เบื้องหลังการฟื้นฟู บ้านพระราชวรินทร์ (พระยศเดิมของรัชกาลที่ 1) สู่หอไตร ในวัดระฆัง

บ้านพระราชวรินทร์ หรือหอไตรวัดระฆัง ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2553)

อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ และ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เข้ามามีบทบาทกับงานอนุรักษ์บ้านพระราชวรินทร์ หรือหอไตรเดิมในวัดระฆังอย่างไรนั้น ผู้เขียนมาทราบภายหลัง โดยเฉพาะอาจารย์เฟื้อ ต้องถือว่าเป็นต้นเรื่อง เพราะได้เสนอให้กรมศิลปากรอนุรักษ์เรือนหลังนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 หลายปีต่อมา คุณนิจ หิญชีระนันท์ ได้เป็นผู้จุดประกายให้ผู้เขียนเข้ามาร่วมงานอนุรักษ์เรือนโบราณแห่งนี้ ในที่สุดแทนที่ต่างฝ่ายต่างดำเนินการโดยไม่รู้ซึ่งกันและกัน ก็ได้มารวมเป็นพลังเดียวกันโดยพรหมลิขิตอาจกำหนด

ในปี พ.ศ. 2507 ผู้เขียนได้กลับมาเมืองไทยหลังจากไปอยู่ในต่างประเทศมาแต่เยาว์วัย โดยได้มาทำงานประจำอยู่ที่สำนักผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มี คุณนิจ หิญชีระนันท์ เป็นผู้บังคับบัญชาในฐานะหัวหน้ากองผังเมืองรวม กองนี้ได้รับสมญานามเป็น กองผังเมืองโบราณ เพราะหัวหน้ากองสนใจผังเมืองโบราณและโบราณสถานมากกว่าผังเมืองในยุคปัจจุบัน

ด้วยผู้เขียนเรียนจบเพียงชั้น ม.1 (หรือ ป.5 ในปัจจุบัน) จึงไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเมืองไทย อีกทั้งภาษาไทยก็ลืมไปมาก คุณนิจจึงได้สั่งสอนภูมิหลังไทยๆ ให้ โดยมักจะพาไปกินก๋วยเตี๋ยวมื้อกลางวันหลังกระทรวงบ้าง หรือที่อื่นบ้าง แล้วก็เล่าประวัติของสถานที่ต่างๆ ให้ฟังมีอยู่วันหนึ่ง พาข้ามฟากไปฝั่งธนบุรี ไปดูวัดระฆัง (ในสมัยอยุธยา ชื่อวัดบางหว้าใหญ่) ณ ที่นั้น ได้ชี้ให้ดูเรือนไม้หลังหนึ่งตั้งอยู่กลางสระน้ำ ทำท่าจะพังลงมาเพราะเสาไม้ที่ค้ำอยู่ผุพังไปหลายต้น บางต้นผุจนขาดไปแล้วก็มี ส่วนตัวเรือนก็โทรมจนดูไม่ได้ คุณนิจตั้งกระทู้ถามว่า นี่บ้านต้นตระกูลของใคร?

เมื่อทำท่าฉงน คุณนิจจึงเล่าประวัติให้ฟังจากที่ได้อ่านในสาสน์สมเด็จและเอกสารอื่นๆ ว่าแต่เดิมเป็นบ้านของพระราชวรินทร์ ซึ่งรับราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพระราชวรินทร์เลื่อนขั้นในครั้งนั้น ท่านได้ถวายเรือนที่อาศัยอยู่ข้างวัดให้กับวัดระฆัง อาจเป็นไปได้ที่คนโบราณไม่เอาลาภยศเข้าตัวเอง แต่จะถวายให้เป็นพุทธบูชา เรือนที่พูดถึงแต่เดิมคงยกพื้นมีใต้ถุน หลังคามุงด้วยจาก มีห้องหรือสองห้องกับนอกชาน เมื่อถวายให้วัดแล้วเรือนดังกล่าวก็กลายเป็นกุฏิอยู่ท้ายวัด

เมื่อเจ้าพระยาจักรี หรืออดีตพระราชวรินทร์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้ว ก็ทรงคิดถึงเรือนเก่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าฉิมไปดูว่ายังอยู่หรือไม่ เมื่อทรงทราบว่าเรือนยังอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าฉิมดัดแปลงเป็นหอไตรในสระน้ำ มุงหลังคาเสียใหม่ด้วยกระเบื้อง อาราธนาพระอาจารย์นาคมาเขียนจิตรกรรมฝาผนัง และให้ช่างลงลายรดน้ำบานประตูหน้าต่าง ฯลฯ โดยเฉพาะบานประตูนอกชานนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นงานแกะสลักซึ่งถือกันว่าเจ้าฟ้าฉิมทรงงานด้วยพระองค์เอง

