ทำไม “โคราช” ตกรอบ ไม่ได้เป็น “ราชธานีสำรอง” สมัยรัชกาลที่ 4

ภาพถ่ายทางอากาศ นครราชสีมา หรือ โคราช อนุสาวรีย์ ย่าโม ด้านหน้า ประตูชัยชุมพล
ภาพถ่ายทางอากาศเมืองโคราช (นครราชสีมา) โดย Peter Williams-Hunt

สมัยรัชกาลที่ 4 “นครราชสีมา” หรือ “โคราช” เคยจะถูกยกให้เป็น “ราชธานีสำรอง” 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงเวลาที่สยามมีการติดต่อกับชาติตะวันตก บ่อยครั้งที่มีเรื่องวุ่นวายกับพวกฝรั่งอยู่เสมอ พวกกงสุลต่างชาติที่เข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ถ้าเกิดเรื่องโต้เถียงกันขึ้น ก็มักขู่ว่าจะเรียกเรือรบเข้ามากรุงเทพฯ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรําคาญพระราชหฤทัย ทรงพระราชดําริว่าราชธานีอยู่ที่กรุงเทพฯ ใกล้ทะเลนัก ถ้าหากเกิดสงครามกับต่างประเทศ ข้าศึกอาจจะเอาเรือกําปั่นรบขึ้นมาถึงราชธานีได้ จึงโปรดให้ตั้ง “เมืองลพบุรี” เมืองที่พระองค์ทรงสนพระทัยตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ เป็น “ราชธานีสํารอง”

แต่ในครั้งนั้นมีความเห็นไม่ตรงกัน บ้างว่าควรตั้งที่ “เมืองนครราชสีมา”

รัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปตรวจสถานที่ ครั้นไปตรวจแล้วทรงมีความเห็นว่า นครราชสีมา กันดารน้ำ ไม่เหมาะที่จะสร้างเมืองใหญ่

กำแพงเมืองและประตูชุมพล เมืองนครราชสีมา เมื่อคราวสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจเมืองนครราชสีมา 22 มกราคม 2472 (ภาพเก่าจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ปีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปตรวจที่สร้างเมืองที่ นครราชสีมา นั้น ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่สันนิษฐานว่าเป็นปี 2399 เพราะมีจดหมายเหตุของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบันทึกไว้ว่า

ได้เสด็จขึ้นไป [เมืองนครราชสีมา] ครั้งหนึ่งเมื่อเดือน 3 ปีมะโรงอัฐศก ศักราช 1218 (พ.ศ. 2399) โดยพาเจ้าจอมมารดาช้อย [ธิดาพระยานครราชสีมา] ขึ้นไปเยี่ยมบิดาและชมบ้านเมือง ได้เสด็จประพาสเมืองปักธงไชย และเมืองสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมาด้วย

รัชกาลที่ 4 จึงทรงเลือก “ลพบุรี” เป็น “ราชธานีสำรอง” หรือ “เมืองหลวงแห่งที่ 2” แทน นครราชสีมา เหมือนอย่างสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อสร้างพระราชวังที่ประทับขึ้นที่เมืองลพบุรี เสร็จแล้วจึงสถาปนาเป็น “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ได้ใช้เป็นที่ประทับเวลาเสด็จประพาส

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

กรมศิลปากร. สูจิบัตรเนื่องในวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 7 มกราคม 2547

กรมศิลปากร, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดลพบุรี, จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษ 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

กรมศิลปากร, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครราชสีมา, จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษ 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2563