“ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ประวัติศาสตร์ของใคร? วิพากษ์ประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับราชการ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันพิธีเปิด 24 มิถุนายน 2483โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานเปิด (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เมื่อหนังสือเล่มนี้ (ประวัติศาสตร์ชาติไทย – กองบรรณาธิการ) พิมพ์ออกเผยแพร่เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2558 นั้น ได้มีนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ไทยคนสำคัญ คือ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ (ค้นดูข่าว “คนแห่ซื้อหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยยุค ‘บิ๊กตู่’ อาจารย์จุฬาฯ ซัด ข้อมูลแบบเลือกจำ-ลำเอียง” ใน มติชนออนไลน์) ได้วิพากษ์และวิเคราะห์ไว้เป็นอย่างดียิ่ง

ผมก็เลยคิดว่าจะผ่านเลยไป โดยจะอ่านและวิพากษ์ไว้ในใจก็คงพอ แต่ อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการเชลยศักดิ์ (ผู้ดำเนินรายการวิทยุ “ทัวร์อดีตกับศิลปวัฒนธรรม”) คะยั้นคะยอ พร้อมทั้งส่งหนังสือมาให้อ่าน ก็เลยต้องนั่งลงเขียน “คำวิพากษ์” และตั้งข้อสังเกตบางประการ ดังต่อไปนี้

ฉากสุดท้ายของละครปลุกใจรักชาติ เรื่อง “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง” ที่เน้นเรื่องชาติ (ไทย) ศาสนาและพระมหากษัตริย์ บทประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) แสดงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม

1

ในบรรดาเครื่องมือสำหรับการรักษาอำนาจของรัฐไทยสมัยใหม่นั้น ดูเหมือนจะไม่มีอะไรดีเกินไปกว่า

ก. ปลุกระดมแนวความคิดว่าด้วยการรวมเป็น “ชาติ” หรือ “เอกภาพ” กับ “ความสามัคคี” โดยผ่าน “ลัทธิชาตินิยม” กับ

ข. การเขียน การตีพิมพ์ การแจกจ่าย “ประวัติศาสตร์ฉบับราชการ”

ดังนั้น การทำความเข้าใจถึง “ลัทธิชาตินิยม” ในรูปแบบต่างๆ กับการ “สร้างชาติ” ของประเทศของเรา ทั้งสมัยก่อนและหลัง พ.ศ. 2475 (สมัยที่ยังมีนามว่า “สยาม” กับสมัยที่เปลี่ยนนามเป็น “ไทย”) พร้อมทั้งศึกษาการเขียนประวัติศาสตร์ (ประวัติศาสตร์นิพนธ์) โดยหน่วยราชการ จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อที่จะได้เข้าใจว่า ที่เรารู้จักกันมา เล่าเรียนกันมา ได้ยินได้ฟังกันมาว่า “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” นั้น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และที่สำคัญคือ ประวัติศาสตร์ฉบับราชการ ที่ถือได้ว่าเป็น “ประวัติศาสตร์กระแสหลัก” ที่ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้น มีอยู่ด้วยกันกี่แบบ หรือกี่สำนัก?

ผู้วิพากษ์ขอสรุปรวบรัดว่า ประวัติศาสตร์ “กระแสหลัก” หรือ “ฉบับราชการ” ที่ใช้แจก ใช้สอนเป็นแบบเรียน เป็นตำราเรียนในโรงเรียนประถม มัธยม และมหาวิทยาลัยนั้น จะเสนอเรื่องราว “ประวัติศาสตร์” ที่มักจะบรรยายและชี้ให้เห็นว่า ชนชาติไทยนั้น จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เดินทางกันมาอย่างไร มีแต่ความก้าวหน้า มีวิวัฒนาการอันต่อเนื่องโดยไม่รู้จบ จากไหนถึงไหน บางสำนักเริ่มจากสมัยโบราณ ที่เท้าความกลับไปถึงสมัยที่คนไทยอยู่ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาณาจักรน่านเจ้า (เมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว)

บางสำนักย้อนกลับไปไกลโพ้น ถึงเทือกเขาอัลไต (5,000 ปี) กลับไปยังดินแดนที่อยู่ติดพรมแดนจีน รัสเซีย มองโกเลีย และคาซัคสถาน ฯลฯ และทุกสำนัก ก็จบลง ลงเอย ตอกย้ำ เน้นหนักอยู่ที่ทฤษฎี “สามกรุง” คือ “สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์” (โดยในตอนหลังมีธนบุรีแทรกเข้าเป็นยาดำเป็นกรุงที่สี่) กล่าวโดยย่อ นี่คือเรื่องราวหรือประวัติศาสตร์ของความรุ่งเรือง แล้วล่มสลาย แล้วก็กลับรุ่งเรืองขึ้นใหม่นั่นเอง และหนังสือเล่มล่าสุด “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ฉบับราชการของกรมศิลปากร ก็ตกอยู่ใน “วาทกรรม” ตามขนบนี้

