วัตถุทางวัฒนธรรม

ในวงเล่าวันนี้จะกล่าวถึงวัตถุทางวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งของในประวัติศาสตร์ และมีความสำคัญในการศึกษาด้านโบราณคดีและคติชนวิทยา เพราะจะเป็นหลักฐานอธิบายถึงเรื่องราวในอดีตได้อย่างดีที่สุด ความคิดในเรื่องเหล่านี้ ผมได้หลักจากนิทานในวงเล่าโดยแท้ และผู้เล่าก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาของผมคนแรกๆ (ที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรี) คืออาจารย์พะนอม แก้วกำเนิด ท่านผู้นี้ต่อมาเป็นอดีตเลขาธิการสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติคนแรก และวนเวียนเป็นผู้บริหารจนเป็นตำนานของกระทรวงศึกษาธิการ คือท่านได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีมากกรมที่สุดยิ่งกว่าใคร คือนอกจากเลขาธิการ สวช. แล้ว ท่านยังเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษา อธิบดีกรมวิชาการ อธิบดีกรมการฝึกหัดครู และท้ายสุดเป็นรองปลัดกระทรวง ส่วนผู้บังคับบัญชาผมอีกท่าน (สมัยผมไปช่วยราชการที่ วศ. มหาสารคาม) ที่เป็นตำนานของกระทรวง คือท่านอาจารย์ ดร. สายหยุด จำปาทอง ท่านเป็นผู้บริหารกรมวิชาการ ๒ ครั้ง กรมการฝึกหัดครู ๒ ครั้ง รองปลัดกระทรวง ๒ ครั้ง มีเพียงเลขาธิการการประถมศึกษาแห่งชาติเท่านั้นที่เป็นครั้งเดียว และทั้ง ๒ ท่านที่เป็นตำนานนี้ก็ไม่ได้เป็นปลัดกระทรวง (ทั้งๆ ที่มีอาวุโสสูงสุดและเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงมาแล้วหลายกรม) อาจเป็นเพราะทั้ง ๒ ท่านไม่ชอบฝักใฝ่นักการเมืองก็ได้

กล่าวจำเพาะอาจารย์พะนอมนั้น ท่านเป็นนักเล่าเรื่องที่สนุก ทุกครั้งที่มีวงเล่า ผู้ร่วมวงจะคอยตั้งใจฟังเป็นพิเศษ มุขและลูกเล่นที่ท่านนำเสนอ อยู่ในระดับเหนือชั้นเสมอ และมักจะแฝงหลักการที่สามารถนำไปอ้างอิงและใช้ประโยชน์ได้ ดังหลักเรื่องการพิจารณาวัตถุทางวัฒนธรรมที่จะได้กล่าวถึงต่อไป

เรื่องราวของเมืองเพชรบุรีในอดีตนั้น นอกจากจะมีกล่าวถึงในเอกสารจำนวนมากแล้ว โบราณวัตถุและโบราณสถานตามวัดวาอารามก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เป็นแหล่งความรู้ที่อธิบายถึงสภาพสังคมและวัฒนธรรมของเมืองได้เป็นอย่างดี (ดังที่ผมได้เขียนถึง ลิงโลน-ลิงทำอะไร? ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ นั้นเป็นต้น)

บัดนี้ ผมได้พบว่าแม่น้ำเพชรบุรีก็เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง เพราะมีสมบัติอันเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมเป็นจำนวนมากเก็บงำอยู่ ทุกวันเมื่อมีผู้งมพบและนำขึ้นมาได้ ก็จะนำมาให้ผมดู เพื่อหาความรู้ว่ามันเป็นอะไรและใช้ทำอะไร บางชิ้นผมก็ตอบได้ แต่บางชิ้นก็ต้องคิดเดาตามแต่จะเล็งเห็น ซึ่งทำให้ผมต้องศึกษาตรวจสอบ และทำให้พลอยได้ความรู้เพิ่มขึ้น

หลักที่ผมนำมาให้เป็นแนวคิด คือต้องหาคำตอบให้ได้ถึงหน้าที่ (function) ของวัตถุชิ้นนั้น ก็เป็นหลักที่อาจารย์พะนอมบอกไว้ในวงเล่านั่นเอง

เมื่อประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ครูเจี๊ยบ (คุณกิตติพงษ์ พึ่งแตง) ได้นำวัตถุโบราณชิ้นหนึ่ง (ที่งมได้ในแม่น้ำเพชรบุรี แถวๆ วัดป่าแป้น อำเภอบ้านลาด) มาให้ดูและหารือว่าเป็นอะไร

“คันฉ่องสำริดสมัยราชวงศ์ถัง” ที่งมได้ในแม่น้ำเพชรบุรี ชิ้นใหญ่พบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ ชิ้นเล็กพบเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๘

