อนุสรณ์งานศพคณะ “เก๊กเหม็ง” สยาม ร.ศ. 130 อิฐก้อนแรกประชาธิปไตยไทย

คณะ ร.ศ. 130 ในงานศพ 17 วีรชนปรากกบฏบวรเดชที่ท้องสนามหลวง กุมภาพันธ์ 2476 (แถวหน้าจากซ้าย) ร.ต. จรูญ ษตะเมษ ร.ต. โกย วรรณกุล ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์ ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ร.ต. จรูญ ณ บางช้าง ร.ต. สอน วงษ์โต ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ (แถวหลังจากซ้าย) ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ร.ท. จือ ควกุล ร.ต. บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ ร.ต. เขียน อุทัยกุล ร.ต. ศิริ ชุณห์ประไพ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา

การเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยของไทย “คณะบุคคล” 2 คณะ หนึ่งคือคณะราษฎร 2475 ที่ดำเนินการจนเกิดผลสำเร็จ หนึ่งคือคณะ ร.ศ. 130 ที่แม้ดำเนินการไม่สำเร็จ แต่ก็ลืมไม่ได้ ด้วยเป็น “อิฐก้อนแรก” ในการเรียกร้องประชาธิปไตย

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมิถุนายน 2560 นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ค้นคว้าเอกสารเก่าหลายสิบรายการ ก่อนจะเรียบเรียงเป็นบทความชื่อ “อนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร”

Advertisement

วันนี้เมื่อนริศทำงานต่อเนื่อง จึงชวนท่านอ่านต่อให้ครบรส ครบถ้วน  ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กับบทความที่ชื่อว่า “อนุสรณ์งานศพ คณะ ‘เก๊กเหม็ง’ สยาม ร.ศ. 130”

ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์ หลังได้ยศคืน พ.ศ. 2476

เริ่มกันจากชื่อ คณะ “เก๊กเหม็ง” (บ้างเขียนเก็กเหม็ง) คำนี้เป็นภาษาจีนออกเสียงอย่างจีนแต้จิ๋ว ที่หมายถึง “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ด้วยปี ร.ศ. 130 หรือ พ.ศ. 2454 นั้น ขณะที่ไทยเกิดคณะ ร.ศ. 130 ที่จีนก็มีคณะถงเหมินฮุ่ย และการปฏิวัติซินไฮ่, หัวหน้าคณะทั้งสองคือ ดร. ซุนยัตเซ็น และ ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) เป็น “หมอ” เหมือนกัน, และที่สำคัญคือมีอุดมการณ์ “ประชาธิปไตย” แบบเดียวกัน

แต่ที่ต่างกันคือ คณะ ร.ศ. 130 ไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการ

ความพยายามของพวกเขาล้มเหลวอย่างรวดเร็ว หลังจากมีการประชุมครั้งแรก บันทึกจากเอกสารของราชการในเรื่องนี้ สรุปได้ว่า มีการจัดตั้งสมาคม “อานาคิช” (Anachist) มีสมาชิกราว 800-1,000 คน การดำเนินการจับกุมเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2454 (ปฏิทินเก่า) [หากสมาชิก ร.ศ. 130 ระบุว่าเป็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์]

การตัดสินลงโทษครั้งนั้น ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต 3 คน, จำคุก 20 ปี 20 คน แต่หลังจากนั้นอีก 4 เดือนมีการจำคุกเพิ่มอีก 2 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 25 คน แต่หลังจากมีการลดหย่อนโทษ 2 ครั้ง ระยะเวลาที่พวกเขาต้องจำคุกจริง คือ 12 ปี 6 เดือน 6 วัน พวกเขาทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในวันที่ครบรอบการครองราชย์ 15 ปี ของรัชกาลที่ 6 (11 พฤศจิกายน 2467) หากก่อนหน้านั้นสมาชิก 2 คน เสียชีวิตไปก่อน ( ร.ต. วาศ วาสนา พ.ศ. 2458, ร.ต. หม่อมราชวงศ์ แช่ รัชนิกร พ.ศ. 2460)

ภาพหมู่คณะ ร.ศ. 130 ในคุก (แถวนั่งจากซ้าย) ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ร.ต. บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ ร.ต. จรูญ ษตะเมษ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ว่าที่ ร.ต. ศิริ ชุณห์ประไพ (แถวยืนจากซ้าย) ร.ต. จันทร์ ปานสีดำ ว่าที่ ร.ต. โกย วรรณกุล ร.ต. เจือ ศิลาอาสน์ ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ว่าที่ ร.ต. ทวน เธียรพิทักษ์ ร.ต. สอน วงษ์โต

