รำลึก “วันหยุดราชการ” กับ “การบ้านการเมือง” วันหยุดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เคยมี 3 วัน

ชาวพระนครออกมาฉลองรัฐธรรมนูญฉบับถาวรบนท้องถนน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 (ภาพจาก มูลนิธิ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และท่านผู้หญิงบุญหลง)

เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้วันที่ 2-3 มกราคม (2560) เป็น “วันหยุดราชการ” ซึ่งแน่นอนว่านอกจากข้าราชการแล้วเอกชนหลายแห่งก็ประกาศตามให้เป็นวันหยุดด้วยเช่นกัน ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา หลายท่านจึงได้หยุดยาวกันถึง 4 วัน (31 ธันวาคม -3 มกราคม)

เพราะวันนี้ “วันหยุด (ราชการ)” เป็นมาตรการหนึ่งในการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย โดยปี 2559 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวไทยจะมีประมาณ 8.6 แสนล้านบาท

Advertisement

วันหยุดจึงไม่ใช่แค่วันที่ไม่ต้องทำงาน หรือวันพักผ่อนของมนุษย์เงินเดือน

ก่อนหน้านั้นที่ประชุม ครม. เคยอนุมัติวันหยุดยาวเช่นนี้แล้ว คือ

วันที่ 5-8 พฤษภาคม 2559 เมื่อ ครม. อนุมัติให้วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม เป็นวันหยุดต่อเนื่องจากวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล

วันที่ 16-20 กรกฎาคม เมื่อ ครม. อนุมัติให้วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม เป็นวันหยุดก่อนที่จะถึงวันอังคารที่ 19 (วันอาสาฬหบูชา) , วันพุธที่ 20 (วันเข้าพรรษา)

หากที่จะชวนท่านอ่านกันในวันนี้คือ วันหยุดเมื่อวันวาน ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมกราคม 2560 ที่นำเสนอบทความเกี่ยวกับ “วันหยุด” ที่สำคัญในอดีต

ปกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2560
ปกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2560

ภูริ ฟูวงศ์เจริญ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความน่าสนใจหนึ่งชื่อว่า “งานฉลองรัฐธรรมนูญ : มหกรรมแห่งชาติของคณะราษฎร”

เราต่างรู้กันดีว่า วันรัฐธรรมนูญตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม

แต่ “วันรัฐธรรมนูญ” ที่ผู้เขียน (ภูริ ฟูวงศ์เจริญ) บอกเล่านั้นไม่ใช่แบบที่เราเห็นกันในวันนี้

หนังสือพิมพ์ในยุคนั้น เช่น อิสสระ, ประชาชาติ, Bangkok Times ฯลฯ ต่างรายงานข่าวให้เห็นว่าบรรยากาศการจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก ยิ่งใหญ่ และสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพียงใด

พ.ศ. 2476 งานฉลองวันรัฐธรรมนูญ เริ่มตั้งแต่วันที่ 8-12 ธันวาคม  ในกรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรมตั้งแต่ลานพระบรมรูปทรงม้า-สนามหลวง และจากท่าราชวรดิฐ-แยกสะพานมอญ, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทรงประกอบพิธีสมโภชรัฐธรรมนูญ และทรงร่วมทอดพระเนตรการออกร้าน, ทหารเรือนำเรือหลวงรัตนโกสินทร์มาจัดแสดง, ประชาชนสนใจมาร่วมงานจำนวนมาก เฉพาะที่พระราชอุทยานสราญรมย์มีผู้สนใจเข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 20,000 คน/วัน ฯลฯ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประทับรถลาก) ทอดพระเนตรร้านในงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2476 (ภาพจาก The Illustrated London News)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประทับรถลาก) ทอดพระเนตรร้านในงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2476 (ภาพจาก The Illustrated London News)

พ.ศ. 2477 งานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ขึ้นอีกด้วยการแห่รัฐธรรมนูญไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ 10 ธันวาคม  และนำมาประดิษฐานบนเรือสุพรรณหงส์  นอกจากนี้ยังมีการประกวดนางงามที่เรียกว่า “นางสาวสยาม” ขึ้นเป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2478 คณะรัฐมนตรีออกคำสั่งเพิ่มวันหยุดราชการในวันรัฐธรรมนูญจากเดิมที่ให้หยุด 1 วัน (10 ธันวาคม) เป็น 3 วัน คือวันที่ 9-11 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญเพิ่มวันงานราชการ และส่งหนังสือ “สั่งการ”  ไปยังจังหวัดต่างๆ ที่ขอเลื่อนจัดงานวันอื่นแทน เพราะความไม่สะดวกต่างๆ ว่า “งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานที่ระลึกอันสำคัญของชาติ ทุกจังหวัดจะต้องทำใน [วันที่ 10 ธันวาคม] โดยพร้อมเพรียงกัน”

พ.ศ. 2481 คณะรัฐมนตรีสั่งให้ข้าราชการแต่งชุดปกติขาวพร้อมเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในงานพิธีฉลองรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ หลังจากนั้นอีก 1-2 ปี ทางการก็เริ่มควบคุมการแต่งกายของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ ว่า “ต้องแต่งกายสุภาพตามประเพณีนิยม”

พ.ศ. 2482 งานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ ขยายพื้นที่จัดงานออกครอบคลุมสวนอัมพร สนามเสือป่า และสวนลุมพินี นอกจากนี้ยังเพิ่มเวลาจัดงานจาก 5 วัน เป็น 1 สัปดาห์ (8-14 ธันวาคม)

การประกวดนางงามเนื่องในวันรัฐธรรมนูญที่จังหวัดหนองคาย เมื่อ พ.ศ. 2480 ด้านหลังจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับจำลองกลางปะรำพิธี (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
การประกวดนางงามเนื่องในวันรัฐธรรมนูญที่จังหวัดหนองคาย เมื่อ พ.ศ. 2480 ด้านหลังจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับจำลองกลางปะรำพิธี (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2477 การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญก็เพิ่มเป็น 2 งานด้วยกัน คือ 10 ธันวาคม ฉลองการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร  และวันที่ 27 มิถุนายน รัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาตที่สวนมิสกวันในโอกาส “วันคล้ายวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก” รวมทั้งประกาศให้เป็นวันหยุดราชการเช่นกัน

ส่วนรายละเอียด เนื้อหาอื่นๆ ขอท่านได้โปรดติดตามเพิ่มเติมจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับมกราคม 2560 ว่า

เจตนาของรัฐบาลที่จัดงานวันรัฐธรรมนูญยิ่งใหญ่เพียงนี้คืออะไร? สารต่างๆ ที่ต้องการสื่อไปถึงประชาชนทั่วประเทศคืออะไร? หรือแม้แต่กิจกรรมบันเทิงในงานอย่างการประกวดนางงาม หรือการแสดงสินค้านั้นคาดหวังอะไรอยู่?

เพราะวันหยุดไม่ใช่แค่วันที่ไม่ต้องทำงาน และ “วันรัฐธรรมนูญ” ก็เป็นวันหยุดที่สำคัญยิ่งบนปฏิทินสยามยุคหนึ่ง

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2560