กักตัวเองในโดมไฮเทค 2 ปี การทดลองโลกตะลึงยุค 90s ได้ผลอย่างไร?

กลุ่มอาคารทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า "ไบโอสเฟียร์ 2" (Biosphere 2) ในอริโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ถ่ายเมื่อ 25 กันยายน 1993 ภาพจาก TIM ROBERTS / AFP

การ “กักตัว” ในปี 2019-2021 เป็นวิถีใหม่ในช่วงโรคระบาดแพร่กระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก หากย้อนกลับไปเมื่อราวเกือบ 30 ปีก่อน ปรากฏกลุ่ม “ผู้มาก่อนกาล” ทดลองแยกตัวจากสังคม อาสามากักตัวในโดมไฮเทคช่วงยุค 90s แม้ว่ากลุ่มผู้อาสามาทดลอง 8 รายอธิบายผลว่า “ประสบความสำเร็จ” แต่อีกด้านหนึ่ง รายงานข่าวเผยว่า พวกเขาประสบภาวะขาดอาหารและอากาศสำหรับดำรงชีพ

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนี้ฟังดูเหมือนเนื้อเรื่องในนิยายวิทยาศาสตร์ล้ำยุค แต่ในโลกใบนี้เกิดเหตุการณ์ที่ว่าจริงในต้นยุค 90s เมื่อปรากฏกลุ่มอาสาสมัครรวม 8 ราย เข้าโปรเจคต์ทดลองแยกตัวออกจากสังคม กักตัวในโดมกระจกไฮเทคในอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา นานถึง 2 ปีระหว่างค.ศ. 1991-1993 โดมถูกออกแบบมาจำลองระบบนิเวศบนโลก (ถูกเรียกว่า “ไบโอสเฟียร์ 1” (Biosphere 1) ส่วนตัวโดมถูกเรียกว่า “ไบโอสเฟียร์ 2” (Biosphere 2) บริษัทที่เป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้างนี้คือ Space Biospheres Ventures แต่สิ่งที่ไม่แตกต่างจากสมัยนี้ก็คือโปรแกรมกลายเป็นที่จับตาของสื่อมวลชนและผู้สนใจทั่วโลก

เรื่องราวเบื้องหลังและความเป็นไปของโครงการนี้ถูกหยิบยกมาถ่ายทอดในภาพยนตร์สารคดีชื่อ Spaceship Earth ออกเผยแพร่ในโรงภาพยนตร์และระบบสตรีมมิงช่วงเดือนพฤษภาคม 2020 มาร์ก เนลสัน หนึ่งในทีม 8 รายนี้ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งโดยเอ่ยว่า

“เอาแค่ข้อเท็จจริงว่าคนที่ออกมาจากพื้นที่(กัก)มีจำนวนเท่ากับตอนเข้าไปก็เป็นเรื่องเยี่ยมแล้ว”

เนลสัน ไม่ได้นิยามผลลัพธ์ของโปรแกรมทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีจุดประสงค์เพื่อประเมินศักยภาพของมนุษย์ว่าจะสามารถสร้างและดำรงชีพด้วยตัวเองในอาณานิคมนอกอวกาศได้หรือไม่ เนลสัน กลับมองว่า การทดลองครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวความสำเร็จในแง่การทดลองของมนุษยชาติที่ไม่ได้ถูกพูดถึง

(คลิกชมภาพจากคลิปตัวอย่างสารคดีในลิงก์ด้านล่าง)

จุดแรกเริ่มของโครงการนี้ต้องย้อนไปถึงยุค 60s และมาพร้อมกับชายวัย 40 นามว่า จอห์น พี อัลเลน (John P Allen) จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะ ผู้จัดตั้งสหภาพ และนักเดินทางที่ศึกษาวัฒนธรรมชนเผ่า เมื่อจอห์น พบกับกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์อันแรงกล้าซึ่งเรียกตัวเองว่า “Theatre of All Possibilities” (โรงละครแห่งความเป็นไปได้ทั้งมวล) กลุ่มนักแสดงนี้มีเป้าหมายอยากเปลี่ยนแปลงโลกแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากแง่มุมไหนเลยตัดสินใจว่า เปลี่ยนเสียทุกแง่มุมเลยละกัน โดยที่ไม่รู้กรรมวิธีไปถึงเป้าหมายในแง่ใดแง่หนึ่งเลย พวกเขายึดคติว่า “เรียนรู้ด้วยการทำ”

