ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
ปี 2462 ปรีดี พนมยงค์ อาสาเป็นทนายความให้จำเลย คือ นายลิ่มซุ่นหงวน ใน “คดีประทุษร้ายส่วนแพ่ง” หรือ “คดีพลาติสัย” โดยได้ขออนุญาตเป็นพิเศษต่อผู้พิพากษาเจ้าของคดี เพราะขณะนั้นนายปรีดีอายุ 19 ปี ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และยังศึกษาวิชากฎหมาย โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม
บรรดาทนายความอาวุโสพากันยิ้มเยาะทนายหน้าใหม่อย่างนายปรีดีที่ไม่มีใครรู้จัก และยังไม่เคยว่าความมาก่อนเลยในชีวิต อาสาว่าความในคดีที่ไม่มีใครยอมเป็นทนายให้ และนายปรีดียังว่าความชนะคดีในที่สุด ทำให้มีชื่อเสียงในวงวิชาชีพกฎหมาย
คดีพลาติสัย ดังกล่าวนั้น อัยการสมุทรปราการเป็นโจทก์ฟ้องนายลิ้มซุ่นหงวน จำเลยในคดีประทุษร้ายส่วนแพ่งว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน ปี 2461 เรือโป๊ะ ชื่อตงหลี ของนายลิ่มซุ่นหงวน ซึ่งจอดอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ถูกพายุพัดไปโดนพลับพลาซึ่งเป็นสถานที่ของรัฐบาลที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำจนได้รับความเสียหาย จึงขอให้ใช้ค่าเสียหายเป็นราคา 600 บาท
การสู้คดีนั้นในศาลชั้นต้น อัยการโจทก์เป็นผู้ชนะคดี แต่ภายหลังนายปรีดีทนายจำเลยได้ยกข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็พิพากษาเห็นต้องกันให้ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ชนะคดีไปในที่สุด
ข้อกฎหมายอันสำคัญที่ปรีดีใช้ในการอุทธรณ์และสร้างความยุติธรรมขึ้นมาได้แก่หลักคิดเรื่อง “ภัยนอกอำนาจ” ซึ่งท่านได้มาจากกฎหมายตราสามดวง อันเป็นกฎหมายเก่ามาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ปรีดีได้พูดถึงคดีนี้ในเวลาต่อมาว่า “ผมในฐานะทนายต่อสู้ว่าเป็นภัยนอกอำนาจ เวลานั้นยังไม่มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้ศัพท์ใหม่ว่า ‘เหตุสุดวิสัย’ ผมจึงต้องใช้ศัพท์เก่าที่ปรากฏในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จอ้างคดีตัวอย่างสมัยพระเอกาทศรถ ในคดีจีนงุยจีนก่งเส้งที่ผู้เช่าสำเภาไปค้าขายและถูกพายุอับปางลงกลางทะเล เจ้าของเรือได้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย คดีว่ากันถึงฎีกาต่อพระเอกาทศรถซึ่งทรงวินิจพอว่าเป็นภัยนอกอำนาจ ผู้เช่าเรือไม่ต้องใช้ค่าเสียหาย” [เน้นโดยผู้เขียน]
กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จที่นายปรีดี พนมยงค์ อ้างถึงคือ มูลคดีวิวาท ตามพระบาฬี ในพระธรรมสาตรอันโบราณราชกระษัตริย์จัดเป็นบทมาตราสืบมา ปรากฏในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ บทที่ 24 ดังนี้ [ตัวสะกดตามต้นฉบับ]
“…ด้วยลูกค้าวานิชข้าขอบขันธเสมา แลนา ๆ ประเทศสบไสมยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งบ้านเรือนอยู่ค้าขาย ณะกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดี ศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ และจีนงุยจีนก๋งเส้งวิวาทแก่กันว่า จีนงุยเช่าสำเภาจีนก๋งเส้งไปค้าขาย สำเภาต้องพยุหอับปาง จีนก๋งเส้งเจ้าสำเภาจะคิดเอาค่าสำเภาแก่จีนงุย ข้าพระพุทธเจ้า มิรู้ที่จะเรียกให้ฉันใด ขอพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการพิพากษา
