ข้อคิดใหม่บางประการเกี่ยวกับสุโขทัย

ผมได้โอกาสพาอาจารย์ติสสะ รณสิงห์ ประติมากรชั้นนำของศรีลังกา และอดีตคณบดีฝ่ายช่างหล่อที่วิทยาลัยศิลปากรหลวง (Royal College of Arts) กรุงลอนดอน ไปเที่ยวชมศิลปกรรมและโบราณสถานเมืองสุโขทัย ทำให้ผม (และคุณติสสะ) ตาสว่างขึ้นเล็กน้อยในบางเรื่องที่เคยสงสัยมาก่อน

อาจารย์ฉลวย จารุพานานนท์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ยังอำนวยความสะดวกทุกประการโดยเฉพาะที่พักอันเงียบร่มเย็นสุขสบาย จึงได้เข้าถึงความงามของสุโขทัยอย่างอิ่มอกอิ่มใจ

ประการแรกที่ผมและติสสะสังเกตคือความงามยิ่งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่อยู่นอกประตูเมืองทางทิศเหนือ ห่างกำแพงเมืองประมาณหนึ่งกิโลเมตร ศูนย์บริการนี้เป็นของใหม่แท้ๆ แต่ออกแบบอย่างเท่สุดๆ จนผมกับเพื่อนต่างปรารภว่า วังหลวงสมัยสุโขทัยน่าจะมีเสน่ห์เช่นนี้ ผิดกับอาคารพิพิธภัณฑ์สุโขทัยที่แสนจะไม่มีเสน่ห์เอาเสียเลย

ปัญหามีอยู่ว่า ศูนย์บริการอันแสนงามนี้ตั้งอยู่ในที่ลี้ลับห่างเส้นโคจรของนักท่องเที่ยว จึงไม่ค่อยมีใครเข้าชม ไม่มีโปสการ์ด หรือโปสเตอร์ขาย และไม่มีหนังสืออธิบาย

อาจารย์ติสสะช่วยแก้ว่า “เหมือนที่ลังกา เขามีอะไรห่วยๆ ที่โฆษณากันนักหนา แต่ของดีๆ สุดเท่ (เช่นพิพิธภัณฑ์ใหม่กรุงโปโลนนารุวะ) ไม่ยักกะป่าวประกาศ ไม่มีโปสการ์ด ไม่มีโปสเตอร์ ไม่มีหนังสืออธิบาย ชาวโลกจึงไม่มีสิทธิจะรู้จัก หรือรู้จักแล้วก็ไม่มีอะไรหิ้วกลับบ้านเป็นที่ระลึกอวดเพื่อนดู”

ประการที่สอง การบูรณะ

ในด้านการบูรณะโบราณสถาน อาจารย์ติสสะมีมุมมองผิดกับผม ก่อนขึ้นไปสุโขทัยผมให้ดูรูปถ่ายเก่าว่าปรักหักพังเพียงใด แล้วอธิบายว่ากรมศิลป์บูรณะโดยพลการอย่างไร ที่สุโขทัยผมพาติสสะไปชมมณฑปวัดตระพังทองหลาง (ที่อยู่ในสภาพแย่มาก), วัดมหาธาตุ, วัดสรศักดิ์, วัดตระพังตระกวน, วัดตระพังเงิน, วัดพระพายหลวง และวัดศรีชุม ที่ติสสะเข้าไปกราบไหว้ “พระอจนะ” ทั้งๆ ที่ผมบอว่าเป็นของปั้นใหม่

เสร็จแล้วอาจารย์ติสสะเสนอความคิดว่า “เออน่า อย่าไปโทษกรมศิลป์ เมืองอิฐเมืองปูนจะรักษาสภาพเดิมไม่ได้เพราะแพ้แก่ดินฟ้าอากาศ รากหญ้า และการเหยียบย่ำของคน หากกรมศิลป์ศึกษาและถ่ายรูปโบราณสถานให้ทั่วแล้วเปิดเผยให้สาธารณชน ก็ควรปล่อยให้เขาบูรณปฏิสังขรณ์ตามเค้าเดิมเท่าที่มีหลักฐานอยู่ โดยระบุชัดๆ บนป้ายว่า ‘วัด…บูรณะเมื่อ พ.ศ….โดย…’ แล้วยังควรมีหนังสือขายที่แสดงรูปถ่ายโบราณสถานในสภาพเก่า-ใหม่ และอธิบายหลักฐานและหลักการที่ใช้ในการบูรณะ หากทำเช่นนี้แล้วนักปราชญ์ไม่น่าจะติเตรียนได้ และคนที่ไม่รู้เรื่องโบราณคดีจะได้มีอะไรสวยๆ งามๆ ดูเป็นขวัญตา ซ้ำยังมีสิทธิรู้ว่าอะไรเก่า อะไรใหม่ และใครทำเมื่อไร”

