“ห้ามสวมเกือก” ขบวนการต่อต้านอังกฤษ การรวมพลังของพระสงฆ์กับนักศึกษาพม่า

ข้าหลวงอังกฤษ และกองทัพอังกฤษที่ใช้ชาวอินเดียผสมชนกลุ่มน้อยเป็นทหาร ที่เมืองมัณฑะเลย์ (ภาพจาก “กบฏเกือก เมื่อเลือดอิระวดีกรุ่น” )

ปี 2428 เมื่ออังกฤษยึดพม่าได้หมดทั้งประเทศ ในสมัยพระเจ้าธีบอแห่งกรุงมัณฑะเลย์ อังกฤษได้ย้ายเมืองหลวงมายังกรุงย่างกุ้ง และยังได้ผนวกพม่าเข้าไว้ในการปกครองอินเดีย ปัญหาต่างๆ ของพม่าจึงกลายเป็นประเด็นรองๆ ที่ไม่ได้รับความสนใจ นับเป็นความผิดพลาดทางการปกครองอาณานิคมของอังกฤษ และเป็นเหตุให้ชาวพม่าประท้วงในเวลาต่อมา

ปรากฏการณ์ขบวนการต่อต้านอังกฤษเพื่อปลดปล่อยตนเองให้เป็นเอกราชในพม่า รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาและขบวนการสมัยใหม่ เมื่ออังกฤษยึดพม่าได้ทั้งหมดนั้น สถาบันกษัตริย์ที่เคยเป็นองค์อุปถัมภ์วัดและคณะสงฆ์ก็ยุติบทบาทไปด้วย

อังกฤษไม่ได้สนใจเรื่องศาสนา เปิดให้ชาวพม่ามีเสรีภาพในการนับถือศาสนา การจัดการองค์กรทางศาสนาเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่รัฐไม่พึงเกี่ยวข้อง บางครั้งตำแหน่งสังฆราชขาดลงก็ไม่มีการแต่งตั้งใหม่  องค์กรศาสนาที่ถูกละเลยสร้างความปั่นป่วนและแตกแยก

แล้วพระสงฆ์ที่เคยเป็นผู้นำทางอ้อมด้านจิตใจ ก็มีบทบาทสำคัญขึ้นในการนำประชาชนในการประท้วง

วิธีการประท้วงของพระพม่ามีตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคม, เรียกร้องอังกฤษให้ทำนุบำรุงศาสนา, การอดอาหารประท้วง ฯลฯ ดังเช่น กรณีของพระสงฆ์ที่ชื่อ “อูวิสาร” ที่อดอาหารประท้วงเป็นเวลา 166 วัน จนมรณะภาพ

ต่อมาปี 2447 มีการก่อตั้ง “สมาคมยุวพุทธ” หรือ YMBA-Young Men Buddhist Association (เลียนแบบ YMCA) YMBA เริ่มกิจกรรมจากศาสนาและวัฒนธรรม ก่อนที่จะขยายไปสู่การเมือง YMBA ได้รับความนิยมจนมีสาขาไปทั่วประเทศ มีพลังกดดันให้อังกฤษต้องหันมาช่วยเหลือทางการเงินมากถึง 50% ของรายจ่ายทั้งหมดของสมาคม

YMBA ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ ในการประท้วง “ห้ามสวมเกือก” ปี 2461 ซึ่งเป็นช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1

การประท้วง “ห้ามสวมเกือก” (No Footwear) เป็นการต่อต้านฝรั่งที่สวมรองเท้าเข้าวัด ขณะที่คนพม่าจะต้องถอดรองเท้าตั้งแต่เข้ามาในบริเวณวัด (คนไทยถอดรองเท้าเฉพาะเวลาเข้าโบสถ์) ชาวพม่าถือว่าการกระทำของชาวตะวันตกเป็นการลบหลู่ศาสนา การประท้วงครั้งนี้ กลายเป็นจุดร่วมของความรู้สึกชาตินิยมพม่า ในที่สุดชาวตะวันตกต้องยอม “ถอดเกือก” ก่อนเข้าบริเวณวัด

