แรกมีรถไฟไปมณฑลพายัพ ลดเวลาเดินทาง-ค่าขนส่ง ฯลฯ แต่ปชช.จนเหมือนเดิม?

รถไฟ ยุคแรก
รถไฟยุคแรก (ภาพจาก "กรุงเทพฯในอดีต")

แรกมี “รถไฟ” ไป “มณฑลพายัพ” ลดเวลาเดินทาง-ค่าขนส่ง ฯลฯ แต่ประชาชนจนเหมือนเดิม?

การคมนาคมแต่เดิมของไทยอาศัยแม่น้ำลำคลองเป็นหลัก ซึ่งจะเกิดความสะดวก หรือเป็นอุปสรรค ก็ขึ้นอยู่กับเส้นทางของลำน้ำนั้น ในส่วนพื้นภาคเหนือหรือล้านนาในอดีต พื้นที่ล้านนาตะวันออก และล้านนาตะวันตก ใช้แม่น้ำคนละสายในการขนส่ง จึงไม่สะดวกในการติดต่อถึงกัน จนเมื่อเกิดเส้นทางรถไฟที่ผ่านทั้งแพร่, ลำปาง, ลำพูน และเชียงใหม่ พื้นที่ดังกล่าวจึงเชื่อมเข้าด้วยกัน ส่งผลให้เกิดการผลิตและนำผลผลิตส่วนเกินมาแลกเปลี่ยนในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น

ก่อนหน้าที่ “รถไฟ” จะไปถึงเมืองเชียงใหม่ ผู้ที่มีบทบาททางการค้าคือพ่อค้าฮ่อจากยูนนานและพ่อค้าไทใหญ่จากรัฐฉาน โดยใช้การบรรทุกสินค้าบนหลังสัตว์พาหนะ จนรถไฟวางรางมาจนถึงเมืองในล้านนา ช่วงทศวรรษ 2450-2460 ในช่วงเวลานี้รัฐบาลสยามมีนโยบายขยายเส้นทางคมนาคม จึงจัดตั้งกระทรวงคมนาคมขึ้น และโอนงานสร้างถนนจากกระทรวงมหาดไทยมาที่กระทรวงใหม่นี้แทน ในส่วนมณฑลภาคพายัพ นอกจากเส้นทางรถไฟแล้ว ได้มีการพัฒนาถนนจำนวนมาก เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟในทุกเมือง

เมื่อรถไฟสายเหนือตัดมาถึงเมืองอุตรดิตถ์และเมืองแพร่ ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงหัวเมืองอื่นๆ ใน มณฑลพายัพ ก็ลดลง เช่น ไปเมืองลําปางเดิมใช้เวลาประมาณ 37 วัน เหลือเพียง 7 วัน, เมืองเชียงใหม่จากเดิม 42 วันเหลือเพียง 12 วัน ฯลฯ

กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งเดินทางไปตรวจราชการที่เมืองเชียงใหม่ก่อนหน้าที่รถไฟจะมาถึง ทรงรายงานว่า สินค้าที่มาจากเมืองมะละแหม่งบางชนิดมีราคาถูกกว่าสินค้าที่มาจากกรุงเทพฯ เพราะไม่ต้องเสียภาษีและค่าขนส่ง เพราะค่าจ้างบรรทุกต่าง [วัวต่าง, ม้าต่าง] จากเมืองมะละแหม่งถึงเมืองเชียงใหม่ หาบละ 7 บาท ในขณะที่สินค้าที่มาทางเรือจากกรุงเทพฯ ตกหาบละ 10 บาท

แต่พระองค์ทรงคาดการณ์ว่า เมื่อทางรถไฟมาถึง มณฑลพายัพ สินค้าอุปโภคและบริโภคจากกรุงเทพฯ จะราคาถูกลง เนื่องจากรถไฟเที่ยวหนึ่งสามารถบรรทุกสินค้าได้ราว 300 ตัน ในขณะที่เกวียนเล่มหนึ่งบรรทุกได้เพียงครึ่งตัน และค่าขนส่งด้วยรถไฟมีราคาเพียง ตันละ 26.50 บาท ขณะที่ค่าขนส่งทางเรือโดยเฉลี่ยตันละ 170

เมื่อทางรถไฟไปถึงเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2464 นอกจากลดเวลาในการเดินทางแล้ว ยังช่วยให้การคมนาคมขนส่งสินค้าแพร่หลายยิ่งขึ้น ทั้งมีผลทางการปกครองและเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ และมณฑลภาคพายัพให้มากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจในมณฑลพายัพ ที่เป็นผลมาจากการปรับปรุงการคมนาคมทางบกและการขยายทางรถไฟ เช่น เมืองลำปาง ราษฎรที่เคยประสบปัญหาการอดข้าว เนื่องจากผลผลิตมีไม่เพียงพอบริโภค ต้องซื้อข้าวจากเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน และเมืองพะเยา มาบริโภคแทบทุกปี แต่เมื่อรถไฟไปถึง ทำให้ข้าวมีเพียงพอต่อความต้องการ เพราะการขนส่งที่สะดวกขึ้น แม้ว่าจะมีการส่งข้าวออกขาย แต่ราคาข้าวในเมืองลำปางมิได้ปรับเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ข้าวเหนียวที่คนล้านนาใช้บริโภคในครัวเรือน เป็นที่ต้องการของคนทางใต้ด้วย เนื่องจากมีผู้ซื้อไปต้มเหล้า โดยข้าวเหนียวจากสถานีเด่นชัยถูกส่งไปขายที่เมืองพิษณุโลก หลังจากทางรถไฟตัดผ่านเมืองแพร่ใน พ.ศ. 2452 มีรายงานว่าข้าวเหนียวถูกส่งขายลงทางใต้ โดยบางปีราษฎรขายข้าวเหนียวจนไม่เหลือพอสำหรับการบริโภค