ปี 1969 พวกเขาย้ายสถานที่ไปที่นิวเม็กซิโกและก่อตั้ง Synergia Ranch และปรับสภาพพื้นที่ฟาร์มปศุสัตว์ในทะเลทรายให้เป็นพื้นที่ที่สามารถดำรงชีพได้ด้วยตัวเอง ปลูกพืช และวางรากสิ่งปลูกสร้างต่างๆ พวกเขายังตั้งแกลเลอรีศิลปะในลอนดอน(ซึ่งยังดำเนินการอยู่ต่อเนื่อง) และซื้อฟาร์มอีกแห่งในออสเตรเลีย

ในปี 1975 พวกเขาถึงขั้นวางแผนสร้างเรือโดยมีหัวหน้าฝ่ายดีไซน์คือนักเรียนวัย 19 ปีซึ่งยังไม่มีประสบการณ์สร้างเรือใดๆ แต่ยังสามารถพิสูจน์ตัวเอง ล่องเรือไปหลายที่ทั่วโลกสำรวจสภาพนิเวศได้หลายปี

เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาแล้ว กลุ่มนี้ก็เริ่มอยากสร้างสร้างระบบนิเวศขึ้นมาด้วยตัวเอง โดยมีผู้สนับสนุนทางการเงินเป็นเอ็ด เบส (Ed Bass) เศรษฐีน้ำมันจากเท็กซัส โปรแกรม “ไบโอสเฟียร์ 2” จึงก่อร่างขึ้นมาจนมาถึงขั้นแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนด้วยหน้าฉากออกแบบเสมือนหนึ่งเป็นภารกิจอวกาศ มีอาสาสมัครเข้าร่วม 8 ราย เพศชาย 4 และหญิงอีก 4 ราย มาร่วมทดลองใช้ชีวิตในพื้นที่ซึ่งถูกออกแบบมาพิเศษในอริโซน่า เชื่อกันว่ามีมูลค่าราว 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มองจากภายนอกแล้วเห็นเป็นสิ่งปลูกสร้างสีขาว เต็มไปด้วยกระจก รายล้อมด้วยพื้นที่สีเขียว แล็บ ระบบรีไซเคิล พร้อมสัตว์เลี้ยง การเปิดตัวโปรแกรมทดลองภายใต้มาดที่ดีผ่านไปได้อย่างราบรื่น

ช่วงแรกของโปรแกรมเริ่มต้นไปด้วยดี อาสาสมัครแบ่งเป็น 2 ทีม ทีมละ 4 คน เวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่งจึงเริ่มเกิดปัญหาขึ้นมาทีละน้อย อันดับแรกเลยคือเรื่องอาหาร แม้ว่าพื้นที่ในโครงการจะมีพืชมากมาย แต่ผลิตผลที่ออกมาส่วนใหญ่แล้วก็ช้าเกิน หรือไม่ก็ไม่คุ้มกับการลงทุนลงแรงสร้าง ยกตัวอย่างเช่น กาแฟป่าใช้เวลา 2 สัปดาห์สำหรับการผลิตกาแฟแค่แก้วเดียว อาสาสมัครส่วนใหญ่ต้องผันตัวมาเป็นเกษตรกรเลี้ยงชีพตัวเอง หลายคนน้ำหนักลด