การขุดสระในครั้งนั้น ได้พบระฆังใบใหญ่ฝังอยู่ใต้ดิน ตีแล้วเสียงก้องกังวาน จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และให้หล่อระฆังเหมือนของเดิม 5 ใบ เพื่อถวายให้วัด ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดระฆังตามเหตุการณ์อันเป็นมงคลดังกล่าว

ไม่น่าเชื่อเลยว่าหอไตรอันสวยงามเช่นนี้ได้ถูกทอดทิ้งกลายเป็นครัวและในที่สุดเป็นโรงเก็บหีบศพ มีเขม่าจากการหุงต้มอาหารเคลือบจิตรกรรมฝาผนังด้านในจนเกือบมองไม่เห็นอะไร

ช่วงกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ นั้น หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนที่อังกฤษก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ชวนมาที่วังสระปทุมเฝ้าท่านแม่ กล่าวคือหม่อมเจ้าหญิงลุอิสา (Louisa) ซึ่งทรงเอ็นดูผู้เขียน ทำข้าวคลุกกะปิให้รับประทานโดยรับสั่งว่าไปอยู่เมืองนอกมาเสียนาน ต้องกินข้าวคลุกกะปิจะได้ไม่ลืมความเป็นไทย (จำได้ว่าท่านรับสั่งเล่าให้ฟังถึงการไว้เครายาวของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ว่าเป็นการประท้วงรัฐบาลจนเป็นที่ทราบกันในหมู่เจ้านายว่าเครายาวหมายถึงการประท้วง)

ด้วยข้าวคลุกกะปินี้เอง จึงมีโอกาสทูลท่านถึงเรื่องบ้านต้นตระกูล โดยขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านก็ทรงรีบนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ หลังจากนั้นไม่นาน ได้รับสั่งว่ามีพระกระแสรับสั่งว่าในเมื่อทางวัดไม่ต้องการเรือนหลังนี้แล้วก็ให้นายสุเมธไปจัดการรื้อและนำมาปลูกขึ้นใหม่ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดาฯ

เมื่อได้ยินเช่นนั้น ก็ทูลตอบไปว่าไม่ใช่ ซึ่งหากเป็นสมัยโบราณก็เท่ากับขัดพระบรมราชโองการซึ่งต้องโทษถึงที่สุด! และได้ทูลขอให้ไปเข้าเฝ้าอีกครั้งหนึ่งเพื่อกราบบังคมทูลว่าจุดประสงค์เพื่อขอพระราชทานเงินก้นถุงสำหรับนำไปอนุรักษ์เรือนหลังนี้ และต้องอนุรักษ์ไว้ในที่เดิม เพราะย้ายไปที่อื่นจะทำให้ผิดตำแหน่งทางด้านประวัติศาสตร์

ท่านหญิงก็ทรงเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกครั้ง ผลปรากฏว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน เงินก้นถุง มาให้ (ผู้เขียนยังเก็บสำเนาเช็คที่ในวังส่งมาให้!) จากนั้นผู้เขียนได้ไปเฝ้าท่านปิยะกับท่านสนิท รังสิต เพื่อขอเงินอนุรักษ์ ซึ่งก็ประทานมาให้ทันที และแล้วเงินบริจาคเพื่องานอนุรักษ์หอไตรก็เริ่มทยอยเข้ามาในบัญชีจนสามารถทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้เป็นส่วนใหญ่

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็ได้รณรงค์อนุรักษ์หอไตรวัดระฆัง ในการนี้ได้ชักนำ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ เข้ามาเป็นแม่งานที่สำคัญ ในที่สุดได้พบกันและร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นหลายคณะ ที่สำคัญคือนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ คุณวทัญญู ณ ถลาง ได้เป็นแรงช่วยผลักดันที่สำคัญ ส่วนประธานคณะดำเนินการคือ หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ มีนายสุเมธเป็นเลขานุการ ซึ่งหมายความว่าเป็นคนวิ่งเต้นอยู่เบื้องหลังเพราะในขณะนั้นเป็น เด็ก มากที่สุด

