ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ สิงหาคม 2555 |
---|---|
ผู้เขียน | ล้อม เพ็งแก้ว |
เผยแพร่ |
เมื่อท่านสุนทรภู่ตัดสินใจจากวัดเทพธิดาราม ท่านได้แต่งรำพันพิลาปเป็นทำนองสั่งเสียวัด และแถลงความใฝ่ฝันไว้อย่างลึกซึ้ง ทุกบททุกตอนน่าสนใจและศึกษาวิเคราะห์ทั้งสิ้นอย่างตอนรํ่าลา “กระฎี” มีความว่า
โอ้กระฎีที่จะจากฝากนํ้าตา
ไว้คอยลาเหล่านักเลงฟังเพลงยาว
หากฟังแล้วรับรู้เพียงว่า “นักเลงฟังเพลงยาว” คือ “แฟนคลับ” ของท่านจำนวนหนึ่ง ก็ผ่านไปได้โดยไม่มีอะไรแต่หากคิดวิเคราะห์หาความหมายที่ลึกลงไป ก็มีเรื่องให้ต้องถกแถลงกันมิใช่น้อย
เป็นที่ทราบกันอยู่ว่า ในการสื่อความเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะใด ถ้อยคำที่กล่าวนั้นมิได้อยู่โดดๆ ลอยๆ แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ปรากฏให้เห็น คือบริบททางสังคมและวัฒนธรรม และเมื่อเวลาผ่านไป บริบทที่ว่านี้ก็จะเปลี่ยนไปด้วย อาจลดแคบลงหรือขยายเพิ่มขึ้น และลางทีก็อาจเปลี่ยนไปเลยได้ในโอกาสนี้ จะได้วิเคราะห์ถึง “นักเลงฟังเพลงยาว” ที่บันทึกไว้นั้น
ทุกวันนี้ คำ “นักเลง” และ “เพลงยาว” รับรู้กันค่อนข้างแคบ อย่างน้อยก็ไม่เท่ากับยุคสมัยของสุนทรภู่ อาจจะยังคงไม่ต่างจากเดิมมากนักก็เฉพาะคำ “ฟัง” ที่หมายถึง “การพยายามแปรสิ่งที่ได้ยินเป็นความเข้าใจ” เท่านั้น
ส่วนคำ “นักเลง” เมื่อได้ยินก็นึกไปถึงพวกเกกมะเหรกเกเร หรือส่งนัยไปในด้านลบมากกว่าบวก แต่หากพิจารณาจากข้อความร่วมสมัยกับท่านสุนทรภู่ เช่น ตอนพระอภัยมณี กล่าวกับศรีสุวรรณ ตอนตัดสินใจเลือกเรียนวิชา มีความว่า
แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลง
หมายว่าเพลงดนตรีนั้นดีจริง
หรือตอนท้าวสุทัศน์ บริภาษเมื่อโอรสทั้งสองเรียนจบและกลับเมือง ว่า
อันดนตรีปี่พาทย์ประโคมเพลง
เป็นนักเลงเหล่าโลนเล่นโขนหนัง
แต่พวกกูผู้หญิงที่ในวัง
มันก็ยังเรียนรํ่าได้ชำนาญ
หรือที่ท่านสุนทรภู่ กล่าวถึงตัวท่านเอง ในโอกาสรํ่าลาศิษย์เจ้าฟ้าทั้งสองว่า
อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว
ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว
เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร
(เพลงยาวถวายโอวาท – ๒๓๗๒)
ยิ่งหากฟังจากปากชาวบ้าน จะเห็นความหมายที่แปลกไปจากความรับรู้ไม่น้อย ดังเช่น เคยได้ยินคำตอบของอดีตอธิการวิทยาลัยครูเพชรบุรี (นายเสยย์ เกิดเจริญ) เมื่อมีเพื่อนฝูงชวนร่วมวงเหล้า ว่า “ผมนักเลงไม่หรอก” แล้ว
ความหมายของคำ “นักเลง” ไม่อยู่ในลักษณะการรับรู้ในทุกวันนี้ แต่หมายไปทางกลางๆ ไม่บ่งไปทางเกะกะระราน แต่หมายไปในทาง “ผู้ฝักใฝ่ในทางใดทางหนึ่ง” เช่น “นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ” หรือ “นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน” อย่างสุนทรภู่ว่า
ที่หมายไปทางไม่สู้ดี เช่น นักเลงโต นักเลงหัวไม้ หรือนักเลงอันธพาล นั่นคือจะกลายเป็นทางบวกหรือลบ ก็อยู่ที่คำมาขยาย ต่างจากทุกวันนี้ ไม่ต้องมีคำขยายก็ส่องนัยลบไปเสียแล้ว
ส่วน “เพลงยาว” ก็เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้พอได้ยินก็มุ่งไปถึง “สารรักของหนุ่มสาว” อย่างเดียว ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมไม่ตรงกับที่ท่านสุนทรภู่กล่าวถึงตัวท่านเอง ที่ว่า “เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว” นั่นคือคำ “เพลงยาว” ในสมัยท่านสุนทรภู่ ในความรับรู้ไม่ตรงกับคำ “เพลงยาว” ในทุกวันนี้
อนึ่งในสมัยผมมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ เมื่อเกือบหกสิบปีมาแล้วได้อ่านหนังสือประเภท “ชุมนุมเพลงยาวสมัยโบราณ” ปรากฏว่า วรรณกรรมนิราศคำกลอนเรื่องแรกครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ “นิราศเพชรบุรี” ของหม่อมภิมเสน เรียกว่า เพลงยาวหม่อมภิมเสน และนิราศท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ (ร.๑) ก็เรียกว่า “เพลงยาวรบพม่าท่าดินแดง” ซึ่งได้เห็นร่องรอยความหมายของคำ “เพลงยาว” ในยุคสมัยใกล้สุนทรภู่
ฉะนั้นที่ท่านแนะนำตนเองว่า “เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว” ก็ย่อมหมายว่าเป็นอาลักษณ์ที่ฝักใฝ่ในการประพันธ์เพลงยาว
เพลงยาวสมัยโน้นหมายถึงอะไร?
