“คุณค่าปลาบึกที่สิ้นมนต์ขลัง” เมื่อพิธีบวงสรวงปลาบึกโกอินเตอร์ !?

บ้านเกิดผมอยู่สมุทรสาครเมืองชายทะเลแต่คุ้นเคยกับ “ปลาบึก” ปลาน้ำจืดมังสวิรัติขนาดใหญ่ที่สุดใน
โลกซึ่งพบเฉพาะถิ่นน้ำโขง นานกว่า ๒๐ ปีแล้วที่ผมได้ยินชื่อและพิธีกรรมล่า “ปลาบึก” ผ่านพ็อคเก็ตบุ๊กสารคดีแนวโลดโผน มีการนำเสนอทั้งเนื้อหาและภาพประกอบ กระชากผมจมลึก ขนาดไหนคงไม่ต้องเล่า เวลาผ่านไปนานแม้ไม่เคยร่วมพิธีโดยที่ฉากพิธีกรรมนั้นยังวนเวียนอยู่ในหัวเหมือนไปเห็นมาด้วยตาตัวเองคือคำยืนยัน ความทรงจำที่มีว่า

“…ราวเดือนเมษายน คณะล่าปลาบึกจะไปกันกลุ่มเล็กห้าหกคน ตั้งศาลบนเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขงที่ผุดขึ้นหลังน้ำลด นำเครื่องเซ่นบูชาเจ้าที่เจ้าทาง… ในเวลาค่ำก็เปลื้องผ้า ฟ้อนรำ เอ่ยคำสองแง่สองง่าม ยั่วให้ปลาบึกซึ่งมีศีลมีธรรมตบะแตก ลอยขึ้นจากเมืองบาดาลปรากฏตัวให้ล่าเป็นอาหาร…”

ภาพเขียนสี “ปลาบึก” บนผนังผากว้างยาว ผาแต้ม ริมแม่น้ำโขง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี อายุราว ๒,๕๐๐ ปี

เรื่องนี้ผมเคยอ่านจากหนังสือที่ลืมชื่อไปแล้ว และไม่ชัดเจนชื่อหมู่บ้าน จำได้เพียงว่าเป็นรวมเรื่องสารคดีชวนประหลาดใจ ผู้เขียนเรื่องนี้ยืนยันว่า ได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมในพิธีกรรมดังกล่าวพร้อมภาพถ่ายศาลบูชาและพิธีกรรมบางส่วนนำลงประกอบบทความ แต่ภายหลังจากที่ต่างร่ำสุราจน “ได้ที่” คณะผู้ล่าปลาบึกพ่อเฒ่าแม่เฒ่าจำนวนหนึ่งก็ปลีกตัวออกไปประกอบพิธีกรรมยั่วโทสะปลาบึก ซึ่งขั้นตอนนี้ผู้เขียนได้รับการขอร้องไม่ให้ตามไปถ่ายภาพ จะว่าเป็นเรื่องกุขึ้นแต่ก็ดูเหมือนจริงอย่างมาก อย่างน้อยก็น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงโดยคนกลุ่มนั้น คาดว่าส่วนหนึ่งคงเห็นเป็นเรื่องไม่เหมาะที่จะนำมาเผยแพร่ในยุคนี้ นับแต่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจากเมืองนอกเมืองนาเสด็จทอดพระเนตร เรื่องเช่นว่าจึงดูหลงยุค แต่ในเวลา ณ ขณะนั้น ผมเชื่อว่ามันมีเหตุมีผลของการกระทำ อย่างพิธีบูชาศาลปะกำคล้องช้างของชาวอีสานใต้ ควาญช้างก็เกือบๆ จะเปลือยกายมีเพียงเตี่ยวผืนเดียว แต่ภายหลังสื่อมวลชนและวัฒนธรรมแบบมาตรฐานเข้าไปส่งเสริมการท่องเที่ยว ควาญช้างก็จำต้องนุ่งห่มมิดชิด

พ่อแม่พันธุ์ปลาบึกจากบ่อเลี้ยงในการผสมเทียม (ขอบคุณภาพจากกรมประมง)

ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบเฉพาะแถบลุ่มน้ำโขงและแม่น้ำสาขาเท่านั้น เคยพบบ้างในรัฐฉาน ประเทศพม่า และประเทศจีน ปลาบึกชอบอาศัยอยู่ในบริเวณแม่น้ำที่มีความลึกมากกว่า ๑๐ เมตร ก้นแม่น้ำเป็นกรวด และควรจะมีเพิงหินหรือถ้ำใต้น้ำด้วย เชื่อกันว่าปลาบึกมีถิ่นฐานอยู่แถบเมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อถึงฤดูวางไข่ช่วงเดือนเมษายนก็จะว่ายทวนน้ำจากลาวขึ้นมาตามแม่น้ำโขง (ของ) ผ่านทางเหนือของไทยเพื่อไปวางไข่ที่ต้นน้ำในทะเลสาบต้าลี่ (Tali Lake) หรือหนองแส (Nong Sae) แคว้นยูนนาน ในประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งอาหารของปลาบึกได้แก่สาหร่ายที่ขึ้นอยู่ตามก้อนหินใต้น้ำลุ่มน้ำโขง

พิธีกรรมบวงสรวงปลาบึกของชาวบ้านหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย นับเป็นพิธีกรรมที่สัมพันธ์กันระหว่างแม่น้ำโขงและปลาบึก เนื่องจากภูมิประเทศลุ่มน้ำโขงช่วงบ้านหาดไคร้มีความเหมาะสม มีลักษณะเป็นเกาะดอนกลางแม่น้ำ ประกอบด้วย ๓ ดอนใหญ่ๆ ได้แก่ ดอนโป่ง ดอนแวง และดอนกูด เรียงรายไปตามยาวของลำน้ำทำให้แม่น้ำมีลักษณะเป็นช่องแคบ ในฤดูแล้งน้ำตื้น หาดทรายโผล่ยื่น กระแสน้ำไหลเอื่อย กรวดก้อนกลมเล็กเรียงราย ก้นแม่น้ำราบเรียบ ตะกอนน้อย ใสจนแสงแดดส่องถึงพื้นน้ำ มีพืชน้ำที่เป็นอาหารหลักของปลาบึกคือสาหร่าย (ไก) อุดมสมบูรณ์

แม้ปลาบึกจะเป็นสัตว์ใหญ่แต่กินเพียงสาหร่าย (ไก) ต้นเล็กๆ เป็นอาหารเท่านั้น ชาวบ้านจึงมีความเชื่อว่า ปลาบึกเป็นปลาจำศีล รักษาความดีบริสุทธิ์ มีเจ้าที่เจ้าทางคุ้มครอง ผู้ใดกินปลาบึกแล้วจะอายุยืนสุขภาพดี มีโชคลาภ ดังนั้นการจับปลาบึกของชาวบ้านแต่เดิมจึงทำด้วยความเคารพใน “เจ้าของ” เพียงเพื่อเป็นอาหาร แลกเปลี่ยนแบ่งปันกันภายในชุมชน

พิธีบวงสรวงปลาบึก น่าสังเกตว่า การใช้หัวหมู ที่ไม่ใช่เครื่องเซ่นสรวงตามแบบพื้นบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – เดิมทีชาวบ้านใช้ไก่เป็นฟาดให้เสียชีวิต (ขอบคุณภาพจาก SOMSAK@Photo-Feature-Travel)

จากความเชื่อที่ว่าปลาบึกเป็น “ปลาเจ้า” ดังนั้นเมื่อชาวบ้านต้องการจะจับปลาบึกจึงต้องทำพิธีกรรมบวงสรวงต่อเจ้าน้ำ เจ้าท่า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เจ้าโพ้ง เจ้าลวงเสียก่อน โพ้ง ในภาษาถิ่นหมายถึงบริเวณน้ำไหลเซาะเข้าไปในแผ่นดินเป็นโพรง ภาษาอีสานเรียกว่า วังน้ำ หรือ วังเวิน ส่วนทางภาคกลางหมายถึง คุ้งน้ำ “เจ้าโพ้ง” จึงหมายถึงผีที่คอยดูแลปกปักรักษาบริเวณคุ้งน้ำ ส่วน ลวง เป็นคำใช้เรียกสถานที่ที่เป็นร่องน้ำสำหรับกั้นใส่ไซ ใส่หลี่ ใส่โพงพาง “เจ้าลวง” จึงหมายถึงผีที่คอยดูแลรักษาสถานที่แห่งนี้ และด้วยผีโพ้ง ผีลวง เป็นผีดีที่คอยปกปักรักษาแม่น้ำ ชาวบ้านจึงเรียกเป็น เจ้าโพ้ง เจ้าลวง ส่วนคนอีสานเชื่อว่าการจะล่าปลาบึกต้องขอต่อพญานาคผู้เป็นใหญ่ในลำน้ำโขงก่อน ดังนั้นความเชื่อของชาวบ้านที่ทำพิธีกรรมบวงสรวงก็เพื่อให้เจ้าที่ที่ปกปักรักษาปลาบึกรับรู้ และอนุญาตให้จับปลาบึกซึ่งเป็นบริวารได้ และขอให้ช่วยคุ้มครองป้องภัยนานา

