อัตลักษณ์ลิงยุค “ลูกหลานหนุมาน” ถึง “ลูกศิษย์เจ้าพ่อพระกาฬ” ที่บางคนอาจยังไม่รู้

ลิงลพบุรี บุฟเฟต์ลิง ลพบุรี
ประชาชนชม "บุฟเฟต์ลิง" ในจังหวัดลพบุรี เมื่อ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 2000 ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

“ลิงลพบุรี” จากการศึกษาของกำพล จำปาพันธ์ ผู้เขียนบทความ จาก ‘ลูกหลานหนุมาน’ ถึง ‘ลูกศิษย์เจ้าพ่อพระกาฬ’ : ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของ ‘ลิง'” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2563 พบว่า หลักฐานกลุ่มบันทึกทางประวัติศาสตร์ยังไม่มีชิ้นที่บ่งชี้แน่ชัดว่า มีลิงอาศัยอยู่ “ศาลพระกาฬ” ในสมัยอยุธยาหรือไม่

แต่ข้อมูลซึ่งเป็นที่ทราบกันดีคือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงให้ความสำคัญกับ “ศาลพระกาฬ” โดยให้สร้างศาลขึ้นบนยอดปราสาทที่หักพัง (ด้านหลังของศาลพระกาฬปัจจุบัน) และปรากฏการสร้างอาคารวิหารและซากสถูปเจดีย์อยู่ข้างปราสาท ซึ่งเพิ่งขุดพบเมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่บริเวณศาลพระกาฬเป็นสถานที่สำคัญที่ได้รับการเคารพและทำนุบำรุงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

Advertisement

ขณะที่หลักฐานจากบันทึกของชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาอยุธยาและลพบุรีในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นข้อมูลที่ช่วยบ่งชี้ว่ามีลิงตามแหล่งน้ำสำคัญและพบเห็นได้ทั่วไป รวมถึงพื้นที่ลพบุรีซึ่งชาวฝรั่งเศสเดินทางมาเยี่ยมชม

นิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) ที่เข้ามาพร้อมกับคณะทูตฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2228 ได้กล่าวถึงลิงที่พบในอยุธยาและลพบุรี (ไม่ได้ระบุสถานที่) เอาไว้โดยย่อดังนี้

“ตามชายน้ำมีลิงทั้งตัวใหญ่ตัวน้อยไต่อยู่ยั้วเยี้ย แลดูราวกับว่ามันจงใจมากระโดดโลดเต้น และห้อยโหนโจนทะยานให้เราชมเล่นฉะนั้น แต่ก็ไม่เหมาะที่จะหยุดยั้งอยู่นานเกินไป เพราะอาจจะพบเข้ากับเสือ”

นอกจากนี้บันทึกของ ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (François-Henri Turpin) ยังปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับลิงชนิดต่างๆ ในอยุธยาเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 กำพล จำปาพันธ์ บรรยายว่า มีการจัดประเภทโดยคนอยุธยาและลพบุรีว่า มีทั้งลิงที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติป่าเขาและชายน้ำ มีทั้งลิงที่ดุร้าย และลิงที่เป็นมิตรกับคน สามารถนำมาเลี้ยงฝึกใช้งานได้

กำพล จำปาพันธ์ มองว่า บันทึกตุรแปงคือหลักฐานที่ยืนยันว่า คนสมัยอยุธยาเลี้ยงลิงเช่นเดียวกับคนสมัยทวารวดี และอาจเป็นได้ว่าการเลี้ยงลิงอาจเป็นรูปแบบวิถีชีวิตหนึ่งที่อยุธยาสืบทอดมาจากทวารวดี ในฐานะสัตว์เลี้ยงที่เฉลียวฉลาด ลิงมีประโยชน์หลายอย่าง ตั้งแต่ช่วยการงานจนถึงเป็นเพื่อนคลายเหงา เนื่องจากเข้าถึงหรือรับรู้ภาวะอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้

บันทึกของตุรแปงเล่าอย่างละเอียดดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ในฉบับออนไลน์ – กองบก.ออนไลน์)

“แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งคลาคล่ำไปด้วยลิงชนิดต่างๆ และขนาดต่างๆ บางตัวมีหาง และบางตัวไม่มีมาตั้งแต่เกิด สัตว์พวกนี้ไปไหนก็ไปกันเป็นฝูงๆ ไม่เคยเห็นต่ำกว่ายี่สิบหรือห้าสิบตัว ชุมนุมกันเพื่อทำงานที่พวกมันคิดกันขึ้น…ในเวลาหน้าเก็บเกี่ยว ชาวบ้านต้องหาคนมาเฝ้า เพื่อทำให้มันกลัวและไม่เข้ามาใกล้ มันกระโดดจากต้นไม้ต้นนี้ไปต้นนั้น และเสียงที่มันร้องนั้นเตือนให้รู้ว่าพวกมันมาถึงแล้ว

โดยปรกติมันอยู่ในป่าทึบ และมีผลไม้พอที่จะกิน แต่ทว่าเมื่อมันเบื่ออาหารที่กินจำเจและอยากกินเลี้ยงกัน มันก็จะพากันบุกเข้าไปในไร่พืชที่มีผลไม้อร่อยกว่า บางทีมันก็พากันไปจับกุ้งหาปลา เราจะเห็นสัตว์พวกนี้อยู่เต็มริมชายทะเล บางตัวก็เอาหินทุบหอย บางตัวก็จับกุ้งกินเหลือแต่เปลือก เวลาฝูงลิงมันเดิน ตัวเมียจะอุ้มลูกไว้ใต้ท้อง โดยลูกเอาแขนกอดตัวแม่และเอาขากอดเอว

ผู้เดินทางในสมัยนี้ยืนยันว่า เรื่องมหัศจรรย์ต่างๆ ที่คนโบราณเล่าถึงความรักอันเหลือเชื่อ ซึ่งสัตว์พวกนี้มีต่อลูกของมันนั้นเป็นความจริง แม่ลิงอุ้มลูกไว้ในตัก และจะไม่ยอมทิ้งลูกเป็นอันขาด แม้จะถูกพรานยิงจนเป็นแผลจะต้องตาย นักธรรมชาติวิทยาสังเกตว่า ลิงเป็นสัตว์จำพวกเดียวที่มีความเจ็บปวดอย่างเดียวกับสตรี ลิงประเภทที่สองเป็นลิงที่ทั้งน่าเกลียดทั้งดุร้าย โดยปรกติตัวสูงสองฟุตครึ่ง ลิงประเภทที่สามเป็นลิงที่อยู่ตัวเดียว หรืออยู่ด้วยกันเพียงสองตัว มันซ่อนหน้าไม่ให้ใครเห็นตลอดเวลา [นางอาย – ผู้อ้าง]

ยังมีลิงอีกชนิดหนึ่ง เหมือนมนุษย์มากที่สุด เขาเรียกว่า onke [ชะนี – ผู้อ้าง] ลิงพวกนี้เป็นศัตรูคู่อาฆาตกับลิงชนิดอื่นๆ ตัวมันดำหรือสีน้ำตาลทั้งตัว ขนมือและขนเท้าสีขาว มันอยู่แต่ในป่าที่มีต้นไม้สูงๆ โหนจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่งได้อย่างว่องไว แขนมันได้สัดส่วนกับตัว แต่ยาวกว่าสัตว์อื่นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาวกว่าของลิงชนิดอื่น เวลาเดิน มันชูแขนข้างหนึ่งขึ้น

ถ้าจะเอาลิงพวกนี้มาเลี้ยงให้เชื่อง ต้องจับมาตั้งแต่ยังกินนมแม่อยู่ เพราะเมื่อติดนิสัยเดิมแล้ว จะลดความดุร้ายตามธรรมชาติของมันไม่ได้ ขนตัวของมันยาวและทึบ นิ้วและเล็บเหมือนกับของมนุษย์ไม่มีผิด จมูกแบนและตาดำสนิท เวลานอน มันนอนเต็มเหยียด และเอาแขนหนุนหัวต่างหมอน แต่เวลาอยู่บนต้นไม้มันนั่งนอน วางหัวบนเข่า มืออยู่บนท้อง ใช้ขนยาวของมันเป็นต่างหลังคา ฝนแม้ตกหนักสักเพียงใด ก็ซึมเข้าไปใต้หนังมันไม่ได้ มันเพียงแต่เขย่าตัว ตัวมันก็แห้ง

