“ละครแห่งชีวิต” นวนิยายของม.จ.อากาศดำเกิง ที่วิจารณ์กรมหลวงราชบุรีฯ ผู้เป็นพระบิดา

(ซ้าย) ปกละครแห่งชีวิต สำนักพิมพ์บางหลวง พ.ศ. 2536 (ขวา) หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ภาพลายเส้นโดย ยศกมล สุวิชาบุญ (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2549)

หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ผู้เขียน “ละครแห่งชีวิต” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2472 ละครแห่งชีวิตเป็นนวนิยายบุกเบิกในวงวรรณกรรมไทยยุคใหม่ ที่ก่อให้เกิดการวิจารณ์วรรณกรรม โดยนวนิยายเล่มนี้ได้สะท้อนสภาพสังคมเก่าปะทะสังคมใหม่ รวมถึงสะท้อนเรื่องราวชีวิตส่วนพระองค์ของผู้เขียนอีกด้วย

หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ประสูติเมื่อ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2475 เป็นพระโอรสในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ต้นราชสกุลรพีพัฒน์

ละครแห่งชีวิตได้รับความสนใจในวงกว้าง เพราะด้วยการที่เป็นเรื่องจริงผสมเรื่องแต่งทำให้ผู้อ่านโดยเฉพาะสามัญชนให้ความสนใจใคร่รู้เรื่องของชนชั้นสูง นอกจากนี้ยังเป็นนวนิยายเรื่องแรก ๆ ของยุคที่ทำให้เกิดการวิจารณ์วรรณกรรม เพราะมีการตอบโต้ระหว่างนักเขียนกับนักวิจารณ์ โดยเฉพาะจากพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ที่ทรงวิจารณ์และท้วงติงการเขียนเรื่องจริงผสมเรื่องแต่ง และมีการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลจริงบางคน

หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงทรงถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตส่วนพระองค์ผ่านนวนิยายละครแห่งชีวิต โดยดำเนินเรื่องผ่านตัวละครเอกอย่าง วิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา ซึ่งเรื่องราวของตัวละครนี้ก็สะท้อนหรือจำลองมาจากชีวิตของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง เรื่องหนึ่งในนั้นคือความสัมพันธ์ระหว่าง วิสูตรกับบิดา หรือนัยยะก็คือความสัมพันธ์ระหว่างหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงกับพระบิดานั่นเอง

ในเรื่องวิสูตรไม่ได้รับความรักและความใส่ใจจากบิดา ผู้เป็นข้าราชการ-นักกฎหมายคนสำคัญของประเทศวิสูตรจึงตัดพ้อต่อว่าบิดาว่ามีความลำเอียง ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ตน แต่มิได้บอกสาเหตุว่าเป็นเพราะเหตุอันใด หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงดูจะทรงว่ากระทบวิชากฎหมายและนักกฎหมายว่าไม่มีความเป็นธรรม และความยุติธรรมก็ขึ้นอยู่กับเงินทองและความเก่งกาจของนักกฎหมาย โดยแสดงให้เห็นผ่านตัวละครเลดี้มอยร่า ที่กล่าวไว้ในเรื่องว่า

“…ฉันยังไม่เห็นกฎหมายมีความยุติธรรมตรงไหน คิดดูซีจะชนะความทุกคดีได้ ก็ต้องเกียรติยศเงิน และหมอความที่ดีเท่านั้น ใครมีเงินจ้างหมอความดี ๆ ได้ ก็ชนะความอย่างไม่มีปัญหา แม้ว่าผู้นั้นจะระยำเพียงไร…”

ประเด็นสำคัญอีกข้อที่วิสูตรวิพากษ์วิจารณ์บิดาคือ การหย่าร้างกับมารดาของตนแล้วไปมีภรรยาคนใหม่ ซึ่งวิสูตรเห็นว่าเป็นวัฒนธรรมที่เอารัดเอาเปรียบผู้หญิงอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจในสังคมไทย ความว่า

“…เรื่องคุณแม่จะต้องจากบ้านที่ท่านเคยอยู่มาแล้วตั้ง 20 ปี… ก็เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนเรื่องทั้งหลายในครอบครัวขุนนางใหญ่ ๆ โต ๆ ในเมืองไทย เมื่อภรรยาเป็นฝ่ายที่ชรา หมดกำลังที่จะสนองคุณได้เช่นเคย ก็เป็นอันว่าต้องถูกปลดชรา… อนิจจา! นี่คือภรรยาของคนไทย แม่ยอดหญิง! ถ้าภรรยาใดทนไม่ไหว… ก็ตัดช่องไปแต่พอตัว ทิ้งทรัพย์สมบัติที่ตนได้ช่วยสร้างสมมาแล้วเป็นเวลาตั้งหลายสิบปีให้อยู่ในความอารักขาของบุรุษผู้มีใจโลเลเบื่อเก่าหาใหม่ ส่วนทรัพย์สมบัตินั้น ๆ ในที่สุดก็ตกไปอยู่กับเด็กหญิงอะไรที่หน้าตาสวย ๆ ทิ้งให้ภรรยาเก่าและบุตรธิดาของตนก้มหน้ากินเกลือไปตามยถากรรม ชีวิต! ชีวิต!…

หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงทรงถ่ายทอดเรื่องนี้มาจากชีวิตของพระองค์ เนื่องจากพระบิดากับพระมารดาของพระองค์ หรือก็คือ หม่อมอ่อน ในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ใช้ชีวิตร่วมกันนานกว่า 20 ปี มีพระโอรสธิดาถึง 11 พระองค์ แต่ก็เลิกร้างกันไป ทรงหย่าเมื่อหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงมีพระชันษา 13 ปี