เมื่อ “รถไฟ” ไปถึงเมืองลำปาง ทำให้เมืองกลายเป็นศูนย์รวมการรับส่งสินค้า โดยปีแรกที่รถไฟเปิดเดินรถได้ถึงเมืองลำปาง มีตัวเลขการขนส่งสินค้าของสถานีลำปางว่า มีจำนวนสินค้าส่งออก 1,463 ตัน และนำเข้า 12,899 ตัน ปัญหาที่ตามมาคือการหาสินค้าเพื่อบรรทุกลงมาขาย เนื่องจากขาลงรถไฟแทบจะตีรถเปล่ากลับมาซึ่งไม่คุ้มทุน เพราะสินค้าของเมืองลำปางเดิมมีเพียงครั่งและงาช้าง

ดังนั้นรัฐบาลจึงเร่งส่งเสริมให้ราษฎรเพาะปลูกเพื่อการค้า โดยแต่งตั้งเกษตรมณฑลขึ้นใน พ.ศ. 2458 เพื่อสนับสนุนให้ราษฎรทำการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตมากยิ่งขึ้น เช่น ในเมืองงาวที่มีดินอุดมสมบูรณ์และเส้นคมนาคมขนส่งสะดวก การปลูกข้าว ฝ้ายและยาสูบได้ผลดี รัฐบาลจึงสนับสนุนให้คนจากเมืองอื่นๆ อพยพไปอยู่มากขึ้น, เมืองเชียงใหม่และเมืองลำปางมีการส่งเสริมให้ราษฎรปลูกข้าวเจ้าเพื่อส่งขายกรุงเทพฯ ในเมืองแพร่ มีการขุดเหมืองเปิดที่นาและซ่อมแซมฝายจำนวนมาก

นอกจากนี้ เมื่อรถไฟที่มาถึงจังหวัดเชียงใหม่ มีโรงสีข้าวเปิดขึ้น 2 โรง เพื่อลดต้นทุนการขนส่งข้าว โดยข้าวเปลือกที่ถูกขัดสีเป็นข้าวสารแล้วจะมีปริมาณลดลง 36% ทำให้ลดระวางในการขนส่ง ปีถัดมามีรายงานว่า จังหวัดเชียงใหม่ส่งออกข้าวโดยทางรถไฟจำนวน 40,000 ตัน การคมนาคมที่สะดวกขึ้นทำให้ราคาข้าวตามเมืองต่างๆ มีความใกล้เคียงกันมากขึ้น แสดงถึงการคมนาคมขนส่งข้าวไปยังพื้นที่ต่างๆ สะดวกขึ้น และช่วยบรรเทาปัญหาความอดอยาก ราษฎรไม่ต้องเสียเวลาออกนอกพื้นที่เพื่อไปหาข้าวจากที่อื่นมาบริโภค ทำให้การประกอบอาชีพทำได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นอกจากส่งเสริมการปลูกข้าวเพื่อบรรทุกรถไฟลงมาขายที่กรุงเทพฯ แล้ว รัฐบาลยังส่งเสริมอาชีพและการปลูกพืชประเภทอื่นๆ เช่น ในเมืองน่าน เกษตรมณฑลออกตรวจราชการพบว่าพื้นที่ปลูกข้าวได้น้อยและเป็นเนินเขามากกว่า จึงแนะนำให้ปลูกพืชบางชนิดทดแทน เช่น เผือก มัน ข้าวโพด ข้าวฟ่าง กาแฟ ส้ม ฯลฯ และการเลี้ยงตัวไหมสำหรับการทอผ้าไหม

สินค้าที่ขนส่งโดยทางรถไฟยังอีกอย่างคือ ไม้ซุง จากเดิมที่ส่งไม้ซุงลงมากรุงเทพฯ โดยล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทำได้เฉพาะในฤดูน้ำหลากเท่านั้น นอกจากนี้ป่าบางพื้นที่ไม่มีเส้นทางน้ำ เช่น เมืองพะเยา, เมืองฝาง ฯลฯ รถไฟก็ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงการเปิดโรงทอผ้าของเจ้านายทางเหนือ, กิจการโรงน้ำแข็งของเอกชน ฯลฯ ที่ใช้รถไฟในการขนส่งเครื่องจักรขึ้นไปล้านนา จะเห็นได้ว่ารถไฟเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญในหลากหลายกิจการ

มองดูแล้วประชาชนในพื้นที่ก็น่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น

แต่รายงานของ พระยาจงรักษ์นรสีห์ จากการตรวจราชการมณฑลพายัพ พ.ศ. 2464 กลับกล่าวว่า “…การหาเลี้ยงชีพ…ไม่ได้คิดขยับขยายกว้างขวางออกไปเลย คงมีอาชีพเมื่อ 20 ปีเศษ อย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น เพราะพลเมืองไม่รู้จักค่าของเงิน และไม่รู้จักวิธีการค้าขาย ความเจริญของการค้าขายใหญ่โตตกอยู่กับคนต่างชาติทั้งนั้น…”

สุดท้ายไม่ว่าสมัยไหน นายทุนใหญ่ ก็ผูกขาดเหมือนเดิม จบข่าว

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ผศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. เปิดแผนยึดล้านนา, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2564