2

ผู้วิพากษ์ยังมี “สมมุติฐาน” อีกว่าทั้ง “สยามประเทศ” (เดิม) และ “ประเทศไทย” (ใหม่) ของเรา มีประวัติศาสตร์ฉบับราชการ หรือประวัติศาสตร์ของชาติ อยู่ด้วยกัน 3 ประเภท หรือ 3 สำนัก คือ

ก. สำนักประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม (Royal Nationalistic History)

ข. สำนักประวัติศาสตร์อำมาตยาเสนาชาตินิยม (Military-bureaucratic National History)

ค. สำนักประวัติศาสตร์ชาตินิยมพันทาง (Hybrid Nationalistic History)

พระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง “พระบรมโอรสาธิราชฯ”

สำหรับสำนัก ก. นั้น มีหัวใจหรือแกนของประวัติศาสตร์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ อยู่ที่เมืองหลวงหรือราชธานีของสยาม คือ สุโขทัย กับอยุธยา และรัตนโกสินทร์ สำนักนี้ก่อตัวขึ้นมาในสมัสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 และต้นรัชกาลที่ 6 หรือกว่า 100 ปีมาแล้ว

บุคคลสำคัญที่มีส่วนในการสร้างสำนักประวัติศาสตร์นี้คือพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง “พระบรมโอรสาธิราชฯ” และทรงพระราชนิพนธ์ “เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง” และตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908)

งานเขียนดังกล่าวนี้ ไม่เพียงแต่มีการ “ค้นพบ” สุโขทัยเท่านั้น แต่ยังเป็นการให้ “ชีวิต” กับสุโขทัย ในฐานะราชธานีหรือเมืองหลวงแห่งแรก หลังจากที่คนไทยอพยพลงมาจากจีนตอนใต้ และปลดแอก ประกาศเอกราชของตนจากขอม/เขมร

ปกหนังสือ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ฉบับราชการกรมศิลปากร

สำหรับสำนักประวัติศาสตร์นี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับกรมพระยาดำรงฯ (ซึ่งดำรงตำแหน่งสำคัญ ทั้งกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) และมหาดไทย เป็นเวลายาวนาน ข้ามรัชสมัย) ท่านทรงเชื่อว่าอาณาจักร “น่านเจ้า” ก็คือ “เมืองไทยเดิม” ท่านทรงย้อนประวัติศาสตร์ชาติไทยให้กลับไป 2,000 ปี กลับไปเมื่อสมัยคนไทยยังอยู่ในประเทศจีน (โปรดดูงานเขียนสำคัญของท่าน คือ “พระนิพนธ์คำนำ” ที่เขียนขึ้นอย่างละเอียดเมื่อ พ.ศ. 2457/ค.ศ. 1914 ในสมัยรัชกาลที่ 6)

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่สำนักนี้ตอกย้ำเสมอๆ ก็คืออุดมการณ์ว่าด้วย “ลัทธิความภักดี” (Baktism) ที่ถือว่า ใครก็ตาม จะมาจากไหนก็ตาม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนอพยพ รุ่นรัตนโกสินทร์)

หากจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์สยามแล้ว เขาและเธอผู้นั้นก็คือ “คนไทย” อย่างแท้จริง (ดูประกอบพระราชนิพนธ์ “ความเป็นชาติที่แท้จริง” ของรัชกาลที่ 6) และที่ถือว่าเป็นคนไทย ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ ก็ได้ “พึ่งพระบรมโพธิสมภาร” มีแผ่นดินอยู่ มีที่ทำมาหากิน มีชีวิตที่ดี ที่เป็นสุข เป็น “คนไทย” ที่จะต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน

ประวัติศาสตร์แบบนี้ จะเข้ากันแนบสนิทได้ดีกับ “คนไทย” ที่อยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศ หรือคนที่มีเชื้อสายจีนที่อยู่ในตลาดหรือในเมืองใหญ่ แต่จะเข้ากันไม่สนิทแนบแน่นนักกับคนไทยในภาคอื่นๆ เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนสัญชาติไทยที่พูดภาษามลายู นับถือศาสนาอิสลาม ในสามสี่จังหวัดภาคใต้สุด ตลอดจนผู้คนที่อยู่บนที่สูง (เทือกเขา) ที่เป็นชนเผ่าต่างๆ

ทีนี้ เรามาดูสำนัก ข. หรืออำมาตยาเสนาฯ ที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจแทน “เจ้าและขุนนางชั้นสูง” หลังจาก “การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475” นั้น กลุ่มนี้เป็น “ผู้นำใหม่” ที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่ ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในกรุง ในเมือง หรือในตลาด จำนวนไม่น้อยมีเชื้อสายจีน ที่กลายมาเป็นทั้งข้าราชการทหาร พลเรือน ตุลาการ และเป็น “คนชั้นกลาง”

