สารหล่อลื่นบนถุงยาง เคล็ดลับการทอ “ส่าหรี” ของชาวพาราณสี

อาสาสมัครชาวอินเดียสาธิตวิธีการใช้ถุงยางสำหรับผู้หญิงในเมือง Secunderabad ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2012 (AFP PHOTO / NOAH SEELAM)

อินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีผู้ติดเชื้อ HIV จำนวนมาก นับรายหัวแล้วกว่า 2 ล้านราย ซึ่งก็ถือว่าเยอะทีเดียว สาเหตุใหญ่ๆ ก็เป็นเพราะการติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากเครื่องป้องกันอย่างถุงยางนั่นเอง

แต่รัฐบาลอินเดียเขาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาทางลดอัตราการติดเชื้อ HIV กันมาเป็นสิบปีแล้ว โดยพยายามรณรงค์ให้ชาวบ้านหันมาใช้ถุงยางอนามัยด้วยการแจกกันฟรีๆ ซึ่งตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมามีรายงานระบุว่า ที่เมืองพาราณสีมีชาวบ้านมารับถุงยางเอื้ออาทรกันเป็นจำนวนมาก โดยทางบีบีซีบอกว่า แต่ละวันมีถุงยางไปถึงมือชาวบ้านกว่า 6 แสนชิ้น

Advertisement
บาร์เทนเดอร์จัดวางถุงยางซึ่งแจกฟรีในบาร์ที่ชื่อ “Condom Bar” ในเมืองจันดิกาห์ (Chandigarh) ประเทศอินเดีย เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2007 (AFP PHOTO / NARINDER NANU)

แต่ที่ชาวพาราณสีแห่กันมารับถุงยางฟรีเพื่อประชาชนนั้นหาได้นำไปใช้เพื่อการวางแผนครอบครัว หรือเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ กลับนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการทอผ้าไหมส่าหรีแทน!?

ถุงยางจะเอาไปทำผ้าไหมได้อย่างไร?

สิ่งที่ชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์จากถุงยางในการทอผ้าก็คือ “สารหล่อลื่น” นั่นเอง เพราะสารหล่อลื่นชนิดนี้จะไม่ทำให้เส้นไหมเกิดคราบ พวกเขาจึงเอาถุงยางไปทากับกระสวยทอผ้า ซึ่งสารตัวนี้ก็จะไปทำให้เส้นไหมนุ่มขึ้น ช่วยให้ทอผ้าได้เร็วขึ้น

ด้วยผ้าไหมจากเมืองพาราณสีถือเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อมาก จึงมีชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทอผ้ากันอยู่ราว 150,000-200,000 ราย ซึ่งบีบีซีอ้างว่า เกือบทั้งหมดล้วนใช้เทคนิคทาถุงยางบนกระสวยในการทอกันทั้งนั้น โดยเครื่องทอหนึ่งเครื่องจะใช้ถุงยางราว 3-4 ถุงต่อวัน

ว่ากันว่า ชาวบ้านหลายคนถึงกับใช้ชื่อปลอมไปลงทะเบียนกับหน่วยงานวางแผนครอบครัวของอินเดียเพื่อกักตุนถุงยางกันเลยทีเดียว และด้วยมีดีมานด์ที่สูงยิ่งจึงมีเจ้าหน้าที่หัวใสแต่ใจคด เอาถุงยางที่ควรจะแจกฟรีมาจำหน่ายในราคาถูกอีกด้วย

ช่างทอบางคนบอกว่า วิธีการแบบนี้คนเก่าคนแก่ที่ทำมาหากินทางนี้มานานไม่มีใครเอาด้วย แต่เด็กยุคใหม่สนแต่จะเอาให้เร็วอย่างเดียวจึงไม่สนว่าใครจะคิดยังไง ทำให้ช่างทอหลายคนเริ่มกังวลว่า ถ้าผู้บริโภครู้เข้าว่า ผ้าไหมจากเมืองพาราณสีใช้สารหล่อลื่นบนถุงยางในการทอ อาจจะทำให้ผ้าไหมจากเมืองพาราณสีเสียชื่อเสียความนิยมได้

อย่างไรก็ดี แม้เรื่องราวดังกล่าวจะเป็นข่าวเป็นคราวมาตั้งแต่ปี 2001 เริ่มจากรอยเตอร์สนำมาเผยแพร่ ต่อด้วยบีบีซีในปี 2004 ถึงปี 2012 รายงานของนิตยสาร Little India ก็ยังระบุว่า การใช้ถุงยางช่วยในการทอผ้ายังคงมีอยู่ในเมืองพาราณสี จึงน่าเชื่อได้ว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็คงไม่ได้เห็นว่าสารบนถุงยางมันจะรังเกียจตรงไหน

ชาวบ้านจึงยังคงใช้ถุงยางช่วยในการทอผ้าต่อไป ซึ่งว่ากันว่า เป็นเคล็ดลับสำคัญประการหนึ่งที่ยังทำให้พวกเขาต่อสู้กับผ้าไหมราคาถูกจากเมืองจีนได้


อ้างอิง:

1. “อีกประโยชน์ของ Condom จากภูมิปัญญาอินเดีย”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ตุลาคม 2544

2. “Condom Oil Wheels of Industry”. BBC. <http://news.bbc.co.uk/2/hi/south_asia/3934275.stm>

3. “Reimagining the Varanasi Sari”. Little India. <http://www.littleindia.com/life/12388-reimagining-the-varanasi-sari.html>


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560