“มองสิเออร์เวเรต์” ชาวฝรั่งเศสผู้มองตัวตน “ฟอลคอน” ทะลุปรุโปร่ง ถึงขั้นทำนายจุดจบแม่นยำ

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพวาด ฟอลคอน หรือพระยาวิไชยเยนทร์ขุนนางชาวกรีกที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ

สำหรับชาวฝรั่งเศสผู้แสดงความเห็นในทางเสียหายของ คอนสแตนติน ฟอลคอน มากที่สุดก็คือ มองสิเออร์เวเรต์ ผู้จัดการบริษัทอีสต์เอเชียของฝรั่งเศสประจำเมืองไทย. เวเรต์ถูกส่งมาประจำเมืองไทยพร้อมกับคณะทูต เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ในปี พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685). นักธุรกิจฝรั่งเศสผู้นี้พำนักอยู่ในเมืองไทยจนกระทั่ง คอนสแตนติน ฟอลคอน ถูกประหารชีวิต และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2231 (ค.ศ. 1688).

เวเรต์มีความสำคัญ ไม่เพียงแต่เป็นผู้แทนของบริษัทการค้าที่รัฐบาลฝรั่งเศสร่วมทุนและให้ความสนับสนุนเท่านั้น, หากยังเป็นผู้เบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของบริษัทอีกด้วย และดังนั้นจึงเป็นคนฝรั่งเศสที่มีอำนาจเงินในเมืองไทย ที่ทั้งคนฝรั่งเศสในเมืองไทยและคนไทยต้องให้ความเกรงใจ. เวเรต์ติดต่อกับ คอนสแตนติน ฟอลคอน อย่างใกล้ชิดพอสมควร.

ในการเดินทางไปรับหน้าที่ผู้จัดการบริษัทอีสต์อินเดียของฝรั่งเศส, เวเรต์ได้รับแจ้งว่า คอนสแตนติน ฟอลคอน จะสนับสนุนธุรกิจของบริษัทในเมืองไทย. แต่เมื่อได้มาพบปะติดต่อกับฟอลคอนแล้ว เวเรต์ได้รายงานให้ทางปารีสทราบว่า “ข้าพเจ้าต้องทำธุระกับคนผู้หนึ่ง ซึ่งเอาการของตนเป็นใหญ่กว่าของบริษัท และเมื่อจะพูดถึงการงานกันแล้ว พอข้าพเจ้าขอร้องหรือแนะนำขึ้นอย่างใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เรา ท่านผู้นั้นก็ร้องขึ้นดุจถูกตัดแขนหรือตัดขาทีเดียว”.

เวเรต์พรรณนาต่อไปในรายงานฉบับเดียวกันว่า “ข้าพเจ้าได้รับความลำบากมาก เพราะ คอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นคนโมโหร้าย และจะพูดจาด้วยก็ยาก. ข้าพเจ้าต้องใช้วาจาอย่างอ่อนหวาน และใช้คำปลอบโยน จึงจะดับโมโหของฟอลคอนได้”.

ความจริงผู้จัดการบริษัทฝรั่งเศสคนก่อน คือ เดอ ลูแวง ก็มีความขัดแย้งกับฟอลคอนเช่นเดียวกัน. ความขัดแย้งอาจเนื่องมาจาก คอนสแตนติน ฟอลคอน ไม่เกรงใจพ่อค้า และพ่อค้าก็มักจะเสนอหรือเรียกร้องผลประโยชน์ต่า งๆ ที่ยากจะรับได้. อย่างไรก็ตาม พ่อค้าฝรั่งเศสเห็นว่าฟอลคอนยึดเอาประโยชน์ของตนเองเป็นสำคัญ ก็เลยหมดความนับถือ.

เวเรต์บอกว่าสาเหตุที่ฟอลคอนชอบพ่อค้าอังกฤษ ก็เพราะฟอลคอนกลัวคนอังกฤษ (เนื่องจากเคยทำงานกับคนอังกฤษมานานในอดีต) และได้รับประโยชน์จากธุรกิจของอังกฤษมากมาย. เวเรต์สรุปว่า “คอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นคนมักได้ และหาประโยชน์ส่วนตัวมาก”.