หัวใจประวัติศาสตร์ของสำนักนี้คือเชื้อชาติไทย ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนนามประเทศใน พ.ศ. 2482 (หลังการปฏิวัติ 2475 เพียง 7 ปี) เปลี่ยนจากสยาม เป็นไทย จาก Siam เป็น Thailand ทั้งยังมีการกำหนดให้มี “วันชาติ” (24 มิถุนายน แทนวันเฉลิมพระชนมพรรษา) เป็นการเฉลิมฉลองใหญ่ มี “เพลงชาติ” (ซึ่งมีเนื้อร้องของกองทัพบก ที่มีข้อความสำคัญว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ”) และมี “รัฐนิยม 12 ประการ” (โปรดสังเกต คำว่า “รัฐ” ไม่ใช่ “ราช” และตัวเลข 12)

บุคคลสำคัญของสำนักนี้คือหลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) และขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ประวัติศาสตร์ของสำนักนี้ แต่บุคคลสำคัญที่เหนือขึ้นไปอีกก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและเป็นทั้งผู้บัญชาการกองทัพบก เป็นรัฐมนตรีกลาโหม เป็นผู้คุมกองทัพไว้ได้อย่างเหนียวแน่นในระยะยาว และเป็นผู้ให้ความสนใจในทางวัฒนธรรมอย่างยิ่งยวด
ผิดจากบรรดานายทหารระดับสูงทั่วๆ ไป

ทั้งนี้เพราะ จอมพล ป. ไม่เพียงแต่เปลี่ยนนามประเทศจากสยามเป็นไทยแล้ว ยังทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล (ดังตัวอย่างของหลวงวิจิตรวาทการ เปลี่ยนจากกิมเหลียง เป็น วิจิตร วิจิตรวาทการ และ นายธนิต อยู่โพธิ์ เปลี่ยนจากนายกี เป็นต้น) และที่น่าสนใจของยุคสมัยนี้คือ มีผู้คนระดับสูงจำนวนหนึ่งไม่น้อยเลยที่ต้องปฏิเสธ และต้องปิดบัง “ความเป็นจีน” กับชื่อเดิมและแซ่เดิมของตน

บรรดาเสนาอำมาตย์ของสำนักนี้ ย้อน “กาละและเทศะ” กลับไปไกลกว่า “น่านเจ้า” ของสำนักแรก คือ ไปไกลถึง “เทือกเขาอัลไต” และเก่าแก่กลับไปถึง 5,000 ปี (แทนที่จะเป็นเพียง 2,000) สำนักนี้ แม้จะยังรักษาทฤษฎีสามกรุงไว้อย่างเหนียวแน่น แต่ก็ได้เพิ่มกรุงธนบุรีเข้ามาให้เป็นสมัยที่สี่ สำนักนี้ยกย่องสรรเสริญสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสินมหาราช) และที่สำคัญคือ สำนักนี้ไม่เชื่อถือข้อกล่าวหาที่ว่าท่านสติฟั่นเฟือน วิปลาส หรือเป็นบ้า

สำนักนี้สร้างพื้นที่ให้พระองค์ท่านในหน้าประวัติศาสตร์ พร้อมด้วยการสร้างอนุสาวรีย์อันสง่างาม ทรงม้า ชูดาบ ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี อนึ่ง สำนักนี้ยังเน้น ตอกย้ำ “ความเป็นผู้นำ” และปลูกฝัง “ลัทธิทหาร” ที่ถือว่าเป็นรั้วของชาติ ป้องกันศัตรูจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติ (เช่น พม่า เขมร ลาว จีน ตลอดจนคอมมิวนิสต์ทั้งในและนอกประเทศ)

(ซ้าย) จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ขวา) จอมพล ถนอม กิตติขจร

สำหรับสำนักสุดท้าย ค. หรือพันทางนั้น ถือได้ว่าเป็นลูกผสมของ ก. และ ข. ที่ถือกำเนิดขึ้นมาได้ครึ่งศตวรรษแล้ว คือ ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา อันเป็นสมัยอันยาวนานกว่า 1 ทศวรรษ ของรัฐบาลทหารของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และต่อด้วย จอมพล ถนอม กิตติขจร (2501-16) ที่ควบคู่กันไป มีปรากฏการณ์พิเศษของ “การสถาปนาพระราชอำนาจนำ” (royal hegemony) ขึ้นมาด้วย

ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากในสองเหตุการณ์สำคัญ คือ “14 ตุลา 2516” กับ “พฤษภาเลือด 2535” ที่ “ลัทธิ (ผู้นำ) ทหาร” ได้ตกต่ำลง และพระมหากษัตริย์กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “พลังสมดุล” (balancing force) อาจกล่าวได้ว่า สถาบันกษัตริย์ไทยในปัจจุบันนี้ เป็น “สถาบันกษัตริย์ใหม่” (neo-monarchy) ที่มิได้เป็น “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” (absolute monarchy) อย่างในอดีตสมัย รัชกาลที่ 5-7 และก็ไม่ได้เป็น “สถาบันกษัตริย์โดยรัฐธรรมนูญ” (constitutional monarchy) อย่างในกรณีของสหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตก หรือญี่ปุ่น

