรที่มีความเปราะบางและเปลี่ยนแปลงมากที่สุดของทวีปเอเซียในยุคเปลี่ยนถ่ายอํานาจ ตลอดทศวรรษ 1880 และหลังจากนั้น ซึ่งอยู่ในช่วงตอนกลางรัชกาลที่ 5 ค่านิยมของชาติมหาอำนาจตะวันตกคือการมีอาณานิคมให้มากเพื่อความมั่งคั่งร่ำรวยของประเทศแม่ ดังนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปเอเชียจึงถูกแบ่งแยกออกเป็นเสี่ยงๆ เพื่อสนองตัณหาของนักล่าเมืองขึ้น ตัวละครเด่นในยุคนี้ได้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส
อังกฤษกับฝรั่งเศสแข่งกันยึดพื้นที่ทางเศรษฐกิจของแหลมทองที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ และป่าไม้ ทั้งยังเป็นเส้นทางใหม่ที่ลัดเข้าสู่เมืองจีน แทนการใช้เรือเดินสมุทรแบบโบราณ การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปก่อให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องยนต์กลไกสมัยใหม่ เช่น เครื่องจักรไอน้ำ ถูกนำมาใช้กับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่และรถไฟหัวรถจักรไอน้ำ ซึ่งอังกฤษกับฝรั่งเศสต่างก็เป็นแม่แบบ
จะเห็นได้ว่าอังกฤษและฝรั่งเศสเร่งวางโครงการต่างๆ เพื่อทําให้การบุกเบิกของตนทุนค่าโสหุ้ย และตัดทอนระยะเวลาเดินทางลงให้มากที่สุด ในทศวรรษ 1880 เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่สยามเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ แผนการขุดคอคอดกระ และการวางทางรถไฟผ่านท้องถิ่นสยาม เพื่อการเดินทางขนส่งจะได้รวดเร็วขึ้น เป็นการส่งเสริมนโยบายขยายอาณานิคมทางอ้อม
แผนที่กลายเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ถูกนํามาใช้อ้างกรรมสิทธิ์การสํารวจ และการครอบครองดินแดน ชาวตะวันตกมีผู้ชํานาญการทําแผนที่และนักสํารวจ ที่เอาจริงเอาจังมากกว่าชาวเอเชีย แผนที่ของชาวตะวันตกจึงมีภาษีดีกว่า และตั้งโจทย์ที่ยากไว้ให้ชาวเอเชียแก้ไขในภายหลัง ส่วนน้อยเท่านั้นที่ยอมความกันได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ตกเป็นเหยื่อของชาวยุโรป เพราะวิ่งตามความคิดของฝรั่งไม่ทัน
ในปี ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) บริษัทผลิตแผนที่มีชื่อเสียงของ อังกฤษชื่อ Rand, McNally & Company’s ได้ตีพิมพ์แผนที่ตะวันออกไกลฉบับหนึ่งออกมาจําหน่าย สิ่งที่ทําให้ชาวสยามต้องตะลึงก็คือเนื้อที่ครึ่งหนึ่งของประเทศสยาม (ภาคอีสานและภาคตะวันออกทั้งหมด) ถูกระบุว่าเป็นดินแดน French Indo-China หรืออินโดจีนของฝรั่งเศสแล้วระบายสีทําให้ดูฉุดฉาดสะดุดตา เหมือนกําลังทวงกรรมสิทธิ์ที่ตนควรได้ครอบครอง…
ทว่า เมื่อตั้งสติได้ เราจำต้องคำนึงแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่าภายหลังเหตุการณ์ ร.ศ. 112 (ค.ศ. 1893/พ.ศ. 2436) นั้น ฝรั่งเศสได้ยึดและครอบครองฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงไว้จริงตามสนธิสัญญาและอนุสัญญาหลายฉบับ แต่ก็ได้ทยอยคืนให้ทีหลังในอีก 1 ทศวรรษต่อมาตามข้อตกลงในอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และ 1907 แผนที่ฉบับนี้วาดใน ค.ศ. 1902 ยังเป็นปีที่ฝรั่งเศสอ้างกรรมสิทธิ์ภาคตะวันออกของสยามไว้อย่างลำพองใจ คนทั้งโลกก็พลอยเข้าใจอย่างที่ฝรั่งเศสปรักปรำตามไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2564