ในรายงานของเวเรต์ ได้มีการพรรณนาถึงรูปลักษณะของ คอนสแตนติน ฟอลคอน เอาไว้ด้วย โดยกล่าวว่า “ฟอลคอนนั้นเป็นคนไม่สูงไม่ต่ำ รูปร่างหน้าตาดี พอใช้ได้สำหรับเมืองนี้ อายุในราว 35 หรือ 36 ปี เป็นผู้มีไหวพริบ รูปภายนอกงดงาม”, แล้วก็วิจารณ์ว่า “แต่ข้าพเจ้าสงสัยว่าภายในใจจะไม่ตรงกับรูปภายนอก เพราะทุก ๆ วันคงคิดการหลายพันอย่าง แต่ไม่ได้ทำตามที่คิดไว้สักอย่างเดียว. ฟอลคอนเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง เป็นคนชอบเงิน ชอบทำการแก้แค้น ชอบคนยอ และชอบคนที่ลงหมอบคลาน”.

บ้านของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ (ฟอลคอน) ที่ลพบุรี

เมื่อได้มองเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งเช่นนี้แล้ว เวเรต์ก็มีความลำบากใจในการวางตัว. “ในชั้นต้นข้าพเจ้าออกหนักใจอยู่บ้าง ด้วยไม่ทราบว่าจะควรวางตัวกับ คอนสแตนติน ฟอลคอน อย่างไร. ข้าพเจ้าควรจะถ่อมตัวลงให้ฟอลคอนที่สุดที่จะทำได้ โดยอย่าให้เสียเกียรติยศของข้าพเจ้า”, เวเรต์กล่าวในรายงาน “ข้าพเจ้าจำเป็นจะต้องพบกับฟอลคอนทุก ๆ วันเพื่อทำธุระให้แก่บริษัท เพราะข้าพเจ้าจะซื้อสินค้าแม้ราคาอัฐเดียวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์เสียก่อนไม่ได้.”

เวเรต์รายงานเจ้านายบริษัทอิสต์อินเดียของฝรั่งเศสที่กรุงปารีสต่อไปว่า “คอนสแตนติน ฟอลคอน ซึ่งเป็นผู้ปกครองอุดหนุนบริษัท (ในเมืองไทย) ทำทีเหมือนจะอุดหนุนหาประโยชน์ให้แก่บริษัท แต่ความจริงตัวของตัวเองกลับได้รับประโยชน์มากกว่าเราหลายเท่า (ซึ่ง) ข้าพเจ้าก็ตกลงยอมให้เขาเถือเนื้อ ถึงพวกอังกฤษเองก็ต้องยอมเหมือนกัน เพราะถ้าไม่ยอมแล้ว ก็เป็นอันว่าไม่ต้องทำการค้าขายเลยจนอัฐเดียว ทั้งข้าพเจ้าก็จะต้องแตกร้าวกับฟอลคอนด้วย. ข้าพเจ้าจึงต้องทำเป็นไม่รู้เท่า เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าเวลานี้เป็นการจำเป็นที่บริษัทจะต้องยกย่องเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไปก่อน และโดยที่ข้าพเจ้าปล่อยให้ฟอลคอนได้ทำอะไรตามความชอบใจทุกอย่าง ฟอลคอนจึงได้สนิทสนมกับข้าพเจ้า.”

เวเรต์ยืนยันว่า “ในทุกวันนี้ คอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นคนที่พระเจ้าแผ่นดิน (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) โปรดปรานมากกว่าคนอื่น ๆ (ดังนั้น) หากมีความประสงค์ทำการค้าขายหรือทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จะต้องเอา คอนสแตนติน ฟอลคอน ไว้เป็นพวกเดียวกัน จึงจะได้”.

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด เวเรต์ก็ยังมองเห็น “อำนาจการต่อรอง” ของฝ่ายฝรั่งเศส โดยรายงานว่า “พระเจ้ากรุงสยามนั้นทรงลำเอียงรักใคร่พวกฝรั่งเศสมาก และถ้าไม่มีฟอลคอนคอยกีดขวางอยู่แล้ว เราจะขออะไร พระเจ้ากรุงสยามก็คงพระราชทานให้ทุกอย่าง,

แต่ต้องนับว่าเป็นการเคราะห์ดีที่ฟอลคอนยังจะต้องการอาศัยเรามากกว่าที่เราจะต้องการอาศัยฟอลคอน และในทุกวันนี้ (พ.ศ. 2230/ค.ศ. 1687) คอนสแตนติน ฟอลคอน ก็น่ากลัวจะต้องตายทั้งบุตรและภรรยา และการที่ฟอลคอนจะต้องเสียชีวิตนี้ ก็คงต้องเป็นวันหนึ่ง มิช้าก็คงเร็ว เพราะฉะนั้น ฟอลคอนจึงจำเป็นต้องหาที่พึ่ง…”,

ซึ่งเวเรต์ได้วิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง.

 


คักบางส่วนจากบทความ “คอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นคนอย่างไร” เขียนโดย ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2558

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2564