ไม่เพียงแค่อาหาร ปัญหาใหญ่อีกเรื่องคืออากาศหายใจ ระดับออกซิเจนลดลงเร็วเกินคาด เนลสัน ถึงกับเล่าว่า เขารู้สึกเหมือนปีนเขาเมื่ออยู่ในไบโอสเฟียร์ เนื่องจากระดับออกซิเจน ตกลงน้อยกว่าสภาพบรรยากาศของโลก และต้องเคลื่อนไหวช้าๆ เพื่อประหยัดพลังงาน บางรายมีอาการหยุดหายใจขณะหลับ บางรายพูดไม่ทันจบประโยคก็ต้องหยุดหายใจ

เมื่อมีปัญหาทางสภาพแวดล้อมเกิดขึ้น ขวัญกำลังใจของผู้อาศัยย่อมถูกกระทบด้วย ลองจินตนาการเรื่องการกักตัวในช่วงไวรัสระบาดแค่ไม่กี่วัน หากเปลี่ยนเป็นอยู่ร่วมกับผู้คน 7 รายเดิมๆ ตลอด 2 ปีโดยไม่มีอินเทอร์เน็ต สภาพความเป็นอยู่จะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อย พวกเขายังมีกิจกรรมประจำอย่างต้อนรับเยาวชนที่เข้ามาทัวร์เยี่ยมชมภายนอกสถานที่และถ่ายรูปกับอาสาสมัคร

สตีฟ โรส (Steve Rose) คอลัมนิสต์ของเดอะ การ์เดียน (The Guardian) เล่าในบทความ “Eight go mad in Arizona: how a lockdown experiment went horribly wrong” ว่า แม้จะมีความพยายามปกปิดปัญหาภายในไบโอสเฟียร์ 2 แต่ภายนอกก็พอรับรู้ความเคลื่อนไหวได้บ้าง และแน่นอนว่า อัลเลน (ผู้ร่วมตั้งโครงการ) และทีมก็พยายามปกปิดแล้วและพยายามแอบส่งอาหารเพิ่มเติมเข้าไปข้างใน ตามมาด้วยแอบส่งออกซิเจนตามไป ทำให้บรรยากาศภายในดีขึ้นมาก

ท่ามกลางบรรยากาศอันร่าเริงขึ้นภายในสถานที่ปิด ภายนอกกลับมีประเด็นข้อถกเถียงอันดุเดือด บางรายวิจารณ์การทดลองนี้ว่าไม่อยู่ในกรอบเชิงวิทยาศาสตร์ แต่เป็น “ระบบนิเวศความบันเทิงตามกระแส”

หลังจากการทดลองยาวนานถึง 2 ปี อาสาสมัครทั้ง 8 รายกลับออกมาสู่ภายนอกเมื่อวันที่ 26 กันยายน 1993 ความตั้งใจของโปรแกรมคือการเรียนรู้จากความผิดพลาด ทีมที่ 2 ถูกส่งเข้าไปอีกครั้งในช่วงต้นมีนาคม ปี 1994 ซึ่งดูเหมือนว่าชุดที่ 2 มีสภาพดีกว่าครั้งแรก มีอาหารและออกซิเจนเพียงพอ

อาสาสมัคร 8 รายในโครงการ Biosphere 2 กลับมาสัมผัสบรรยากาศโลกภายนอกเป็นครั้งแรกในรอบร่่วม 2 ปี เมื่อ 26 กันยายน 1993 หลังทดลองกักตัวนาน 2 ปี (ภาพจาก TIM ROBERTS / AFP)

แต่เดือนต่อมา เอ็ด เบส ถอยออกจากตำแหน่ง และมีสตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) นักลงทุน ซึ่งภายหลังมารับตำแหน่งในทีมของโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามารับบทบาท CEO คนต่อมา อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนกันยายนปีเดียวกัน กลุ่มเจ้าของและฝ่ายบริหารบริษัท Space Biospheres Ventures มีอันต้องโบกมือไป เวลาผ่านไปไม่กี่เดือน ภารกิจทีม 2 ก็ยุติลง

