นักโบราณคดีชี้ ชาวแอซเท็ก บูชายัญนักสำรวจ นำเนื้อมากิน? ก่อนโดนสเปนกวาดล้าง(แค้น)

ภาพวาดจำลองเหตุการณ์สเปนเข้ายึด Tenochtitlan ไม่ปรากฏชื่อเจ้าของงาน คาดว่าวาดเมื่อช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 17 ภาพถ่ายจาก https://www.loc.gov/exhibits/kislak/kislak-exhibit.html (ไฟล์ public domain)

เป็นเวลากว่า 500 ปีแล้วที่เฮอร์นัน คอร์เตส (Hernan Cortés) นักสำรวจและนักล่าดินแดนจากสเปน สั่งการอันอื้อฉาวโดยให้ยึดเมืองของแอซเท็ก (Aztec) อันนำมาสู่การล่มสลายของอาณาจักรแอซเท็กในที่สุด แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแล้ว แต่งานศึกษาทางวิชาการโดยนักโบราณคดีในท้องถิ่นยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด เพิ่งมีรายงานผลการศึกษาจากสถาบันโบราณคดีและประวัติศาสตร์แห่งชาติของเม็กซิโก ซึ่งบ่งชี้ถึงรายละเอียดเกี่ยวกับกองกำลังสเปนที่บุกเมืองของแอซแท็กในช่วงต้นปี 1521 อันเป็นการเคลื่อนไหวเสมือนการล้างแค้นให้นักสำรวจที่ถูกชาวแอซเท็กจับตัวและสังหารมาก่อนหน้านั้น โดยนักโบราณคดีเชื่อว่า ชาวแอซเท็ก ได้ฆ่าสังเวยผู้ที่ถูกจับกุม จากนั้นก็กินเนื้อของกลุ่มนักสำรวจนักผจญภัยสเปนที่ถูกกุมขังไปด้วย

การศึกษาทางโบราณคดีจากซากปรักหักพังใกล้กับ “เม็กซิโก ซิตี้” (Mexico City) เมื่อปี 2015 พบว่า คณะนักสำรวจชาวสเปนพร้อมกับผู้หญิง เด็ก และม้าที่เป็นพาหนะถูกชนพื้นเมืองที่เรียกว่ากลุ่ม Acolhuas ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเมือง Tetzcoco หนึ่งในเมืองสำคัญของอาณาจักรแอซเท็ก คุมขังเป็นเวลาหลายเดือน บางส่วนถูกฆ่าสังเวย และนำชิ้นส่วนมารับประทาน

แถลงการณ์จากสถาบันโบราณคดีและประวัติศาสตร์แห่งชาติของเม็กซิโกที่เผยแพร่เมื่อปี 2015 ระบุรายละเอียดว่า จากการประเมินแล้ว กองคาราวานมีชายชาวสเปน 15 ราย ทหารจากอาณานิคม 15 ราย สตรี 50 ราย และเด็กอีก 10 ราย พร้อมด้วยชนเผ่าที่เป็นพวกเดียวกันอีกจำนวนหนึ่ง พวกเขาทั้งหมดถูกควบคุมตัวไว้ และตลอดระยะเวลา 6 เดือนต่อมา พวกเขาล้วนสัมผัสประสบการณ์และจุดจบอันน่าสยดสยอง

แถลงการณ์เผยว่า จากร่องรอยของซากปรักหักพังทำให้ทราบว่า ชาว Acolhuas ต้องจัดแต่งเมือง Zultepec ขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับกลุ่มนักโทษ ในสมัยนั้นเมืองแห่งนี้ถูกเรียกว่า Tenochtitlan หลังจากนั้นชื่อของเมืองจึงเปลี่ยนจาก Zultepec เป็น Tecoaque โดยคำว่า “Tecoaque” ในภาษาพื้นเมือง Nahuatl มีความหมายว่า “สถานที่ซึ่งพวกเขากินเขาเหล่านั้น”

นักโบราณคดีค้นพบหลักฐานว่า ชาว Acolhuas คุมขังคาราวานไว้ในคุกที่ไม่มีประตูและสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ อีกทั้งพบซากของสมาชิกในกองคาราวานที่ปรากฏสัญลักษณ์ซึ่งบ่งชี้ได้ว่า พวกเขาถูกสังเวย เอ็นริเก มาร์ติเนซ (Enrique Martinez) นักโบราณคดีที่ให้ข้อมูลในแถลงการณ์อธิบายว่า ทุกๆ 2-3 วัน นักบวชของชนพื้นเมืองจะสุ่มเลือกบางคนขึ้นมาเพื่อสังหาร บางครั้งการสังหารก็เกิดขึ้นใจกลางเมือง บางครั้งก็เกิดขึ้นในกรงขัง

นักโบราณคดีเชื่อว่า การสังเวยเป็นไปเพื่อบูชาเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่เรียกว่า “Quetzalcoatl” เทพจากัวร์ “Tezcatlipoca” และเทพนักรบ “Huitzilopochtli”