สำนักนี้แม้จะมีส่วนคล้ายกับสำนัก ข. คือ เน้นย้ำบทบาทของผู้นำทหาร “บุรุษเหล็ก” แต่ก็ต้องอ้างและอิงพระมหากษัตริย์ และพยายามสร้างรูปแบบการเมืองการปกครอง ที่ทั้งพระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ กลายเป็นคำอธิบายหรือข้ออ้างของอำนาจ ของ “สิทธิธรรม” (legitimacy or legitimation) ในการเมืองการปกครอง ทั้งนี้เพราะ สถาบันทหาร (military) แม้จะมี “อำนาจ” มีอาวุธยุทโธปกรณ์ มีเครื่องมือของความรุนแรง เด็ดขาด แต่ก็ปราศจาก “บารมี”

ดังนั้น จึงต้องอาศัยสถาบันตามขนบประเพณี และเสริมสร้างสิ่งที่เป็นข้ออ้าง อย่างการใช้วลี เช่นว่า “การปกครองประชาธิปไตยแบบไทย” หรือ “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นต้น

บุคคลสำคัญของสำนักนี้ มักจะเป็นนักวิชาการ ที่ทำการสอนทางประวัติศาสตร์ ทางรัฐศาสตร์ และทางนิติศาสตร์ ที่กระจายตัวกันอยู่ตามมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และ มศว.ประสานมิตร NIDA รวมทั้งบางหน่วยราชการของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม (กรมศิลปากร)

3

ทีนี้ ขอกลับไปยังหนังสือ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ฉบับราชการของกรมศิลปากร ซึ่งผู้วิพากษ์ขอสรุปว่าเป็น “ประวัติศาสตร์ชาตินิยมพันทาง” หรือ Hybrid Nationalistic History คือ เป็นสำนัก ค. ซึ่งเป็นลูกผสมของ ก. และ ข. ที่เป็นการสืบทอดการเขียนประวัติศาสตร์ฉบับราชการของกรมศิลปากร ที่ทำงานด้านนี้มาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่สมัยหลวงวิจิตรวาทการ (2441-2505 กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ท่านนั้นเป็นอธิบดีคนแรกของกรมศิลปากร (2477-83?) หลวงวิจิตรวาทการ และ/หรือ คนอย่างพระยาอนุมานราชธน (2431-2512 หลีกวงหยง หรือ ยง เสฐียรโกเศศ) หรือสหายร่วมสำนักวัดมหาธาตุ อย่าง นายธนิต อยู่โพธิ์ (2450-2547 ที่ก็ต้องเปลี่ยนชื่อตาม “รัฐนิยม” ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เคยเป็นอธิบดีกรมศิลปากรอยู่เป็นเวลายาวนานมากระหว่าง พ.ศ. 2499-2511)

บุคคลเหล่านี้ทรงอิทธิพลภายในกรมศิลป์เป็นอย่างยิ่ง ทำให้ความคิดแบบของทั้งสำนัก ก. และ ข. กลายเป็นมรดกตกทอดเป็นสำนัก ค. อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

4

หนังสือ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” เล่มนี้ มีลักษณะพิเศษที่น่ากล่าวถึงคือ เป็นงานเขียนที่ใช้หลายๆ ศาสตร์ ที่ให้ภาพประวัติศาสตร์อย่างน้อยก็ในตอนแรก ที่มีความหลากหลายมากกว่าในตอนหลัง นั่นคือ มีทั้งธรรมชาติวิทยา (natural science) มีทั้งโบราณคดี (archeology) และมีทั้งประวัติศาสตร์ (history)

หลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

ในส่วนของธรรมชาติวิทยา หนังสือนี้ก็พาเราผู้อ่านกลับไปไกลถึง 2 ล้านปี เพื่อที่จะบรรยายถึงต้นตอของมนุษย์ที่อุบัติขึ้นมาในโลกนี้ (ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แต่การใช้คำว่าบรรพบุรุษนั้น ผู้วิพากษ์ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้เพราะมนุษย์ไม่ว่าจะยุคไหนในอดีต ก็มีทั้งชายและหญิง หรือแม้แต่เพศที่สามสี่ห้า ผู้วิพากษ์เห็นควรใช้คำว่า “บรรพชน” มากกว่า เช่นเดียวกับคำว่า “พฤษภาทมิฬ” (น. 191) ที่นักวิชาการกรมศิลป์น่าจะต้องมีความละเอียดอ่อนต่อปัญหา “เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์”

ทั้งนี้เพราะทมิฬคือชนชาติที่มีจำนวนหลายสิบล้านในรัฐทมิฬนาฑู โจฬะมณฑล อินเดียใต้ ที่เป็นอารยะ ที่เป็นต้นกำเนิดของการสร้างปรางค์ปราสาท และที่สำคัญคือ ผู้สร้างอักษรปัลลวะ อันเป็นต้นกำเนิดของตัวอักษรไม่ว่าจะเป็นชวา/บาหลี ขอม/เขมร/มอญ/พม่า ไทย/ลาว/เมือง ฯลฯ คนทมิฬหาได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงของรัฐไทย หรือการปราบปรามประชาชนบนถนนราชดำเนิน พ.ศ. 2535 แต่อย่างใด ผู้วิพากษ์เห็นว่าน่าจะเปลี่ยนเป็น “พฤษภาเลือด” หรือ “พฤษภาอำมหิต” เสียมากกว่า                                                                     

