รัฐนิยมสมัยจอมพล ป. ในสิมอีสาน : สิมเก่าวัดสะเทียนทอง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

รูปที่ ๑ สิมเก่า วัดสะเทียนทอง บ้านนาดอกไม้ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

ในช่วงปี พ.ศ. 2482-85 รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มี
นโยบายเกี่ยวกับรัฐนิยมเพื่อปลุกระดมให้เกิดความรักชาติและปรับปรุงวัฒนธรรมให้เหมือนอารยประเทศ โดยการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 12 ฉบับ ซึ่งบางอย่างได้ประกาศเป็นกฎหมายในภายหลัง หลายอย่างกลายเป็นวัฒนธรรมของชาติ เช่น การรำวง และมีการเปลี่ยนชื่อ “ประเทศสยาม” เป็น “ประเทศไทย” [1]

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย “รัฐนิยม” ได้ถูกข้าราชการทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาคนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติและเผยแพร่ประกาศให้ราษฎรได้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลในลักษณะเดียวกันทั้งประเทศ

“อีสาน” หรือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นดินแดนเก่าแก่ที่มีรูปแบบศิลปวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่นและอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับรัฐนิยมก็ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นหลายอย่างถูกห้าม ทำให้สูญหายในเวลาต่อมาและเกิดวัฒนธรรมแบบใหม่ซึ่งถูกกำหนดรูปแบบขึ้นโดยรัฐบาลแทน ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการนำนโยบายรัฐนิยมมาเผยแพร่และปฏิบัติก็คือข้าราชการในท้อง
ถิ่นและพระสงฆ์ที่เป็นเจ้าคณะปกครองหรือเคยมาศึกษาที่กรุงเทพฯ นอกจากนโยบายรัฐนิยมจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตแล้ว แนวคิดรัฐนิยมยังถูกนำมาดัดแปลงเป็นสัญลักษณ์ในงาน
ศิลปะ เพื่อประดับอาคารหรือศาสนสถานที่มีการสร้างขึ้นในยุครัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วย

(ซ้าย) บานประตูไม้แกะสลักรูปเทพนม, (ขวา) ภาพถ่ายชาวจีนตระกูลเซ็งสุทธา เจ้าภาพหลักในการสร้างสิมและพระประธาน ที่แขวนอยู่ภายในสิมเก่า
(รูปที่ ๒, ซ้าย) บานประตูไม้แกะสลักรูปเทพนม, (รูปที่ ๓, ขวา) ภาพถ่ายชาวจีนตระกูลเซ็งสุทธา เจ้าภาพหลักในการสร้างสิมและพระประธาน ที่แขวนอยู่ภายในสิมเก่า

วัดสะเทียนทอง ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านนาดอกไม้ ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย บ้านนาดอกไม้เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ปรากฏชื่อในเอกสารจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2370 ว่าเป็นหมู่บ้านทางผ่านของกองทัพจากหัวเมืองฝ่ายเหนือที่ยกไปสมทบกับกองทัพจากกรุงเทพฯ เพื่อเข้าตีกรุงเวียงจันทน์ [2]

ภายในวัดสะเทียนทองมี “สิมเก่า” หรือโบสถ์เก่าหลังหนึ่ง (สิม เป็นภาษาลาว-อีสานที่ใช้เรียกโบสถ์ มาจากคำว่า สีมา [3] ) ปรากฏหลักฐานที่หน้าบันทางทิศตะวันออกว่า สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2493 ภายใต้การนำของพระครูพินิจสังฆการ (หลวงพ่อทองมา) อดีตเจ้าอาวาสวัดสะเทียนทองและน่าจะเป็นเจ้าคณะปกครองระดับท้องถิ่นด้วย

สิมหลังนี้ก่ออิฐถือปูนในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก กว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 12 เมตร ส่วนฐานก่อเป็นรูปเอวขันยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนมุขหน้าและส่วนภายในสิม มุขด้านหน้ามีระเบียงก่อเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าในแนวตั้ง มีเสา ๔ ต้น ช่องว่างระหว่างหัวเสาประดับวงโค้งครึ่งวงกลม มีการทำลวดลายนูนต่ำประดับเหนือซุ้ม ด้านข้างมุขหน้ามีช่องซุ้มโค้งแบบด้านหน้า 1 ช่อง ถัดไปเป็นผนังเรียบไม่ปรากฏรูปเสา หลังคา 2 ชั้นมุงสังกะสี (รูปที่ 1)

บานประตูเป็นไม้แกะสลักรูปเทพนมฝีมือช่างค่ายซึ่งเป็นช่างไม้พื้นบ้าน สร้างในปี พ.ศ. 2495 (รูปที่ 2) ส่วนภายในสิม พื้นและผนังด้านข้างราบเรียบ มีช่องหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง ด้านหลังติดผนังหุ้มกลองเป็นฐานพระประธานก่อด้วยอิฐรูปทรงเอวขันยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร พระประธานในสิมเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานพร ฝีมือช่างพื้นบ้าน

