แผนที่เมืองไทย 8 ฉบับเด่นๆ สมัย ร.1-4 ฝรั่งเขียนอะไรไว้ บอกอะไรบ้าง?

ความก้าวหน้าเกี่ยวกับแผนที่ของไทยเกิดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการจัดทำแผนที่สยามฉบับแรกที่สมบูรณ์ที่สุด, การจัดกรมแผนที่เพื่อฝึกหัดคนไทยให้รู้จักประโยชน์ของแผนที่ และการสร้างโรงเรียนแผ่นที่ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ด้วยทรงตะหนักถึงความสำคัญของแผนที่ที่มีมากขึ้นเป็นลำดับ

ทั้งก่อนหน้านั้นก็มีชาวต่างชาติเขียนแผนที่เกี่ยวกับเมืองไทย ในสมัยรัชกาลที่ 1-4 แผนที่เริ่มมีรายละเอียดมากขึ้นตามความก้าวหน้าของวิทยาการ มีแผนที่ฉบับเด่นๆ 8 เล่ม ทั้งหมดจัดทำโดยชาวต่างชาติ แผนที่เหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับเมืองไทยบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ ไกรกฤษ์ นานา เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ “ไขปริศนาประเด็นอำพราง ในประวัติศาสตร์ไทย” (สนพ.มติชน, สิงหาคม 2558) ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่ – กองบก.ออนไลน์]

Advertisement

 

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1-4) แผนที่สยามประเทศ ก็ยังวาดโดยชาวยุโรปแทบทั้งหมด เพื่อประโยชน์ด้านการค้าและการเดินทางเป็นหลัก โดยแผนที่ในช่วงนี้ทั้งสิ้น ก็ยังเป็นแผนที่แบบร่างที่แม้นว่าจะมีรายละเอียดมากขึ้นกว่าในสมัยอยุธยา เช่น มีภูเขา แม่น้ำ ตัวเมือง และจำนวนเกาะแก่งในทะเล แต่ตำแหน่งที่ตั้งก็ยังเป็นแค่การกะประมาณ การสันนิษฐาน และการสมมุติ การขาดข้อมูลเกิดขึ้นเพราะฝรั่งในยุคนั้นยังเป็นนักเดินทางที่ใช้เวลาสำรวจอย่างผิวเผิน ขาดความจริงจัง เนื่องจากไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าแผ่นดินเป็นอุปสรรคใหญ่

แผนที่เมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 1-4 จึงถูกวาดขึ้นแบบประมาณการ ให้มีเนื้อที่ติดต่อกับภูมิประเทศแวดล้อมที่ตั้งอยู่ในละแวกเดียวกันเท่านั้น ยังไม่มีขอบเขตและเส้นแบ่งเขตแดนที่ชัดเจน เพราะยังมิได้ถูกสำรวจพื้นที่อย่างจริงจัง ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ขาดงบประมาณ ขาดการยินยอมของประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ใช่นโยบายหลักของเจ้าเมืองผู้ปกครองประเทศในระยะนั้น

ในจำนวนนี้มีอยู่ 8 ฉบับที่เผยแพร่ในโลกตะวันตกอย่างกว้างขวาง บางฉบับมีการทำสำเนาพิมพ์ซ้ำเพื่อการค้า และตกอยู่ในมือนักสะสมทั้งในอดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะแผนที่เมืองไทยฉบับร่าง 2 ฉบับสมัยรัชกาลที่ 4 พิมพ์อยู่ในหนังสือของบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ และเซอร์จอห์น เบาวิ่ง กลายเป็นที่แพร่หลายและคนรู้จักกันมาก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถูกสำรวจอย่างเป็นทางการ แต่เนื่องจากวาดขึ้นในยุคที่สยามเพิ่งเปิดประเทศ จึงเป็นที่คุ้นตาของพ่อค้าและนักเดินทางที่เข้ามายังสยามในสมัยนั้นต่างก็ได้อ่านหนังสือ 2 เล่มนี้และเชื่อถือกันมาก

แผนที่เมืองไทยฉบับร่างยุครัตนโกสินทร์ที่เด่นๆ มีดังนี้

ฉบับที่ 1 วาดในรัชกาลที่ 1 (เมื่อ พ.ศ. 2328/ค.ศ. 1785)

ชื่อ แผนที่อาณาจักรอารกัน-พะโค-สยาม-กัมพูชา-ลาว (Regi d’ Arcan del Pegu di Siam di Camboge e di Laos) วาดโดย นายอานโตนิโอ ชาตตา ชาวอิตาเลียน นับเป็นแผนที่ฉบับแรกพิมพ์ขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จุดเด่นของแผนที่ให้ความสำคัญกับการแบ่งเขตอาณาจักรของอุษาคเนย์ โดยลากเส้นประแบบคร่าวๆ ด้วยการระบุชื่ออาณาจักร พม่า-สยาม-กัมพูชา และลาว แต่ให้ข้อมูลที่ยังคลุมเครือ เช่น ระบุเมืองกำแพงเพชรว่าเป็นเมืองใหญ่กว่าอยุธยา และไม่มีเมืองเชียงใหม่ มีแต่แม่น้ำเชียงใหม่ เป็นต้น

