กำเนิด “กางเกงใน(ชาย)” ทรงตัว Y เว้าติดขาหนีบ ใครเป็นต้นคิดออกแบบ?

กางเกงใน ผู้ชาย
(ซ้าย) ภาพเขียน Le Grand Baigneur โดย Paul Cézanne เมื่อ 1885 ไฟล์ภาพ Public Domain (ขวา) ภาพงานศิลปะอียิปต์โบราณใน สุสานแห่ง Nebamun and Ipuky คาดว่าอยู่ในช่วง 1390 –1349 B.C. ไฟล์ภาพ CC0 1.0 Universal Public Domain

“เครื่องแต่งกาย” ชิ้นแรกที่จะสัมผัสร่างกาย สำหรับผู้ชายส่วนใหญ่ย่อมเป็น “กางเกงใน” หรือในบางพื้นที่นิยมสวมใส่สิ่งที่เรียกว่า “บ็อกเซอร์” (Boxer)

วัฒนธรรมว่าด้วยเครื่องแต่งกายภายในของมนุษย์ยุคปัจจุบัน ล้วนมีพัฒนาการไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ในโลกใบนี้ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริบทอื่นๆ อันเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และนวัตกรรมในเชิงวิทยาศาสตร์

ก่อนที่ภาพนายแบบชุดชั้นในแบรนด์ดังจะปรากฏเป็นภาพคุ้นชินตาดังที่เห็นกันในทุกวันนี้ ชิ้นส่วนของ “กางเกงใน” (ชาย) หรือจะเป็นศัพท์แสลงอื่นๆ อันอธิบายถึงลักษณะ “ชุดชั้นใน” ที่ทำจากผ้ายืด สวมใส่แล้วเนื้อผ้าแนบชิดไปกับผิวหนัง รูปทรงของ “กางเกงใน” ที่มีลักษณะเป็นทรงเหมือนตัว Y เชื่อกันว่า เริ่มต้นวางจำหน่ายให้เห็นในร้านค้าทั่วไปกลางยุค 1930s หรือเกือบ 90 ปีก่อน

ถ้าจะย้อนอดีตไปจนถึงยุคโบราณกาลกันก่อน “ชุดชั้นใน” ยุคแรกๆ ของมนุษยชาติที่ปรากฏตามแหล่งข้อมูลหลายแห่งล้วนบอกเล่าคล้ายกันว่า สิ่งที่นุ่งห่มมีลักษณะเป็น “ผ้าเตี่ยว” (loincloth) ภาพของชาวอียิปต์โบราณปรากฏผ้าลักษณะนี้สวมใส่อยู่บนรูปวาดตัวบุคคล

ขณะที่ Alana Clifton-Cunningham ผู้เขียนบทความ “A brief history of briefs — and how technology is transforming underpants” จากเว็บไซต์ The Conversation อธิบายว่า ผ้าลักษณะนี้ถูกเรียกโดยชาวอียิปต์โบราณว่า schenti ทำจากการทอวัตถุดิบซึ่งอาจเป็นฝ้าย (Cotton) หรือแฟล็กซ์ (Flax) สวมใส่โดยใช้ “เข็มขัด” รัดเพื่อให้ไม่หลุดหล่น ผู้คนที่สวมใส่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูง หากเป็นระดับฟาโรห์ หลักฐานจากภาพเขียนยุค 1189-1077 ก่อนคริสตกาล จะพบร่องรอยการสวมใส่ผ้าบางๆ ในชั้นนอกด้วย ขณะที่ชนชั้นอื่นๆ ลงไปจนถึงทาส โดยทั่วไปแล้วมักอยู่ในสภาพเปลือยกาย

บางแหล่งข้อมูลบอกกันว่า กรีกโบราณก็ปรากฏการสวมใส่ “ผ้าเตี่ยว” แต่ปรากฏในทางกลับกัน ทาสจะสวมใส่ผ้าลักษณะนี้ ขณะที่พลเมืองทั่วไปไม่ได้ใส่ “ชุดชั้นใน” ใดๆ ภายใต้เครื่องแต่งกายลักษณะเหมือนชุดคลุมที่เรียกว่า “ชิตอน” (chiton)

