ท่องโลกที่นาซีชนะสงคราม ญี่ปุ่นกดหัวคนตะวันตกในซีรีส์ The Man in the High Castle

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ชมขบวนพาเหรดทหารนาซีในกรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1939 (ซ้าย) ด้านซ้ายคือแผนที่พื้นที่ในโลกสมมติจากซีรีส์ The Man in the High Castle (ภาพจาก Amazon Prime)

“What if…” หรือ “ถ้าหากว่า…” ดูจะเป็นคำแสลงสำหรับเหล่าผู้เคร่งครัดในระเบียบวิธีเชิงวิชาการสายประวัติศาสตร์ บางคนไม่นิยมใช้คำนี้สำหรับการมองข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แต่แน่นอนว่าในเชิงวัฒนธรรม(บันเทิง)แล้ว “ถ้าหากว่า…” เป็นคำที่ถูกใช้สอยบ่อยครั้งมากกว่า และอาจเป็นคำที่มีสามารถขยายต่อยอด “จินตนาการ” ในเชิงเปรียบเทียบให้ได้ขยายขอบเขตมุมมองออกไปกว้างกว่าเดิม

วลี “ถ้าหากว่า…” ที่น่าสนใจที่สุดในเชิงประวัติศาสตร์และเคยถูกใช้งานจริงมาเชื่อมต่อกับประโยคที่ทุกคนหวาดหวั่นนั่นคือ “ถ้าหากว่านาซีชนะสงคราม?” ถ่ายทอดออกมาเป็นนิยายและมาสู่ซีรีส์ในชื่อเดียวกันคือ The Man in the High Castle

Advertisement

ต้นฉบับของ The Man in the High Castle ถูกผลิตเป็นนิยายแนว Alternative History หรือแนวประวัติศาสตร์สมมติอันแตกต่างจากประวัติศาสตร์ในโลกความเป็นจริงจากฝีมือเขียนของฟิลิป เค. ดิ๊ก (Philip K. Dick.) นักเขียนชาวอเมริกัน ผลงานเผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 1962 กระทั่งในปี 2015 เรื่องนี้ถูกดัดแปลงมาเป็นซีรีส์ในชื่อเดียวกัน เผยแพร่แบบสตรีมมิงเฉพาะใน Amazon Prime (ธุรกิจด้านสื่อบันเทิงในเครือบริษัท Amazon ของ Jeff Bezos) น่าเสียดายที่ซีรีส์นี้ถูกระงับการผลิตหลังจบซีซั่น 4 แต่อย่างน้อยซีรีส์นี้ยังคงเป็นที่รับรู้ในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ในฐานะ “ความบันเทิง” ที่น่าคิดอีกแง่มุมหนึ่ง

The Man in the High Castle เล่าเรื่องราวในช่วงปี 1962 เกือบ 2 ทศวรรษหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วยผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับโลกความเป็นจริง นั่นคือฝ่ายนาซีและกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ฝ่ายที่ปกครองโลกกลายเป็นกลุ่มเหล่านี้ซึ่งรวมถึงการปกครองพื้นที่อเมริกาเหนือด้วย หลังสงครามจบลงเกือบ 2 ทศวรรษ

อันที่จริงแล้วเนื้อหาในฉบับซีรีส์มีข้อแตกต่างหลายจุดจากนิยาย อาทิ รายละเอียดสำคัญอย่างเรื่องม้วนฟิล์มปริศนาที่ฝ่ายต่อต้านพยายามรวบรวม และมีนามแฝงเรียกว่า “ตั๊กแตน” (Grasshopper) เนื้อหาใน “แผ่นฟิล์ม” ปรากฏโลกสมมติอีกด้านของประวัติศาสตร์ซึ่งกรณีนี้เป็นข้อเท็จจริงตามโลกความจริง นั่นคือฝ่ายนาซีแพ้สงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่เนื้อหาเวอร์ชั่นนิยาย “ตั๊กแตน” เป็น “นิยาย” ต้องห้ามที่ทำให้ตัวละครในเรื่องที่ได้อ่านต้องตื่นตาตื่นใจกับโลกสมมตินั้น

ภาพประกอบเนื้อหา – ธงแสดงถึงการครอบครองพื้นที่ของนาซี ในโลกสมมติของซีรีส์ The Man in the High Castle