ศาลบวงสรวงขนาดใหญ่ที่ปลูกสร้างขึ้นหน้าวัดหาดไคร้ สำหรับใช้จัดวางเครื่องเซ่นในพิธีซึ่งคนท้องถิ่นเรียกว่า “พิธีเมือง”

ไม่มีการจดบันทึกความเป็นมาของพิธีกรรมจับปลาบึกของชาวบ้านหาดไคร้ไว้เป็นหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มมีมาแต่เมื่อใด มีเพียงข้อมูลที่ระบุว่า ราวปี ๒๔๒๐ พ่อเฒ่าหนานต๊ะ ยงยืน เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม และเนื่องด้วยการล่าปลาบึกในสมัยก่อนเป็นการล่าโดยใช้เครื่องมือที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง เช่น ฉมวก มอง ที่ต้องมีทักษะและความชำนาญในการใช้เครื่องมือและการเข้าใจธรรมชาติของปลา การพิชิตปลาบึกที่ถือเป็น “เจ้าแห่งลำน้ำโขง” จึงถือเป็นศักดิ์ศรีของพรานปลาบึกอย่างยิ่ง

พิธีกรรมบวงสรวงและการล่าปลาบึกของบ้านหาดไคร้จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เนื่องจากในระยะดังกล่าวปลาบึกจะเดินทางอพยพมาถึง โดยอาศัยการสังเกตจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เมื่อต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ๒ ต้นหน้าวัดหาดไคร้ผลัดใบอ่อน ดอกซอมพอ (หางนกยูง) เริ่มผลิดอกแสดแดงสะพรั่ง เป็นต้น

อุไรวรรณ ชัยมินทร์ กล่าวในงานวิจัยว่า เดิมพิธีกรรมก่อนจับปลาบึกจะมีขึ้นประมาณเดือนเมษายนหลังช่วงสงกรานต์ไป ๔-๕ วัน ซึ่งเรียกว่า “พิธีป่า” โดยทำกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ จัดทำขึ้นบริเวณดอนท้ายหาดบ้านหาดไคร้ ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑ กิโลเมตร โดยสร้างศาลขนาดเล็กจัดวางเครื่องบวงสรวงเจ้าโพ้ง เจ้าลวง ทำการเสี่ยงทายจำนวนปลาบึกที่จะจับได้ และพิธีบูชาแม่ย่านางเรือให้ช่วยดูแลปกปักรักษา ให้จับปลาได้มาก เดิมจะทำเป็นกลุ่มประมาณ ๔-๖ คน เพราะการจับปลาบึกในสมัยก่อนใช้วิธีขึ้นห้างที่สร้างอยู่ริมตลิ่ง เพื่อใช้สังเกตคลื่นเมื่อปลาว่ายน้ำขึ้นมา การทำพิธีจึงทำ ณ จุดที่แต่ละกลุ่มประจำอยู่ พิธีกรรมจัดขึ้นง่ายๆ โดยคนภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจับปลาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้

กระทั่งปี ๒๕๑๐ ชาวบ้านหาดไคร้ทั้งหมู่บ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการล่าปลาบึก ขณะที่ผู้ประกอบพิธียังคงเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่าปลาบึกโดยตรง เมื่อจับปลาบึกได้ก็จะต้องทำพิธีบูชาแม่ย่านางเรือเพื่อแสดงความขอบคุณ เนื้อปลาที่ได้จะถูกปันส่วน โดยแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน เจ้าของเรือ ๒ ส่วน นายมอง ๑ ส่วน ผู้ช่วยนายมอง ๑ ส่วน แต่หากเป็นความเชื่อของคนลาวและอีสาน ปลาบึกที่ถูกจับได้ตัวแรกของฤดูกาลเรียกว่า ปลาเจ้า ต้องถวายเจ้าและทำอาหารเลี้ยงกันในหมู่พรานปลา ตัวที่ ๒ เรียกว่า ปลาแก้ม ต้องนำมาเลี้ยงกันครึ่งหนึ่ง ที่เหลือจะเป็นของผู้ที่จับได้ ตัวที่ ๓ เป็นต้นไปจึงเป็นของผู้ที่จับได้ทั้งหมด