เมื่อเวลาผ่านไปในแต่ละยุค มนุษย์เริ่มมีตัวเลือกเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายมากขึ้น นับตั้งแต่ช่วงยุคแห่งโรมัน ไปจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance)

ในยุคกลาง แถบยุโรปปรากฏเสื้อชั้นในที่ทำจากลินินหรือฝ้ายซึ่งสวมใส่กันได้ทั้งหญิงและชาย ขณะที่ชิ้นส่วนท่อนล่างก็ปรากฏในช่วงศตวรรษที่ 15-16 เชื่อกันว่า ช่วงเวลานี้ ผู้ชายสวมใส่ชุดชั้นในท่อนล่างที่แยกข้างกันออกเป็นสองข้างแล้ว

Alana Clifton-Cunningham ยังอธิบายว่า ชุดชั้นในท่อนล่างสำหรับเพศชายยังเคยมีการเสริมชั้นผ้าเพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องอวัยวะเพศให้มากขึ้น มันถูกออกแบบเพื่อเสริมอวัยวะส่วนนั้นมากกว่าการปกปิด ในแง่หนึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมเชิงสัญลักษณ์ว่าด้วยพลังทางเพศ

ชุดชั้นในท่อนล่างในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 สำหรับทั้งเพศหญิงและชายล้วนแยกออกเป็นสองข้าง ในช่วงศตวรรษนี้เองที่ปรากฏ “ลองจอห์น” (Long John) ชุดชั้นในที่ท่อนล่างคลุมไปถึงข้อเท้า พัฒนามาจาก “union suit” อันเป็นชุดชั้นในชิ้นเดียวที่ใส่คลุมทั้งท่อนบนท่อนล่าง

เชื่อกันว่า เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อย่างสงครามโลกครั้งที่ 1 มีส่วนทำให้ชุดชั้นในต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย สืบเนื่องจากผู้หญิงต้องใช้แรงงานในโรงงาน เหมือง และฟาร์มมากขึ้น การทำงานลักษณะนี้ย่อมเหมาะกับการสวมใส่ชุดชั้นในที่คล่องตัวมากกว่าสวมใส่ชุดชั้นในหลายชั้นตามความนิยมก่อนหน้านี้ เริ่มมีเค้าโครงของการสวมใส่ชุดชั้นในแบบหลวมๆ ก็มีให้เห็น และนำมาสู่กางเกงชั้นในสตรีขาสั้นที่คลุมมาถึงต้นขาหรือช่วงเหนือหัวเข่าซึ่งผู้หญิงเริ่มใส่ในช่วงปีค.ศ. 1916

ภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม วัฒนธรรมหลายอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลง และนับตั้งแต่ทศวรรษ 1920 เป็นต้นไป ชุดชั้นในสตรีอย่าง “คอร์เซ็ต” (corset) ก็เริ่มถูกแทนที่ด้วยชุดชั้นในที่บีบรัดน้อยกว่า ทศวรรษต่อมาที่เริ่มปรากฏวัตถุดิบที่ยืดหยุ่นได้ อาทิ latex ในทศวรรษที่ 1930 มีส่วนทำให้ชุดชั้นในมีลักษณะแนบเนื้อมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการอันนำมาสู่ลักษณะชุดชั้นในที่ใส่กันในปัจจุบัน

บทความหลายชิ้นเกี่ยวกับพัฒนาการ “กางเกงใน” สำหรับผู้ชาย รวมถึงบทความ A BRIEF HISTORY OF PANTS: WHY MEN’S SMALLS HAVE ALWAYS BEEN A SUBJECT OF CONCERN ในเว็บไซต์ Independent ล้วนบ่งชี้ถึงจุดกำเนิดของกางเกงในชายแบบสั้น เว้าส่วนขา มีลักษณะเหมือนตัว y เริ่มวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 1935 ออกแบบโดยนักออกแบบเสื้อผ้าชื่อว่า Arthur Kneibler ซึ่งทำงานให้กับบริษัท Coopers Inc บริษัทจำหน่ายถุงเท้าและชุดชั้นในแบบต่างๆ ขณะที่ก่อนหน้านั้นราวหนึ่งทศวรรษ ฝ่ายชายก็เริ่มรู้จักกับกางเกงชั้นในแบบ “บ็อกเซอร์” (Boxer) ลักษณะขาสั้น และใส่แบบหลวมๆ มาก่อนแล้ว

