ผู้เขียน | อดิเทพ พันธ์ทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
“มูฮัมหมัด อาลี” หรือนามจริง แคสเชียส เคลย์ ตำนานนักมวยซึ่งเคยทำทั้งเรื่องดีๆ และเรื่องที่ไม่น่าจดจำ
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1964 แคสเชียส เคลย์ (Cassius Clay) นักมวยหนุ่มผิวดำอเมริกัน อดีตแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกที่กรุงโรมขึ้นสังเวียน ชิงแชมป์โลกรุ่นแฮฟวีเวตจากซอนนี ลิสตัน (Sonny Liston) เคลย์ถูกมองว่าเป็นรองเจ้าของแชมป์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักสู้ที่ทรงพลัง และน่าเกรงขามที่สุดในยุคของตนเอง แต่กลับเป็นเคลย์ที่ได้ชัยชนะหลังผ่านการชกไปได้ 6 ยก อย่างเหนือความคาดหมาย
หลังจากนั้น 2 วัน เขาทำให้ชาวอเมริกันในยุคที่ยังมีการแบ่งแยกสีผิวต้องตกตะลึงอีกครั้ง ด้วยการประกาศว่า เขายอมรับในคำสอนของกลุ่มชาติอิสลาม (Nation of Islam) กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และศาสนาแนวเชื้อชาตินิยมผิวดำ ที่ถูกโจมตีว่าเป็นกลุ่มอุดมการณ์แบบคนดำเป็นใหญ่หัวรุนแรง ก่อนประกาศให้โลกเรียกเขาว่า “มูฮัมหมัด อาลี” เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปีเดียวกัน
อาลี เสียชีวิตด้วยวัย 74 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2016 เป็นโอกาสที่หลายคนออกมายกย่องเชิดชูวีรกรรมของเขาในอดีต แต่ชีวิตอันมีสีสันของอาลีก็มีแง่มุมที่หลากหลายเช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไป รวมถึงพฤติกรรมที่คนซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “วีรบุรุษ” ไม่น่ากระทำ แต่นั่นคือธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่พ้นต้องเคยทำเรื่องผิดพลาด หรือสิ่งที่ทำให้ตัวเองต้องเสียใจในภายหลังกันทั้งสิ้น
มั่นคงอุดมการณ์
สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างมากของ มูฮัมหมัด อาลี คือ ความหนักแน่นมั่นคงในอุดมการณ์ของตนเอง การเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนศาสนาของเขา คนในปัจจุบันอาจมองไม่เห็นว่าจะเป็นปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่อะไร แต่การที่ชาวคริสเตียนผิวดำที่เปลี่ยนไปนับถืออิสลามและทิ้ง “ชื่อทาส” ไปใช้ชื่อแบบชาวมุสลิมอย่างที่อาลีทำในยุคของเขา ถือเป็นพฤติกรรมยั่วยุเพราะเป็นการแสดงตนต่อต้านระบบสังคมที่ครอบงำโดยคริสเตียนผิวขาว
“แคสเชียส เคลย์ เป็นชื่อทาส ผมไม่ได้เลือกเอง และผมก็ไม่ต้องการ…ผมคือมูฮัมหมัด อาลี ผู้เป็นอิสระ มันแปลว่ารักจากพระเจ้า…และขอให้ทุกคนใช้ชื่อนี้เมื่อพูดกับผมหรือกล่าวถึงผม” อาลี กล่าว (The Independent)
ชื่อของเขาไม่ได้รับการยอมรับจากบรรดาฝ่ายอนุรักษนิยมในสังคมขณะนั้น เขายังคงถูกเรียกขานว่า “แคสเชียส เคลย์” อยู่หลายปี รายงานชิ้นหนึ่งของนิวยอร์กไทม์ในเดือนสิงหาคม ปี 1969 กว่า 5 ปี หลังจากที่เขาประกาศเปลี่ยนชื่อก็ยังไม่ยอมเรียกเขาว่า “มูฮัมหมัด อาลี” จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เนื้อข่าวของนิวยอร์กไทม์จึงจะเรียกเขา ว่า “มูฮัมหมัด อาลี” แต่พาดหัวข่าวยังคงใช้คำว่า “เคลย์” เช่นเดิม
มูฮัมหมัด อาลี นักมวยปากกล้า?