น่าเชื่อว่า การที่หนังสือเล่มนี้นำเรากลับไปไกลถึง 2 ล้านปีในบทต้นนั้น ก็เพื่อปูพื้นให้เข้าสู่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของดินแดนในประเทศไทย ซึ่งเป็นสมัยที่เรียกว่าหินเก่า หินใหม่ บ้านเก่า กับบ้านเชียง ที่การขุดค้นทางโบราณคดีมีความสำคัญเพิ่มขึ้นๆ จนเข้ามาเบียดหรือผลักดันทฤษฎีเทือกเขาอัลไต กับน่านเจ้าออกไปอยู่ “ชายขอบ” ของประวัติศาสตร์ชาติไทย และเมื่อหนังสือเล่มนี้ขยับไปใช้ศาสตร์ทางโบราณคดี ก็เป็นที่แน่ชัดว่า เพื่ออธิบายถึงยุคศรีวิชัยและยุคทวารวดี/หริภุญชัย ก่อนการก่อกำเนิดของ 3 + 1 กรุง (สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์) นั่นเอง

ผู้วิพากษ์เชื่อว่า การนำสองส่วน (จากธรรมชาติวิทยาและโบราณคดี) นี้มาใช้ในบทต้น เป็นการเกริ่นนำก่อนเข้ายุค 3 + 1 กรุง ก็เนื่องมาจากความก้าวหน้าทางวิชาการในช่วงเกือบครึ่งศตวรรษที่แล้ว ที่ทำให้เราไม่สามารถปฏิเสธ “ผู้คน แผ่นดิน วัฒนธรรม ศิลปกรรม” ตลอดจน “ชาติพันธุ์” อันหลากหลาย ที่ปรากฏอยู่บนแผ่นดินไทยได้ นี่เป็นส่วนขยายของประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่สำนัก ค. จะต้องอธิบายทางวิชาการให้ได้ว่า ก่อนที่ “คนไทย” ที่สำนัก ก. และ สำนัก ข. เคยเชื่อว่าเป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้า และ/หรืออพยพมาไกลแสนไกลจากเทือกเขาอัลไตนั้น ดินแดนที่กลายมาเป็นประเทศไทยนั้น ได้ผ่านอะไรมาก่อนในยุคสมัย “ก่อนคนไทย”

แน่นอน นี่ก็เป็นเงื่อนปมทางประวัติศาสตร์ใหม่ ที่นักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งของกรมศิลป์ ต้องเผชิญต่อคำถามที่ว่า แล้วมนุษย์สมัยหิน สมัยถ้ำ สมัยทวารวดี เป็น “คนไทย” หรือเปล่า หรือว่า “คนไทย” อยู่ที่นี่มาตั้งนานดึกดำบรรพ์แล้วหรือไม่ ดูเหมือนว่าลัทธิชาตินิยมไทยยังแผ่กลับเข้าไปยังไม่ถึงบ้านเชียง บ้านเก่า หรือทวารวดี/หริภุญชัยนัก (แม้จะมีความพยายามตอกตราให้โครงกระดูกบ้านเชียง หรือทารกที่อู่ทอง เป็นไทยๆ ก็ตาม)

5

หนังสือ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ฉบับราชการกรมศิลปากรเล่มนี้ ทำงานกันเป็นทีม ภายใต้ร่มบังคับบัญชาตามลำดับ จากนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ลงมาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายวีระ โรจน์พจนรัตน์) ถึงอธิบดีกรมศิลปากร (นายบวรเวท รุ่งรุจี) ดังที่ปรากฏทั้งในคำปรารภ คำนำ และคำชี้แจง หนังสือเล่มนี้ มีผู้เขียนที่เป็นข้าราชการทั้งหมด 8 + 1 คน ที่น่าจะมาจากสำนักประวัติศาสตร์และวรรณกรรม สำนักพิพิธภัณฑ์ฯ กองโบราณคดี ฯลฯ ที่ได้รับมอบหมายให้เขียนกันคนละบทสองบท ซึ่งผู้วิพากษ์ขอแบ่งออกให้เห็นเป็น 3 ส่วน ดังนี้ คือ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จและทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓

ก. ส่วนที่ 1 คือ บทนำ และบททั่วไปว่าด้วยแผ่นดิน ผู้คนในประเทศไทย และถิ่นกำเนิดของคนไทย (ทฤษฎีอัลไต น่านเจ้า ฯลฯ) ไล่ไปจนถึงทวารวดี/เจนละ/ศรีวิชัย น. 11-74 เป็นจำนวน 63 หน้า หรือ 30% (หนังสือหนา 208 หน้า) ส่วนนี้ เป็นส่วนที่ไม่น่าจะมีปัญหาถูกวิพากษ์วิจารณ์นัก เพราะมีลักษณะเป็นวิชาการ ไม่สู้จะมี “อุดมการณ์ของรัฐ” เข้ามากำกับเท่าไรนัก

กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕”