การเลี้ยงลิงประเภทนี้เป็นเรื่องน่าเพลิดเพลินเจริญใจ เพราะมันรู้จักความพอประมาณดีกว่าสัตว์ประเภทอื่น… มันรักความสงบและขี้สงสารไปกอดผู้ที่ร้องไห้ และถ้ายิ่งได้ยินเสียงครวญครางของผู้เคราะห์ร้าย ก็ยิ่งมีความสงสารเป็นทวีคูณ และจะไม่ทิ้งไปจนกว่าน้ำตาของผู้เคราะห์ร้ายนั้นจะเหือดแห้งแล้ว”

ลพบุรีหลังสมัยพระนารายณ์

บทความของกำพล จำปาพันธ์ เล่าต่อมาว่า ในยุคหลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1688 สมเด็จพระเพทราชาย้ายศูนย์กลางจากลพบุรีกลับไปอยุธยา เมืองลพบุรีแม้ไม่ได้ร้างผู้คน แต่ระดับความสำคัญก็ลดลง ไม่ได้เป็นเมืองสำคัญเหมือนอย่างในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดังที่กำพล จำปาพันธ์ บรรยายไว้ว่า

การขยายตัวของประชากรลพบุรีตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีแนวโน้มไปทางทิศตะวันตกและทางใต้ของเมือง เนื่องจากในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้มีการขุดคลองเชื่อมจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่สิงห์บุรีตรงมายังลพบุรี จนเกิดแม่น้ำลพบุรีสายใหม่ขึ้น (แม่น้ำลพบุรีสายเก่าก่อนหน้านั้นคือแม่น้ำบางขามในปัจจุบัน)

การขุดคลองนี้ เพื่อย่นระยะทางเชื่อมต่อระหว่างลพบุรีกับสิงห์บุรี ตอนใต้ของเมืองยังมีการขุดคลองบางพระครูขึ้น เพื่อทำให้การเดินทางติดต่อระหว่างลพบุรีกับอยุธยาเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากแม่น้ำลพบุรีเดิมบางช่วงคดเคี้ยว ตื้น และแคบ ไม่เหมาะแก่การเดินเรือ เมื่อมีเส้นทางคมนาคมใหม่ก็มีทำเลค้าขายและหาเลี้ยงครอบครัวขึ้นใหม่ด้วย ผู้คนก็ย้ายถิ่นไปตั้งรกรากตามชุมทางคมนาคมใหม่นั้น

รัชกาลอื่นในช่วงอยุธยาตอนปลายได้มีการเสด็จพระราชดำเนินมาประทับและคล้องช้างเป็นครั้งคราว อย่างเช่นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ แต่ก็ต้องรีบเสด็จฯ กลับทันที เมื่อทรงทราบข่าวว่ามีคนจีนก่อกบฏขึ้นที่อยุธยาคือ เหตุการณ์กบฏจีนนายไก้ (นายก่าย) ยกพวกเข้าปล้นพระราชวังหลวงเมื่อ พ.ศ. 2277

อย่างไรก็ตามเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงมีนโยบายให้ซ่อมแซมบูรณะวัดวาอารามทั่วราชอาณาจักร ก็ได้ส่งช่างหลวงมาบูรณะวัดสำคัญอย่างวัดไลย์ที่ท่าวุ้งด้วย ซึ่งสะท้อนว่าราชสำนักอยุธยามิได้มองความสำคัญของย่านลพบุรีแต่เฉพาะในตัวเมือง หากแต่ยังให้ความสำคัญกับบริเวณรอบนอกด้วย หลักฐานอย่างคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม : เอกสารจากหอหลวง ก็กล่าวถึงลพบุรีในฐานะเมืองที่มีพ่อค้าลำเลียงข้าวสารและของป่าหายากเข้ามาขายยังตลาดอยุธยาเป็นประจำทุกปี