ปัจจุบัน พิธีกรรมบวงสรวงก่อนการจับปลาบึกได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นงานจังหวัด ที่มีการสร้างศาลขนาดใหญ่กว่าพิธีป่าขึ้นที่หน้าวัดหาดไคร้ มีดนตรีพื้นบ้านประโคม ริ้วขบวนแห่ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านพร้อมพิธีการอื่นๆ อย่างใหญ่โต ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยได้
เริ่มจัดทำขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๙ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการรับเสด็จเจ้าฟ้าชายอากิชิโนแห่งญี่ปุ่น นับจากปีนั้นมา ทางจังหวัดได้กำหนดให้จัดงานตายตัวในวันที่ ๑๘ เมษายน ของทุกปี เป็น “พิธีเมือง” มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ผู้คนจากทุกสารทิศเดินทางมาเที่ยวชม

สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวว่า ความคิดความเชื่อของคนในภูมิภาคอุษาคเนย์แถบนี้ตั้งแต่อดีต ยกย่องนับถือสัตว์ที่มีขนาดใหญ่โตกว่าปกติหรือมีลักษณะผิดธรรมชาติว่าเป็นสัตว์ที่มีเทพเจ้าหรือผีศักดิ์สิทธิ์เป็นเจ้าของหรือสิงสู่ อย่าง ปลาบึก และสัตว์เผือกต่างๆ เช่น ปลาไหลเผือก ดังมีตำนานเรื่องเวียงหนองล่ม (ลำพูน) ที่ชาวบ้านจับปลาไหลเผือกได้แล้วเอามาแบ่งกินกันทั้งเมืองเป็นเหตุให้เกิดเภทภัยเวียงล่มจมหายกลายเป็นหนองน้ำ

นักคติชนวิทยาอธิบายว่า พลังอำนาจที่อยู่ในความเชื่อรูปแบบต่างๆ จะประกอบกันขึ้นเป็นหลักศีลธรรมที่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การยังชีพของสังคมเกษตรกรรม ซึ่งให้ความสำคัญต่อชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ของครอบครัวและชุมชน โดยความเชื่อแต่ละประเภทล้วนสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นรูปธรรมสื่อความหมายผ่านสัญลักษณ์สิ่งหนึ่งสิ่งใดในการจัดพิธีกรรม (เช่น เครื่องเซ่น วัตถุบูชา การฟ้อนรำ คำกล่าวเซ่นสรวง ฯลฯ) เพื่อแสดงออกถึงพลังอำนาจที่ซ่อนเร้นนั้นให้มีความชัดเจนจับต้องได้ เช่น พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ พิธีเซ่นไหว้ผีอารักษ์ พิธีทรงเจ้า พิธีกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลพื้นบ้านซึ่งรูปแบบการประกอบพิธีกรรมนั้น เป็นปฏิบัติการที่สะท้อนความคิด การให้ความหมาย และการตีความผ่านประสบการณ์มนุษย์ เพื่อแสดงออกถึงสติปัญญา ศักยภาพและอำนาจในการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันของตน เช่นเดียวกับพิธีกรรมบวงสรวงปลาบึกที่แสดงออกถึงพลังอำนาจของผู้คนต่อการดำรงอยู่ของสมาชิกในชุมชน
มาอย่างยาวนาน

ในสายตาของคนภายนอกอาจมองว่า พิธีกรรมบวงสรวงปลาบึกมีจุดเริ่มต้นมาจากสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถูกตีค่าเป็นประเพณีประดิษฐ์ที่สนองกลไกตลาด เป็นนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่พิธีกรรมถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงเพื่อตอบประโยชน์คนกลุ่มหนึ่ง เน้นความยิ่งใหญ่ของพิธีกรรม นอกจากนั้นยังเป็นกุศโลบายกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้คนสนใจอนุรักษ์ปลาบึกตลอดจนธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

การทดลองรีดไข่ปลาบึกครั้งแรกด้วยขาหยั่ง (ขอบคุณภาพจากกรมประมง)

ไม่ว่านักวิชาการจะมองความหมายในตัวมันเองของพิธีกรรมบวงสรวงปลาบึกอย่างไร? เพื่อทำให้เข้าใจสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทัศนคติ ความคิดของผู้คน สะท้อนพัฒนาการทางความคิดของท้องถิ่น เป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตที่ยังคงเคลื่อนไหว หรืออะไรก็ตาม… ในสายตาของชุมชนแล้ว พิธีกรรมบวงสรวงปลาบึกเป็นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชุมชน เป็นการแสดงความเคารพและสำนึกต่อธรรมชาติที่สืบเนื่องยาวนาน แต่พิธีกรรมได้ถูกลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ลง ทำให้ความผูกพันระหว่างคนกับคนและคนกับธรรมชาติเปลี่ยนไป จนดูเหมือนเป็นความขัดแย้ง ที่ถูกเชื่อมต่อกับปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนทั้งการต่อต้าน ช่วงชิง ในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชน

