นภศูล หรือ นพศูล กับความกังขา

นภศูล สมัยอยุธยา นภศูลปรางค์ทั่วๆ ไป และนภศูลปรางค์สมัยรัตนโกสินทร์

เครื่องประดับส่วนยอดของสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งพบเห็นกันอยู่ทั่วไปทั้งที่ส่วนยอดของปรางค์ ตามวัด
ในพุทธศาสนา หรือส่วนยอดของอาคารปราสาท มหาปราสาทที่มีเครื่องยอดทรงปรางค์ เครื่องประดับนี้ พจนานุกรมฉบับต่างๆ รวมทั้งข้อเขียน บทความ หนังสือ ตำราเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทย จะเรียกกันทั้งนภศูลและนพศูล และยังให้ความหมายของกิ่งซึ่งเป็นส่วนประกอบว่าเป็นนภศูลและนพศูลด้วย ซึ่งชื่อที่เรียกต่างๆ นี้ จะแยกแยะว่าควรจะเรียกว่าอย่างใดในภายหลัง

เครื่องประดับนี้จะมีรูปร่างและรูปแบบแตกต่างกัน ส่วนยอดของปราสาทหรือปรางค์ขอมนั้นทั้งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและทั้งที่อยู่ในประเทศเขมรปัจจุบัน จะไม่ปรากฏเครื่องประดับยอดปรางค์นี้อยู่ที่ส่วนยอดเลย นอกจากผู้เขียนพบจอมโมฬีหรือบัวกลุ่ม ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนยอดบนสุด มีรูสำหรับเสียบเครื่องประดับ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕ เซนติเมตร จอมโมฬีนี้พังทลายหล่นลงมาอยู่บนพื้นดินในจังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากนี้ยังพบหลักฐานที่ลายหน้าบันสลักด้วยหินที่มุขของปราสาทด้านทิศตะวันตก
ของปราสาทประธาน ปราสาทเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ก็มีรูปแบบเป็นตรีศูล หรือศาสตราของพระอิศวรเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย ยังมีเครื่องประดับยอดปรางค์ทั้งที่อยู่บนยอดของปรางค์ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับองค์ปรางค์ที่รอการบูรณะหรือตั้งแสดงอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ของทางราชการ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะเครื่องประดับยอดปรางค์ของปรางค์ไทย ที่ยังเรียกชื่อและให้นิยามความหมายที่ยังสับสนกันอยู่เท่านั้น

โดยจะรวบรวมความหมายต่างๆ จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ และพจนานุกรม ฉบับมติชน พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๔๗ มาเทียบเคียงเพื่อความกระจ่างต่อไป (ดูตาราง)

dict

สำหรับเครื่องประดับยอดปรางค์ของประเทศไทย จะเป็นเครื่องโลหะปลายแหลมต่อด้วยแกนกลางเป็นลำยาว เสียบอยู่ที่ยอดปรางค์ต่อจากจอมโมฬีหรือบัวกลุ่ม ตลอดลำที่ยอดเป็นศูล คือหลาว รวมเรียกว่าลำภุขัน ลำ หรือด้ามของอาวุธ มีปลายลำเป็นหลาวมิใช่หอก พอสรุปได้ว่าสิ่งประดับยอดปรางค์ คือแกนกลาง เป็นลำของอาวุธ คือลำภุขัน มีกิ่งจำนวน ๓ ชั้น แต่ละชั้นมีสาขาออกไป ๔ ทิศ ๓ ชั้นรวมเป็น ๑๒ สาขา รวมหลาวซึ่งเป็นแกนกลางอีก ๑ รวมเป็น ๑๓ และโดยเฉพาะจะชี้ขึ้นไปบนฟ้า คือนภ หรือนภา เครื่องประดับยอดปรางค์จึงสมควรเรียกว่านภศูลเท่านั้น ส่วนคำว่านพศูล มีผู้อธิบายว่ามีกิ่งจำนวน ๒ ชั้น รวม ๘ กิ่ง และเมื่อรวมกับหลาวอีก ๑ ก็จะเป็น ๙ ตรงกับคำว่านพ แต่เท่าที่พบปรางค์ต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทยจะพบว่ามีกิ่งจำนวน ๓ ชั้น ๑๒ กิ่งเท่านั้น ไม่พบว่ามีกิ่งหรือสาขาจำนวน ๒ ชั้น ๘ กิ่ง

