ขงเบ้ง “จับแล้วปล่อยเบ้งเฮ็ก 7 ครั้ง” เรื่องแต่งหรือเรื่องจริงในประวัติศาสตร์?

“7 จับ 7 ปล่อยเบ้งเฮ็ก” ภาพประดับตรุษจีนสมัยราชวงศ์ชิง (ภาพจาก 101 คำถามสามก๊ก)

ใครๆ ก็รู้ว่าวรรณกรรมจีนที่เป็นที่แพร่หลายอย่าง “สามก๊ก” นั้น เนื้อเรื่องผสมกันระหว่างข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์กับเนื้อเรื่องชูรสเพื่อความบันเทิง แบบที่เรียกว่า “จริงเจ็ด เท็จสาม” บางช่วงบางตอนก็ไม่ใช่เรื่องจริง เช่น การสาบาน 3 พี่น้อง เล่าปี่, กวนอู และเตียวหุยในสวน ที่ต้องการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของจ๊กก๊ก, จิวยี่กระอักเลือดตาย ที่ย้ำถึงสติปัญญาของยอดกุนซืออย่างขงเบ้ง ฯลฯ

แล้วเรื่องที่ “ขงเบ้งจับแล้วปล่อยเบ้งเอ็ก 7 ครั้ง” จริงเท็จประการใด เป็นอย่างไร

หลี่ฉวนจวินและคณะเขียนอธิบายเบื้องลึกของเหตุการณ์นี้ไว้ โดยมี ถาวร สิกขโกศล แปลเป็นภาษาไทยชื่อ “101 คำถามสามก๊ก” (สนพ.มติชน 2556) ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]


 

“7 จับ 7 ปล่อยเบ้งเฮ็ก” เป็นเหตุการณ์สำคัญตอนหนึ่งในนิยายสามก๊กที่แสดงถึงความเมตตาและปรีชาในการศึกราวเทพยดาของขงเบ้ง ในหมู่ชาวบ้านก็มีตำนานที่ติดปากผู้คนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่มาก แต่ทว่า เรื่อง “7 จับ 7 ปล่อย” นี้ ในพงศาวดารสามก๊กจี้ ภาคจ๊กก๊ก บทประวัติขงเบ้ง ฎีกายาตราทัพของขงเบ้ง และประวัติลิคี (หลี่ฮุย) นายทหารจ๊กก๊ก ผู้ร่วมนำทัพไปปราบเบ้งเฮ็กล้วนมิได้กล่าวถึง

เฉินโซวผู้เขียนพงศาวดารสามก๊กจี้เป็นอาลักษณ์ของจ๊กก๊ก โดยตำแหน่งหน้าที่แล้ว เรื่องสำคัญของเล่าปี่และขงเบ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานและจริยาอันประเสริฐติดปากคนทั้งหลายเช่นนี้ เขาย่อมต้องเคยได้ยินได้ฟังหรือบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของตน แต่ในพงศาวดารสามก๊กจี่ของเขากลับไม่มีเรื่องจับเบ้งเอ็กเจ็ดครั้งอยู่เลย จึงกล่าวได้แต่เพียงว่าเขาไม่ทราบเรื่องนี้ หรือเคยทราบแต่ไม่ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์

เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องจับเบ้งเฮ็กเจ็ดครั้งไว้เป็นครั้งแรกคือ “หัวหยางกั๋วจื้อ (บันทึกแคว้นหัวหยาง)” บรรพหนันจงจื้อ และ “ฮั่นจิ้นชุนชิว (พงศาวดารราชวงศ์ฮั่น-จิ้น)” ซึ่งถูกอ้างอิงมาอธิบายเสริมประวัติขงเบ้งในพงศาวดารสามก๊กจี่ ข้อความที่ยกมาจากฮั่นจิ้นชุนชิวมีว่า

“ขงเบ้งไปถึงกลางภาคใต้ (ยูนนาน) รบถึงไหนชนะถึงนั่น เขาได้ยินว่าเบ้งเฮ็กเป็นที่ยำเกรงของทั้งอนารยชนและคนจีน จึงประกาศให้จับเป็น เมื่อได้ตัวมาก็ให้บังเอ็กดูกระบวนค่าย ถามว่า ทัพนี้เป็นอย่างไร?’

