ร.๕ ทรงเคยโปรยทานหรือไม่?

ช่วงสองปีนี้ผู้เขียนออกจะติดใจเรื่องการโปรยทานของคนสมัยก่อนมาก เพราะดูสนุกและเกิดความสงสัยว่า โบราณเขาโปรยกันอย่างไร ได้พยายามรวบรวมข้อมูลจากหนังสือและถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้เป็นระยะๆ จนพอจะรู้อะไรเพิ่มเติมขึ้นบ้าง

สรุปได้ว่าการโปรยทานสมัยก่อนมีทั้งที่โปรยจากต้นกัลปพฤกษ์ที่ปลูกขึ้นไปสูงๆ และโปรยจากที่ยืนที่ต่ำกว่านั้น

Advertisement

การโปรยทานในปัจจุบันไม่วิลิศมาหราเหมือนก่อน เพราะไม่มีใครสนใจสร้างต้นกัลปพฤกษ์แบบโบราณอีกต่อไป คงเหลือแต่การหว่านเงินแบบง่ายๆ ดังพอมีตามงานบวช งานศพให้เด็กแย่งกันประเดี๋ยวเดียว การยัดเงินใส่มะกรูด มะนาว กากะทิง และลูกหมากแบบโบราณ เป็นอันไม่มีให้ดู คงได้ยินกันบ้างแต่บทดอกสร้อยที่ว่า ซักเอ๋ยซักส้าว ผลมะนาวทิ้งทานในงานศพ เข้าแย่งชิงเหมือนสิ่งไม่เคยพบ ไม่น่าคบเลยหนอพวกขอทาน…แล้วจากนั้นเด็กๆ ก็คงไม่เข้าใจว่าทำไมต้องแย่งผลมะนาว ได้มะนาวแล้วเอาไปทำอะไร

คนโบราณเชื่อว่ากัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้บนสวรรค์ ใครต้องการแก้วแหวนเงินทอง เสื้อผ้าแพรพรรณ ตลอดจนข้าวน้ำทั้งหลายก็ไปสอยเอาจากต้นไม้นี้ได้หมด แต่สวรรค์ก็อยู่ส่วนสวรรค์ ทำอย่างไรจะให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในโลกมนุษย์เมืองสยามได้ ก็ต้องสมมติกันขึ้นมา เวลามีงานหลวง พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานปักเสาสูงๆ ลงไป จากนั้นก็ทำคอกเล็กๆ เหมือนรังกาสำหรับคนขึ้นไปยืนข้างบน ที่ปลายเสาทำพุ่มติดผลมะนาวยัดเงิน สมมติว่าเป็นผลกัลปพฤกษ์ เพราะเงินคือแก้วสารพัดนึก อยากจะเอาไปซื้ออะไรก็เชิญ พอได้เวลา เจ้าพนักงานก็ปีนบันไดขึ้นไปปลิดผลมะนาวหว่านลงมา ผู้คนข้างล่างก็แย่งชิงกันเกรียวกราว

ต้นกัลปพฤกษ์ (หน้าป้อมกลางรูป) ในงานพระราชพิธีลงสรงสนาน เฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พงศ. ๒๔๒๙

ประเพณีแบบนี้ทำกันมานานอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือเมื่อ ๓๐๐-๔๐๐ ปีก่อน มีหลักฐานปรากฏในเอกสารเก่าๆ และวรรณคดีเก่าพอสมควร

ที่สนุกก็คือบางงาน หากมีการแจกของใหญ่ๆ จะเอาของใหญ่ไปโปรยเหมือนมะนาวไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีโปรยฉลากแทน เมื่อได้ฉลากแล้ว คนรับก็เอาฉลากนั้นไปขึ้นรางวัลจากเจ้าหน้าที่

กรณีโปรยทาน ถามว่า ร.๕ พระมหากษัตริย์ที่เราบูชาอยากทราบเรื่องราวของพระองค์ให้ละเอียดที่สุดทรงเคยโปรยทานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองบ้างหรือไม่

ตอบว่า เคย และบางครั้งสิ่งที่ทรงโปรยก็น่าสนใจมากจะไว้กล่าวในตอนท้ายสุด อนึ่ง บางครั้งหากจะพระราชทานให้คนมีระดับ ก็พระราชทานให้เลย โดยไม่ต้องโปรย

ในหนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ ๑๑ (พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมอ่อน รพีพัฒน์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ปกสีเขียวแก่) หน้า ๙๗ บันทึกว่าในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เดือน ๔ จ.ศ. ๑๒๔๒ (พ.ศ. ๒๔๒๓) ผู้ใดถวายผ้าขาวต้องมารับต่อเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ ตั้งแจกที่คดพระเมรุหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ผู้ที่ถวายของนั้น พระราชทานสิ่งของตอบแทนตามสมควร

หน้า ๑๐๑ บันทึกว่ารุ่งขึ้น วันจันทร์เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ “เสด็จออกพลับพลามวย ทรงโปรยสลากและมะนาวแล้วพระราชทานครอบและมะนาวแก่กงสุลต่างประเทศและชาวต่างประเทศที่ควรจะพระราชทาน โปรดให้เทวดาทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์ทุกต้น มีรำทวน ๒ คู่ เวลาค่ำทรงจุดดอกไม้…”