“พิธีป่า” ที่ได้รับการบอกเล่าว่า “ทำกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ จัดทำขึ้นบริเวณดอนท้ายหาดบ้านหาดไคร้… โดยคนภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจับปลาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธีกรรม…” นั่นคือร่องรอยของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เฉพาะกลุ่มที่ไม่ต้องการให้คนนอกรู้เห็น แต่ภายหลังกรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะปลาบึกแบบผสมเทียมครั้งแรกในโลกเมื่อปี ๒๕๒๖ การขออนุญาตจับปลาบึกในอดีตจะกระทำต่อเจ้าโพ้ง เจ้าลวง ปัจจุบัน ปลาบึกในธรรมชาติหายาก เป็นธรรมดาอยู่เองที่ชาวบ้านผู้ต้องการล่าปลาบึกจะต้องขออนุญาตต่อกรมประมง ที่เป็นผู้คิดเพาะพันธุ์ปลาบึกขึ้น เพื่อแสดงถึงความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม พรานปลาบึกจึงประกาศสัตยาบันต่อสาธารณชนว่าจะงดเว้นการล่าปลาบึก (ปีต่อปี) โดยการทูล เกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล

คณะทำงานถ่ายภาพร่วมกันภายหลังประสบความสำเร็จในการเพาะปลาบึกแบบผสมเทียมครั้งแรกของโลก ณ บ้านหาดไคร้ เมื่อปี ๒๕๒๖ (ขอบคุณภาพจากกรมประมง)

เกือบจะต้องทอดทิ้งรายละเอียดของ “พิธีป่า” ไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าผมไม่ได้รับคำแนะนำจากบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมว่า พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (Francis Henry Giles) เคยเขียนเรื่องการล่าปลาบึก “An account of the ceremonies and rites performed when catching the Pla Bük (ปลาบึก) a species of catfish inhabiting the waters of the river Me Khong (แม่โขง) : The Northern and Eastern Frontier of Siam” ลงในวารสารสยามสมาคมเมื่อปี ๒๔๗๖ (อ้างใน หนังสือรวมบทความพระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร พิมพ์เผยแพร่ในโอกาสกรมสรรพากรครบรอบ ๖๐ ปี วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘) มีบันทึกคำกล่าวยั่วยวนโทสะของพรานขณะออกล่าปลาบึกไว้ด้วยภาษาอังกฤษ

“O, my friend, men and women. Friend, O, friend, O, dogs O, bald headed fools, O, ancients in thy dotage. A dog shall lay with thy mother. I will lay with thy mother. O, Friend, let me lay with thy wife. O, friend, let me lay with thy daughter. O, ancients, bald headed one, thy age is great. Death is near to thee, yet thou comest with the throng. A dog shall lay with thy mother. As thou art here, I will go and in thy place, lay with thy wife. Do not return home till dawn.”

อย่างไรก็ตาม พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมารก็ได้แนบถ้อยคำอีสานไว้ด้วยว่า

“พ่อเสี่ยว แม่เสี่ยว เสี่ยว บักเสี่ยว บักหมา บักหัวล้าน บักเฒ่า บักหมาสี่แม่มึง กูสี่แม่มึง บักเสี่ยวกูขอสี่เมียมึงแด่ กูขอสี่ลูกสาวมึงนำ บักเฒ่าหัวล้าน มึงเฒ่าสิตายแล้ว กะยังมานำเขา หมาสี่แม่มึง มึงมานี่ กูจะไปนอนนำเมียมึง มึงอย่าสูมา มึงคืนเมือมา”

ขั้นตอนของพิธีเริ่มทำกันตั้งแต่เย็นวันขึ้น ๘ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำบางคืนต้องทำกันตลอดรุ่งสาง ตรงนี้เองที่ทำให้ผมปะติดปะต่อร่องรอย “พิธีป่า” ที่ถูกปรับแปลงก่อนเผยสู่สาธารณะในแบบ “พิธีเมือง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่จัดพิธีกรรมบวงสรวงปลาบึกให้เป็นส่วนหนึ่งในพิธีการรับแขกบ้านแขกเมือง จากนั้นเป็นต้นมา คุณค่าของปลาบึกที่หายากและพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เฉพาะกลุ่มจึงสิ้นมนต์ขลัง ขณะที่พิธีกรรมล่าปลาบึกในที่สาธารณะได้ถูกยักย้ายถ่ายเทขึ้นใหม่ในบริบทของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว “จากป่าสู่เมือง”