ถอดการสื่อความหมายและบริบทใน “เพงซาดลาว”

ปะตูไซ (ประตูชัย) ในกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว

“เพงซาดลาว” ฉบับปัจจุบันประพันธ์โดย สีซะนะ สีสาน นักปฏิวัติอาวุโส ในช่วงทศวรรษ 2490 ซึ่งปรับปรุงจากเพลงชาติลาวฉบับแรกที่ประพันธ์โดย มะหาพูมี แต่ยังคงทำนองดั้งเดิมไว้ ซึ่งประพันธ์เมื่อ พ.ศ. 2486 โดย ดร. ทองดี สุนทอนวิจิด

เพลงชาติลาวฉบับแรกประพันธ์ขึ้นในช่วงที่ลาวอยู่ภายใต้การควบคุมของฝรั่งเศส เนื้อเพลงกล่าวเน้นไปที่ความรัก ความสามัคคี และความรักสงบ แต่พร้อมรบหากศัตรูมารุกราน รวมถึงการเทิดทูน ชาติ เจ้ามหาชีวิต (กษัตริย์) และศาสนา

เพลงชาติลาวฉบับที่ประพันธ์โดย สีซะนะ สีสาน ได้รับรองให้เป็นเพลงประจำชาติลาวอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2518 ที่มีการประชุมใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศที่นครหลวงเวียงจันทน์ และยังได้มีการประกาศสถาปนาสาธารณัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (2 ธันวาคม วันชาติลาว)

เนื้องเพลงชาติลาวแปลเป็นภาษาไทย ดังนี้

ชาติลาวตั้งแต่ใดมา ลาวทุกถ้วนหน้าเชิดชูสุดใจ

ร่วมแรงร่วมจิตร่วมใจ สามัคคีกันเป็นกำลังเดียว

เด็ดเดี่ยวพร้อมกันก้าวหน้า บูชาชูเกียรติของลาว

ส่งเสริมใช้สิทธิ์เป็นเจ้า ลาวทุกชนเผ่าเสมอภาพกัน

บ่ให้พวกจักรพรรดิ และพวกขายชาติเข้ามารบกวน

ลาวทั้งมวลชูเอกราช อิสรภาพของชาติลาวไว้

ตัดสินใจสู้ชิงเอาชัย พาชาติลาวไปสู่ความวัฒนา

พศิน ศรีพนารัตนกุล ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ “การสื่อความหมายในเพลงชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน” (นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558) ถอดความเนื้อหาเพลงชาติลาวได้ว่า

“คนลาวทุกคนร่วมแรงร่วมใจและสามัคคีกัน เพื่อเชิดชูชาติลาวมานาน ก้าวไปพร้อมกันอย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อเกียรติของประเทศลาวที่สนับสนุนให้มีการใช้สิทธิ์ออกเสียงไม่ว่าจะมาจากชนเผ่าใด และคนลาวจะไม่ยอมให้พวกจักรวรรดินิยมและพวกไส้ศึกเข้ามารุกราน โดยจะเชิดชูเอกราชและอิสรภาพของชาติด้วยการต่อสู้จนกว่าจะชนะเพื่อพาชาติไปสู่ความวัฒนา”

เพลงชาติลาวมีเนื้อเพลงที่น่าสนใจสองเรื่อง หนึ่งคือ “ชนเผ่า” สองคือ “จักรพรรดิ”

สิ่งสำคัญที่เพลงชาติลาวต้องการสะท้อนคือ ความเท่าเทียมกันของชนเผ่าในประเทศลาว ต้องการส่งเสริมให้คนลาวทุกชนเผ่าไม่รู้สึกว่า ตนมีความแตกต่างจากลาวส่วนกลาง ซึ่งจะช่วยนําพาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น

พศิน ศรีพนารัตนกุล ได้สัมภาษณ์ ขนิษฐา คันธะวิชัย จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับเนื้อเพลงในวรรค “ลาวทุกชนเผ่าเสมอภาพกัน” แสดงความเห็นต่อเนื้อเพลงในท่อนนี้ว่า

“คำสำคัญที่สนใจคือ ‘ลาวทุกชนเผ่าเสมอภาพกัน’ ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะสังคมของลาวที่มีชนเผ่ามากมาย และในสังคมลาวเองมีการแบ่งชนเผ่า คือมีการแบ่งในภาษาลาวเอง หลัก ๆ มี 3 เผ่าใหญ่ ลาวลุ่ม คือคนลาวหรือคนไทลื้อ, ลาวเทิง คือคนลาวที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร เทิงแปลว่าที่สูง แต่ไม่ถึงกับเป็นชาวเขา และลาวสูง คือกลุ่มที่อยู่บนเขา เช่น ม้ง เหมี่ยน และมีชนเผ่าย่อย ๆ อีก หลายชนเผ่า