ฝักเพกา-ฝักลิ้นฟ้า เพกา น. ชื่อไม้ต้นชนิด Oroxylum indicum (L.) Kurz ในวงศ์ Bignoniaceae ฝักแบนยาวใหญ่มาก ฝักอ่อนทำให้สุกแล้วกินได้ เมล็ดใช้ทำยาได้ ช่างไทยเอาคำว่าฝักเพกามาเป็นชื่อกิ่งชนิดหนึ่งของนภศูล
ฝักเพกา-ฝักลิ้นฟ้า เพกา น. ชื่อไม้ต้นชนิด Oroxylum indicum (L.) Kurz ในวงศ์ Bignoniaceae ฝักแบนยาวใหญ่มาก ฝักอ่อนทำให้สุกแล้วกินได้ เมล็ดใช้ทำยาได้ ช่างไทยเอาคำว่าฝักเพกามาเป็นชื่อกิ่งชนิดหนึ่งของนภศูล

จากพจนานุกรมทั้ง ๒ เล่ม อธิบายยอดกลางว่าเป็นหอก ก็ขัดกับคำอธิบายว่าศูล ที่หมายถึงหลาว ส่วนคำว่า แง่งขิง ฝักเพกา ลำภุขัน และสลัดได ที่นิยามความหมายทั้งหมดว่า เครื่องประดับยอดปรางค์นั้นไม่น่าจะถูกต้อง ความหมายของคำดังกล่าวทั้งหมด ต้องหมายถึงรูปแบบของกิ่งหรือสาขาของแต่ละสมัยของสถาปัตยกรรม หรือของแต่ละพื้นถิ่น

ความหมายของทุกคำที่นิยามไว้ว่ามีกิ่งเป็นรูปดาบนั้นถูกต้องเฉพาะกิ่งของนภศูลสมัยรัตนโกสินทร์เท่านั้น เช่น นภศูลที่ยอดปรางค์ของวัดอรุณราชวราราม นภศูลของเครื่องยอดของปราสาททรงปรางค์ของปราสาทพระเทพบิดร หรือพุทธปรางค์ปราสาทในพระบรมมหาราชวัง นภศูลของปรางค์
วัดราชบูรณะและนภศูลของศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร

นภศูลโดยทั่วไปโดยเฉพาะปรางค์สมัยอยุธยา กิ่งจะไม่เป็นรูปดาบ แต่จะเป็นรูปฝักเพกา อันเป็นฝักของต้นไม้ ฝักมีขนาดใหญ่ ฝักอ่อนกินได้ ผู้เขียนพบที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ชาวอีสานจะเรียกต้นเพกานี้ว่าลิ้นฟ้า คงเห็นว่าฝักแบนใหญ่ ปลายฝักคล้ายลิ้น ต้นมีความสูงเสียดฟ้า ส่วนคำว่าลำภุขัน หมายถึงอาวุธชนิดหนึ่ง มีด้ามเป็นลำยาว ปลายสุดเป็นหลาว มิได้หมายถึงนภศูลทั้งอัน ส่วนกิ่งที่เป็นรูปฝักเพกา เป็นลักษณะกิ่งของนภศูลสมัยอยุธยา เช่น นภศูลของปรางค์วัดพระราม ปรางค์วัดกษัตราธิราช ปรางค์วัดศาลาปูน และปรางค์วัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นภศูล ชนิดแง่งขิง, สลัดได ปรางค์วัดมหาธาตุ สุพรรณบุรี
นภศูล ชนิดแง่งขิง, สลัดได ปรางค์วัดมหาธาตุ สุพรรณบุรี

นภศูลที่มีกิ่งเป็นแง่งขิง หรือสลัดไดที่มีรูปแบบคล้ายกันนั้น พบที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้เขียนพบขณะที่ทางวัดนำลงมาตั้งใกล้ๆ กับองค์ปรางค์ รอที่จะนำขึ้นไปติดตั้งเมื่อบูรณะเสร็จ ปัจจุบันนำขึ้นไปติดตั้งเหนือจอมโมฬีแล้ว

นภศูลปรางค์สมัยรัตนโกสินทร์
นภศูลปรางค์สมัยรัตนโกสินทร์

สรุปได้ว่า เครื่องประดับยอดปรางค์ในประเทศไทย ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรเรียกว่านภศูลอย่างเดียว และควรมีคำนิยามดังนี้

นภศูล น. เครื่องประดับยอดปรางค์ ยอดพุ่งตรงขึ้นไปบนท้องฟ้า ยอดกลางเป็นหลาว มีกิ่ง ๓ ชั้น แตกสาขาออกไป ๔ ทิศ มีรูปแบบต่างๆ เช่น ฝักเพกา แง่งขิง สลัดได และดาบ