ในช่วงสงครามกับพม่าถึงเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2038-10 ลพบุรีเป็นเมืองที่มีเจ้านายเชื้อพระวงศ์อพยพลี้ภัยมาอยู่เป็นอันมาก ภายหลังเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงชนะสุกี้พระนายกองที่ค่ายโพธิ์สามต้นได้แล้ว ได้ให้คนมาเชิญเจ้านายเหล่านี้ลงไปยังธนบุรี ในช่วงสมัยธนบุรีนั้นลพบุรีมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกฝั่งตะวันตกโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ชุมชนมอญบ้านบางขันหมากถึงบางขาม บริเวณฝั่งตะวันตกถัดจากแม่น้ำลพบุรีกลายเป็นย่านเกษตรเชิงพาณิชย์ปลูกข้าวและพืชไร่พืชสวนเพื่อส่งออกกันมาก ทำต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในขณะที่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของเมืองถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าของป่า เป็นที่ล่าสัตว์และเก็บหาของป่า

ประกอบกับตั้งแต่หลังการพบพระพุทธบาทในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ประกาศเขตบริเวณโดยรอบเขาพุทธบาทเป็นที่ธรณีสงฆ อีกทั้งจากลพบุรีไปยังเขาพุทธบาทในสมัยนั้นก็ยังไม่มีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก พื้นที่ป่าชั้นในเต็มไปด้วยอันตรายจากสิงสาราสัตว์และไข้ป่า บริเวณด้านตะวันออกของเมืองลพบุรีจรดกลุ่มเขาพุทธบาทและครอบคลุมพื้นที่อื่นๆ อำเภอพัฒนานิคม อำเภอชัยบาดาล อำเภอลำสนธิ อำเภอพระพุทธบาท อำเภอหนองโดน อำเภอบ้านหมอ ในช่วงตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงทศวรรษ 2490 พื้นที่โดยมากคือป่าใหญ่ต่อเนื่องกับป่าเขาใหญ่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของป่าเขาอุดมสมบูรณ์ที่เรียกว่า “ดงพญาไฟ” สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริว่าคำนี้ไม่เป็นมงคลจึงให้เปลี่ยนมาเรียกว่า “ดงพญาเย็น” แต่ผู้คนยังคงนิยมเรียก “ดงพญาไฟ” อยู่ดังเดิม

บริเวณดังกล่าวมีชุมชนคนอยู่อาศัยบางช่วงเช่นบริเวณเส้นทางถนนพระเจ้าทรงธรรมหรือถนนฝรั่งส่องกล้อง ในอำเภอท่าเรือ อำเภอบ้านหมอ อำเภอพระพุทธบาท แต่นอกนั้นตามแผนที่ทหารฉบับ พ.ศ.2458 บริเวณทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองลพบุรีเต็มไปด้วยป่าไผ่และป่าสะแก มีแหล่งน้ำสำคัญอยู่ที่บริเวณทะเลสาบชุบศรและคลองเริงราง แต่ภายหลังแหล่งน้ำเหล่านี้ถูกถมกลายเป็นบ้านเรือนราษฎรและค่ายทหารไปสิ้น บริเวณป่าช่วงใต้ทะเลสาบชุบศรจนถึงคลองเริงรางทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองนี้แหละ คาดว่าเป็นแหล่งที่อยู่ของลิงและสัตว์ป่าชุกชุมมาช้านาน โดยพลัดไปหากินอยู่ที่ศาลพระกาฬ-พระปรางค์สามยอดเป็นครั้งคราว

คติเกี่ยวกับ “ลิงลพบุรี” ในสมัยรัตนโกสินทร์

เมื่อมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 กำพล จำปาพันธ์ บรรยายว่า สภาพคล้ายกับที่บาทหลวงฝรั่งเศสพบเห็นในสมัยอยุธยา ดังที่คณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้มีโอกาสพบเห็น รายงานของพวกเขาเล่าว่า “เมื่อเรือของเราแล่นออกสู่ชนบท พวกเราพบเห็นลิงจำนวนมาก ลูกๆ ของพวกมันห้อยโหนอยู่บนต้นไม้กระโดดจากกิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่ง หรือเล่นหยอกล้อกันอยู่ริมตลิ่ง”