การชกระหว่างเขากับ เออร์นี เทอร์เรลล์ (Ernie Terrell) แชมป์เฮฟวีเวตของ WBA เมื่อปี 1967 ถูกโจมตีว่าเป็นการแข่งขันที่สกปรก และน่ารังเกียจ เริ่มตั้งแต่การแถลงข่าวเมื่ออาลีไม่พอใจ ที่เทอร์เรลล์ยังคงเรียกเขาด้วยชื่อเดิม จึงเรียกเทอร์เรลล์กลับไปว่า “ลุงทอม” ทาสผู้จงรักภักดีของคนขาว จนทำให้ทั้งคู่เกือบฟาดปากกันตั้งแต่ยังไม่ขึ้นสังเวียน เมื่อขึ้นชกเขาก็ยังคอยพูดจาก่อกวนเทอร์เรลล์ว่า “กูชื่ออะไร?” พร้อมกับต่อยเทอร์เรลล์จนน่วม ก่อนที่เขาจะได้รับการชูมือเป็นผู้ชนะคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์
“ผมทั้งสมเพชและรังเกียจการแสดงออกของเขา” จิมมี แคนนอน นักหนังสือพิมพ์ในนิวยอร์กกล่าว สะท้อนความรู้สึกของชาวอเมริกันจำนวนมากที่มีต่ออาลี แม้กระทั่ง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้นำการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองยังโจมตีอาลีว่า “แคสเชียสควรเอาเวลาที่มีไปพิสูจน์ความสามารถในเชิงมวยมากกว่าและรู้จักพูดให้น้อยลง” (The Undefeated, ESPN)
อาลีอ้างความเชื่อทางศาสนาเพื่อปฏิเสธการรับใช้ชาติด้วยการเกณฑ์ทหารในสงครามเวียดนาม ทำให้เขาถูกปลดจากตำแหน่งแชมป์ และถูกแบนจากการแข่งขัน แถมต้องโทษจำคุกฐาน “หนีทหาร” เป็นเวลา 5 ปี ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 1967 แต่เขายังได้รับการประกันตัว ก่อนศาลสูงกลับคำพิพากษา ด้วยเหตุผลด้านกระบวนการพิจารณาคดีในอีกราว 4 ปีถัดมา
การปฏิเสธที่จะรับใช้ชาติของอาลี เกิดขึ้นในขณะที่คนเกือบทั้งประเทศยังให้การสนับสนุนสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้เขาถูกตราหน้าว่าทรยศต่อชาติ ตำนานนักมวยผิวดำรุ่นพี่อย่าง โจ หลุยส์ ซึ่งเคยรับใช้ชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน ก็ไม่เห็นด้วยกับการปฏิเสธการรับใช้ชาติของเขา แต่ภายหลัง อาลีได้กลายเป็นตัวอย่างที่ได้รับการยกย่องในฐานะผู้ต่อต้านสงคราม เมื่อผู้คนเริ่มเห็นผลร้ายของมัน
อาลี ถูกเหยียดผิวมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้เขากลายเป็นผู้ต่อต้านระบบที่ครอบงำโดยคนผิวขาว ตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนศาสนา การให้สัมภาษณ์หลาย ๆ ครั้ง ยังแสดงความรู้สึกอคติที่มีต่อคนผิวขาว และคนผิวดำที่พินอบพิเทาต่อระบบของคนขาว
ความเป็นคนปากกล้าที่ชอบใช้คำถากถางกับคู่ต่อสู้ ซึ่งอาจเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อใช้เล่นงานทางจิตวิทยากับคู่แข่ง ทำให้เขาถูกมองว่าไม่มีความเป็นนักกีฬา และทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนที่เคยให้ความช่วยเหลือเขาในยามยากต้องเสื่อมทรามลง
โจ ฟราเซียร์ แชมป์โลกเฮฟวีเวตในช่วงที่อาลีถูกแบนจากการแข่งขัน เคยให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับอาลี และเป็นคนหนึ่งที่ช่วยเจรจากับผู้มีอำนาจ เพื่อให้อาลีกลับมามีสิทธิขึ้นสังเวียนอีกครั้ง แต่สัมพันธ์ของทั้งคู่ย่ำแย่ลง เมื่อทั้งคู่ต้องขึ้นชกกันเองในนัดที่ถูกเรียกว่า “การชกแห่งศตวรรษ”