ระหว่างถูกจองจำ สมาชิก ร.ศ. 130 ทำงานเขียนไปด้วย  ต้นฉบับส่งมาตีพิมพ์ใน จีนโนสยามวารศัพท์รายวัน และผดุงวิทยารายเดือนของนายเซียวฮุดเสง โดยได้สนับสนุนเงินประจำเป็นจำนวน 80 บาทต่อเดือนร่วมทั้งคณะ 23 คน และหนังสือพิมพ์อื่นๆ เช่นหนังสือพิมพ์ไทยของราชสำนัก หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ของตระกูลวสุวัต หนังสือพิมพ์ยามาโต ของชาวญี่ปุ่น ฯลฯ

หลายคนมีผลงานโด่ดเด่น จนผู้อ่านคนสำคัญไม่ว่าจะเป็น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ดอกไม้สด ฯลฯ ชื่นชมในผลงาน ตัวอย่างเช่น

“ศรียาตรา” นามปากกาของ ร.ต. โกย วรรณกุล  ผลงานแปลของเขา เรื่องพระนางโยเซฟิน เป็นที่พอพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงขนาด “ทรงถามถึง” เดือดร้อนถึงพระสันทัดอักษรบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยในขณะนั้น ต้องหาอุบายเลี่ยงตอบ เนื่องด้วยผู้เขียนยังเป็นนักโทษการเมืองร้ายแรง, นักเขียนอาวุโสอย่าง “ดอกไม้สด” (หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์) ก็ยังกล่าวชื่นชมไว้ว่า “ศรียาตราเป็นนามปากกาชั้นครู! ข้าพเจ้ายืนยันดังนี้”

“บ.กากะบาด” นามปากกาของ ร.ต. บ๋วย บุณยรัตพันธุ์  เจ้าของผลงานเรื่องมหาเถรทอง, ขุนวรวงษา ฯลฯ งานเขียนของเขาดี จนสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงขอดูตัว หนังสืองานศพพาดหัวว่า “บ๋วยบูชิต” นอกเหนือจากคำไว้อาลัยจากเพื่อนตายร่วมคณะ ยังคัดสรรบทความที่เคยตีพิมพ์ไว้มารวมเล่ม เช่น เสรีภาพของช่างภาพหนังสือพิมพ์สมัยราชาธิปไตย (2493)ในฐานะช่างภาพคนแรกของหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ได้มีโอกาสติดตามถ่ายภาพในพระราชพิธีต่างๆ โดยใกล้ชิดเสมอมามิได้ขาดฯลฯ

เมื่อพ้นโทษ คณะ ร.ศ. 130 หลายคนก็เริ่มทำงานด้านสื่อมวลชน และงานด้านวรรณกรรม (ที่หลายคนทำตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ) แน่นอนว่ามีเรื่องเกี่ยวกับ เหตุการณ์ ร.ศ. 130 ด้วย  เช่น “ชีวิตนักการเมือง และ วิบากของคณะ ร.ศ. 130”  ที่จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ต. ปลั่ง ปูรณโชติ สมาชิกคนแรกที่เสียชีวิตในปี 2477

นอกจากนี้ยังมี 2 บุคคลสำคัญอย่าง ปรีดี พนมยงค์  และพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ สนับสนุนให้ สมาชิกคณะ ร.ศ. 130 จัดทำหนังสือเพื่อบอกเล่าเรื่องราวแก่สังคม

ซึ่ง ร.อ. เหล็ง หรือ หมอเหล็ง  หัวหน้าผู้ก่อการ เห็นด้วยและยืนยันที่จะจัดทำ เขาได้นำความมาเล่าสู่คณะฟังและตั้งใจจะเขียนหากแต่เวลาไม่อำนวย จนกระทั่งสิ้นบุญ  ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ได้รับเรื่องต่อและเรียบเรียงจบบริบูรณ์ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2502 ครบรอบ ๓๕ ปีแห่งวันได้รับอิสรภาพพอดี โดยให้ชื่อว่า “ประวัติปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ. 130”