ข. ส่วนที่ 2 คือ ส่วนที่จะเป็นแกนกลางว่าด้วยกรุงต่างๆ (3 + 1) กับพระมหากษัตริย์ ของสุโขทัย/อยุธยา/ธนบุรี/รัตนโกสินทร์ (รวม 52 พระองค์) น. 75-181 จำนวน 106 หน้า หรือ 50.96% (ส่วนนี้ โดยรวมก็ไม่สู้มีปัญหาที่จะต้องวิพากษ์หนักนัก เพราะเป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ และเป็นประวัติศาสตร์โบราณที่ผู้คนทั่วไปอาจจะไม่ให้ความสนใจเท่าไร ยกเว้นในกรณีของรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสินมหาราช) ที่เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังอยู่ในความสนใจใคร่ถกเถียงใคร่รู้ของผู้คนทั่วไป รวมทั้งเรื่องราวของการสิ้นสุดรัชสมัยของในหลวงอานันท์ รัชกาลที่ 8)

ค. ส่วนที่ 3 ส่วนสุดท้าย ว่าด้วยประเทศไทยหลัง 2475 ถึงปัจจุบัน และบทสรุป น. 182-197 เป็นจำนวน 15 หน้า หรือ 7.21% สั้นสุด แต่น่าจะเป็นปัญหามากสุด ทั้งนี้เพราะเป็นประวัติศาสตร์ใกล้ตัวสุดของประวัติศาสตร์การเมืองที่ “ฝุ่นยังฟุ้งตลบ” ยังไม่ลงตัว และยังมองไม่เห็นทางออก ที่เป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ยิ่งสุดของชาติไทย ที่มีการแบ่งฝ่าย แบ่งค่าย แบ่งสี แตกแยก (สามัคคีและเอกภาพ) อย่างไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะในระดับสถาบันหลักของชาติ ของศาสนา และของพระมหากษัตริย์ แต่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ก็กล้าหาญชาญชัยด้วยการฟันธง “พิพากษา” และ “เลือกฝ่าย” ลงในหน้ากระดาษของ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ประสบปัญหาด้านความชอบธรรมหลายประการ เช่น การทุจริตเลือกตั้ง การรวบอำนาจเข้าสู่นายกรัฐมนตรี การฉ้อราษฎร์บังหลวง และผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจรัฐและละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ…นำไปสู่การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย…เป็นเหตุให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คปค.) ที่นำโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ประกาศยึดอำนาจในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549…”

หรือ “คณะปฏิรูปการปกครอง..แต่งตั้งให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและทำการปฏิรูปการเมืองอีกครั้งโดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงรวมทั้งวางมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของรัฐบาล…”

หรือ “ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หัวหน้าพรรคผู้เป็นน้องสาว พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการใช้นโยบายประชานิยมเช่นเดิม รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ในการดำเนินนโยบายหลายประการ เช่น นโยบายจำนำข้าวที่ทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก รวมทั้งถูกกล่าวหาว่าทุจริตเลือกตั้งและ
ฉ้อราษฎร์บังหลวง…”

หรือ “ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ซึ่งจะมีผลให้ พ.ต.ท. ทักษิณ
ชินวัตร หลุดพ้นจากโทษผิดในคดีทั้งปวงที่ศาลตัดสินไปแล้ว กลุ่มผู้ต่อต้านจึงรวมตัวกันชุมนุมใหญ่…เรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง นำไปสู่การปะทะกัน…ในที่สุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจ และแต่งตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศ…”

หรือประโยคท้ายที่สุด ที่อ่านดูแล้วน่าจะเป็น happy ending ของประวัติศาสตร์ชาติเล่มนี้ คือ

“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศให้เป็นประชา
ธิปไตยอย่างแท้จริง ขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง และใช้หลักคุณธรรม เพื่อนำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

(มีข้อสังเกตอยู่ประการหนึ่ง คือหนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมาเผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2558 และยังใช้ยศตำรวจของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณว่า พ.ต.ท. แต่ 1 เดือนก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2558 ได้มี “คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 26/2558 เรื่องดำเนินการเพื่อถอด พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตำรวจ การประกาศนั้น มีในวันเดียวกันกับการตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา!)

6

ภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้ มีตารางที่ทำเป็นกระดาษพับขนาดยาว เป็น 2 เรื่อง คือ ก. เส้นแสดงลำดับเหตุการณ์สำคัญตามเวลา หรือ “กาลานุกรม” ที่สวยงาม ทันสมัย ให้ลำดับเวลากลับไปถึง 2 ล้านปี จนถึง คสช. 2557 กับ ข. พระนามพระมหากษัตริย์ไทย จากสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์ ที่มีกษัตริย์รวมแล้ว มีสุโขทัย 9 องค์ มีอยุธยา 33 องค์ (ไม่นับรวมขุนวรวงษาแม้ว่าจะเสวยราชย์ก็ตาม) มีธนบุรี 1 องค์ มีรัตนโกสินทร์ 9 องค์ รวมเป็น 52 องค์

“เส้นแสดงลำดับเหตุการณ์สำคัญตามเวลา” ในภาคผนวกของหนังสือ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย”

