กระดูก “ไวกิ้ง” สองร่างจากครอบครัวเดียว จ่อกลับมารวมตัวกัน หลังตายไปแล้วกว่าพันปี

ภาพประกอบเนื้อหา - ผู้เข้าร่วมเทศกาล Up Helly Aa ใน Lerwick เทศกาลรำลึกอิทธิพลของไวกิ้งแถบสแกนดิเนเวีย ต่อ Shetland Islands, สหราชอาณาจักร แต่งกายเป็นชาวไวกิ้ง เมื่อ 31 ม.ค. 2017 (ภาพจาก ANDY BUCHANAN / AFP)

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เกิดปรากฏการณ์พิเศษหายากในแวดวงนักประวัติศาสตร์ เมื่อสื่อต่างประเทศรายงานว่า กระดูกของชาว “ไวกิ้ง” สองรายที่มาจากครอบครัวเดียวกัน(ซึ่งอยู่ต่างถิ่นกันในวาระสุดท้าย)กำลังจะกลับมา “รวมตัว” กันอีกครั้งหลังจากพวกเขาตายไปแล้วกว่าพันปี

รายงานข่าวจากสำนักข่าว บีบีซี เปิดเผยว่า นิทรรศการไวกิ้งซึ่งจะจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของเดนมาร์ก จะจัดแสดงกระดูกของไวกิ้งสองราย รายหนึ่งคือกระดูกที่ผ่านการตรวจสอบหลักฐานทางดีเอ็นเอว่า เป็นเหยื่อของการสังหารหมู่ไวกิ้งในอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford) เมื่อปี 1002 หรือเป็นที่รู้จักกันว่า “โครงกระดูกอ็อกซ์ฟอร์ด” (The Oxford skeleton-SK1756)

Advertisement

ส่วนโครงกระดูกอีกราย พบขณะขุดค้นในเดนมาร์ก

จากการตรวจกระดูกของทั้งสองร่างแล้ว เชื่อว่ามีความสัมพันธ์ในครอบครัวเดียวกัน อาจเป็นลุง, หลาน, ปู่-ตา, พี่น้องต่างพ่อหรือแม่

รายงานข่าวอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ Dr. Rane Willerslev ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของเดนมาร์ก ซึ่งกล่าวถึงความรู้สึกแปลกๆ เมื่อได้เห็นโครงกระดูกหนึ่งในบรรพบุรุษของตัวเองที่ถูกทุบศีรษะมากถึง 8-10 ครั้ง และแทงเข้ากระดูกสันหลังอีกหลายครั้งมาเรียงรายอยู่เบื้องหน้า

“เราคิดว่าชาวไวกิ้งละทิ้งถิ่นฐานในเดนมาร์กมาอาศัยในบริเทน แต่เรายังไม่ถึงกับมั่นใจนัก และตอนนี้เรามีหลักฐานว่าพวกเขาเป็นญาติกัน” ผอ.พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเดนมาร์กกล่าว

Rane ยังกล่าวอีกว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าไวกิ้งออกเข่นฆ่าและปล้นทรัพย์สิน แต่ในเหตุการณ์นี้ (สังหารหมู่) ถือได้ว่าเป็นการ “เอาคืน” ก็ว่าได้

แองจี โบลตัน (Angie Bolton) ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งอ็อกซ์ฟอร์ดไชร์ (Oxfordshire) กล่าวว่า การค้นพบความสัมพันธ์เชื่อมโยงนี้เป็นเรื่องมหัศจรรย์และมองว่า ถือเป็นโอกาสพิเศษมากที่สิ่งของที่จัดแสดงของพวกเขาจะได้มีเกียรติประวัติเช่นนี้

ขณะที่โครงกระดูก Oxford skeleton ปัจจุบันจัดแสดงในศูนย์พิพิธภัณฑ์ของสภาเทศบาลอ็อกซ์ฟอร์ไชร์ (Oxfordshire) และจะถูกเคลื่อนย้ายไปโคเปนเฮเก้น (Copenhagen) ช่วงฤดูใบไม้ผลิ เชื่อกันว่า ชิ้นส่วนโครงกระดูกนี้เป็นหนึ่งในเหยื่อ 35 รายที่ถูกสังหารหมู่ในปี 1002 หลังพระเจ้าเอเธลเรด (Ethelred) มีรับสั่งให้กำจัดชาวเดนส์ทั้งหมดในอังกฤษ ในช่วงที่ชาวไวกิ้งเริ่มกลับมาออกปล้นอีก หลักฐานของเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้นคือการค้นพบจุดที่ฝังร่างจำนวนมากในวิทยาลัยเซนต์จอห์นที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เมื่อปี 2008

การขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี 2008 เกิดขึ้นก่อนหน้าการปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งทำให้พบโครงกระดูกมนุษย์อย่างน้อย 35 ร่าง เป็นชายทั้งหมด อายุระหว่าง 16-25 ปี ร่องรอยบนกระดูกบ่งชี้ถึงเหตุการณ์รุนแรงที่พวกเขาถูกกระทำ

ในส่วนข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์จากเอกสารของทางการพบว่า เมื่อปี 1002 พระเจ้าเอเธลเรด มีรับสั่งสังหารชาวเดนส์ทั้งหมดในอังกฤษ พระองค์ตัดสินใจเช่นนี้สืบเนื่องมาจากมีผู้กราบทูลพระองค์ว่า ชาวเดนส์วางแผนลอบปลงพระชนม์

บันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกสารของทางการยังมีข้อความว่า ชาวเดนส์ หลบหนีเข้าไปที่โบสถ์ St Fridewides หวังว่าจะพบที่หลบภัยแต่กลับถูกตามล่าโดยชาวเมืองซึ่งกลุ่มชาวเมืองก็จุดไฟเผาโบสถ์ในเวลาต่อมาด้วย


อ้างอิง:

“Viking relatives to be ‘reunited’ as skeletons”. BBC. Online. Published 1 OCT 2020. Access 1 OCT 2020. <https://www.bbc.com/news/uk-england-oxfordshire-54356483>

Ord, Louise. “Oxford Viking massacre revealed by skeleton find”. BBC. Online. Published 12 AUG 2011. Access 1 OCT 2020. <https://www.bbc.com/news/science-environment-14476039>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2563