ลักษณะสถาปัตยกรรมของสิมหลังนี้คล้ายกับสิมวัดโพธิ์ชัยศรี อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งสร้างโดยช่างญวนเมื่อปี พ.ศ. 2442 [4] จะต่างกันก็ตรงที่สิมเก่าวัดสะเทียนทองมีมุขหน้าแคบกว่า มีรายละเอียดและลวดลายปูนปั้นประดับตกแต่งน้อยกว่าเท่านั้น และสิมฝีมือช่างญวนร่วมสมัยกับสิมวัดสะเทียนทองยังพบอีกหลายหลังในเขตจังหวัดเลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร ยโสธร และอุบลราชธานี [5] จึงมีความเป็นไปได้ว่าช่างญวนที่สร้างสิมหลังนี้อาจเป็นช่างญวนกลุ่มเดียวกันกับช่างที่สร้างสิมในจังหวัดอุดรธานี เลย และหนองคายในช่วงเวลาเดียวกัน
ก็เป็นได้

จากการสัมภาษณ์พระสงฆ์ภายในวัดได้ความว่า สิมหลังนี้สร้างโดยฝีมือช่างญวนที่ทางวัดจ้างมา และมีคหบดีชาวจีนตระกูล “เซ็งสุทธา” ซึ่งค้าขายอยู่ในตลาดวังสะพุงเป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างสิมและพระประธาน  ภายในสิมยังมีภาพถ่ายของตระกูลเซ็งสุทธาแขวนอยู่ข้างผนังภายในสิม (รูปที่ 3) สิมหลังนี้ทำการผูกพัทธสีมาและทำบุญฉลอง (บุญขอดสิม) เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2493 [6]  

รูปปูนปั้นนูนต่ำที่หน้าบันด้านหน้าสิมเก่าวัดสะเทียนทอง
รูปที่ ๔ รูปปูนปั้นนูนต่ำที่หน้าบันด้านหน้าสิมเก่าวัดสะเทียนทอง

สิ่งที่น่าสนใจในสิมเก่าหลังนี้ก็คือ “รูปปูนปั้นที่หน้าบันทั้ง 2 ด้าน” ที่หน้าบันด้านหน้ามีรูปปูนปั้นนูนต่ำเป็นรูปเทพนมและลายพันธุ์พฤกษาระบายสี เหนือซุ้มมุขด้านหน้า 2 ด้านมีรูป “ครุฑ” ช่องกลางทำเป็นรูปสิงโต? (รูปที่ 4) หน้าบันด้านหลัง ส่วนบนเป็นรูปม้าตัวผู้มีปีกกำลังบิน แวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษาระบายสี ส่วนล่าง ตรงกลางเป็นรูปช้างกำลังเดิน บนหลังช้างมี “พานแว่นฟ้ารองรัฐธรรมนูญ?” และมี “ธงไตรรงค์” หรือ “ธงชาติไทย” จำนวน 2 ผืนปักอยู่สองข้างพานแว่นฟ้า ด้านหน้าช้างเป็นรูปผู้ชายกำลังเป่าแคนและรูปผู้หญิงกำลังฟ้อนรำ ด้านหลังช้างเป็นรูปคนกำลังชกมวย มีตัวอักษรเขียนกำกับไว้ว่า “คณะ ป.ด.” ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าหมายถึงอะไร (รูปที่ 5)

รูปปูนปั้นนูนต่ำที่หน้าบันด้านหลังสิมเก่าวัดสะเทียนทอง
รูปที่ ๕ รูปปูนปั้นนูนต่ำที่หน้าบันด้านหลังสิมเก่าวัดสะเทียนทอง

การปรากฏรูปปูนปั้นนูนต่ำเป็นรูปครุฑที่อยู่โดดๆ ไม่ได้ยุดนาคหรือมีพระนารายณ์ประทับเหมือนที่พบตามโบสถ์หรือวิหารทั่วไป ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกับรูปครุฑที่เป็นตราสัญลักษณ์ของทางราชการหรือตราสัญลักษณ์ของประเทศไทย รูปช้างแบกพานแว่นฟ้ารองรัฐธรรมนูญ? เหมือนกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ และรูปธงไตรรงค์หรือธงชาติไทยที่หน้าบันของสิมเก่าวัดสะเทียนทอง (รูปที่ 6)

ผู้เขียนมีความเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของแนวคิดรัฐนิยมที่พระสงฆ์ ราษฎรและช่างท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับจากการประกาศใช้นโยบายรัฐนิยม ตลอดจนรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งเพิ่งเริ่มปกครองเมื่อเกือบ 29 ปีที่ผ่านมา และสัญลักษณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการปกครองที่กระจายเข้ามายังภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้นได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนมีแนวโน้มที่เชื่อว่าพระสงฆ์ซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าคณะปกครองน่าจะมีส่วนสำคัญในการนำแนวคิดรัฐนิยมเข้ามาเผยแพร่ในระดับท้องถิ่นควบคู่กับข้าราชการในท้องถิ่น