ในตารางดังกล่าว มีช่องที่เรียกว่า เหตุที่สิ้นรัชกาล โดยแบ่งเป็น ก. พระชนมายุขัย (หมายถึงเสวยราชย์จนสิ้นชีวิตในตำแหน่ง) กับ ข. ลาออก หรือสละราชสมบัติ และ ค. ถูกลอบปลงพระชนม์

ในข้อ ค. ถูกลอบปลงพระชนม์นี้ หนังสือประวัติศาสตร์ชาติเล่มนี้ ได้ลงไว้ 9 องค์ (คือ พระเจ้าทองลัน พระรัษฎา พระแก้วฟ้า พระศรีเสาวภาคย์ พระเชษฐาธิราช พระอาทิตยวงศ์ เจ้าฟ้าชัย พระศรีสุธรรม และท้ายสุดคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ!!!)

“พระนามพระมหากษัตริย์พระบรมราชจักรีวงศ์” ในภาคผนวกของหนังสือ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย”

ผู้วิจารณ์เชื่อว่าในกรณี 8 องค์แรก คงไม่มีผู้ใดกังขาเท่าไร เพราะเป็นประวัติศาสตร์โบราณ สมัยอยุธยา แต่การที่หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย เล่มนี้ “ฟันธง” ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 8 นั้น “ถูกลอบปลงพระชนม์” (ดูตารางก่อน น. 205) นับเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่กรณีนี้เกิดขึ้นนานหนักหนา ใน พ.ศ. 2489 หรือ 70 ปีมาแล้วก็ตาม ในทางวิชาประวัติศาสตร์ ในหมู่ผู้รู้ นักวิชาการ แพทย์ หรือผู้พิพากษา ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าเพราะเหตุใด ไม่ว่าจะ

ก. เป็นอุบัติเหตุ? หรือ

ข. เป็นอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย)? หรือ

ค. เป็นการลอบปลงพระชนม์?

อนึ่ง ก็น่าสนใจยิ่งว่า ในตารางเดียวกันนี้ เมื่อกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสินมหาราช) กลับใส่ไว้ในตารางเหตุสิ้นรัชกาลว่า “เปลี่ยนราชวงศ์” เท่านั้นเอง!?

7

หนังสือเล่มนี้มีบรรณานุกรมท้ายเล่ม ที่เมื่อพลิกดูแล้วก็สร้างความประหลาดใจให้กับผู้วิพากษ์อย่างยิ่ง กล่าวคือ ขาดการอ้างถึงผลงานประวัติศาสตร์ ระดับที่เราเรียกได้ว่าเป็น “บรรพชน” ของ “มหานักประวัติศาสตร์” ไปเลยก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ก็ยังถือได้ว่าทรงอิทธิพลต่อวงการไม่น้อย เช่น ขจร สุขพานิช เช่น รอง ศยามานนท์ หรือ วิลาสวงศ์ พงศะบุตร หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญระดับปรมาจารย์ อย่าง ประเสริฐ ณ นคร ที่งานทั้งชีวิตของท่าน ได้ทำให้เรื่องสำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ต้องเปลี่ยนโฉมหน้าไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “น่านเจ้า” ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ล้านนา/ล้านช้าง” แทน “ลานนา/ลานช้าง” แต่ชื่อของท่านเหล่านี้ก็ไม่ปรากฏในบรรณานุกรมแต่อย่างใด

(ซ้าย) ปกหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ปกหนังสือ “กำเนิดสยามจากแผนที่” โดย ธงชัย วินิจจะกูล

ในขณะที่หนังสือบางเล่ม ที่ชื่อผู้แต่งบางคนที่นำมาไว้ในบรรณานุกรม ก็เรียกได้ว่า “โนเนม” หาได้เป็นที่รู้จัก หรือมีผลงานแพร่หลายแต่อย่างใดไม่ นี่ยังไม่ต้องเอ่ยถึงงานในภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ (ที่แปลเป็นไทยแล้ว) อีกหลายๆ เล่ม ที่เป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เป็นประวัติศาสตร์การเมือง

ทั้งนี้ยังไม่นับหนังสือของนักประวัติศาสตร์ที่เป็นคนไทย และเป็นที่ยอมรับนับถือในโลกสากลของอุษาคเนย์ศึกษา (Southeast Asian Studies) ระดับ “อินเตอร์” อย่าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ (การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี 2529/1986 หรือปากไก่กับใบเรือ 2527 และ Ped and Sail 2006) กับ ธงชัย วินิจจะกูล (Siam Mapped 1988/2531 ที่ก็แปลเป็นไทยแล้วในชื่อกำเนิดสยามจากแผนที่ 2556) ซึ่งก็ทำให้หนังสือ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ฉบับราชการกรมศิลปากร พลาดหนังสือประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษไปอย่างน่าใจหาย