พรวิภา วัฒรัชนากูล วิเคราะห์ไว้ในบทความ ละครแห่งชีวิต ม.จ.อากาศดำเกิง : บทสะท้อนวัฒนธรรมใหม่ปะทะเก่า ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2549 ว่า “เป็นการยากที่คนในรุ่นหลังจะสืบรู้ได้จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ คงมีแต่เรื่องเล่าให้พอสันนิษฐานได้ว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคงเป็นเพราะ หม่อมอ่อนนั้นมีชื่อเสียงทางเป็นนักพนันเล่นหวย และนิสัยนี้ได้ถ่ายทอดถึงลูก ๆ รวมทั้ง ม.จ.อากาศดำเกิง จนทำให้ทรัพย์สมบัติของราชสกุลหมดสิ้นไปเพราะการพนันนี้เอง”

นอกจากนี้ การที่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงเป็นนักกฎหมายและเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ทรงมีหน้าที่รักษากฎหมายและส่งเสริมให้คนปฏิบัติตาม แต่กลับมีภรรยาเป็นนักพนันและละเมิดกฎหมายอยู่เป็นนิตย์นั้น ย่อมก่อให้เกิดเสียงครหาโดยทั่วไปในเชิง “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

นอกจากนี้ พรวิภา วัฒรัชนากูล ยังอธิบายว่า การวิพากษ์วิจารณ์ของวิสูตรที่มีต่อบิดาในเรื่องละครแห่งชีวิตนี้ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงทรงวิจารณ์กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ผู้เป็นพระบิดาของพระองค์เอง แต่หากพิจารณาถึงการไม่ให้เหตุผล หรือข้อมูลจากทั้งสองด้านแล้ว จึงออกจะเป็นการใช้กลวิธีในการประพันธ์ว่าร้ายบุคคลอื่นอย่างไม่ยุติธรรม ดังที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงวิจารณ์ไว้ว่า

“…การที่จะถือสิทธิของผู้แต่งประวัติ ถึงเวลาจะด่าก็ด่าไม่ว่าใคร ด่าเสียอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ของมหาชนนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ผิด ถ้ามีคนกล้าทำเช่นนั้นมาก ๆ ก็จะยิ่งดี แต่ตนเองอย่าแอบอยู่หลังหน้ากากของการสมมุติสิ… ถึงเวลาจะปรักปรำบิดาหรือสหายแล้ว ม.จ.อากาศฯ ก็ใช้นามแฝงปิดบังเสียให้กลายเป็นคนสมมุติไป แต่คนอื่น ๆ ที่ท่านเกลียดแล้ว ท่านปล่อยนามจริง ๆ ออกมาให้มหาชนพลอยเกลียดไปด้วย…”

อย่างไรก็ตาม ละครแห่งชีวิตยังเป็นนวนิยายที่สะท้อนสังคมได้อีกหลายแง่มุม โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาไทย เนื่องจากในสมัยนั้นค่านิยมในสังคมโดยเฉพาะชนชั้นสูงและผู้มีฐานะมักนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศให้เป็น “นักเรียนนอก” นั่นจึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นตามมา

ดังที่วิสูตรกล่าวไว้ว่า “…ข้าพเจ้าจบการเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แล้วจะไปหางานทำที่ไหนก็ไม่มีใครเชื่อหน้าว่าทำอะไรได้ เพราะตนไม่ใช่คนหัวนอก เงินเดือนที่จะได้รับก็ไม่พอที่จะยาไส้ไปวันหนึ่ง ๆ อนิจจา! ฐานะของโรงเรียนไทย โรงเรียนของเราช่างน่าอนาถเสียนี่กระไรหนอ!…

“…ข้าพเจ้าต้องการจะไปเมืองนอกให้จงได้ แม้ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอะไรก็ตาม ข้าพเจ้าต้องการจะทราบความลับแห่งความเจริญรุ่งเรืองของเมืองนอก ต้องการจะทราบว่าทำไมคนที่ไปเมืองนอกมาจึงหรูหรา ฉลาดเฉลียว แคล่วคล่อง ได้เงินเดือนและเกียรติยศมากและเร็วผิดกว่าคนอื่น ต้องการจะไปค้นให้พบว่า สระอโนดาษ หรือบ่อเงินบ่อทอง ที่นักเรียนไทยไปชุบตัวกลับมานั้นอยู่ที่ไหน…”

ทั้งนี้หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนจากอัสสัมชัญ และโรงเรียนชั้นดีอย่างเทพศิรินทร์มาโดยตลอด และยังมีโอกาศไปศึกษาต่อยังต่างประเทศแต่ศึกษาไม่จบ กระนั้นหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงก็สนพระทัยและเห็นคุณค่าของการศึกษาอย่างมากว่าจะช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญขึ้นได้ และไม่เพียงแต่ละครแห่งชีวิตเรื่องนี้เรื่องเดียว ผลงานชิ้นอื่นของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงก็เน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาเช่นกัน

ละครแห่งชีวิตจึงไม่ได้เป็นนวนิยายที่มุ่งสะท้อนเรื่องราวส่วนพระองค์ของผู้เขียน ของความสัมพันธ์ระหว่างหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงกับพระบิดา ซึ่งที่จริงแล้วละครแห่งชีวิตเป็นนวนิยายที่สะท้อนวัฒนธรรมใหม่ปะทะเก่าในสังคมไทยช่วงเวลานั้นในหลากหลายประเด็นได้เป็นอย่างดี

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 เมษายน 2564