โลกสมมติในนิยายชื่อดังเมื่อค.ศ. 1962 อยู่ภายใต้จินตนาการด้านพลิกกลับของประวัติศาสตร์จริง ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ถูกลอบสังหารโดย Giuseppe Zangara ชาวอิตาเลียนที่ลี้ภัยมาในสหรัฐฯ ขณะที่ภาพกว้างของสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็จบลงด้วยชัยชนะของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) กองทัพนาซีเยอรมันเข้าครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปและสหภาพโซเวียต ส่วนฝั่งจักรวรรดิญี่ปุ่นก็เข้าครอบครองเอเชียตะวันออกและโอเชียเนียได้

ภายหลังจากนั้น ในยุค 60s จักรวรรดิญี่ปุ่นสถาปนา “รัฐแปซิฟิกแห่งอเมริกา” (Pacific States of America) ในฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

ส่วนฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ของมหาอาณาจักรไรซ์ (Greater Nazi Reich) ส่วนพื้นที่กึ่งกลางระหว่างสองฝั่งยึดถือเป็นพื้นที่(กันชน)เรียกง่าย ๆ ว่า “โซนเป็นกลาง” (neutral zone) 

แผนที่สหรัฐอเมริกา ในโลกสมมติของ The Man in the High Castle (2015 / Amazon Prime)

ที่สำคัญคือช่วงต้นยุค 60s ฮิตเลอร์ ยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสุขภาพอันย่ำแย่ เหล่านายกองหรือคนสนิทรอบข้างต่างหวังจะแย่งชิงอำนาจของฮิตเลอร์ กันถ้วนหน้า

***อาจเปิดเผยรายละเอียดบางส่วนในซีรีส์***

สำหรับในซีรีส์(และนิยาย)เล่าถึงเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในซานฟรานซิสโก ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ซึ่งในซีรีส์ตกเป็นของจักรวรรดิญี่ปุ่น ซีรีส์จึงฉายภาพบรรยากาศเมืองที่เต็มไปด้วยชุมชนร้านค้าและวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่น พวกเขาจ้างงานชาวอเมริกัน ภาพชาวอเมริกัน “โค้งคำนับ” ให้เจ้านายเชื้อสายเอเชียจึงปรากฏขึ้นให้เห็นแบบแปลกตาเล็กน้อย ขณะเดียวกันพวกเขายังยึดถือแนวคิดเรื่องกำจัด “ชาวยิว” เอาไว้อยู่ ใครก็ตามที่ถูกพบว่ามีเชื้อสายชาวยิวจะถูกกำจัด มีห้องรมแก๊สเล็กๆ ที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ด้วย

แนวคิดเรื่อง “อิสรภาพ/เสรีภาพ” อันเป็นค่านิยมสำคัญของอเมริกันชนสูญหายไป ไม่ใช่แค่เพียงในเชิงเปรียบเปรยสภาพวิถีชีวิตเท่านั้น ในเชิงสัญลักษณ์สำคัญก็ยังโดนทำลายไปด้วย หรือแม้แต่ “ความเท่าเทียม” ก็ยังถูกย่ำยี พวกเขายังกลายเป็นพลเมืองชั้น 2 ที่ต้องหลีกทางให้ชาวญี่ปุ่นได้รับบริการใดๆ ก่อน จากนั้นค่อยถึงคิวอเมริกัน

ถึงตรงนี้แล้วคงไม่ต้องเอ่ยคำ “ความเป็นส่วนตัว” อีกต่อไป ผู้ปกครองใช้อำนาจสอดส่องพฤติกรรมพลเมืองเพื่อรักษาความมั่นคงและอำนาจของรัฐเอาไว้

“เรามีความสุขได้แค่ที่พวกเขาอนุญาตให้เรามี” บทของตัวละครหนึ่งในซีรีส์ที่อาศัยในโซนที่ถูกปกครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่นย่อมสะท้อนบรรยากาศในโลกสมมติของพวกเขา อีกส่วนคือวัฒนธรรมอเมริกันชนกลายสภาพเป็น “ของสะสม” สำหรับชาวเอเชียไปเสียได้ โดยซีรีส์ฉายให้เห็นภาพกลับด้านจากกิจการขายของเก่าของตัวละครหนึ่งที่มีลูกค้าเป็นชนชั้นสูงชาวญี่ปุ่นวางท่าทีเต็มเปี่ยมด้วยรสนิยมชั้นเลิศ