หลังจากวันนี้แล้ว ก็ยังทรงโปรยฉลากพระราชทานครอบ และผลมะนาวแก่แขกต่างประเทศอีกหลายคราว

คำว่าครอบ กล่าวอย่างละความ ไม่บอกว่าครอบอะไรอาจจะหมายถึงของที่ระลึกใส่ในครอบแก้วอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ต้องค้นคว้าหรือถามผู้รู้กันต่อไป

ตัวอย่างเรื่องโปรยทานในโอกาสต่างๆ จากหนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พ.ศ. ๒๔๓๒

ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ ๕ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๓๒ (พิมพ์แจกงานพระราชทานเพลิงศพนางจงกลณี โสภาคย์ พ.ศ. ๒๕๑๔) กล่าวว่าวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ งานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรศักดาพิศาล ที่วัดสระเกศ ร.๕ ทรงโปรยผลมะนาว ๑๐ ตำลึง มีต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้นๆ ละ ๕ ตำลึง

วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ร.๕ เสด็จฯ ไปยังพระราชวังบางปะอิน มีการฉลองเทวรูปพระเจ้าปราสาททอง ครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไพร่หลวงจาก ๔ ตำบลคือ บ้านเลนเหนือ บ้านเลนใต้ บ้านรั้วใหญ่ และบ้านท้ายเกาะ ที่ทำหน้าที่เข้าเดือนรับราชการรักษาพระราชวังบางปะอินทั้งผู้ใหญ่และเด็ก “มารับพระราชทานฉลากแจกคนละ ๒ ผล” ฉลากนี้มีรางวัลใหญ่ๆ ให้ไปรับมากาย มีทั้งวัว ควาย ที่นา เลื่อนเกวียน คราวเคียว พร้า พลั่ว และอื่นๆ อีกมากมาย

ข่าว ร.๕ ทรงซื้อตั๋วล็อตเตอรี่โปรยทาน จากดรุโณวาท พ.ศ. ๒๔๑๗

เรื่องโปรยทาน ทิ้งทานยังมีให้อ้างอีกพอสมควร ขอข้ามไปเสียบ้าง ครั้งนี้จะกล่าวแต่ที่เพิ่งอ่านพบเมื่อไม่นานมาและเห็นว่าแปลก คือไปพบข้อความในหนังสือดรุโณวาท เล่มหนึ่งเข้า เป็นดรุโณวาท ฉบับที่ ๑๗ หน้า ๑๗๗ ออกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ หรือเมื่อ ร.๕ ทรงมีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา (๑๒๗ ปีมาแล้วนับจาก พ.ศ. ๒๕๔๔)

หนังสือบอกว่าวันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๑ ค่ำ อันเป็นวันสิ้นสุดพระราชพิธีคเชนทรัสวสนาน หรือการออกสนามใหญ่ มีแห่ช้างม้าอาวุธไพร่พลใหญ่โต เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ ร.๕ เสด็จออกที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ (ตรงข้ามสวนสราญรมย์)…

ทรงบริจากพระราชทรัพย์ทรงซื้อตั๋วลอตเตอรี, มาทรงทิ้งทานเปนเงินตราห้าชั่ง เปนตั๋วร้อยใบ, ทรงโปรยพระราชทานแก่ราษฎร, เพื่อจะมิให้คนจนต้องลงเงินของตนซื้อตั๋วนั้นเลย, เพราะมีพระราชประสงค์จะให้เปนประโยชน์, แก่ผู้ซึ่งมิได้ไปลงเงินในการลอตเตอรี, เผื่อจะเปนลาภแก่คนเหล่านั้นบ้าง, ครั้นเวลาบ่ายสี่โมงเสศ พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวจึ่งเสดจออกโปรยทาน, ครั้นทรงโปรยทานแล้ว, จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งให้เรียกช้างน้ำมันมาที่ท้องสนามไชย. ครั้นช้างมาถึงแล้ว, คนผัดก็ถือพัช สวมมงคลแดง นุ่งกางเกงริ้ว, เดิรเข้าไปใกล้หน้าช้างประมาณสองวา สามวา สี่วา, ก็เอาพัชตบกับมือผัดภาน แล้วร้องว่า ผัดพ่อ, ผัด, ผัด, ผัด, ผัด. แล้ววิ่งหนีไป. ช้างวิ่งไล่ตามไป…”

จากข่าวทรงโปรยทานด้วยล็อตเตอรี่นี้ เมื่ออ่านดรุโณวาทต่อไปในหน้า ๓๐๗-๓๐๙ ก็จะพบว่าเมื่องานเฉลิมพระชนมพรรษา เดือน ๑๐ หรือเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น เพิ่งมีการขายล็อตเตอรี่กันเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

น่าเสียดายที่ขณะนี้เรายังหาล็อตเตอรี่รุ่น ๒๔๑๗ ไม่ได้ ถ้าใครเก็บไว้ก็ขอให้ทราบเถิดว่านั่นเป็นล็อตเตอรี่ที่มีค่าที่สุดของประเทศไทย