เบ้งเฮกตอบว่า ‘เมื่อก่อนไม่รู้ตื้นลึกหนาบางจึงพ่าย บัดนี้ได้รับความกรุณาให้ดูการตั้งค่าย หากมีเพียงแค่นี้ สามารถเอาชนะได้แน่นอน’

ขงเบ้งหัวเราะ ปล่อยเบ้งเอ็กให้รบอีก ปล่อยจับถึงเจ็ดครั้ง สุดท้ายจะให้อิสระ เบ้งเฮ็กไม่ยอมจากไป กล่าวว่า ‘ท่านคือเดชานุภาพจากสวรรค์ พวกเราชาวใต้จะไม่ต่อต้านอีก’ ”

แต่พงศาวดารหัวหยางกั๋วจื้อและฮั่นจิ้นชุนชิวเป็นวรรณกรรมยุคราชวงศ์จิ้นตะวันออกหรือยุคหลังจากนั้น หลังยุคของเฉินโซวมาอีกนาน ไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วเรื่องนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่นักประวัติศาสตร์ยุคหลังค้นพบแล้วเอามาเสริมเติมข้อบกพร่องของพงศาวดารสามก๊ก หรือเพียงอาศัยคำเล่าขานแล้วเข้าใจผิด บันทึกเรื่อง “จับ-ปล่อยเบ้งเฮกเจ็ดครั้ง” เป็นประวัติศาสตร์

มีนักประวัติศาสตร์ยุคหลังหลายคนเชื่อว่าเรื่องจับเบ้งเฮ็ก 7 ครั้งนี้เป็นเรื่องจริง เช่น พงศาวดารจือจื้อทงเจี้ยนบันทึกไว้ว่า เบ้งเฮ็กถูก “จับ-ปล่อย 7 ครั้งแล้วขงเบ้งให้อิสระ เบ้งเฮ็กไม่ยอมจากไป กล่าวว่า ท่านมีเดชดั่งเทวดา ชาวใต้จะไม่ต่อต้านอีกแล้ว” ประจักษ์ชัดว่าซือหม่ากวง (ผู้แต่งพงศาวดารจือจื้อทงเจี้ยน) ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นคนรอบครอบตลอดมาก็ยอมรับว่าเรื่อง “จับ-ปล่อยเบ้งเฮ็กเจ็ดครั้ง” เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์

หวงเฉิงจงนักวิชาการยุคปัจจุบันเคยอ้างอิงหนังสือ “เตียนหยวนจี้เลวี่ย (บันทึกสังเขปเรื่องยูนาน)” มายืนยันว่า สถานที่ที่ขงเบ้งจับและปล่อยเบ้งเฮ็กแต่ละครั้งอยู่ที่ไหนบ้าง เป็นการยอมรับอย่างชัดเจนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง แต่ทว่าหนังสือ “เตียนหยวนจี้เลี่ย” นี้ เฝิงสือเข่อแต่งในยุคราชวงศ์หมิง การใช้หลักฐานยุคหลังวินิจฉัยประวัติศาสตร์เก่าขึ้นไปถึงพันกว่าปี ไม่ค่อยสอดคล้องกับวิธีการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์โดยทั่วไป ความน่าเชื่อถือจึงลดลงไปมาก

ขงเบ้งปราบยูนนานใช้วิธีอ่อนโยนผูกพันปกครองชนชาติส่วนน้อย สร้างความสงบแก่แนวหลังของจ๊กก๊กเป็นเรื่องจริงมีบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ ทั้งวุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊กล้วนมีปัญหาชนชาติส่วนน้อย แต่จ๊กก๊กซึ่งอยู่ทางภาคหรดีของจีนนั้น ปัญหาชนชาติส่วนน้อยเกี่ยวข้องถึงความอยู่รอดและล่มจมของรัฐ

อีกทั้งเล่าปี่มิใช่คนพื้นถิ่นเสฉวน รากฐานที่จะปกครองเอ๊กจิ๋ว (เสฉวน) ยังไม่ค่อยดี ในช่วงนั้นการสร้างความมั่นคงเรื่องชนชาติส่วนน้อยในก๊กของตนจึงเป็นงานสำคัญยิ่งเรื่องหนึ่ง ดังนั้นเรื่อง “จับ-ปล่อยเบ้งเฮ็ก 7 ครั้ง” แม้ไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริง แต่ก็สอดคล้องกับความจริงเชิงตรรกะแห่งพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของจ๊กก๊ก

ตำนานและบันทึกเรื่อง “จับ-ปล่อยเบ้งเฮ็กเจ็ดครั้ง” ในยุคหลังคงจะเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ การเติมสีสันเรื่องนี้ในนิยายสามก๊กก็เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ แต่นิยายเขียนให้ตื่นเต้นก็เพื่อดึงดูดผู้อ่าน การเอาเรื่องนี้ตั้งประเด็นสอบค้นว่า “การจับ-ปล่อยเบ้งเฮ็กถึง 7 ครั้ง” มีจริงหรือไม่เป็นเพียงการขึ้นต้นไม้หาปลาเท่านั้น


เผยแพร่ข้อมูลครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 1 กุภาพันธ์ 2564