8

กล่าวโดยสรุป หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นหนังสือ “ของ” ราชการ “โดย” ราชการ และ “เพื่อ” ราชการ ที่ผลิตออกมาตามขนบของกรมศิลป์ ที่มีมาเป็นเวลา 100 ปีมาแล้ว ไม่สู้จะมีการตีความใหม่ๆ ให้หลุดออกจากแวดวงของสำนัก “ราชาชาตินิยม” กับ สำนัก “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” ไม่ได้ใช้ข้อมูลใหม่ๆ ไม่ได้ใช้ความรู้ใหม่ๆ ของวงการประวัติศาสตร์ทั้งในและนอกประเทศ มาประกอบในการเขียนครั้งนี้ ดังนั้นจึงกลายเป็นประวัติศาสตร์ฉาบฉวย เชิงพรรณนา ว่าด้วย what, where, when และขาดคำถามที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ why

งานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ฉบับราชการกรมศิลปากร ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ ๒๐ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ (ภาพจาก Facebook 
กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)

เอาเข้าจริงแล้ว ผู้วิพากษ์มีความเห็นว่า หนังสือเล่มนี้ แม้จะมีชื่อว่าประวัติศาสตร์ มีเรื่องของลำดับเหตุการณ์ แต่นัยของหนังสือน่าจะสะท้อน “อุดมการณ์” ของผู้กุมอำนาจรัฐว่าด้วย ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ เสียมากกว่า นี่เป็นงานเขียนทางอุดมการณ์ของรัฐ (state ideology) มากกว่าเป็น “ศาสตร์” ของ “ประวัติ” (historical science) กล่าวโดยรวบรัด ก็คือเป็น “อุดมการณ์” มากกว่าเป็น “ประวัติศาสตร์”

เราเห็น เราได้ภาพแต่เพียงบุคคลจำนวนน้อยๆ ที่อยู่ “ในรั้วในวัง” หรือไม่ก็ในสนามรบ (โบราณ) เราไม่เห็น “วัด” (หรือศาสนสถานอื่นๆ) และ/หรือ ที่สำคัญคือแทบไม่เห็น “บ้าน” เราเกือบไม่เห็นสามัญชน ที่เป็นไพร่หรือทาสในสังคมเดิม และไม่เห็นประชาชนพลเมืองในสังคมปัจจุบัน เราไม่เห็นส่วนอื่นของชาติไทย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้

และที่สำคัญเราแทบไม่เห็นประเทศเพื่อนบ้านในยุคปัจจุบันของอาเซียน ที่กำลังโปรโมต One Vision – One Identity - One Community เราเห็นแต่การเสียกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่เห็นการเสียกรุงศรียโศธรปุระ (นครธม) ที่กองทัพอยุธยาของพระเจ้าสามพระยาไปตีจนแตกใน พ.ศ. 1974/ค.ศ. 1431 และก็ไม่เห็นการเสียกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวเวียงจัน ที่กองทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา สมัยรัชกาลที่ 3 ไปตีเสียราบคาบ พ.ศ. 2370/ค.ศ. 1827

ดังนั้น ประวัติศาสตร์ชาติฉบับนี้ จึงยังคงความคับแคบแม้จะอยู่ในยุคสมัยโลกาภิวัตน์ ยุคสมัยของโลก
โซเชียลมีเดีย และการเปิดกว้างของอุษาคเนย์อาเซียน กลายเป็นประวัติศาสตร์ด้านเดียว เป็นเหรียญด้านเดียว one sided coin คัดสรรข้อมูลเฉพาะที่มีแต่ “ความดี-ความงาม” ของชนชั้นนำไทย ซึ่งหาใช่ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ที่จักต้องมีทั้งบวกและลบ มีทั้งดีและชั่ว มีทั้งทุกข์และสุข หาใช่ happy beginning and happy ending แต่อย่างใดไม่

ดังนั้น หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยเล่มนี้ หากมิได้มีผู้บังคับบัญชาในระดับนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการของ คสช. ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร เป็นร่มธงในการผลิต หนังสือเล่มนี้ ก็คงเหมือนๆ หนังสือพิมพ์แจกของราชการโดยทั่วไป ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แจก ที่ได้รับความสนใจน้อย ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์น้อย และมีคนอ่านก็น้อยเป็นปกติวิสัย

แต่ในบรรยากาศการเมืองของยุคสมัยพิเศษ ของการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่าน ของประชาธิปไตย และอประชาธิปไตย ก็ทำให้หนังสือได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ถ้าจะว่าไปแรงกระตุ้นในทางกลับ ที่ทำให้เกิดความสนใจประวัติศาสตร์ ว่านอกเหนือจาก 3 สำนักดังกล่าวมาแล้วนั้น เป็นไปได้ไหมหนอ ที่จะมีสำนักที่ 4 หรือที่ 5-6 ที่จะมาช่วยขยายปริมณฑลขอบฟ้าของความรู้และสติปัญญา ของชนชาติไทยที่หลากหลายทางภาษา วัฒนธรรม และชนชั้น ให้ได้มากไปกว่านี้

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทรัพยศาสตร์ ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย วิชาต้องห้ามในอดีต


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม พ.ศ.2560 จัดย่อหน้าใหม่ เน้นคำใหม่ โดยกองบรรณาธิการ