ฉบับที่ 2 วาดในรัชกาลที่ 1 (เมื่อ พ.ศ. 2340/ค.ศ. 1797)

ชื่อ แผนที่คาบสมุทรอินเดียนอกลุ่มน้ำคงคา (La Penisola delle Indie di la dal Gange) วาดโดย นายจิโอวานนี มาเรีย คาสสินี ชาวอิตาเลียน แผนที่สยามติดกันเป็นพืดกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ระบุเมืองชายแดนอย่างลวกๆ เช่น ทิศเหนือจรดเมืองฝางและตาก ทิศตะวันออกจรดโคราช ทิศตะวันตกจรดเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี ทิศใต้จรดรัฐเกดะห์

ฉบับที่ 3 วาดในรัชกาลที่ 2 (เมื่อ พ.ศ. 2361/ค.ศ. 1818)

ชื่อ แผนที่อินเดียนอกแม่น้ำคงคาและจักรวรรดิพม่า (India di là dal Gange os Sia LImpero Birmanno) วาดโดย นายบาร์โทโลมิว บอร์ก ชาวอิตาเลียน เน้นความสำคัญทางธรณีวิทยาโดยการวาดจุดเด่นเป็นแม่น้ำและเทือกเขาให้สะดุดตา )

ฉบับที่ 4 วาดในรัชกาลที่ 2 (เมื่อ พ.ศ. 2365/ค.ศ. 1822)

ชื่อ แผนที่ตังเกี๋ย-โคชินจีน-สยาม-พม่า (Mappa do Tonquin Cochin china Siam e Birmania) วาดโดย นาย เอ. ซี. เลมอส ชาวโปรตุเกส ไม่มีสัญลักษณ์ใดที่แสดงขอบเขตชายแดนแน่นอน แต่ให้ความสำคัญไปที่จุดเด่นทางธรณีวิทยาคือแม่น้ำและเทือกเขาเช่นกัน

ฉบับที่ 5 วาดในรัชกาลที่ 3 (เมื่อ พ.ศ. 2371/ค.ศ. 1828)

ชื่อ แผนที่อาณาจักรสยามและโคชินจีน (Map of the Kingdoms of Siam and Cochin China) ฉบับของครอว์เฟิร์ด วาดโดย นายจอห์น วอล์คเกอร์ ชาวอังกฤษ เป็นแผนที่ชิ้นแรกที่เปิดประเด็นเรื่องพรมแดนของสยามในฐานะรัฐสมัยใหม่ โดยเริ่มระบุเขตอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจการค้าของอังกฤษจากความเป็นเมืองขึ้นใหม่ของอังกฤษในพม่าและมลายูที่เข้ามาประชิดกับพรมแดนสยาม

ครอว์เฟิร์ดพำนักเจรจาเรื่องการค้าในฐานะผู้แทนข้าหลวงใหญ่อังกฤษจากอินเดีย และแม้ว่าเขาจะไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจา แต่ก็สามารถเก็บข้อมูลมากมายรวมขึ้นเป็นเล่มตีพิมพ์พร้อมด้วยแผนที่ฉบับนี้และแผนผังของกรุงเทพฯ เป็นประโยชน์ต่อนักการทูตสมัยต่อมาคือเฮนรี่ เบอร์นี และเซอร์จอห์น เบาริ่ง

ฉบับที่ 6 วาดในรัชกาลที่ 3 (เมื่อ พ.ศ. 2375/ค.ศ. 1832)

ชื่อ แผนที่พม่า-สยาม-โคชินจีน (Burma, Siam and Cochin China) โดย นายจอห์น แอร์โรวสมิธ ชาวอังกฤษ เป็นแผนที่ฉบับแรกที่พยายามลากเส้นเขตแดนแบบลวกๆ แล้วระบายสีทับเส้นนั้นเพื่อแบ่งเขตอาณาจักรต่างๆ ใน อุษาคเนย์ตามความเชื่อของผู้วาดโดยมิได้สำรวจอย่างถี่ถ้วน แต่ให้เครดิตข้อมูลในแผนที่ฉบับนี้ว่ามาจากจดหมายเหตุของนายครอว์เฟิร์ดเป็นหลัก

ข้อมูลพิสดารในแผนที่ของแอร์โรวสมิธ คือการเขียนรายละเอียดให้ความรู้ แบบแปลกแหวกแนวตามหลังชื่อเมืองบางเมืองที่ตนค้นคว้ามาได้ เช่น เกาะภูเก็ต ก็เขียนเพิ่มเติมว่าบนเกาะนี้เต็มไปด้วยเหมืองแร่ดีบุก