ผมฟังอาจารย์ติสสะแล้วอยากชวนให้กรมศิลป์บูรณะปูนปั้นรอบพระมณฑปวัดตระพังทองหลาง (ที่แทบไม่เหลือแล้ว) ตามหลักฐานที่มีในรูปถ่ายเก่า แต่ต้องทำกันอย่าง “โปร่งใส” ไม่ใช่หลอกกันเล่น นอกจากนี้ยังอาจบูรณะปูนปั้นที่วัดมหาธาตุและวัดพระพายหลวง โดยใช้ประติมากรฝีมือดี ไม่ใช่บริษัทรับเหมาที่ถนัดหล่อศาลพระภูมิซีเมนต์

ประการที่สาม “เนินปราสาท”

ครั้นไปถึงหน้าวัดมหาธาตุผมชี้ให้ติสสะดู “เนินปราสาท” เขาก็ทักทันที่ว่า “Sannipātasālāva” (สันนิบาตศาลา) แล้วยกรูปถ่ายลาน “สันนิบาตศาลา” นอกวัดอภัยคีรี กรุงอนุราธปุระ

ปัจจุบันนี้วัดลังกาไม่มีสันนิบาตศาลา แต่ยังใช้คำนี้หมายถึง “ศาลาประชาคม” จากลักษณะทางสถาปัตยกรรม (ลานโล้นๆ) และหลักฐานในตำนานและจารึก เขาเข้าใจว่าสันนิบาตศาลามีประโยชน์ใช้สอยตรงข้ามกับโรงอุโบสถที่ทำสังฆกรรมโดยเฉพาะ สันนิบาตศาลามีไว้เฉพาะวัดใหญ่วัดหลวงเพื่อเป็นที่ประชุมทั้งข้าราชการและภิกษุสงฆ์ทั้งวัดซึ่งจะทำบุญทำทานทั้งวัดหรือหารือปรึกษาปัญหาบ้านเมือง หรือความขัดแย้งทางนิกายต่างๆ เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

ประการที่สี่ : เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์

เดินชมวัดแล้ววัดเล่า แล้วติสสะปรารภกับผมว่า เจดีย์ทรงลังกาที่สุโขทัยนั้นงามนักหนา และออกแบบเท่กว่าที่ลังกาเสียอีกเป็นไหนๆ แต่เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์หากไม่บอกชาวลังกาไม่อาจจะเดาได้ว่าเป็นเจดีย์ เพราะดูไม่ออกจริงๆ

ผมเองดูเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ไม่ออก มันออกแบบไม่กลมกลืน ท่อนล่างเป็นพีระมิดไม่ประดับ ท่อนกลางเป็นปรางค์ย่อมุมยอดด้วน ท่อนยอดดูคล้ายเจดีย์มอญ มันหมายความว่าอย่างไร?

วันรุ่งขึ้นผมตื่นแต่รุ่ง สูบบุหรี่ไม่ได้เพราะน้ำมันในไฟแช็กเสือกหมด จึงเดินออกไปคนเดียวหมายจะขอต่อไฟจากยามหน้าวัดตระพังเงิน พ่นควันออกแล้วหันไปดูเจดีย์ทรงลังกาวัดตระพังตระกวนแต่ห่างไกล ผมหันไปหันมาแล้วเกิดตาสว่างขึ้นมา

หากท่านผู้อ่านสนใจประสบการณ์นี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงสุโขทัย (และไม่จำเป็นต้องสูบบุหรี่ในขณะที่นางอุษาเทวีกำลังคลี่พระวิสูตรให้สุริยเทพเสด็จขึ้นฟ้า) ขอให้เพียงดูสองรูปข้างบนโดยใช้มือปิดรูปขวาบ้างซ้ายบ้าง

เห็นไหม?

ไม่มีทางที่เจดีย์ทรงลังกาจะพัฒนามาจากเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ และไม่มีทางที่เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์จะพัฒนามาจากเจดีย์ทรงลังกา

มันไม่เป็นญาติกัน เป็นคนละเรื่องกัน และความต่างกันทางสถาปัตยกรรมนี้น่าจะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างนิกาย ไม่ใช่เพราะใครนึกฝันอยากสร้างเจดีย์แบบนี้แบบนั้น

หลักฐานความขัดแย้งระหว่างนิกายต่างๆ มีไม่ครบ แต่ตำนานมูลศาสนาฉบับต่างๆ และจารึกบางหลักระบุถึงความขัดแย้งระหว่างนิกายเดิม (มอญ? เขมร?) กับนิกายลังกาวงศ์ และระหว่างลังกาวงศ์เก่า (ของสุมณะเถร) กับลังกาวงศ์ใหม่ (ฝ่ายวัดป่าแดง) ที่ออกไปบวชใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕

ปัญหามีอยู่ว่า ความขัดแย้งระหว่างนิกายที่นิยมเจดีย์ทรงลังกากับนิกายที่นิยมเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์เกิดขึ้นเมื่อไร? ครั้งพญาลิไทในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ หรือในสมัยพระนารายณ์ (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗)

กว่าจะตัดสินใจเรื่องนี้เห็นจำจะต้องพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลป์ของอาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ ผนวกกับประวัติศาสตร์เกาะลังกา ซึ่งจะเขียนขึ้นมาในวันหน้า


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 27 มกราคม พ.ศ.2560