ในการอนุรักษ์หอไตรนั้น อาจารย์เฟื้อช่วยกำกับงานแกะสลักประตูนอกชาน (ประตูเดิมผุพังไปมาก ต้องขนย้ายเข้ามาเก็บไว้ในเรือน) อีกทั้งดำเนินงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังทั้งหมดด้วยตนเองด้วยความทรหดที่หาเปรียบได้ยาก ส่วนการอนุรักษ์สิ่งก่อสร้างอยู่ในพระวินิจฉัยของท่านยาใจ ซึ่งทรงตัดสินให้ย้ายหอไตรออกไปจากสระเดิม และให้ขยับที่ตั้งมาอยู่ด้านหน้าของบริเวณวัด อีกทั้งโปรดให้ประกอบเรือนขึ้นใหม่บนพื้นดิน ตัดเสาออก และมอบให้นายสุเมธจัดการออกแบบเสาใหม่เป็นเสาคอนกรีตเปลือย วิธีอนุรักษ์โบราณสถานซึ่งแสดงความแตกต่างระหว่างสิ่งก่อสร้างปัจจุบันและสิ่งก่อสร้างโบราณ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น ท่านได้นำไปใช้ที่ปราสาทหินพิมาย ทำให้นักโบราณคดีโจมตีท่านมาก แต่ท่านไม่สะเทือนพระทัย

ส่วนผู้เขียนก็จัดการตามรับสั่ง พร้อมทั้งออกแบบงานภูมิสถาปัตยกรรมและรั้วบริเวณ มีเรื่องพลาดที่ต้องสารภาพคือในการทำรังวัดเรือนโบราณเพื่อยกไปตั้งบนเสาคอนกรีต ลืมไปว่าเรือนไทย “สอบเข้า” ทั้งเสาและตัวเรือน เสาคอนกรีตที่ผู้เขียนออกแบบไม่ได้ สอบเข้า ผลก็คือเมื่อยกเรือนขึ้นมาบนเสาดังกล่าว เสากับผนังของตัวเรือนผิดศูนย์ หวุดหวิดเกือบตกเสาไป! แต่ถ้าไม่ใช่สถาปนิกหรือวิศวกร จะไม่สังเกตเห็นข้อผิดพลาดนี้

อีกหลายปีต่อมา หรืออีก 2 ปีจะถึง พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีฉลองพระนครครบ 200 ปี ผู้เขียนได้พบอาจารย์เฟื้อโดยบังเอิญที่หอศิลปเจ้าฟ้า (โรงกษาปณ์เดิม) อาจารย์รี่เข้ามาต่อว่า คุณสุเมธ! คุณทิ้งผมไป คณะกรรมการฯ และคณะทำงานก็หายไปหมด ผมต้องควักกระเป๋าเองและทำงานอยู่คนเดียวกับงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังจนกระทั่งตาจะบอด (ชี้สภาพตาที่ริบหรี่ให้ผู้เขียนดู)” และถามผู้เขียนว่า “อีก ๒ ปีจะฉลองพระนครครบ ๒๐๐ ปี อยากให้งานอนุรักษ์หอไตรนี้สำเร็จบริบูรณ์ จะช่วยผมได้มั้ย?”

ผู้เขียนต้องตรอมใจนอนไม่หลับไปคืนนั้น คิดถึงอาจารย์เฟื้อกับหอไตร แต่อยู่ดีๆ หม่อมราชวงศ์สฤษดิคุณ กิติยากร เพื่อนมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทเชลล์ (ประเทศไทย) โทรศัพท์มาบ่นว่าผู้ร่วมงานที่เชลล์เสนอโครงการฉลองพระนคร 200 ปี มาให้พิจารณาหลายโครงการ แต่ก็ไม่ถึงใจสักที ขอให้สุเมธช่วยออกความคิดให้หน่อย

เท่านั้นเองผู้เขียนก็รุดไปพบคุณชายที่บ้าน เสนอโครงการอนุรักษ์บ้านพระราชวรินทร์ให้พิจารณา คุณชายตัดสินใจรับโครงการทันที และในไม่ช้าเชลล์ก็เป็นเจ้าภาพงานอนุรักษ์ด้วยเงินจำนวน 2 ล้านบาท (ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเงินจำนวนไม่น้อย)

ทำให้งานอนุรักษ์บ้านพระราชวรินทร์ รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังอันล้ำค่า เสร็จสมบูรณ์ทันฉลองพระนคร 200 ปี

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2563