จึงพระบาทสมเด็จเอกาทธรฐ อิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการมารพระบัณฑูรดำรัสแก่พระมหาราชครูพระครูปะโรหิตาจารย์ ราชสุภาวดีศรีบรมหงษ์องค์บุรุโสดมพราหมณพฤฒาจารย์ แลเจ้าพระยาศรีธรรมราชเดชะชาติอำมาตยานุชิตพิพิธรัตนราชโกษาธิบดีอไภยพิริยปะรากรมพาหุ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาไว้
แต่นี้สืบไปเมื่อน่าถ้าลูกค้าวานิชต่างประเทศสบไสมย เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งเรือนอยู่เป็นข้าขอบขันธเสมาก็ดี แลเข้ามาค้าขายตามกำหนดมรสุมก็ดี แลเช่าสำเภานาวาแก่กันไปค้าขายยังประเทศอันใด อันสุดหล้าฟ้าเขียวแลสำเภาต้องพยุห แลเสากระโดงหัก จังกูดคริดครื แลอับปางแตกเสียก็ดี แลไปกลางทเลสลัดตีเอาไปก็ดี ถ้าแลใช้ใบไปตลอดทอดท่าแล้วตกศึกก็ดี แลอะสุนีตกต้องสำเภาก็ดี แลเพลิงไหม้หอบลามมาไหม้สำเภาก็ดี
ท่านว่าเปนกาลกำหนดอายุสำเภานั้น ต้องด้วยราชไภย โจรไภย อัคคีไภย อุทกะไภย แลจะเอาค่าเช่าสำเภาแก่กันมิได้ เหตุใดจึงกล่าวดังนี้ เหตุว่าถึงกาลวิบัติแห่งสำเภา…”
ศ. (พิเศษ) ดร. ปรีชา สุวรรณฑัต อธิบายเกี่ยวกับคำว่า “เหตุสุดวิสัย, ภัยนอกอาจ, พลาติสัย” [พลาติสัย หรือพลาดิสัยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า “มีกำลังยิ่ง”] ไว้ดังนี้
“เหตุสุดวิสัย เป็นข้อแก้ตัวของลูกหนี้มิให้ต้องรับผิด ให้ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 และ 437 ฯลฯ เว้นแต่มีสัญญาบ่งไว้ว่าลูกหนี้จะต้องรับผิดเสมอถึงแม้เหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น หรือในกรณีย์ที่เหตุสุดวิสัยนั้นเกิดขึ้นในระวางที่ลูกหนี้ผิดนัด หรือเป็นเพราะความผิดของลูกหนี้ ฯลฯ ให้ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213, 214, 202, 372, ฯลฯ เพราะฉะนั้นคำว่า เหตุสุดวิสัย ก็ตรงกับคำว่า ภัยนอกอำนาจ หรือภัย 4 ประการ ตามกฎหมายลักษณเบ็ดเสร็จ บทที่ 74 คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย ซึ่งมีความหมายรวมไปถึงภัยอื่น ๆ อันบุคคลไม่สามารถป้องกันให้เกิดขึ้น เช่น พายุ…
มีข้อสังเกตว่าเหตุ ‘พลาติสัย’ เป็นคำกฎหมายก่อนที่จะบัญญัติศัพท์คำว่า ‘เหตุสุดวิสัย’ ขึ้นในมาตรา 8 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำแปลภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘Force majeure’ หรือ ‘Cas fortuit’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้อยู่ในกฎหมายฝรั่งเศสและมีความหมายกว้างถึงทุกเหตุการณ์ (tout evenement) ไม่ว่าจะเป็นเหตุธรรมชาติ (force dela nature) การกระทำของรัฐ (fait du prince) หรือเกิดจากการกระทำของบุคคลที่สาม (fait d’un tiers) ความสำคัญขึ้นอยู่ที่ว่าไม่มีใครอาจป้องกันได้ จึงจะปลดเปลื้องจากความรับผิด (la force majeure est exonératoire)