ก็หมายถึงวรรณกรรมทุกชนิดที่แต่งด้วย “กลอนเพลงยาว”
กลอนเพลงยาวคือกลอนอะไร?
คือกลอนที่ต่างจากกลอนเสภาต่างจากกลอนบทละคร แต่ตรงกับกลอนตลาดที่เรียกขานกัน
โดยนัยนี้ นิราศคำกลอนทุกเรื่อง เรื่องพระอภัยมณี เรื่องลักษณวงศ์ ฯลฯ ของท่านสุนทรภู่ ล้วนเป็นเพลงยาวทั้งสิ้น และท่านก็เป็น “นักเลงทำเพลงยาว”
การทำเพลงยาวของท่าน จึงมี “นักเลงฟัง” ซึ่งมีความหมายเหมือน “แฟนคลับ” ในทุกวันนี้ คอยติดตามหรือไปพบปะสุนทรภู่ เพื่อฟังพระอภัยมณีตอนใหม่ หรือนิราศเรื่องใหม่ เพราะครั้งกระโน้น ไม่มีหนังสือพิมพ์ ไม่มีเฟสบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียใดๆ ทั้งคนอ่านหนังสือออกก็มีจำนวนน้อย จึงมีธรรมเนียม นิยมไปฟังการอ่านหรือการสวดหนังสือ
และการฟังที่ได้บรรยากาศหรือได้รสได้รมย์ ย่อมคือการฟังจากปากของคนแต่งเอง ใครไม่เชื่อก็ลองนึกถึงที่กวีเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไปยืนอ่านโคลง กลอนของท่านบนเวทีหรือในสถานชุมนุม อย่างล่าสุดก็ในวันเสด็จพระราชดำเนินทุ่งมะขามหย่อง ก็ย่อมชัดเจนว่าได้รสได้รมย์มากกว่าอ่านเองเป็นไหนๆ
นึกถึงเรื่องนี้ ก็จำได้ว่า อาจารย์เปลื้อง ณ นคร เคยเล่าให้ฟัง ว่าท่านเคยฟัง “ยาขอบ” อ่าน “ผู้ชนะสิบทิศ” ในวงเล่าที่พบปะกัน ท่านยืนยันว่า สนุกกว่าอ่านเองอย่างมาก หรือไปไกลกว่านั้น เคยได้ทราบที่มีผู้เล่าถึง “วงกลอนบ่อนข้าวแช่” ที่วังถนนประมวญ ของท่าน น.ม.ส. ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกับบ่อนกลอนวัดเทพธิดารามสมัยท่านสุนทรภู่
เขียนมาถึงตอนนี้ ก็คิดได้ว่า ผมห่างเหิน “วงบ้านช่างหล่อ” หรือ “เรือนอินทร์” มานาน ไม่ทราบว่า จะยังมีวงอยู่หรือหาไม่ และตอนนี้จะมีใครอ่านหรือขอให้อ่านเรื่อง “ขุนเดช” สู่กันฟังบ้างหรือไม่ และยังไม่เห็นใครกล่าวถึงหรือเปรียบเทียบกับละครเรื่อง “ขุนเดช” ที่เพิ่งจบไป
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในตอนท่านสุนทรภู่จำต้องจากวัดเทพธิดารามนั้น ทำไมท่านจึง
ต้องรำพึงว่า
โอ้กระฎีที่จะจากฝากนํ้าตา
ไว้คอยลาเหล่านักเลงฟังเพลงยาว