น่าสังเกตว่าในช่วงเวลาที่ซีรีส์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2015 การเมืองของฝั่งยุโรปและในสหรัฐอเมริกาเริ่มเกิดปรากฏการณ์ฝ่ายขวาได้รับความนิยมขึ้นมา เรียกได้ว่าเนื้อหาในซีรีส์แทบจะกลายเป็นภาพสะท้อนโลกความเป็นจริงแบบย้อนแย้งอีกระดับหนึ่ง กระทั่งเมื่อปี 2019 ที่ผู้ผลิตประกาศระงับการสร้างต่อ อีกไม่นานหลังจากนั้นก็ถือเป็นช่วงขาลงของฝ่ายขวาในสหรัฐฯ เช่นกัน

ขณะที่อเมริกันชนถูกปกครองและกดขี่โดยจักรวรรดิญี่ปุ่นและนาซี ฝ่ายต่อต้านค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาโดยมี “แผ่นฟิล์ม” ปริศนาที่บันทึกภาพความเป็นไปอีกด้านที่แตกต่างจากโลกของพวกเขาเป็นวัตถุชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการโดยมีเป้าหมายหนึ่งเป็นความหวังที่จะออกไปจากโลกอันโหดร้ายซึ่งพวกเขาเผชิญอยู่ทุกวัน

ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างที่ฉบับซีรีส์ฉายให้เห็นคือ การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจที่เหลืออยู่ในโลกสมมติ นั่นคือฝั่งจักรวรรดิญี่ปุ่น กับนาซี หากจะเรียกกันว่า “สงครามเย็น” ก็คงพอเรียกได้เช่นกัน

ฉากหน้าของความสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรเสมือนลมอันสงบนิ่ง แต่เบื้องลึกแล้วทั้งสองฝ่ายต่างระแวงซึ่งกันและกัน และแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงความได้เปรียบด้านต่างๆ โดยเฉพาะความเป็นหนึ่งทางอำนาจ

เบื้องลึกของฐานอำนาจแล้ว นาซี มีศักยภาพและเทคโนโลยีทางทหารที่เหนือกว่า ส่วนฝั่งจักรวรรดิญี่ปุ่นที่รู้ตัวดีว่ายังไม่มีพลังอำนาจเทียบเท่านาซีจึงพยายามรักษาความสัมพันธ์แบบเป็นมิตรเอาไว้ไม่ว่าจะแลกด้วยอะไรก็ตาม

คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าหากว่า…จักรวรรดิญี่ปุ่นมีศักยภาพเทียบเท่านาซีได้? พวกเขาจะยังรักษาสันติภาพและความสัมพันธ์แบบมิตรเอาไว้อยู่หรือไม่? หรือจะเปิดสงครามกับนาซีเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งในโลก และแลกมาด้วยความสูญเสียบางส่วน?

แม้ฝั่งนาซีจะดูถือไพ่เหนือกว่า สื่อโฆษณาโหมประโคมแบบสวยหรู กลับกันในมุมมองหลังม่านแล้ว พวกเขามีมรสุมภายในอันปั่นป่วนไม่แพ้กัน

ฮิตเลอร์ ไม่ใช่บุคคลที่น่ากลัวที่สุดอีกต่อไป ด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่ ฐานอำนาจของฮิตเลอร์ กำลังสั่นคลอน “ตำแหน่งผู้นำ” ของฮิตเลอร์ เข้าใกล้สภาพเป็นตำแหน่งแค่ในนามทุกขณะ เหล่าคนสนิทและนายทหารชั้นสูงล้วนเคลื่อนไหวลับหลังหวังจะครอบครองอำนาจก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดภายหลังฮิตเลอร์ จากไปแล้ว บางกลุ่มยังวางแผนโจมตีญี่ปุ่นและยึดครองโลกแบบสมบูรณ์

ท่ามกลางฉากหน้าอันเข้มงวดกวดขันตามระเบียบของนาซี พวกเขากำจัดชาวยิวแบบบ้าคลั่ง เมื่อบรรดานายทหารชั้นสูงพบ “ความอ่อนด้อย” แบบเดียวกับที่มองว่าชาวยิวเป็นจุดอ่อนของโลก ชนชั้นสูงของนาซีจะตัดสินใจอย่างไรกับ “ความอ่อนด้อย” ที่กลับมาเป็นบุคคลใกล้ชิดอันเป็นที่รักซึ่งต้องถูกกำจัดตามระเบียบของนาซี