นอกจากนี้ รูปผู้ชายกำลังเป่าแคนและรูปผู้หญิงกำลังฟ้อนรำอาจเป็นความเข้าใจของช่างหรือราษฎรในท้องถิ่นห่างไกลเกี่ยวกับการ “รำวง” ที่รัฐบาลประกาศให้ข้าราชการและราษฎรปฏิบัติ ซึ่งช่างหรือราษฎรคงเข้าใจว่า รำวงที่รัฐบาลประกาศในนโยบายรัฐนิยมก็คือการฟ้อนรำที่มีการปฏิบัติอยู่ในท้องถิ่นก็เป็นได้ อาจจะไม่ใช่ภาพเกี่ยวกับงานฉลองสิมอย่างที่หลายคนเข้าใจก็ได้ เพราะว่างานฉลองสิมน่าจะมี
การจัดขึ้นหลังจากที่สร้างสิมหลังนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ภาพนี้จึงน่าจะทำขึ้นก่อนการฉลองสิมในช่วงตรุษสงกรานต์ ปี พ.ศ. 2493 แต่อย่างไรก็ดี ข้อสันนิษฐานเรื่องรำวงนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของผู้เขียนเท่านั้น ผู้ที่สนใจจะศึกษาเรื่องนี้จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาลงลึกไปในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

ศิลปกรรมในสิมเก่าวัดสะเทียนทองเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายรัฐนิยมของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลต่อแนวคิดของราษฎรในท้องถิ่นหลายๆ ด้าน และสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจจากรัฐส่วนกลางที่สามารถกระจายเข้าไปในท้องถิ่นได้เป็นอย่างมากหลังช่วงการประกาศใช้นโยบายรัฐนิยม

ปัจจุบันนี้สิมเก่าวัดสะเทียนทองได้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ไม่สามารถใช้ประกอบศาสนกิจ
ได้  ทางวัดจึงได้สร้างสิมหลังใหม่ตามรูปแบบศิลปะสถาปัตยกรรมสมัยนิยมที่รับมาจากเมืองหลวง ซึ่ง อาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร ผู้ล่วงลับเรียกสิมแบบนี้ว่า “สิมโหล” [7]

ซึ่งพบได้ทั่วไปแทบทุกวัดเวลานี้ ผู้เขียนทราบมาว่าทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งทั้งในประเทศไทยและ สปป.ลาว ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสำรวจรังวัดมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบ VERNADOC”  ขึ้นที่วัดสะเทียนทอง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา [8] แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า หลังเสร็จสิ้นการอบรมแล้วจะมีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์สิมหลังนี้ต่อไปหรือไม่

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราทุกคนจะต้องเข้ามาศึกษาและร่วมกันหาแนวทางหรือวิธีการอนุรักษ์สิมเก่าที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์หลังนี้ให้คงอยู่สืบไป

 


เชิงอรรถ :

[1] โปรดดูรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายรัฐนิยมสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพิ่มเติมใน เทียมจันทร์ อ่ำแหวว. บทบาททางการเมืองและการปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2475-2487). วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521.

[2] “ราชการทัพเมืองเวียงจันทน์ ฉบับ 11,” ใน รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวาย. จดหมายเหตุ รัชกาลที่ 3 เล่ม 3. (กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติ
บุคคลสหประชาพาณิชย์, 2530), น. 112.

[3] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิมและสถาปัตยกรรมสิมอีสานใน วิโรฒ ศรีสุโร. สิมอีสาน. (กรุงเทพฯ : เมฆาเพลส, 2536).

[4] ชวลิต อธิปัตยกุล. “สิมฝีมือช่างญวนที่วัดโพธิ์ชัยศรี บ้านผือ อุดรธานี,” ใน วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 36 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2553), น. 101-106.

[5] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน วสันต์ ยอดอิ่ม. สิมพื้นถิ่นในเขตภาคอีสานตอนบน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร,
2545, น. 55-227.; ติ๊ก แสนบุญ. “ฮูปแต้ม…ฮูปนูน สกุลช่างญวนอีสาน : เจ๊กปนลาว มิตรภาพบนความหลากหลาย,” ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 31 ฉบับที่ 11 (กันยายน 2553), น. 60-65.; ชวลิต อธิปัตยกุล. “มังกรประดับ ฝีมือช่างญวนในสิมอีสาน วัดมงคลนิมิตร อุดรธานี,” ใน วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 37 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2554), น. 30-33.

[6] พระวิระ สุชาโต อายุ 43 ปี. วัดสะเทียนทอง บ้านนาดอกไม้ ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย, สัมภาษณ์วันที่ 12 ตุลาคม 2554.

[7] ดู วิโรฒ ศรีสุโร. สิมอีสาน. น. 416-422.

[8] “สถาปัตย์ไทย-ลาว ร่วมอนุรักษ์สิมเก่า วัดสะเทียนทอง จ.เลย,” ใน สารมิตรภาพไทย-ลาว. ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2553), น. 9-10.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม 2560