ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 สยามพยายามดึงชาติมหาอำนาจเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับฝรั่งเศส ชาติหนึ่งที่สยามหวังจะให้มาช่วยเหลือคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจที่น่าเกรงขามไม่แพ้ชาติในยุโรป ทั้งยังเจนจัดด้านการทูตและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกามองออกถึงความต้องการของสยาม จึงมีท่าทีบ่ายเบี่ยง เพราะไม่อยากมีปัญหากับฝรั่งเศส โดยในหนังสือพิมพ์ ธรรมศาสตร์วินิจฉัย เอกสารร่วมสมัย ได้สรุปบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่ปฏิเสธจะรับ “เผือกร้อน” จากสยาม ดังนี้
“กรุงยุในเตตสะเตตอเมริกาและสยาม
ข่าวโทรเลขต่อไปนี้ได้ลงพิมพ์ปรากฎในหนังสือพิมพ์อเมริกันทั้งปวงซึ่งออกเมื่อวันที่ 17 เดือนมิถุนายนก่อนหน้านี้ว่าด้วยกรุงสยามขอเชิญให้กรุงยุในเตตสะเตต ช่วยพูดจาว่ากล่าวด้วยกรุงฝรั่งเศศในเรื่องวิวาทบาดหมางกัน
กรุงวอชิงตอน วันที่ 17 เดือนมิถุนายน ราชาธิปไตยสยาม ได้ขอให้กรุงยุในเตตสะเตตช่วยพูดจาว่าขานกับฝรั่งเศศ อย่าให้ฝรั่งเศศบุกรุกเข้ามาในอาณาเขตรไทยตลอดริมฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำโขง แต่กรุงยุในเตตสะเตตไม่เต็มใจรับที่จะช่วยพูดในการวิวาทเรื่องนี้ อนึ่งผู้แทนทูตและกงสุลอเมริกันในกรุงเทพฯ ได้บอกไปยังเสนาบดีในกรุงยุไนเตตสะเตต ว่าผู้แทนทูตและกงสุลอเมริกันวิเคราะห์ดูเหนควรที่กรุงยุไนเตตสะเตต จะให้เรือรบเข้ามาในกรุงสยาม เพื่อจะได้ป้องกันผลประโยชน์อเมริกันและชีวิตของชาวอเมริกัน ซึ่งเปนอาจารย์สอนสาสนาอยู่ในกรุงสยาม แต่กรมทหารเรือไม่มีเรือจะให้เข้ามาได้ จึงได้ตอบมาว่าในเวลานี้ไม่มีเรือรบจะให้เข้ามา มิศเทอร์เครสแฮม เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศเห็นว่า คนทั้งหลายมีความหวาดสดุ้งกลัวไภยอันตรายมากเกินไป ชีวิตร์และทรัพย์สมบัติของชาวอเมริกันคงจะไม่เปนอันตราย
มูลวิวาทในระหว่างไทยกับฝรั่งเศศ ซึ่งเปนเหตุต้องร้องอุทรณ์มายังกรุงยุในเตตสะเตต ให้ช่วยพิพากษานั้นค้างกันมาหลายเดือนแล้ว แต่หนังสือราชการซึ่งมีโต้ตอบกันไปมา ในระหว่างกระทรวงว่าการต่างประเทศ ในกรุงยุไนเตตสะเตตและที่ว่าการทูตอเมริกันที่กรุงเทพฯ นั้นยังปิดบังอยู่มิได้เปิดเผยให้ทราบทั่วไป และข้อความละเอียดจึ่งมิได้ปรากฎแก่ชนทั้งปวง
พระสุริยานุวัฒข้าหลวงพิเศศซึ่งมาจากกรุงสยามนั้น ได้มาอยู่ในประเทศนี้หลายอาทิตย์มาแล้ว และได้มาพูดสนทนาด้วยมิศเตอร์แครสแฮม เสนาบดีว่าการต่างประเทศหลายครั้งแล้ว แต่ท่านจำเปนต้องบอกไปยังราชาธิปไตยสยามว่ากรุงยุไนเตตสะเตต ไม่ยอมช่วยว่ากล่าววุ่นวายในการเรื่องนี้
ช้านานประมาณหลายปีล่วงมาแล้ว ฝรั่งเศศได้ร้องจะเอาดินแดน ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง แต่ไทยได้โต้ทานโดยสามารถต่อคำร้องอันนี้ และไทยไม่ยอมรับว่าฝรั่งเศศมีอำนาจอันชอบธรรม จะร้องว่าเปนเจ้าของดินแดน ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระราชอาณาเขตสยามเลย อย่างไรก็ดีเมื่อเรวๆ นี้ ฝรั่งเศศได้ประชุมเรือรบแสดงอำนาจทัพเรือ ซึ่งกระทำให้คนราชการของราชาธิปไตยสยาม หวาดสดุ้งตกใจ