อาลี ที่กลับมาขึ้นเวทีอีกครั้งในฐานะวีรบุรุษของฝ่ายเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนผิวดำ ตราหน้าฟราเซียร์ว่าเป็น “ลุงทอม” ลูกไล่ของคนขาว เหมือนกับเมื่อครั้งที่เขาเคยกล่าวหาเทอร์เรลล์
“โจ ฟราเซียร์ คือลุงทอม มันทำงานให้กับพวกศัตรู” อาลีกล่าว ทั้งนี้จากรายงานของเอเอฟพี ซึ่งศัตรูที่เขากล่าวถึงย่อมเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากคนผิวขาว ทายาทของพวกนายทาสในอดีต
ในหนังสือชีวประวัติของฟราเซียร์ เขากล่าวว่า อาลีพยายามทำให้เขาถูกโดดเดี่ยวจากสังคมคนดำ เพื่อทำลายขวัญกำลังใจของเขาเมื่อต้องเผชิญหน้ากันบนเวที
“แต่มันไม่ได้ทำให้ผมอ่อนแอ” ฟราเซียร์กล่าว “มันทำให้ผมรู้ว่าอาลี มันเป็นพวกหมาขี้แพ้ขนาดไหน”
การแข่งขันครั้งนั้นเป็นฟราเซียร์ที่คว้าชัยชนะไป หลังจากนั้น อาลีก็ยังคอยพูดจาดูหมิ่นฟราเซียร์อยู่เสมอ เมื่อพบกันในครั้งที่ 2 ในปี 1974 อาลีได้ชัยชนะ และเมื่อเข้าสู่ช่วงเตรียมขึ้นชกกันอีกครั้งเป็นนัดที่สามที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในปีถัดมา อาลี ล้อเลียนรูปลักษณ์ของฟราเซียร์ว่า “น่าเกลียด” เหมือน “กอริลลา”
“โจ ฟราเซียร์ น่าจะเอาหนังหน้าตัวเองไปฝากไว้กับกองทุนคุ้มครองสัตว์ป่า เขาหน้าตาน่าเกลียดมาก คนตาบอดยังเดินหนี เขาไม่ใช่แค่ดูแย่นะ กลิ่นตัวของเขายังโชยไปข้ามประเทศ คนในมะนิลาจะคิดยังไง? ไอ้ดำสองตัวนั่นมันเป็นสัตว์ป่า ยะโส งี่เง่า น่าเกลียด แถมยังเหม็นอีก” อาลีกล่าวกับผู้สื่อข่าว
อาลีได้ชัยชนะในการชกครั้งนี้ หลังผ่านไป 14 ยก เนื่องจากตาของฟราเซียร์บวมปูดจนไม่อาจขึ้นชกได้ในยกสุดท้าย ซึ่งอาลีได้กล่าวภายหลังว่า “เขา[ฟราเซียร์]คือคนที่แกร่งที่สุดในโลก ถ้าผมโดนหมัดขนาดนั้น ผมคงยอมไปนานแล้ว เขาคือคนจริง”
คำชื่นชมของอาลีไม่ได้ช่วยให้ความขุ่นเคืองของฟราเซียร์หายไปแม้เวลาจะผ่านไปกว่า 2 ทศวรรษ ในหนังสือชีวประวัติของฟราเซียร์ เขากล่าวถึงอาลีซึ่งป่วยด้วยอาการพาร์กินสันว่า “มีคนถามผมว่าผมเสียใจ[กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ]เขารึเปล่า จริงๆ คือ ผมไม่เคยใส่ใจ คนอยากให้ผมรักเขา แต่ผมจะช่วยขุดหลุมฝังเขาให้เมื่อไรก็ตามที่พระเจ้าเลือกที่จะเอาชีวิตเขาไป”
ในปี 2001 อาลียอมขอโทษฟราเซียร์ในการให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทม์ว่า “โจพูดถูก ผมพูดอะไรหลายอย่างด้วยสถานการณ์พาไปซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่ควรพูด…ผมขอโทษกับเรื่องนั้น ผมเสียใจ”
คำกล่าวในครั้งนั้นคงช่วยให้ทั้งคู่ที่เคยเป็นเพื่อนที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันกลับมาคืนดีได้อีกครั้งในบั้นปลาย เมื่อปี 2008 ฟราเซียร์กล่าวกับเดลีเทเลกราฟ สื่อของอังกฤษว่า “ผมให้อภัยเขาแล้ว” และอีกสามปีให้หลังเมื่อฟราเซียร์เสียชีวิต อาลีเป็นหนึ่งในผู้ร่วมไว้อาลัยในพิธีส่วนตัวของครอบครัวของฟราเซียร์ด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- “หวัง อาหะหมัด” ยอดนักมวยมุสลิม กำปั้นแชมเปี้ยนแห่งสยามคนแรก
- “หมัดนายจีน ตีนนายทับ” ตำนานนักมวยคาดเชือก สนามมวยเวทีสวนกุหลาบ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2561