ส่วนคำในกฎหมายอังกฤษใช้ว่า Act of God มีความหมายแคบกว่าคำว่า ‘Fore majeure’ ของคำในกฎหมายฝรั่งเศส เพราะจำกัดเฉพาะเหตุการณ์ตามธรรมชาติไม่รวมถึงการกระทำของ มนุษย์ (Act of man) ถ้าเทียบตามกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 74 ที่อ้างไว้ในข้อ 2 ก็ไม่ครอบคลุมถึง ราชภัย และ โจรภัย อันเป็นการกระทำของมนุษย์ แต่อย่างไรก็ดี คำเก่าที่ธรรมศาสตราจารย์ใช้กันมาว่า ‘ภัยนอกอำนาจ’ ก็ยังมีความหมายที่แหลมลึกและใกล้เคียงกับคำว่า Force majeure มากกว่าคำว่า ‘เหตุสุดวิสัย’ ” [เน้นโดยผู้เขียน]
ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เคยกล่าวถึงเรื่อง “ภัยนอกอำนาจ” ไว้ว่า
“เรื่องนี้ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษในคำศัพท์ที่ปรีดีใช้แต่สมัยนั้น คือคำว่า ‘ภัยนอกอำนาจ’…เข้าใจว่าศัพท์ ‘ภัยนอกอำนาจ’ จะเป็นคำประดิษฐ์ขึ้นใหม่ของปรีดีเองหรือมีใช้อยู่ในสมัยนั้นก็ได้ จุดเด่นของปรีดีคือ การที่ท่านนำเอาวลีนี้ไปอิงกับหลักคิดในกฎหมายตราสามดวง สร้างความต่อเนื่องกับกฎหมายเก่าขึ้นมาได้
แม้ ‘ภัยนอกอำนาจ’ ที่ว่านี้ หมายถึงนอกอำนาจของบุคคล ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา บุคคลยังไม่มีฐานะอันเป็นอิสระของตัวเองได้ จึงไม่มีอำนาจอะไรที่จะเป็นฐานให้กับหลักคิดในกฎหมายได้ ตัวอย่างคดีพลาติสัยกับมโนทัศน์ภัยนอกอำนาจ ผมมองว่าเป็นการสร้างความต่อเนื่องระดับหนึ่งของแนวความคิดทางกฎหมายไทยจากกฎหมายเก่าสู่กฎหมายสมัยใหม่
พิจารณาในด้านประวัติภูมิปัญญาของสังคมไทย ความสำคัญของการเกิดมโนทัศน์ “ภัยนอกอำนาจ” คือการที่ส่วนหนึ่งของสังคมสยามขณะนั้น เริ่มตระหนักและรู้สึกถึงความสำคัญของบุคคลหรือปัจเจกบุคคล ความสำคัญนี้ไม่ใช่เพียงการเป็นมนุษย์และดำรงชีวิตอย่างมีศีลธรรมตามคำสั่งสอนในศาสนาที่แต่ละคนเชื่อถือ และปฏิบัติตนยึดถือคำสั่งของรัฐเป็นสรณะ…หากแต่เป็นความพยายามที่จะยกระดับให้คนข้างล่างได้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายของระบบการเมืองและเศรษฐกิจสังคมได้ด้วย โดยไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับและร้องขออย่างไม่มีบทบาทและ ฐานะที่เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองบ้างเลย” [เน้นโดยผู้เขียน]
อ่านเพิ่มเติม :
- ดูมโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ทาบกับ “เศรษฐศาสตร์ของชาร์ลส์ จิ๊ด”
-
กำเนิดทนายหลวงว่าความแผ่นดิน จาก “กรมอัยการ” สู่ “อัยการสูงสุด”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ปรีชา สุวรรณทัต. “นายปรีดี พนมยงค์ ทนายความคดี ‘พลาติสัย’ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 115 พ.ศ. 2463”ใน, ประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชน ของปรีดี พนมยงค์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบ 100 วัน แห่งการอสัญกรรมของผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ 9 สิงหาคม 2526
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. ความคิดการเมืองไพร่กระฎุมพี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ธันวาคม 2563