อนึ่งในต้นเดือนมีนาคมก่อนหน้านี้พระสุริยานุวัฒนาถึงกรุงวอชิงตอน แล้วได้มาสนทนาด้วย มิศเตอร์แครสแฮม เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ พระสุริยานุวัฒนาได้รับที่ตั้งเปนข้าหลวง มาตั้งสิ่งของต่างๆ ในโรงแสดงพิพิธภัณฑ์เวิล์ดแฟ และได้รับตำแหน่งราชทูต มาเจรจาด้วยข้อราชการเรื่องฝรั่งเศศด้วย ราชาธิปไตยสยามได้เลือกเอากรุงยุไนเตตสะเตต เพื่อจะให้เปนอนุญาโตตุลาการนั้น เพราะเหตุว่าครั้นจะเชิญให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง ในทวีปยุโหรบช่วยพิพากษาเปนกลางเล่า ก็ไม่ใคร่จะสู้มีความไว้วางใจ และเกรงว่ากรุงสยามจะเสียเปรียบ ด้วยเหนว่าประเทศทั้งหลายในทวีปยุโหรบมีความอิจฉากันมาก ก็จะทำให้การพิพากษาตัดสินมูลวิวาทชักช้าและเอนเอียงไป
มิศเตอร์แครสแฮม เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ จึ่งได้ตรวจดูพงษาวดารแห่งมูลวิวาท ตั้งแต่ต้นมาจนปลายโดยละเอียดแล้ว จึ่งได้ดำริห์ดูเหนว่าการวิวาทเรื่องนี้ หาใช่กิจที่กรุงยุไนเตตสะเตตจะเข้ามาวุ่นวายเกี่ยวข้องด้วยไม่
อีกประการหนึ่งเล่าราชาธิปไตยฝรั่งเศศ ก็มิได้แสดงความประสงคยินยอมให้กรุงยุไนเตตสะเตตเข้ามาช่วยว่ากล่าว และเพื่อจะหลีกเลี่ยงมิให้เปนที่สงไสยสนเทห์ ในทางราชการได้เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ จึ่งได้แจ้งความแก่พระสุริยานุวัฒว่า กรุงยุไนเตตสะเตต จะไม่เข้ามาวุ่นวายเกี่ยวข้องในการวิวาทเรื่องนี้
ฝ่ายพระสุริยานุวัฒทราบดังนั้นแล้ว ก็มีความเสียใจจึงรีบไปจัดตั้งสิ่งของต่างๆ ในโรงแสดงพิพิธภัณฑ์เวิลด์แฟที่เมืองชิคาโคอยู่หลายวัน แล้วท่านกลับมากรุงวอชิงตอนอีก และได้สนทนาด้วยคนราชการทั้งหลายๆ ก็มีความเหนเหมือนดังเสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ เมื่อการเปนดังนี้กรุงสยามก็จำเปนจะต้องเชิญประเทศอื่นมาช่วยว่ากล่าวต่อไป
อนึ่งกรมทหารเรือไม่สามารถจะให้เรือรบเข้ามากรุงสยามได้ เพราะเหตุว่ามีเรือรบอเมริกันอยู่สองลำชื่อ อาเลิต ลำหนึ่ง โมโนเคซี ลำหนึ่ง ซึ่งได้แล่นท่องเที่ยวอยู่ในทะเลฝ่ายทิศตะวันออก และเรือสองลำนี้ ก็ได้ให้มาแล่นลาดตระเวนอยู่ในแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งเปนอาจารย์เข้ามาสอนสาสนาอยู่ในหัวเมืองจีนทั้งปวงฯ”
โดยสรุปแล้วคือ สยามติดต่อไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อขอความช่วยเหลือจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ที่เกิดขึ้น โดยสยามเห็นว่าสหรัฐอเมริกาเป็นชาติมหาอำนาจที่อยู่นอกทวีปยุโรป จึงน่าจะเป็นตัวกลางที่มีประสิทธิภาพและปราศจากข้อผูกมัดใด ๆ กับชาติในยุโรป
อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกากมีท่าทีบ่ายเบี่ยงและปฏิเสธในที่สุดที่จะให้ความช่วยเหลือหรือเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทครั้งนี้โดยตรง ขณะที่สยามนึกไปว่าสหรัฐอเมริกาน่าจะเป็น “อนุญาโตตุลาการ” หรือศาลการเมืองระหว่างประเทศได้ เพราะเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
อ้างอิง :
ไกรฤกษ์ นานา. (กรกฎาคม, 2558) “ประเทศที่ 3” มองกรณี ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสไม่คิดยึดเมืองไทย แต่มุ่งหวังจัดตั้งสหภาพอินโดจีน. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 36 : ฉบับที่ 9.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2564