เผยแพร่ |
---|
พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (6 กุมภาพันธ์ 2420 – 7 กรกฎาคม 2494) ชื่อเดิมว่า ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นบุตรชายคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 8 คน ของพันเอก หลวงฤทธิ์นายเวร (พุด เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมของรัชกาลที่ 5) กับคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็น “หัวหน้าคณะทูตทหาร” ในงานพระราชสงครามที่ทวีปยุโรป หากเมื่อเสร็จจสิ้นภารกิจกลับมาเมือไทยได้ไม่นาน พระยาพิไชยชาญฤทธิ์กลับขอลาออกจากราชการ เนื่องจากเจอแรงกดดันภายในกองทัพ เหตุการณ์ดังกล่าวนั้น เทพ บุญตานนท์ อธิบายไว้ในหนังสือ “การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6” (มติชน, 2559) ดังนี้
พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ มีความสนิทสนมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เมื่อครั้ง ศึกษาวิชาทหารอยู่ที่ประเทศเบลเยียม และยังดำรงตำแหน่งมหาดเล็กในพระองค์ ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งมหามกุฎราชกุมาร เมื่อสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 4 เป็นหัวหน้าคณะทูตทหารในงานพระราชสงครามที่ทวีปยุโรป
พระบรมราชโองการแต่งตั้งพระยาพิไชยชาญฤทธิ์เป็นหัวหน้าคณะทูตในครั้งนี้ ถูกมองว่าทรงแต่งตั้งคนที่มีความสนิทสนมกับพระองค์ โดยที่มิได้ทรงพิจารณาจากความสามารถและระดับชั้นอาวุโสในราชการ ซึ่งในหนังสือประวัติพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ ได้แก้ข้อกล่าวหาในเรื่องดังกล่าวไว้ว่า พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ได้ขออาสาเป็นหัวหน้าคณะทูต หลังจากที่ได้รอให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่และพระบรมวงศานุวงศ์อาสาไปราชการสงครามในคราวนี้ แต่ก็ไม่มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่นายใดอาสาเข้าร่วมสงครามในคราวนี้
แต่ข้อมูลอีกด้านปรากฏว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถได้ทรงอาสาสมัครเข้าร่วมในสงครามคราวนี้เช่นกัน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธด้วยทรงให้เหตุผลว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ หลวงพิษณุโลกประชานาถทรงมีหน้าที่อื่นที่จะต้องรับผิดชอบ
ในระหว่างที่พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าทูตทหารอยู่ที่ทวีปยุโรป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาเป็นการส่วนพระองค์ถึงพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ให้มีจดหมายเล่าเรื่องต่างๆ ที่ได้พบเห็นรวมทั้งเหตุการณ์ข่าวสงครามโดยไม่ต้องผ่านสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หรือทางกระทรวงกลาโหม ซึ่งพระราชดำริดังกล่าวนี้ขัดกับ “ข้อบังคับพิเศษแสดงหลักการปกครองทหารไปราชการสงครามนอกพระราชอาเขตร์” ที่กระทรวงกลาโหมได้ตราขึ้นสำหรับกองทหารอาสาอย่างสิ้นเชิง
เพราะในมาตรา 2 เรื่อง “การติดต่อ” ในข้อ 6 ซึ่งมีข้อบังคับให้หัวหน้าทูตทหารหรือตัวพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ติดต่อราชการทหารกับผู้อื่นผู้ใด ยกเว้นแต่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถแต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ประจำการอยู่ในทวีปยุโรปได้มีจดหมายถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการส่วนพระองค์อยู่เสมอ โดยเนื้อหาในจดหมายมักกล่าวถึงสถานการณ์ รวมทั้งนโยบายของบรรดาผู้นำทหารของฝ่ายสัมพันธมิตร…
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร กองทหารอาสาของสยามที่เดินไปร่วมรบในคราวนี้ได้เดินทางกลับมาถึงสยามในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2462 ทางรัฐบาลจัดพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดรถม้าพระที่นั่งเทียม 4 สารถีไปรับพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ที่ท่าราชวรดิษฐ์เพื่อไปส่งที่กระทรวงกลาโหม
นอกจากนี้ ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินตรวจแถวทหารที่เข้าร่วมพระราชสงครามในคราวนี้ ทรงสวมกอดพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ต่อหน้าบรรดาทหาร เสนาบดี และพระบรมวงศานุวงศ์เพื่อเป็นการชมเชยที่พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ได้เดินทางไปร่วมสงครามในคราวนี้
แต่หลังจากพิธีต้อนรับนายทหารที่เดินทางไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ได้กราบบังคมทูลของลาออกจากราชการ เนื่องจากรับรู้ถึงปฏิกิริยาที่นายทหารภายในกองทัพบกด้วยกันต่อต้านตัวพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ เช่น ในงานพระราชพิธีต้อนรับนายทหารที่กลับจากพระราชสงคราม บรรดานายทหารระดับสูงต่างลุกหนีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ในทันที เมื่อพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ได้เดินมานั่งใกล้นายทหารเหล่านั้น
หรือในช่วงที่พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ประจำการอยู่ในยุโรประหว่างสงครามโลก ตัวพระยาพิไชยชาญฤทธิ์มีความรู้สึกว่านายทหารบางนายที่เดินทางไปร่วมสงครามในคราวนี้ มีความกระด้างกระเดื่องต่อพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ โดยมองว่าความประพฤติของนายทหารเหล่านี้ที่มีต่อตน ได้รับการหนุนหลังมาจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ
…ในที่สุดแล้วพระยาพิไชยชาญฤทธิต้องกราบบังคมทูลลาออกจากราชการ อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงระงับการลาออกของพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ โดยทรงให้โอนย้ายพระยาพิไชยชาญฤทธิ์จากกระทรวงกลาโหมไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์แทน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2564