ต่อจากชื่อเมืองจันทบุรก็เขียนว่า “ใกล้เมืองนี้มีเหมืองอัญมณีล้ำค่า” และบนเส้นทางจากตรังมาสู่เมืองนครศรีธรรมราชก็ระบุว่า “เป็นเส้นทางการค้าใหญ่ระหว่างอ่าวเบงกอลกับเมืองหลวงของสยาม” แต่ที่เริ่มแตะประเด็นการเมืองก็คือ เหนือบริเวณอาณาจักรล้านช้าง (ลาว) เขียนว่า “ประกอบด้วยรัฐบรรณาการต่างๆ ที่ขึ้นกับจีน สยาม และพม่า

ฉบับที่ 7 วาดในรัชกาลที่ 4 (เมื่อ พ.ศ. 2397/ค.ศ. 1854)

ชื่อ แผนที่อาณาจักรสยาม (Carte du Royaume de Siam) เดอ ปาลเลอกัวซ์ ชาวฝรั่งเศส แผนที่ฉบับนี้เน้นสภาพทางภูมิศาสตร์และ (เมือง, แม่น้ำ, ภูเขา) ในสยามเท่านั้น แต่ไม่เน้นในประเทศใกล้เคียงเหมือนแผนที่ฉบับอื่นๆ และเนื่องจากท่านเป็นนักบวชมาประจำอยู่ในสยามนานถึง 31 ปี จึงสามารถรวบรวมข้อมูลต่างๆ พร้อมกับแผนที่นี้ประกอบขึ้นเป็นจดหมายเหตุค่อนข้างละเอียดและอ้างอิงที่มาได้ แม้นว่าจะมิได้ลงสำรวจด้วยตนเอง เพราะมิใช่วิชาชีพโดยตรงก็ตาม

ในหน้าแผนที่ฉบับเดียวกันยังพิมพ์แผนผังแผนที่กรุงเทพฯ และลุ่มน้ำเจ้าพระยาปากอ่าวไทยอีก 2 รูปติดอยู่ด้วย

ฉบับที่ 8 วาดในรัชกาลที่ 4 (เมื่อ พ.ศ. 2400/ค.ศ. 1857)

ชื่อ แผนที่สยามและประเทศราช (Map of Siam and Its Dependencies) โดย นายโจเซฟ วิลสัน โลวรี ชาวอังกฤษ เป็นการมองสยามให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคแวดล้อมไปด้วยประเทศราชหรือรัฐบรรณาการตามระบอบจารีตดั้งเดิม ประกอบข้อมูลในหนังสือ 2 เล่มชุด เขียนโดย เซอร์จอห์น เบาวิ่ง ราชทูตอังกฤษ

แผนที่ฉบับนี้ แม้นว่าจะอยู่ในหนังสือที่แพร่หลายอย่างมาก แต่ตัวแผนที่เองกลับมีข้อบกพร่องหลายแห่ง เช่น ตำแหน่งเมืองวาดผิดที่ผิดทาง พื้นที่หลายส่วนแคบหรือผอมกว่าความเป็นจริง และขัดแย้งกับข้อมูลของตัวผู้เขียนที่ต้องการเน้น ประเด็นเรื่องเมืองขึ้นของสยามตอนบนสิ้นสุดแค่เมืองตากและสวรรคโลก เพราะเซอร์จอห์น เบาริ่ง ถือว่าเหนือขึ้นไปจากนั้น รวมทั้งเชียงใหม่เป็นลาวและจัดเป็นเขตประเทศราช การเน้นประวัติดั้งเดิมมากเกินไปก็ทำให้ขอบเขตของสยามผิดรูปผิดร่างไปจากความเป็นจริงอย่างน่าเสียดาย

อาจกล่าวได้ว่า แผนที่แผนทางสมัยต้นรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1-4 ยังตกอยู่ในมือและความเข้าใจของชาวยุโรปเท่านั้น มิได้เกิดจากการจัดการโดยเจ้าของบ้านหรือชาวสยามเอง เป็นข้อมูลที่กะประมาณกันขึ้นมาเอง ยังมิได้ถูกรังวัดจริงจังจึงไม่มีพิกัดทางภูมิศาสตร์ และโน้มเอียงไปทางเพ้อฝัน คาดเดาจากแผนที่ฉบับเก่าก่อนที่ยังมีสภาพเหมือนภาพลวงตา และคัดลอกต่อๆ กันลงมา

ชาวสยามเองในช่วงรัตนโกสินทร์ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นในการทำแผนที่ เพราะพลเมืองมีความรู้น้อย หูตาคับแคบและไม่กว้างขวางเหมือนฝรั่ง ทั้งยังเชื่อถือคำอธิบายเกี่ยวกับโลกตามแบบไตรภูมิ ตลอดจนเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2564