กางเกงในชายที่ออกแบบโดย Arthur Kneibler ทำจากผ้าฝ้ายแบบนิ่ม ไม่ต้องรีด การออกแบบของ Arthur Kneibler ถูกนำไปเทียบกับลักษณะการสวมใส่กระจับในแง่ความรัด บริษัทจึงตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ใหม่ว่า กางเกง Jockey ล้อกับศัพท์เรียก “กระจับ” (jockstrap) ซึ่งเดิมทีถูกออกแบบเมื่อปี 1874 โดยบริษัท Sharp & Smith ในช่วงที่ “จักรยาน” เพิ่งแพร่หลายได้ไม่นาน โดย “กระจับ” (jockstrap) ของบริษัท Sharp & Smith มีไว้เพื่อช่วยปกป้องอวัยวะผู้ขับขี่ขณะขี่บนพื้นถนนหินกรวดอันขรุขระ

ในปี 1938 ภายหลังการประดิษฐ์เส้นใยสังเคราะห์ ชุดชั้นในที่น้ำหนักเบา และทำความสะอาดง่ายก็เริ่มก่อร่างขึ้น

อย่างไรก็ตาม บทความของ Alana Clifton-Cunningham ระบุว่า กางเกงในชายที่มีลักษณะสั้นถึงเป้าปรากฏภายหลังปี 1945 และในปี 1959 เส้นใยไลครา (Lycra) จึงถือกำเนิดขึ้น เมื่อมีเส้นใยที่เป็นส่วนผสมระหว่างฝ้ายและไนลอน ผลลัพธ์ที่ออกมาช่วยให้ผ้าแข็งแรงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถยืดหยุ่น และคืนรูปได้ดี นวัตกรรมนี้ส่งผลให้ชุดชั้นในในภายหลังล้วนรองรับกับสรีระทั้งของผู้หญิงและผู้ชายได้มากขึ้น และในยุค 70s ชุดชั้นในก็พัฒนาไปถึงขั้นไร้รอยต่อได้ด้วย

ในภาพรวมแล้ว ตลาดชุดชั้นในยุคศตวรรษที่ 20 มีคู่แข่งระหว่าง “กางเกงใน” รูปทรงเหมือนตัว Y กับ “บ็อกเซอร์” ซึ่งล้วนแต่อ้างประโยชน์ต่อสุขภาพด้วยกันทั้งคู่ อิทธิพลสำคัญประการหนึ่งคือเรื่องแฟชั่น ดังเช่น ความนิยมกางเกงยีนส์รัดรูปในสหราชอาณาจักรยุค 70s ทำให้ฝ่าย “กางเกงใน” กลับมาได้รับความนิยม

อันที่จริงแล้วกระแสความนิยมก็สลับขั้วกันไปมาตามเทรนด์แฟชั่นแต่ละช่วง โดยเฉพาะในช่วง 1980s กางเกงในชายรูปทรงเหมือนตัว Y กลับมาเป็นกระแสจากโฆษณาของแบรนด์ Calvin Klein ที่นายแบบสวมใส่กางเกงในรัดรูปสีขาว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Alana Clifton-Cunningham. “A brief history of briefs — and how technology is transforming underpants”. CNN. Online. Published 30 JUL 2018. Access 29 JAN 2021. <https://edition.cnn.com/style/article/history-of-underpants/index.html>

A BRIEF HISTORY OF PANTS: WHY MEN’S SMALLS HAVE ALWAYS BEEN A SUBJECT OF CONCERN. Independent. Online. Published 22 JAN 2008. Access 29 JAN 2021. <https://www.independent.co.uk/life-style/fashion/features/brief-history-pants-why-men-s-smalls-have-always-been-subject-concern-771772.html>

Laura Clark. “Tighty-Whities First Hit the Market 80 Years Ago Today”. Smithsonian. Online. Published 19 JAN 2015. Access 29 JAN 2021. <https://www.independent.co.uk/life-style/fashion/features/brief-history-pants-why-men-s-smalls-have-always-been-subject-concern-771772.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2564