ด้วยชาวพม่ามีความเชื่อตามพุทธตำนานในสมัยพุทธกาลว่า เมื่อ “พระเจ้าอชาตศัตรู” โอรสของ “พระจ้าพิมพิสาร” กรุงราชคฤห์ หมายจะชิงบัลลังก์จาพระราชบิดา จึงจับพระเจ้าพิมพิสารไปคุมขัง แต่พระองค์ไม่ได้ทรงกังวลอันใด ทรงเดินจงกรมจนเกิดปีติภักษา แม้จะถูกแกล้งให้อดอาหารก็ไม่ทรงเดือดร้อน พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทรงกรีดฝ่าเท้าสองข้างของพระราชบิดา ไม่ให้สามารถเดินจงกรมได้อีก พระเจ้าพิมพิสารก็สวรรคต

แม้พระเจ้าพิมพิสารจะเป็นกษัตริย์ผู้ใฝ่ธรรมและทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่มีศรัทธาแรงกล้า แต่ในอดีตชาติเคยไม่ถอดฉลองพระบาทก่อนเสด็จเข้าโบสถ์วิหาร ชาตินี้จึงต้องมารับกรรมถูกกรีดข้อเท้า พุทธศาสนิกชนพม่าจึงยึดธรรมเนียมถอดรองเท้าเข้าวัดอย่างเหนียวแน่นตราบจนปัจจุบัน

สงครามโลกครั้งที่ 1 ยังทำให้เจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษต้องเผชิญกับสงครามในยุโรป อังกฤษต้องการความช่วยแหลือจากอาณานิคมอย่างอินเดีย จึงตกลงรับหลักการที่จะให้อินเดียปกครองตนเอง ข่าวนี้แพร่หลายไปในพม่าอย่างรวดเร็ว แต่พม่ากลับไม่ใด้สิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกับอินเดีย เพราะอังกฤษมองว่าพม่ายังขาดความเจริญ, ขาดการศึกษา และขาดความรู้พอที่จะปกครองตนเอง

ท่าทีดังกล่าวของอังกฤษทำให้เกิดการประท้วงแพร่หลายในพม่า YMBA ประกาศยุบตัวเอง และตั้งสมาคมใหม่ที่มีชื่อว่า GCBA-General Council of Buddhist Association เมื่อปี 2463 เน้นกิจกรรมทางการเมืองโดยตรง ไม่ใช่ลักษณะทางศานาและวัฒนธรรมอย่าง YMBA อีกต่อไป

ขณะที่พระสงฆ์พม่าก็มีบทบาทเป็นทางการเมืองมากขึ้น พระรูปหนึ่งชื่อว่า “อูอุตตมะ” ได้กลายเป็นผู้นำพระแบบใหม่ ที่พยายามตีความพุทธศาสนาในรูปแบบใหม่ เช่น ตีความแนวคิดสังคมนิยมว่ามีเนื้อหาสอดคล้องกับโลกนิพพานของพุทธศาสนา, นำความคิดและประเพณีทางพุทธศาสนาว่าด้วยการ “คว่ำบาตร” มาใช้ประท้วงอังกฤษ เป็นต้น

GCBA มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และยังกระตุ้นให้เกิดการจัดตั้ง สมาคมชาวเราพม่า (Dobhama Asiayone) ขึ้นในปี 2479 โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง มีจุดประสงค์คล้ายกับ GCBA คือ ต่อสู้เพื่อเอกราช, ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับชาติตะวันตกตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ถึง ครั้งที่ 2, สร้างผู้นำพม่าแบบใหม่ที่มีอุดมการณ์เพื่อเอกราชและอธิปไตย และเป็นแหล่งผลิตผู้นำพม่าคนสำคัญ เช่น อองซาน, อุนุ ฯลฯ

 


ข้อมูลจาก :

ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, พม่า : ขบวนการนักศึกษากับประวัติศาตร์อันระทึกใจ, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์, มิถุนายน 2533

ธีรภาพ โลหิตกุล. กบฏเกือก เมื่อเลือดอิระวดีกรุ่น, สำนักพิมพ์มติชน มิถุนายน 2539


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2563