เหตุขัดแย้งในเวียงจันทน์สู่การอพยพของชาวลาว ปฐมบท “เมืองน้ำดำ” กำเนิดเมืองกาฬสินธุ์

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดกาฬสินธุ์ มีความคล้ายคลึงกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน คือ พบหลักฐานการก่อตั้งชุมชนมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เข้าสู่สังคมกสิกรรม รู้จักทำเครื่องมือเหล็กและสำริด ถึงพุทธศตวรรษที่ 12 เข้าสู่ยุคสังคมเมือง หลังจากการแพร่เข้ามาของศาสนาพราหมณ์และพุทธ

ดินแดนในภาคอีสานได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมทวารวดีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 ต่อมาก็รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมขอม พบกู่และปราสาทแบบขอมในจังหวัดกาฬสินธุ์อยู่บ้าง แต่ไม่มากเท่ากับจังหวัดในเขตอีสานใต้

สันนิษฐานว่าชนกลุ่มเดิมในพื้นที่เป็นชาวละว้า แต่บรรพบุรุษของชาวกาฬสินธุ์ในปัจจุบันเป็นชาวลาวที่อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ประเทศลาวในปัจจุบัน) เป็นชนกลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาวที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณแอ่งโคราชราวต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ด้วยเหตุจากความวุ่นวายทางการเมืองและปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มชนชั้นนำของเวียงจันทน์

เมืองกาฬสินธุ์มีเจ้าเมืองคนแรกคือ ท้าวโสมพะมิตร หรือ เจ้าผ้าขาวลาวเวียง โดยย้อนไปในสมัยที่ท้าวโสมพะมิตรรับราชการกับเวียงจันทน์ เกิดขัดใจกับพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ด้วยหลานสาวของท้าวโสมพะมิตร ถูกเจ้าราชบุตรเวียงจันทน์ขืนใจ จึงพาหลานสาวและพรรคพวกชาวลาว อพยพจากเวียงจันทน์ข้ามมายังฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (ภาคอีสาน)

อนุสาวรีย์ท้าวโสมพะมิตร (ภาพจาก หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกาฬสินธุ์)

ท้าวโสมพะมิตรมาตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้เทือกเขาภูพาน บริเวณบ้านผ้าขาวบ้านพันนา แถบพระธาตเชิงชุม เขตจังหวัดสกลนครในปัจจุบัน พระเจ้าสิริบุญสารยกกองทัพติดตามเพื่อกวาดต้อนคนกลับเวียงจันทน์ ท้าวโสมพะมิตรจึงอพยพข้ามเทือกเขาภูพานลงมาทางใต้ถึงบริเวณบ้านกลางหมื่น (ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเมืองกาฬสินธุ์) ตั้งถิ่นฐานอยู่ประมาณปีเศษ ถึงราวปี พ.ศ. 2325 เห็นว่าชัยภูมิไม่เหมาะ จึงอพยพลงมาอยู่บริเวณริมลำน้ำปาว หรือที่เรียกว่า “แก่งสำโรงดงสงเปลือย” (ที่ตั้งของเมืองกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน)

ปัจจัยที่ท้าวโสมพะมิตรเลือกมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้อาจด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการคือ 1. ปลอดภัยจากการคุกคาม การเร่งรัดเก็บส่วยจากเวียงจันทน์ เพราะมีเทือกเขาภูพานตั้งขวางอยู่ 2. บริเวณแก่งสำโรงดงสงเปลือยมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ คือ ลำน้ำปาว ที่เพียงพอต่อการเพาะปลูกและหล่อเลี้ยงชีวิตไพร่พล และ 3. สามารถขยายเมืองได้ง่าย มีอาณาเขตกว้างขวาง

ลำน้ำปาว (ภาพจาก หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกาฬสินธุ์)

ต่อมา ท้าวโสมพะมิตรและชาวลาวประกาศไม่ขึ้นต่อเวียงจันทน์ และขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯ คือรัชกาลที่ 1 ดังนั้น พระองค์โปรดเกล้าฯ ยกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมืองกาฬสินธุ์ ตั้งท้าวโสมพะมิตรเป็น “พระยาไชยสุนทร” ครองเมืองกาฬสินธุ์ และยังโปรดพระราชทานญาติวงศ์ที่ถูกกวาดต้อนไปกรุงเทพฯ ตั้งแต่สงครามสมัยกรุงธนบุรี กลับคืนแก่ท้าวโสมพะมิตรอีกด้วย

บ้านแก่งสำโรงดงสงเปลือยเข้ามาอยู่ใต้อิทธิพลของกรุงเทพฯ ประมาณ 10 ปี ก่อนที่จะได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองกาฬสินธุ์ โดยปรากฏหลักฐานว่า ในปี พ.ศ. 2325 ท้าวโสมพะมิตรส่งบรรณาการได้แก่ น้ำรัก สีผึ้ง นอแรด และงาช้างต่อกรุงเทพฯ โดยผ่านทางเวียงจันทน์ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2336 ท้าวโสมพะมิตรได้ลงไปกรุงเทพฯ เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 1 ขอพระราชทานตั้งเมือง

ท้าวโสมพะมิตรปกครองเมืองกาฬสินธุ์เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2345 เกิดหลงลืมสติด้วยเพราะอยู่ในวัยชรา จึงให้ท้าวมหาแพงบุตรพระอุปชาเป็นผู้ว่าการงานเมืองกาฬสินธุ์แทน จวบจนปี พ.ศ. 2349 ท้าวโสมพะมิตรถึงแก่กรรม รวมอายุได้ 73 ปี สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดราวปี พ.ศ. 2276 สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา

ชาวผู้ไทในจังหวัดกาฬสินธุ์ (ภาพจาก หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกาฬสินธุ์)

อ้างอิง :

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกาฬสินธุ์. (2542). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

คู่มือท่องเที่ยวทั่วไทย : กาฬสินธุ์. (ธันวาคม 2538). สารคดี. ปีที่ 11 : ฉบับที่ 130.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564