คำถามระดับปัจเจกที่ซีรีส์แทรกเข้ามาได้น่าคิดทีเดียวมีว่า “นาซี” จะตัดใจลงมือกำจัด “ความอ่อนด้อย” ซึ่งเป็นบุคคลอันเป็นที่รักตามระเบียบเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อคติของพวกเขาได้หรือไม่? ยังเป็นคำถามที่น่าคิดและพอช่วยเติมช่องว่างอันเว้นโหว่ในระยะห่างระหว่างโครงสร้างสังคมโลกที่ซ้อนทับกันหลายระดับได้บ้าง

เมื่อลองมองลักษณะการปกครองพลเมืองที่แต่ละฝ่ายเข้าไปปกครองก็ดูจะใช้คนละนโยบาย ในซีรีส์แสดงให้เห็นถึงฝั่งตะวันออกที่ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของนาซี จะถูกปลูกฝังค่านิยมความเชื่อแบบนาซี

ส่วนฝั่งตะวันตกที่อยู่ภายใต้จักรวรรดิญี่ปุ่น กลับไม่ได้พยายาม “กลืน” เหมือนแนวทางของนาซี แต่กลับใช้แนวคิดแบ่งแยกพลเมืองอเมริกันจากชาวญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ซีรีส์พยายามบอกเป็นนัยว่า ทั้งสองฝ่ายต่างใช้นโยบายกำจัดชนพื้นเมืองอย่างเด็ดขาด

นี่คือโลก(สมมติ)ที่นาซีชนะสงคราม และจักรวรรดิญี่ปุ่นปกครองชาวตะวันตก และแน่นอนว่านี่คือมุมมองจากชาวอเมริกันในยุค 60s ส่วนมุมมองกลับกัน ในแบบสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะก็มีนิยายโลกสมมติขึ้นมาด้วยเช่นกัน แต่คงไม่จำเป็นต้องบรรยายยืดยาวว่า โลกในแง่มุมนี้ก็คือโลกความเป็นจริงดังเช่นปัจจุบัน

คงยากจะบ่งชี้ถึงบริบทแง่ “ถ้าหากว่า” เรื่องใน The Man in the High Castle เป็นจริง บรรยากาศแบบในซีรีส์นี้จะเกิดขึ้นจริงด้วยหรือไม่ อย่างน้อยโลกสมมติคงพอเป็นกระจกสะท้อนตัวอย่างอีกแบบให้ได้รำลึกเตือนถึงโลกภายใต้ผู้ปกครองที่มีแนวคิดแบบ “นาซี” และ “จักรวรรดิญี่ปุ่น” โดยอิงจากฐานความเชื่อและนโยบายทางการเมืองบางส่วนตามประวัติศาสตร์จริงได้บ้าง หรือถ้าจะมีโลกสมมติในสถานการณ์นี้แบบอื่นก็ย่อมสามารถแนะนำแลกเปลี่ยนกันได้

เอาเป็นว่า คนจำนวนไม่น้อยภาวนาให้เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องสมมติต่อไป คงอยู่เพียงในนิยายในจินตนาการเพื่อรับชมตามวัตถุประสงค์เชิงความบันเทิงหรือให้รับรู้บริบทเหตุการณ์เท่านั้น…

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์โดยเฉพาะในแง่มุมความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกกับตะวันออกน่าจะเข้าถึงและซึมซับบริบทบางอย่างรวมถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เชิงสังคมและวัฒนธรรมที่ซีรีส์เพิ่มเติมเข้ามา หรือดัดแปลงมาจากนิยายต้นฉบับอย่างเช่นการอ้างอิงถึงคัมภีร์อี้จิง ฯลฯ สามารถหาชมซีรีส์นี้ได้จากบริการสตรีมมิง Amazon Prime

 


อ้างอิง:

Dominic Patten. “‘Man In The High Castle’s 4th Season To Be Last For Amazon’s Alt-History Series”. Deadline. Online. Published 19 FEB 2019. Access 19 JAN 2021. <https://deadline.com/2019/02/man-in-the-high-castle-canceled-season-4-last-amazon-explains-philip-k-dick-video-1202559680/>

Graeme Virtue. “The Man In The High Castle: Philip K Dick’s chilling counterfactual fantasy comes to TV”. The Guardian. Online. Published 20 NOV 2015. Access 19 JAN 2021. <https://www.theguardian.com/tv-and-radio/2015/nov/20/the-man-in-the-high-castle>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2564