เมื่อ อ็องรี มูโอต์ (Heri Mouhot) เข้ามาสำรวจก็พบเห็นลิงจำนวนมากอาศัยอยู่ตามแหล่งธรรมชาติและเส้นทางคมนาคมเช่นกัน โดยเฉพาะภาพเหตุการณ์ลิงหยอกล้อจระเข้นั้นเป็นที่ประทับใจแก่มูโอต์มาก

บทความของกำพล จำปาพันธ์ ยังระบุว่า ตามรายงานของคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนเขียนรายละเอียดไว้ด้วยว่า ลิงเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่งของชาวสยามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกับสมัยอยุธยาและทวารวดี เนื่องจากความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นเครื่องหนุนนำให้เกิดความรู้สึกเมตตาต่อสัตว์

สำหรับ “ลิงลพบุรี” ยังมีความพิเศษเฉพาะตรงที่ความเกี่ยวข้องกับตำนานกำเนิดของเมืองลพบุรีโดยตรง ตำนานนี้นำมาสู่คติความเชื่อที่มีต่อลิงลพบุรีในฐานะ “ลูกหลานหนุมาน” โดยกำพล จำปาพันธ์ บรรยายไว้ว่า เทวรูปที่ประดิษฐาน ณ ศาลพระกาฬ คือพระนารายณ์ ลิงอาศัยที่ศาลจึงเหมือนลูกหลานหนุมานมาล้อมรอบพระนารายณ์ กลายเป็นเหมือนรามายณะในโลกที่เป็นจริง

กรณีนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญนิรุกติศาสตร์ชี้ให้เห็นความสำคัญของตำนานนี้ต่อท้องถิ่นลพบุรี ดังนี้

“ลพบุรีตั้งอยู่บนเนินสูงใหญ่ สมกับที่จะเรียกว่าเมืองภูเขา (หรือนครผา) ตำนานเมืองก็แต่งโดยอาศัยลักษณะภูมิสถานที่ตั้งเมืองว่าเดิมเป็นภูเขา พระรามแผลงศรให้หนุมานตามมาสร้างเมือง ศรมาตกที่ภูเขาลูกนี้ หนุมานเอาหางกวาดภูเขาราบไปแล้วสร้างเมืองลพบุรีขึ้น ตำนานนี้เห็นจะเกิดขึ้นภายหลังที่เรารับรู้เรื่องรามายณะเข้ามากแล้ว พวกนักแต่งตำนานเห็นชัยภูมิชอบกลดีก็เลยลากเอาเข้าไปไว้ในเรื่องรามเกียรติ์”

เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงทศวรรษ 2480 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ยุคคณะราษฎร” ศาลพระกาฬจัดอยู่ในเขตเมืองใหม่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางไปยังเมืองใหม่ ศาลพระกาฬหลังเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ. 2421 เสื่อมโทรมลงไปมาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ให้บูรณะและสร้างศาลใหม่

กำพล จำปาพันธ์ ยังอธิบายว่า ช่วงก่อนหน้าการพัฒนาในสมัยคณะราษฎรก็ถือว่าเป็นเช่นเดียวกัน โดยลิงที่ศาลพระกาฬยังมีไม่มาก แต่ในช่วงก่อนมีสวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน) ที่กรุงเทพฯ กับสวนสัตว์สระแก้วที่ลพบุรี ศาลพระกาฬได้รับความสนใจจากประชาชนเพราะเป็นที่ที่สามารถมาดูลิงได้ อีกทั้งยังมีกระแสเล่าลือเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อพระกาฬ

ในช่วงนี้เองที่กำพล จำปาพันธ์ อธิบายไว้ว่า ลิงลพบุรีได้เกิดคติใหม่ในฐานะ “ลูกศิษย์เจ้าพ่อพระกาฬ” ควบคู่กับ “ลูกหลานหนุมาน” ก่อนที่คติ “ลูกหลานหนุมาน” จะไม่สำคัญเท่า “ลูกศิษย์เจ้าพ่อพระกาฬ” เพราะเป็นคติที่ส่งผลให้ลิงมีแหล่งอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บทความ “จาก ‘ลูกหลานหนุมาน’ ถึง ‘ลูกศิษย์เจ้าพ่อพระกาฬ’ : ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของ ‘ลิง’ ในชุมชนเมืองลพบุรี” เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2563