ผู้เขียน | ผิน ทุ่งคา |
---|---|
เผยแพร่ |
สำรวจที่มาที่ไปของการบุกทลาย “บ้านญวนสามเสน” แหล่งต้ม สุราเถื่อน ในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐบุกทำลายได้อย่างไร
ในรัฐสมัยใหม่กลไกการบังคับใช้กฎหมายถือว่ามีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ การเอาผิดกับคนที่อยู่ภายใต้บังคับไม่ใช่สิ่งที่เหลือบ่ากว่าแรง (ยกเว้นแต่จะเป็นพวกคนใหญ่คนโต ซึ่งกระบวนการยุติธรรมในรัฐกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยกล้าเข้าไปยุ่ง) และนั่นก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้รัฐมีความเป็นเอกภาพ ทำให้ผู้คนยอมรับในการปกครองภายใต้กฎหมาย เพราะทุกคนจะได้ประโยชน์ร่วมกันภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน
แต่เมื่อกฎหมายพัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ จากที่เคยเป็นเครื่องมือที่คอยปกป้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์เป็นหลัก ก็กลายมาเป็นข้อกำหนดด้วยเหตุผลทางเทคนิคมากขึ้น
เหมือนอย่างเรื่องการควบคุมการผลิตสินค้าจำพวกสุรา หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นด้วยเหตุผลทางด้านศีลธรรม แต่เปล่าเลย เพราะถ้าการดื่มเหล้ามันเลวร้ายหนักหนา ทำไมรัฐจึงยอมให้นายทุนบางกลุ่มหาประโยชน์จากการขายเหล้าได้ แต่คนตัวเล็กๆ จึงขายไม่ได้ เหตุใดพ่อค้ารายใหญ่จึงได้รับการยกเว้นกันเล่า?
เหตุผลสำคัญแต่เดิมที่ต้องจำกัดให้คนบางกลุ่มผูกขาดการขายสินค้าบางชนิดได้ หลักๆ ก็คือ มันง่ายต่อรัฐในการจัดเก็บผลประโยชน์ (ตอนหลังอาจมีเรื่องอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง เช่นเรื่องของสุขภาพ และความปลอดภัย) พูดง่ายๆ ว่าแทนที่จะไปไล่เก็บผลประโยชน์จากรายย่อยๆ ก็โอนสิทธิประโยชน์ที่จะหาได้จากตลาดไปให้รายใหญ่ แล้วค่อยไปเก็บผลประโยชน์จากรายใหญ่ทีเดียว ส่วนรัฐก็คอยอำนวยความสะดวกให้กับพ่อค้ารายใหญ่ด้วยการให้มาตรการบังคับไม่ให้รายใหญ่ต้องมากังวลกับการแข่งขันจากรายย่อย
ถ้าเราย้อนกลับไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็จะเห็นได้ว่า ในสมัยนั้น การจัดเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐ รวมถึงภาษีอากรสุราไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะกลไกรัฐไม่เข้มแข็งพอ
เหตุการณ์ตัวอย่างคือกรณีของ “ชุมชนบ้านญวนสามเสน” ถิ่นฐานของชาวเวียดนามเข้ารีตที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยมีการทำสงครามอานามสยามยุทธในยุคพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งภายหลังก็ยังมีพวกชาวเขมรเข้ารีตตามมาสมทบอีก
และที่ชุมชนบ้านญวนสามเสนนี้เองที่เป็นพื้นที่สำคัญในการผลิตสุราเถื่อนนับหลายสิบปี เหมือนที่หลวงไมตรีวานิช นายอากรสุรา ได้ร้องเรียนไว้เมื่อปี พ.ศ. 2448 ว่า “ในมณฑลกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ก็เกิดสุราเถื่อนชุกชุมทั่วไปทุกตำบล มีบ้านญวนสามเสนเป็นต้น ซึ่งพวกญวนมีใจกำเริบตั้งต้มกลั่นสุราเถื่อน แลจำหน่ายเป็นการเปิดเผยให้แก่ราษฎรทั่วไป มักจะลอบขนส่งชาวร้านแลชาวเรือในเวลากลางคืน”
ซึ่งปัญหาสุราเถื่อนก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก มีการบันทึกเอาไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2443 รัฐต้องขาดทุนอากรสุรากว่า 2.4 แสนบาท
เหตุที่บ้านญวนสามเสนสามารถค้าสุราเถื่อนได้นานขนาดนั้นก็เพราะรัฐยังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากระบบมูลนายไปสู่รัฐสมัยใหม่ที่มีอำนาจแบบรวมศูนย์ ซึ่งระบบเดิมยังมีช่องโหว่อยู่มาก ขณะที่หน่วยงานใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นก็ยังเกรงอำนาจขุนนางเดิม เห็นได้จากการแก้ปัญหาสุราเถื่อนในบ้านญวนช่วงแรกๆ เจ้าภาษีสุราเลือกที่จะเสนอเงินให้กับบาทหลวงปีละ 50-70 ชั่ง เพื่อให้ช่วยห้ามปรามชาวชุมชน แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น เมื่อเพิ่มรายได้ให้บาทหลวงเป็นเดือนละ 500 บาท บาทหลวงก็ส่งคนไปประกบเจ้าภาษีขณะตรวจตรา แต่ชาวบ้านก็อ้างว่าตัวเองเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส
ครั้นเมื่อเจ้าภาษีไปขอหมายจากกงศุลฝรั่งเศส ชาวบ้านก็อ้างว่าตนเป็นคนในบังคับของพระบรรฦาสิงหนาท (ภายหลังได้เป็น พระยาบรรฦาสิงหนาท) หัวหน้าชุมชนบ้านญวนซึ่งขึ้นกับกระทรวงกลาโหม แต่เมื่อเจ้าภาษีไปขอความช่วยเหลือจากพระบรรฦาสิงหนาท กลับกลายเป็นว่า ลงท้ายเจ้าภาษีก็ถูกพระบรรฦาสิงหนาทเรียกผลประโยชน์ให้กับตน และหัวหน้าพวกทำสุราเถื่อนเสียอีก
สุดท้ายเจ้าภาษีก็ต้องไปขอความช่วยเหลือจากกองตระเวณ แต่กองตระเวณก็ยังต้องขออนุญาตจากกระทรวงกลาโหมก่อนทำการตรวจค้น ทำให้พระบรรฦาสิงหนาทสามารถถ่วงเวลาเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องได้ การจับกุมในบ้านญวนสามเสนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 แต่การที่หัวหน้าชุมชนไม่ให้ความร่วมมือการปราบปรามก็ไม่สำเร็จได้โดยง่าย
กรณีดังกล่าวทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า “กระทรวงนครบาลมีอำนาจที่จะปกครองคนในตำบลต่างๆ ได้ทั่วทั้งเมือง เหตุใดที่ตำบลบ้านญวนสามเสนเล็กนิดเดียวเท่านั้นจึงไม่คิดอ่านปกครอง ยกเปนพแนกหนึ่งต่างหากจากพระราชอาณาเขตรสำหรับกระทรวงกลาโหมฤๅบาดหลวงปกครองเห็นว่าที่เปนอยู่เช่นนี้ผิดด้วยพระราชบัญญัติลักษณปกครองท้องที่ ถ้าเสนาบดีกระทรวงนครบาลแลเสนาบดีกระทรวงกลาโหมทั้งปลัดทูลฉลองด้วยทั้งสองกระทรวงพร้อมกันคิดอ่านปกครองบ้านญวนนี้ให้เหมือนดังที่อื่นๆ ในพระราชอาณาเขตรทั่วไปเท่านี้ไม่ได้ทีเดียวหรือ ลักษณปกครองท้องถิ่นนั้น ก็คือ มีอำเภอกำนันผู้ใหญ่บ้านรับผิดชอบลงไปเปนชั้นๆป้องกันไม่ให้ราษฎรลูกบ้านประพฤติความชั่วผิดพระราชกำหนดกฎหมายนั้นเปนที่ตั้ง จึงขอสั่งว่าให้พิจารณาดูในการที่จะป้องกันเล่าเถื่อนนี้โดยทางปกครองท้องที่ อย่าให้ยกว่าหมู่บ้านนี้อยู่ในกระทรวงโน้นกระทรวงนี้ ข้อที่นับว่าคนอยู่ในกระทรวงโน้นกระทรวงนี้ด้วยทางที่รับราชการต่างหากไม่ได้เกี่ยวข้องในการปกครองท้องที่ในตำบลหนึ่งซึ่งอยู่ในพระนคร”
และการที่รัฐสมัยใหม่ค่อยๆ มีกลไกในการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งขึ้นนี่เองที่ทำให้การผูกขาดกิจการต่างๆ ของกลุ่มนายทุนบางกลุ่มเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการปกป้องผ่านนโยบายที่อาศัยอำนาจรัฐ ซึ่งในบริบทหนึ่ง การให้นายทุนได้ผูกขาดกิจการใดๆ อาจมีความสมเหตุสมผลอยู่ เหมือนเช่นกิจการสุราในยุคก่อน ที่การจัดเก็บภาษีจากรายย่อยๆ คงเป็นเรื่องที่วุ่นวาย สู้กวาดล้างครั้งใหญ่ให้คนกลัวจนไม่กล้าทำ แล้วให้ผลประโยชน์ไปเข้ากระเป๋ารายใหญ่เต็มๆ ซึ่งก็จะทำให้รัฐได้ผลประโยชน์จากรายใหญ่มากขึ้นตามไปด้วย
ขณะที่ในปัจจุบันบริบทดังกล่าวก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว กิจการสุรากลายเป็นตลาดที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำสำหรับนายทุนใหญ่มานาน ไม่ใช่กิจการสำคัญและจำเป็นที่รัฐจะต้องโอบอุ้มเพื่อให้เกิดกำไรเพียงพอที่จะดำเนินกิจการไปได้ การเปิดโอกาสให้รายย่อยได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดก็ไม่น่าจะกระทบต่อรายได้ของรัฐ เพราะการจัดเก็บภาษีในปัจจุบันก็มีฐานข้อมูลจัดเก็บเป็นระบบ และมีกลไกบังคับที่มีประสิทธิภาพ
เว้นแต่รัฐจะกังวลเรื่องสุขภาพ ศีลธรรม หรือปัญหาอาชญากรรม จึงต้องการจำกัดจำเลย (ทางสังคม) ไว้เพียงกลุ่มเล็กๆ (แต่ก็เป็นจำเลยที่มั่งคั่งจนหลายๆ คนอิจฉา และไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรับโทษทัณฑ์จริงๆ เหมือนจำเลยในโรงในศาล)
อ้างอิง:
นทพร อยู่มั่งมี. “การปราบปรามการผลิตและค้าสุราเถื่อนในกรุงเทพฯ ภาพสะท้อนการจัดการเมืองของรัฐสมัยใหม่” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2559
ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในระบบออนไลน์ล่าสุดเมื่อ 27 กรกฎาคม 2562