แพะ (รับบาป) ที่ศาลเจ้า

“The Scapegoat” (แพะรับบาป) โดย William Holman Hunt, via Wikimedia Commons

เมื่อพูดถึงแพะเราอาจจะนึกภาพไม่ออก แล้วไพล่ไปบอกว่ามันเหมือนกับแกะ อย่างที่คนมักใช้คำว่าจับแพะชนแกะนั่นอย่างไร

หากจะว่ากันไปแล้ว แพะโดยทั่วไปมีรูปร่างคล้ายกับแกะอยู่เหมือนกัน ลักษณะสำคัญที่ต่างกันแบบชาวบ้านมองเห็นได้ นั้นก็คือแพะมีเคราใต้คาง ส่วนแกะไม่มี

Advertisement

นอกจากนั้นแพะตัวผู้จะมีต่อมกลิ่นสาบที่ใต้โคนหาง ส่วนแกะมีต่อมกลิ่นที่หว่างกลีบ แพะมักมีเขายาวคล้ายดาบโค้งไปทางข้างหลัง แกะมักมีเขาม้วนกลับไปใต้หู และแพะมักมีขนตรงๆ ขณะที่แกะมีขนม้วนเป็นลอนหนาไปทั้งตัว

สัตว์ที่ได้ใกล้ชิดเทพเจ้า?

เรื่องราวของแพะคงไม่จบลงแค่มันถูกนำไปเป็นอาหารเท่านั้น ยังมีหลักฐานอ้างอิงถึงเรื่องของการนำแพะมาใช้ประโยชน์ได้อีกหลายจุดมุ่งหมายด้วยกัน ดังเช่นที่ขุนสุนทรภาษิตเขียนไว้ในเรื่องศิวลึงค์ ตอนหนึ่งว่า “ชาวไอยคุปต์หมู่หนึ่งสมัยโบราณใช้ลึงค์นางแพะที่ฆ่าแล้วเอามาปิดไว้ตามบานประตูหน้าต่าง เพื่อบูชาพระอิศวร โดยนับถือว่าอาจกันอันตรายต่างๆ อันจะนำมาสู่ครอบครัว แล้วให้เกิดสิริมงคลแก่บ้านเรือนครอบครัวนั้น…”

ขณะเดียวกันก็มีชาวไอยคุปต์บางส่วนที่นับถือเคร่งครัดในพระอิศวรจึงถึงแก่นำลึงค์นางแพะที่ตากแห้งไว้แล้ว แผ่เป็นรูปแบนๆ ร้อยเชือกแล้วผูกติดห้อยคอไว้ตุกติก เสมือนผูกขุนเพชรไว้ที่บั้นเอวเพื่อบูชาพระอุมา และผูกลึงค์นางแพะไว้ที่คอเพื่อบูชาพระอิศวร

ส่วนในศาสนาฮินดูหรือที่คนส่วนใหญ่มักเรียกกันว่าศาสนาพราหมณ์นั้น ตามตำนานก็กล่าวว่าเจ้าแม่กาลี (กาลีเทวี) หรืออีกภาคหนึ่งของพระอุมาซึ่งเป็นเทวีที่ชอบรับสังเวยสัตว์พลี ดังที่เมืองกัลกัตตา ณ ตำบลกาลีฆาฏ มีเทวาลัยของนางกาลีเทวี ซึ่งพบว่ามีคนนำแพะมาตัดคอเพื่อสังเวยเจ้าแม่กันทุกวัน เพราะเชื่อว่ากาลีเทวีนั้นเป็นผู้ที่ชอบดื่มเลือดสดๆ ดังนั้นเพื่อให้เจ้าแม่โปรดปรานและบันดาลให้ผู้คนอยู่กันอย่างเป็นสุข จึงต้องมีการถวายแพะเป็นสัตว์พลีทุกวันดังกล่าว ซึ่งคล้ายกันกับของทางตะวันตก ในลัทธิบูชาพระภูมิของชาวโรมัน ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยของกษัตริย์นูมา เมื่อประมาณ ๗๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช (กรีกจะไม่มีพระภูมิเจ้าที่) โดยมีการนำหินมาปักหลักเขตของสถานที่ เรียกว่าเตอร์มินัส (Terminus) เพื่อที่เทพครองอาณาเขตจะได้คุ้มครองดินแดนนั้นๆ และในเดือนกุมภาพันธ์จะมีงานฉลองเทศกาลหลักเขตกันทุกปี มีการจัดพิธีเซ่นไหว้โดยการฆ่าสัตว์ เช่น แพะ แกะ เป็นเครื่องสังเวยหลัก

สุดท้ายจบลงที่ศาลเจ้า

ศาลเจ้าถือได้ว่าเป็นแหล่งสำคัญของสิ่งยึดเหนี่ยวความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรม ชาวจีนโพ้นทะเลที่ได้อพยพย้ายถิ่นมาตั้งรกรากถิ่นฐานในที่พำนักแห่งใหม่ มักนำพาขนบธรรมเนียมของเผ่าพันธุ์ของตนตามมาด้วย