แต่เมื่อพอเป็นคอมมิวนิสต์หรือกำลังจะรวมเป็นประเทศแล้ว ชนเผ่าพวกนี้จะมีสำนึกว่าเราเป็นอิสระจากผู้ปกครองลาวไม่ได้… บางทีลาวส่วนกลางเองไม่สามารถครอบงำชนกลุ่มน้อยได้สำเร็จเบ็ดเสร็จ เพราะว่าเมื่อก่อนกลุ่มคนพวกนี้ไม่ได้มีสำนึกกับทางการและไม่ได้ถูกการศึกษาครอบงำ ทำให้มีชนเผ่าบางส่วนที่ไม่ได้รู้สึกว่า ตัวเองเป็นของรัฐลาวส่วนกลางมากเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้เห็นว่า เรื่องอุดมการณ์เกี่ยวกับการรวมกันจึงเป็นอุดมการณ์ที่สะท้อนผ่านเพลงชาติเหมือนกัน คือเนื่องจากลาวมีปัญหาเรื่องชนเผ่า…”

นักรบเผ่าละเวนที่เมืองอัตตะปือ จัดอยู่ในกลุ่มลาวเทิง (ภาพจาก Treasure From Laos. Institut de Recherches sur la Culture Lao/Association Culturelle des Routes de la Soie, 1997)

อีกประการหนึ่งที่เพลงชาติลาวต้องการสะท้อนคือ การต่อต้านชาติจักรวรรดินิยม ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศสที่เข้ามาครอบครองดินแดน, สหรัฐอเมริกาที่คอยแทรกแซงกิจการในประเทศลาว (เพื่อขัดขวางการแพร่ขยายของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์) และแม้กระทั่งประเทศไทยเองที่เข้าข่ายในประเด็นนี้เช่นกัน เนื่องจากมีการสู้รบกันเพื่อรักษาเขตแดน

ขนิษฐา คันธะวิชัย แสดงความเห็นต่อเนื้อเพลงในท่อน “บ่ให้พวกจักรพรรดิ และพวกขายชาติเข้ามารบกวน” ว่า

“ถ้าหากได้ไปดูพิพิธภัณฑ์ที่เวียงจันทน์พบว่า ‘จักรพรรดิ’ หรือ ‘จักรวรรดิ’ ที่หมายถึงในเพลงนั้นหมายถึงชาติมหาอำนาจอื่นที่เข้ามารุกราน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของลาวและการปฏิวัติไปสู่ลัทธิมากซ์-เลนินของลาว ซึ่งมี 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และไทย เข้าใจว่า 3 ประเทศนี้สอดคล้องกับคำดังกล่าว หรือผู้รุกรานจากภายนอก ส่วน ‘พวกขายชาติ’ ก็หมายถึงพวกข้างในที่เข้ากับภายนอก…”

พศิน ศรีพนารัตนกุล อธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่า “จักรพรรดิ” ในเนื้อเพลงหมายถึง ผู้ที่เป็นอุปสรรคต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่รัฐบาลลาวยึดถือในการปกครองประเทศมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือบรรดาประเทศที่นิยมอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย

ส่วนในด้านการวิเคราะห์การสื่อความหมายและบริบทในเพลงชาติลาวนั้น พศิน ศรีพนารัตนกุล อธิบายว่า มีการใช้วัจนกรรม (speech acts) ประเภทบรรยาย กล่าวถึงความเสมอภาพและความสามัคคีของคนลาว (เช่น “ร่วมแรงร่วมจิตร่วมใจ สามัคคีกันเป็นกำลังเดียว”) ประกอบกับการใช้โวหารอติพจน์ (กล่าวเกินจริงเพื่อสร้างอารมณ์และความรู้สึกที่รุนแรง) เพื่อแสดงถึงความรู้สึกรักและเชิดชูชาติลาว (เช่น “ลาวทุกถ้วนหน้าเชิดชูสุดใจ”)

รวมถึงการใช้วัจนกรรมประเภทชี้นำ (เช่น “ตัดสินใจสู้ชิงเอาชัย พาชาติลาวไปสู่ความวัฒนา”) ร่วมกับวัจนกรรมประเภทประกาศ (เช่น “ลาวทั้งมวลชูเอกราช อิสรภาพของชาติลาวไว้”) เพื่อแสดงถึงการต่อสู้กับต่างชาติที่จะเข้ามารุกรานประเทศลาว ร่วมกับการใช้โวหารนามนัย (การเปรียบเทียบโดยการใช้คำหรือวลี) เพื่อสื่อถึงผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ (เช่น “จักรพรรดิ” และ “พวกขายชาติ”)

นอกจากนี้ ในเนื้อเพลงเพลงชาติลาวได้ใช้คำว่า “เอกราช”, “อิสรภาพ” และ “วัฒนา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ “สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพ วัฒนาถาวร”


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ตุลาคม 2563