ที่มา | จดหมายถึงบรรณาธิการ: ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2542 |
---|---|
เผยแพร่ |
ในช่วงที่ผ่านมา มีเรื่องราวที่ทำความเสื่อมเสียให้แก่วงการของพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง ทางฝ่ายผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ว่ามหาเถรสมาคม หรือกรมการศาสนา ต่างก็แก้ไขกันไปตามเหตุการณ์ สื่อมวลชนก็ช่วยกันออกแรงแข็งขัน แต่เหตุการณ์ที่ไม่ค่อยดีค่อยงามก็ยังปรากฏขึ้นอยู่เรื่อยๆ ทำให้สงสัยว่าคงจะแก้ไม่ถูกจุด จึงน่าจะลองใช้วิธีการที่คนแต่ก่อนเคยใช้ได้ผลมาแล้ว
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” ฉบับองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ. ๒๕๐๔ เล่ม ๘ หน้า ๑๗ กล่าวถึงพระเจ้าธรรมเจดีย์กษัตริย์พม่า (พ.ศ. ๒๐๑๕-๒๐๓๕) ว่า
“รับสั่งให้ราชบุรุษไปบอกภิกษุซึ่งเคยสะสมทรัพย์สมบัติ คือ เงินทองช้างม้าและทาสกรรมกรเป็นต้นมาแต่ก่อน ขอให้เลือกเอาอย่างหนึ่ง คือสละทรัพย์สมบัติทั้งปวงเสีย แล้วบวชแปลงประพฤติตามพระพุทธบัญญัติต่อไป หรือมิฉะนั้นถ้ายังอาลัยในทรัพย์สมบัติไม่ทิ้งได้ ก็ให้สึกออกไปเป็นคฤหัสถ์ครองทรัพย์สมบัตินั้นต่อไป…พระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงเริ่มจัดการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๑๙ จัดอยู่ ๓ ปีจึงสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๒”
พระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงจับสาเหตุถูกเพราะถ้าปล่อยให้พระภิกษุมีเงินแล้วความชั่วร้ายทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าใครเมื่อมีเงินแล้วย่อมมีอิทธิพล ต้องการทำอะไรก็ได้ อยากได้อะไรก็ใช้เงินซื้อเอา คนที่ต้องการประจบประแจงเพื่อเอาผลประโยชน์จากเจ้าของเงินก็มีมาก พระที่มีเงินมาก จึงเป็นที่หมายปองของผู้หญิงที่อยากสึกพระไปเป็นสามี ถ้าหักห้ามใจไม่ไหว ลาสึกออกไปเป็นเจ้าบ่าวก็ค่อยยังชั่ว แต่บางรายอยากได้ทั้งสองอย่าง พระก็จะเป็น ผัวก็จะเป็น ก็เลยเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมาอย่างที่รู้ๆ กันอยู่
หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วเสด็จไปสอนพระปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรกด้วยหัวข้อธรรมชื่อ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เบื้องแรกทรงกล่าวถึง “ทางสุดโต่ง ๒ อย่างที่บรรพชิตไม่ควรเสพ” แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอริยสัจ ๔ แต่เมื่อมาดูการกระทำของพระภิกษุส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้มักจะข้ามเรื่อง “ทางสุดโต่งฯ” ไปเสีย ชาวพุทธส่วนมากก็ไม่เข้าใจพระพุทธประสงค์ พากันประเคนเงินทอง สิ่งของเครื่องอำนวยความสุดแบบชาวโลกให้แก่พระ ชาติหน้าก็จะมีเครื่องอุปโภคบริโภคแบบเดียวกันนั้นบริบูรณ์ พระก็เลยมีทุกอย่างที่ผู้ครองเรือนเขามีกัน พระสมัยนี้จึงมีรถเก๋ง บ้าน ที่ดิน ถึงตนไม่ใช้เองก็ซื้อให้ญาติพี่น้อง อยากให้ลองมีการทำวิจัยกันว่า เงินทองที่พระรับจากประชาชนไปนั้นตกไปอยู่ในมือใครบ้าง มูลค่าของสิ่งที่พระแจกจ่ายให้แก่ญาติพี่น้อง (บางรายอาจไม่ใช่ญาติพี่น้องด้วยซ้ำไป) คงจะมากมายมหาศาลจนขนลุกทีเดียว) ไม่เชื่อก็ลองทำกันดู
ทางสุดโต่ง ๒ อย่างได้แก่
๑. กามสุขัลลิกานุโยค-การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุข
๒. อัตตกิลมถานุโยค-การทรมานตนให้ลำบาก (หมายถึงการบำเพ็ญตบะ) อดข้าวอดน้ำอย่างที่พวกโยคีในอินเดียชอบทำแม้กระทั่งปัจจุบัน)
ข้อ ๒ นั้นไม่ต้องอธิบายก็ได้ เพราะพระสมัยนี้ไม่นิยมทำกันอยู่แล้ว แต่ ข้อ ๑. นั่นสิ ทำกันจนเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว ถ้ามีใครทักท้วงว่าพระทำตัวหมกมุ่นในกามสุข (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ทำความเพลิดเพลินให้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่า กามคุณ ๕) ก็จะอ้างว่าไม่มีศีลข้อใดห้ามไว้ พูดแบบนี้เป็นการตีความให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ทำไมไม่ลองคิดดูบ้างว่า พระคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏมีขนาดเล็กเพียงไรเมื่อเทียบกับกุฏิของพระสมัยนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนพระวักกลิว่า
“…ดูกรวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม…”
ผมแปลความหมายประโยคหลังว่า ทรงแนะนำให้ดูพระองค์เป็นตัวอย่าง ก็ในเมื่อพระองค์ประทับอยู่ในพระคันธกุฎีหลังเล็กๆ แคบๆ แล้วไฉนไม่ทำตามพระองค์ สิ่งของที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้พระภิกษุเป็นเจ้าของได้ก็เพียงอัฐบริขาร แต่เวลานี้พระมีสมบัติมากมาย หรือจะอ้างว่าเป็นสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ไม่ทำตามก็ได้ เพราะมีพุทธานุญาตไว้ แต่คำว่า “สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ” นั้นก็ไม่ใคร่ทราบว่าได้แก่อะไรบ้าง แล้วก็ยังทำไปทั้งๆ ที่ไม่รู้ ถ้าไม่เรียกว่า “เลี่ยงสิกขาบาลี” ผมก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว
ฟังพระเทศน์มามากแล้ว วันนี้ขอเทศน์ให้พระฟังสักครั้ง จะบุญหรือบาปก็ตามที เหลืออดเหลือทนแล้วจริงๆ
เอื้อ มณีรัตน์
อ.เมือง จ.พะเยา
ตอบ
สาธุ สาธุ สาธุ
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2560