ในเรื่องของเทพเจ้านั้น ชาวจีนมีความเชื่อว่าอิทธิฤทธิ์ของเทพเจ้ามีอิทธิพลในการคุ้มครองป้องกันภัย ตลอดจนปกปักรักษาความอุดมสมบูรณ์และการสืบสกุลของครอบครัวไม่น้อยทีเดียว จึงได้มีการสร้างศาลเจ้าสืบทอดกันมา และมีพิธีกรรมที่เป็นงานฉลองหรือบูชาเทพเจ้ากันเป็นประจำทุกปี

ชาวจีนที่เข้ามาเมืองไทยในยุคแรกๆ มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มตามกลุ่มภาษาของตน โดยจะแยกกลุ่มตามสถานที่ที่ตนอพยพมา อย่างไรก็ดีพวกเขาก็จะสร้างศาลเจ้าตามกลุ่มภาษาของเขาเอง เพื่อไว้กราบไหว้เทพเจ้าที่เคารพนับถือของกลุ่มตน

ศาลเจ้าที่สร้างขึ้นตามกลุ่มภาษาเหล่านี้มีเทพเจ้าที่ประดิษฐานเป็นเทพประธานในศาลเจ้า หากมิใช่เทพทางศาสนาเต๋า ก็จะเป็นเทพพื้นถิ่นเฉพาะกลุ่มภาษานั้นๆ ดังเช่นเจ้าแม่ทับทิม (ตามความเชื่อของชาวจีนจะแบ่งเทพเจ้าออกเป็น ๔ กลุ่มใหญ่ๆ เจ้าแม่ทับทิมจัดอยู่ในกลุ่มที่ ๓ คือเทพชั้นสูง โดยเทพชั้นนี้จะสิงสถิตอยู่ตามศาลเจ้า เรียกโดยรวมว่า “ตั๊ว” หรือ “ปุงเถ่ากงม่า” ซึ่งหมายถึงศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่) หรือสุยอุ่ยเซิ่งเหนียง (แปลว่าเจ้าแม่ท้ายน้ำ) ซึ่งเป็นเทพผู้หญิงจีนไหหลำ

ในส่วนเรื่องราวของเจ้าแม่องค์นี้ มีตำนานเล่าขานต่อๆ กันมาว่า

ชาวประมงยากจนคนหนึ่งได้ออกไปหาปลาในคืนหนึ่ง ทอดแหแต่ละครั้งไม่ได้ปลาเลยสักตัวเดียว แต่กลับได้ไม้มาท่อนหนึ่ง แม้ว่าได้โยนไม้ทิ้งลงน้ำไปหลายครั้งด้วยความโกรธ ไม้ท่อนนั้นก็ยังคงลอยทวนน้ำมาติดแห่อีก ในที่สุดเขาจึงบนบานกับท่อนไม้นั้นว่าถ้าศักดิ์สิทธิ์จริงก็ขอให้ได้ปลาเต็มลำเรือก่อนรุ่งเช้า และหากเป็นดังนั้นจะแกะท่อนไม้นั้นเป็นองค์เจ้าแม่บูชา เมื่อชาวประมงอธิษฐานเสร็จเขาก็ทอดแหต่อไป ปรากฏว่าได้ปลามากมายเต็มลำเรือก่อนรุ่งเช้า เขาดีใจมากรีบนำเรือกลับบ้าน แล้วเรียกลูกเมียให้มาช่วยขนปลาเข้าบ้าน ส่วนตัวเองได้นำท่อนไม้นั้นไปวางพิงที่ข้างเล้าหมู โดยลืมคำอธิษฐานที่ได้ให้ไว้ก่อนหน้าหลายวัน ต่อมาเขาฝันเห็นผู้หญิงมาเตือนให้นำท่อนไม้ไปแกะสลักตามคำอธิษฐาน รุ่งขึ้นเขาจึงรีบนำท่อนไม้ไปให้ช่างแกะสลักเป็นองค์เจ้าแม่ พร้อมกับได้ตั้งศาลเจ้า และนำไม้แกะสลักรูปเจ้าแม่นั้นมากราบไหว้บูชาแต่นั้นมา

ชาวจีนไหหลำ [ทางตอนใต้ของจีนมีเกาะใหญ่อยู่ ๒ เกาะ คือ เกาะไต้หวันและเกาะไหหน่ำ (ไหหลำ) ไหหน่ำเป็นมณฑลที่ ๓ ของจีน มีนครไหไขว่เป็นศูนย์กลางการปกครอง มีภาษาพูดเป็นของตนเอง จีนมีกลุ่มภาษาพูด ๘ กลุ่ม แต่ใช้ตัวอักษรเดียวกันทั้งหมดไม่ว่าบนแผ่นดินใหญ่หรือเกาะต่างๆ] ที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ได้สร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งแรกขึ้นที่สะพานซังฮี้ ถนนสามเสน กรุงเทพฯ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๕ และก็มีกลุ่มหนึ่งราวสองพันคนที่เข้าไปทำมาหากินที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