รวบรวมเพื่อพิมพ์ขึ้นหลังจากหมอเหล็ง หัวหน้าเสียชีวิตไปประมาณ 4 เดือนเท่านั้น  ได้ สด กูรมะโรหิต เป็นผู้ตรวจแก้และเขียนคำนำ ซึ่งตอนหนึ่งเขาเขียนไว้ว่ “ดีกว่าเรื่องราวที่บางคนเคยเขียนไว้บ้างแล้ว ซึ่งมิใช่สมาชิกในคณะ ร.ศ. 130 โดยตรง ย่อมอาจจะผิดพลาดขาดเกินหรือคล้ายเป็นนวนิยายไปก็ได้”

เมื่อ “ประวัติปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ. 130” จัดพิมพ์ครั้งแรกเพื่อเป็นอนุสรณ์งานศพ ร.อ. เหล็ง  ศรีจันทร์ (พ.ศ. 2503) จึงเรียกกันว่า “หมอเหล็งรำลึก”  ตามที่พิมพ์บนปก ภายหลังมีการประเมินคุณค่าถึงเป็น หนึ่งในหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน มีการตีพิมพ์ซ้ำหลายต่อหลายครั้ง แต่กลับมีการเปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น “กบฏ ร.ศ. 130”

ต่อมาในชั้นหลังยังมีงานเขียนที่ทายาทของคณะ ร.ศ. 130 ผลิตออกมา

พ.ต.ต. ประชา พูนวิวัฒน์ บุตรชาย ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ นำ “ประวัติปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ. 130” มาปรับสำนวนให้เข้าถึงได้ง่าย แล้วให้ชื่อใหม่ว่า “ท่านเรียกผมว่าลูก” (พ.ศ. 2517)

แถมสุข นุ่มนนท์ ธิดาของ ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์  ค้นคว้าเอกสารร่วมสมัยที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ตั้งแต่ หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ ที่ตีพิมพ์ในสมัย ร.ศ. 130, บันทึกความทรงจำทั้งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชการ ฝ่ายคณะ ร.ศ. 130 และของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ตลอดจนศึกษาจากผลงานวิจัยทางวิชาการของนักศึกษาระดับปริญญาโทในหลายสถาบัน ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ  ตีพิมพ์เป็นบทความวิชาการเรื่อง “การจับกุมทหารก่อการกำเริบ ร.ศ. 130” ลงในวารสารสังคมศาสตร์ ต้นปี 2522 ก่อนปรับปรุงพัฒนาเป็นหนังสือ “ยังเติร์กรุ่นแรก กบฏ ร.ศ. 130” (2522)

ที่กล่าวมานี้สรุปย่อมาเป็นรายการเรียกน้ำย่อย  ส่วนเนื้อหาทั้งหมดที่ นริศ จรัสจรรยาวงศ์  เรียบเรียงไว้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องที่ ร.ท. จือ ควกุล เสนาธิการที่วางแผนของ ร.ศ. 130 และบุคคลแรกที่รู้ว่า “แผนแตก”,  ร.ต. จรูญ ษตะเมษ ผู้เป็น “เพื่อนต้นคิด” กับหมอเหล็ง, พระยากำแพงราม (ยุทธ คงอยู่) “แกะดำชาว ร.ศ. 130” และเรื่องราวของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันกว่า 12 ปี ในเรือนจำ ฯลฯ

ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ควรจะอ่านแบบย่นย่อ จึงขอได้โปรดอ่านจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพราะนี้คือ “อิฐก้อนแรก” ของประชาธิปไตยเมืองไทย ดังที่ปรีดี พนมยงค์ พูดว่า “พวกผม [คณะราษฎร 2475] ถือว่า การกระทำ [ปฏิวัติ 2475] ครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130 จึงขอเรียกคณะ ร.ศ. 130 ว่าพวกพี่ๆ ต่อไป”

คณะ ร.ศ. 130 ถ่ายรูปหมู่เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ต้อนรับรัฐธรรมนูญจำลอง หน้าสยามราษฎร์ (แถวนั่งจากซ้าย) นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร.ท. จือ ควกุล ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ พ.ต. อัทย์ หะสิตะเวช (แถวยืนจากซ้าย) ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ ร.ต. บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ ร.ต. สอน วงษ์โต ว่าที่ ร.ต. ศิริ ชุณห์ประไพ ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์ ร.ต. เจือ ศิลาอาสน์ ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส ร.ต. จรูญ ษตะเมษ, ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2564