อันที่จริงแล้ว การสังหารเพื่อสังเวยเทพไม่ได้เป็นชะตากรรมเดียวที่เกิดขึ้นกับกองคาราวาน มาร์ติเนซ อธิบายต่อไปว่า ซากกะโหลกที่พบในพื้นที่ ปรากฏรอยหั่นผิวหนัง ซึ่งมาร์ติเนซ มองว่าร่องรอยนี้บ่งชี้ว่าชาวเมืองไม่ได้กินแค่เนื้อม้า แต่ยังกินเนื้อนักเดินทางในคาราวานด้วย อย่างไรก็ตาม การตีความหลักฐานลักษณะนี้ถูกนักโบราณคดีอีกหลายกลุ่มทักท้วงว่า มักพบในการศึกษาในอาณานิคมแต่หลายครั้งก็ไม่ได้มีหลักฐานที่มีน้ำหนักพอมารองรับข้อมูลลักษณะนี้

เมื่อข่าวคราวเรื่องการจับกุมคาราวานมาถึงหูเฮอร์นัน คอร์เตส เขาสั่งให้กอนซาโล เดอ ซานโดวัล (Gonzalo de Sandoval) กวาดล้างเมืองแห่งนี้ในช่วงต้นปี 1521 แถลงการณ์ของมาร์ติเนซ ที่เผยแพร่ล่าสุด อธิบายว่า จากการสำรวจทางโบราณคดีมีหลักฐานที่่บ่งชี้ว่า ชาวเมือง Tecoaque รับรู้ถึงภัยจากการโจมตีที่กำลังมาถึงและจัดการทิ้งกระดูกของชาวสเปนบางรายซึ่งถูกนำมาแปรสภาพเป็นเสมือนของรางวัลที่ระลึกสำหรับสะสมพร้อมกับหลักฐานอื่นๆ ลงในบ่อน้ำ

หลักฐานที่พบยังบ่งชี้ว่า ชาวเมืองพยายามป้องกันเมืองด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ แน่นอนว่า ไม่มีกรรมวิธีแบบดึกดำบรรพ์ใดๆ เพียงพอยับยั้งการเดินทัพของซานโดวัล

แถลงการณ์ของสถาบันฯ ยังอธิบายว่า นักรบที่เคยอยู่ในเมืองบางรายสามารถหลบหนีไปได้ แต่กลุ่มที่เหลือในเมืองกลับเป็นเด็กและสตรี ซึ่งกลุ่มนี้เองที่กลายเป็นเหยื่อไป

“เรื่องนี้เราสามารถแสดงให้เห็นจากเส้นทางถนนในเมืองที่ทอดยาวกว่า 120 เมตร เราพบโครงกระดูกของสตรีราว 12 ราย ซึ่งดูเหมือนว่าพวกเธอกำลังปกป้อง(โครงกระดูก)เด็กอายุระหว่าง 5-6 ปี” 

แถลงการณ์ปรากฏภาพการขุดค้นที่พบโครงกระดูกเด็กใกล้กับโครงกระดูกของผู้ใหญ่เพศหญิง โดยที่กะโหลกหรือแขนของสตรีหันเข้าหากลุ่มเด็ก ตำแหน่งของการฝังซากศพทำให้เห็นว่าผู้คนที่กำลังหลบหนีถูกสังหารหมู่และฝังอย่างรีบร้อน ขณะที่เด็กและสตรีที่หลบอยู่ในห้องก็ถูกตัดอวัยวะทำให้พิการ เห็นได้จากหลักฐานที่เป็นซากของโครงกระดูกอวัยวะที่ถูกหั่นอยู่บนพื้น ขณะที่วิหารก็ถูกเผา รูปปั้นในเมืองถูกตัดศีรษะ

หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป คอร์เตส เข้ายึดเมืองหลักของแอซเท็กได้ในปี 1521 และในปี 2021 นี้ถือเป็นวาระครบรอบ 500 ปีของการเข้ายึดครองโดยสเปน

ที่ผ่านมา ชาวเม็กซิโก มักจดจำเฮอร์นัน คอร์เตส ในภาพลักษณ์เชิงลบ ผิดกับชาวเมืองเมเดญิน (Medellín) ในสเปน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคอร์เตส ที่ปรากฏรูปปั้นและจัตุรัสที่เรียกชื่อตามนามของนักสำรวจนักล่าดินแดนคนดังรายนี้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Mexico archaeologists reveal tale of cannibalism and reprisal from conquest. The Guardian. Online. Published 19 JAN 2021. Access 25 JAN 2021. <https://www.theguardian.com/world/2021/jan/19/mexico-archaeologists-cannibalism-reprisal-conquest-aztec>

Conquistadors sacrificed and eaten by Aztec-era people, archaeologists say. The Guardian. Online. Published 10 OCT 2015. Access 25 JAN 2021. <https://www.theguardian.com/world/2015/oct/10/conquistadors-sacrificed-eaten-aztec-acolhuas>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2564