ในการเดินทางมาของชาวจีนไหหลำครั้งนี้ได้นำองค์เจ้าแม่ทับทิมจำลองที่แกะสลักด้วยไม้จากเมืองจีนมาด้วย ตามความเชื่อว่าเจ้าแม่ทับทิมเป็นเทพธิดาผู้พิทักษ์ทะเล และเป็นที่นับถือกันมากในหมู่ชาวประมงว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้พ้นภัยยามออกทะเล การเดินทางจากเกาะไหหลำมาเมืองไทยต้องอาศัยเรือสำเภาเป็นพาหนะ ดังนั้นพวกเขาจึงอธิษฐานให้เจ้าแม่ทับทิมได้โปรดคุ้มครองให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ

เมื่อเดินทางมาถึงบ้านโป่ง จึงมีการตั้งศาลเจ้าเพื่อบูชาเจ้าแม่ทับทิมขึ้น ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง ใกล้ประตูน้ำท่าแพ ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้จะมีงานไหว้เจ้าแม่ทับทิมราวประมาณปลายปีของทุกปี เพื่อขอบคุณเจ้าแม่ที่ช่วยคุ้มครองพวกเขามาตลอดทั้งปี เรียกว่าไหว้ตังโจ่ย หรือเทศกาลตังโจ่ย (ตงเจ๋ย) จะตกอยู่ประมาณเดือนสิบเอ็ดของการกำหนดทางจันทรคติของจีน

ในงานไหว้เจ้าแม่ นอกจากมหรสพงิ้วที่จะขาดไม่ได้แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะไม่แตกต่างกัน แต่สำหรับศาลเจ้าแม่ทับทิมแพะจะถูกจัดเป็นเครื่องเซ่นไหว้อันดับแรกสุดของอาหารคาว ส่วนจำนวนกี่ตัวนั้นขึ้นอยู่กับศรัทธาและกำลังทรัพย์หรือสภาพเศรษฐกิจในปีนั้นๆ นอกจากนั้นยังมีแพะมังสวิรัติ คือการนำถั่วมาปั้นและตกแต่งให้เหมือนกับแพะจริงๆ นั่นเอง เมื่อการไหว้สิ้นสุดลงจะมีการนำแพะเหล่านี้ไปปรุงอาหารเพื่อรับประทานร่วมกันเสมือนเป็นมื้อรวมญาติ

ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าทำไมเจ้าแม่ทับทิมจึงโปรดปรานแพะเป็นพิเศษ แต่ภาพที่ปรากฏก็จะพบว่ามีแพะจำนวนไม่น้อยถูกนำมาเป็นเครื่องเซ่นไหว้ทุกปี

ไม่ว่าโลกจะหมุนเร็วขึ้นหรือเราเดินช้าลง การนำแพะมาใช้ในพิธีกรรมไม่ได้ถูกเปลี่ยนไปด้วยเลย พิธีกรรมต่างๆ ที่มนุษย์เราประกอบขึ้นมาล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำเพื่อการบูชาเทพเจ้า ซึ่งแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายต่างให้ความศรัทธานับถือ และสืบทอดเป็นแนวปฏิบัติต่อๆ มา ทั้งหมดนั้นเป็นการกระทำที่เชื่อว่าทำแล้วสบายใจ ไม่จำเป็นต้องเห็นผลเป็นรูปธรรม เสมือนกับพระชาวยิวในสมัยโบราณได้ทำพิธีถ่ายบาปมนุษย์ โดยใช้แพะเป็นตัวแทน หลังจากนั้นก็จะไล่แพะให้หนีไป เพื่อที่จะพาเอาบาปและความไม่ดีต่างๆ ของมนุษย์ไปด้วย

แพะตัวที่ทำพิธีถ่ายบาปนั้นมีชื่อเรียกว่า SCAPEGOAT เป็นสำนวนภาษาอังกฤษที่คล้ายกับสำนวนไทยที่ว่า (หา) แพะรับบาป ซึ่งก็หมายความถึงคนที่รับเคราะห์กรรมแทนผู้อื่นที่ทำกรรมนั้นนั่นเอง

เรื่องนี้ถ้าจะว่ากันไปแล้วบ้านเราก็นิยมกันอยู่มาก เพราะทำแล้วสบายกายสบายใจของผู้หา (แพะ) เป็นอย่างยิ่ง


บรรณานุกรม

กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย. ภารตวิทยา : ความรู้เรื่องอินเดียทางวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ : ศยาม, ๒๕๓๗.

ต้าน ลี่ ชิง และบุญยิ่ง ไร่สุขศิริ. ความเป็นมาของวัดจีนและศาลเจ้าจีนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา, ๒๕๔๓.

อ.สายสุวรรณ. เทวดากรีก-โรมัน. พิมพ์ครั้งที่ ๖, กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, ๒๕๓๐.