แม้จะมีอยู่ซีกเดียว ก็พอจะประมาณได้ ว่าเดิมเป็นแผ่นกลม ด้านหนึ่งขัดเรียบ อีกด้านเป็นลายเครือเถาองุ่น มีนก ตรงกลางน่าจะเป็นหูร้อยรูปเต่าหรือรูปกบ มีทรายเกาะติดแน่นอยู่ทั่วไป จำได้ว่าผมเคยเห็นวัตถุชนิดนี้ที่แกะคอลเล็กชั่น นครศรีธรรมราช เคยได้รับคำถามว่า พบที่เมืองเพชรบุรีบ้างหรือไม่? ผมบอกว่าผมไม่เคยเห็นและไม่เคยทราบ ได้จำติดใจมานาน จึงตอบครูเจี๊ยบไปว่า เป็นชิ้นส่วนคันฉ่องสำริดของจีนโบราณ เป็นวัตถุหายากและไม่ได้เป็นของใช้ของคนทั่วไป เป็นของส่วนตัวของบุคคลชั้นสูง ไม่เคยนึกว่าจะพบที่เพชรบุรี และขอให้คุณเจี๊ยบไปค้นหารายละเอียด

สองสามวันถัดมาคุณเจี๊ยบเอารูปที่สมบูรณ์ (ก็ได้จากกูเกิลแหละครับ) มาให้ดูเป็นการเปรียบเทียบ จึงได้ทราบว่า คันฉ่องรูปลักษณ์อย่างนี้เป็นของสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. ๖๑๘-๙๐๗ หรือ พ.ศ. ๑๑๖๑-๑๔๕๐) อันเป็นสมัยที่จีนเริ่มผลิตเหล้าองุ่น

ลวดลายที่ปรากฏทางด้านหลังของคันฉ่อง นักโบราณคดีอธิบายว่า จะบ่งบอกถึงความเชื่อ ค่านิยม ความคิด ตลอดจนความรู้ร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี

อนึ่งมีวาทะที่สำคัญของฮ่องเต้ ในราชวงศ์ถังพระองค์หนึ่ง ที่นักปกครองสมัยหลังมักจะอ้างอิงถึง คือเปรียบประชาชนเหมือนน้ำ ผู้ปกครองคือเรือ น้ำทำให้เรือลอยได้และทำให้เรือจมเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นปรัชญาระดับสูง

ที่น่ามหัศจรรย์ใจอย่างที่สุด ที่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (วันที่ ๒๙) มีผู้นำชิ้นส่วนคันฉ่องที่งมได้ในแม่น้ำเพชรบุรี แถวหน้าวัดป่าแป้นมาให้ดู ปรากฏว่าสามารถนำประกบกับชิ้นส่วนเดิมได้อย่างพอดิบพอดี เป็นอันว่าหลักฐานคันฉ่องสำริดสมัยถังที่สมบูรณ์ ได้พบในแม่น้ำเพชรบุรีแล้ว นอกจากนั้นยังพบตุ๊กตาและอีแปะสมัยถังอีกด้วย

ท่านผู้ใดจะตีความว่ากระไร ก็ขอเชิญได้ตามสบายครับ

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องเล่าของอาจารย์พะนอมที่ผมเอ่ยถึง ว่าผมได้หลักในการพิจารณาวัตถุทางวัฒนธรรม ว่าประการแรกต้องหา function ของมันให้ได้ เพราะหากเข้าใจผิดจะเป็นปัญหา ส่วนปัญหาจะว่าอย่างไรก็ขอให้ท่านตั้งสมมติฐานเอาเอง

เรื่องเล่ามีว่า แหม่มอาสาสมัครคนหนึ่ง (อาจารย์พะนอมไม่ได้บอกว่าเคยร่วมงานกับท่านที่ไหน เพราะเท่าที่ทราบ งานหลายครั้งของท่านมีแหม่มเป็นผู้ร่วมงานอยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน) เป็นผู้สนใจของเก่าและชอบเก็บสะสม

เป็นธรรมดาของฝรั่งที่เข้ามาทำงานในส่วนราชการไทย มักได้รับความสะดวกทั้งด้านที่พักและยานพาหนะ กล่าวคือสามารถใช้ทั้งรถและคนขับได้แทบจะทุกเวลาที่ต้องการ แหม่มจึงสนิทสนมกับคนรถ

วันหนึ่งแหม่มชวนคนขับรถไปร้านของเก่าเหมือนเคย เกิดสนใจตะปิ้งเงินของเก่า คิดว่าเป็นจี้โบราณจึงอยากได้ แต่ทางร้านตั้งราคาไว้ค่อนข้างสูง (คือแพงในความรู้สึก) แหม่มคิดทบทวนไปมาก็ไม่อาจตกลงใจได้ เมื่อกลับถึงบ้านพักก็คิดตัดสินใจตกลงจะซื้อ จึงมอบเงินให้คนรถไป เพราะได้ช่วยกันดูของอยู่แล้ว

พักใหญ่ คนรถกลับมา ยื่นเงินจำนวนเดิมให้แหม่ม แหม่มเสียใจถามว่ามีคนซื้อไปเสียแล้วหรือ คนรถบอกว่า อันนั้นยังอยู่ เป็นของเด็ก

ทางร้านไม่มีขนาดของแหม่ม