ปัจจุบัน สิ่งปลูกสร้างในไบโอสเฟียร์ 2 อยู่ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยแห่งอริโซน่า ขณะที่อาสาสมัครบางรายที่ยังมีชีวิตอยู่ (บางรายอยู่ในวัย 90 แล้ว) ยังอาศัยด้วยกันใน Synergia Ranch บางรายไปตั้งชุมชนเกษตรในพื้นที่ใกลเคียงไบโอสเฟียร์ 2

ไม่ว่าคุณูปการในทางวิทยาศาสตร์ของโปรเจคต์นี้จะมีมากน้อยเพียงใด สิ่งที่ยังหลงเหลือมาจนวันนี้คือข้อมูลภาพและวิดีโอซึ่งถูกบันทึกระหว่างทำภารกิจยังคงอยู่ มีฟุตเทจจากฟิล์มและวิดีโอความยาวรวมทั้งหมดมากกว่า 600 ชั่วโมง สามารถติดตามส่วนหนึ่งได้ในภาพยนตร์สารคดี Spaceship Earth

เพิ่มเติม : การวิเคราะห์ข้อมูลผลการทดลองในเชิงวิทยาศาสตร์จากโครงการไบโอสเฟียร์ 2 เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์หลายเล่ม ข้อมูลที่ถูกรวบรวมครอบคลุมหลายด้าน ตัวอย่างหนึ่งที่นักวิชาการวิเคราะห์คือเรื่องการใช้อากาศหมุนเวียนภายในอาคารที่ล้มเหลว 

มหาวิทยาลัยอริโซน่า วิเคราะห์เรื่องนี้เอาไว้ว่า เนื่องด้วยสภาพโครงสร้างอาคารแบบปิดอย่างหนาแน่น ภายในมีดินออร์แกนิก (organic soil) ในระดับอุดมสมบูรณ์ ดินเหล่านี้มีไว้เพื่อรองรับการจำลองระบบนิเวศและพืชผลที่ต้องการให้เติบโตอย่างรวดเร็วภายในอาคาร แต่ความอุดมสมบูรณ์ของตัวดินนี้กลับเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การทดลองดำรงชีวิตในอาคารแบบปิดโดยพึ่งพิงระบบรีไซเคิลอากาศ, น้ำ และของเสีย ไม่ประสบผลสำเร็จ

วงจรเมตาบอลิซึมในดิน (Soil metabolism) และอัตราการกักเก็บคาร์บอนในดินมีอัตราสูงจนทำให้องค์ประกอบของสภาพบรรยากาศ(หรืออากาศ)ภายในเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จุลินทรีย์ในดินดูดซับออกซิเจนในอากาศและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากดินกลับคืนสู่บรรยากาศมากเกินกว่าศักยภาพของระบบสังเคราะห์ของพืชในการดูดซับและผลิตออกซิเจนกลับคืนออกมาได้ทัน แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีค่าเกินไปนั้น ถูกดูดซับโดยโครงสร้างคอนกรีตที่ไม่ถูกซีลปิดทับใดๆ ของตัวอาคารจนระดับออกซิเจนลดลงอย่างรวดเร็ว นักวิเคราะห์มองว่า หากจะให้ผู้อาศัยภายในตัวอาคารดำรงชีพอยู่ได้ การผลิตออกซิเจนเสริมเพื่อมาชดเชยกันจึงเป็นเรื่องจำเป็น

ผลการวิเคราะห์การทดลองด้านอื่นๆ สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากลิงก์เหล่านี้


อ้างอิง:

Rose, Steve. “Eight go mad in Arizona: how a lockdown experiment went horribly wrong”. The Guardian. Online. Published 13 JUL 2020. Access 4 JAN 2021. <https://www.theguardian.com/film/2020/jul/13/spaceship-earth-arizona-biosphere-2-lockdown>

Rogers, Kara. “Biosphere 2”. Britannica. Online. Access 4 JAN 2021. <https://www.britannica.com/topic/Biosphere-2#ref1121158>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2564